The sea beast : ระหว่าง Thalassophobia กับ Propaganda มนุษย์กลัวสิ่งใดมากกว่ากัน - Decode
Reading Time: 2 minutes

ยังดูการ์ตูนอยู่อีกเหรอ

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม Netflix ได้ปล่อย Original Animation Content ว่าด้วยการผจญภัยเพื่อปราบสัตว์ประหลาดใต้ท้องทะเล ชื่อ “The sea beast” 

แน่นอน ในฐานะที่เราก็เป็นอีกคน ที่ชื่นชอบการออกแบบสัตว์ประหลาดในรูปแบบของ Kaiju kingdom (สัตว์ประหลาดขนาดยักษ์) เหล่านี้ จึงไม่พลาดที่จะต้องหาวันว่าง ๆ เพื่อนั่งดู

ทว่าหลังดูจบ การ์ตูนเรื่องนี้กลับให้คำตอบมากกว่าการออกแบบเหล่าไคจูที่น่าสนใจ แอนิเมชั่นเรื่องนี้กำลังเล่าถึง ‘ความกลัว’ ของมนุษย์

ก่อนที่จะตอบในใจว่าอะไรคือความน่ากลัวสำหรับมนุษย์ เมย์ซี่ เด็กหญิงผิวสีบอกเราไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า 

“อย่าลืมสิ ว่าหนังสืออยู่ในมือใคร”

เรารู้เรื่องนอกโลก มากกว่าที่เรารู้เรื่องใต้ทะเล

มีคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์เรารู้จักใต้ทะเลน้อยกว่าดวงจันทร์” ประโยคนี้ไม่เกินจริง เพราะมุมมองแรกที่แอนิเมชั่นพยายามเสนอให้เราเห็น คืออาการของมนุษย์กับความกลัวต่อทะเล

เชื่อว่าเกินครึ่งของคนที่ได้ดู The sea beast ฉากที่เมย์ซี่และเจคอบ ตกลงไปในทะเล หลังเรือพิชิตสมุทรได้สู้กับแดงคำราม ไม่มากก็น้อย หลาย ๆ คนต้องมีนึกกันบ้าง ว่ากลางทะเลกว้างใหญ่ จะมีตัวอะไรจ้องงับคุณอยู่หรือเปล่า แอนิเมชั่นเรื่องนี้ฉาบความกลัวของมนุษย์ไว้ด้วย ความไม่รู้ ของเรา

ความไม่รู้ที่หนังกำลังจะเล่นกับคนดู อ้างอิงถึงอาการป่วยของมนุษย์อย่างโรคกลัวทะเล เมื่อมนุษย์กลายเป็นสิ่งเล็กน้อยท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่

ธาลัสโซโฟเบีย (Thalassophobia) หรือโรคกลัวทะเล จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นโรคกลัวทะเลลึกมากกว่า เป็นอาการกลัวน้ำลึก เช่น มหาสมุทร ทะเล นอกจากที่บอกไปว่ากลัวสิ่งที่มองไม่เห็นใต้ทะเล มันยังเกี่ยวเนื่องกับอาการกลัวอื่น ๆ เช่น กลัวคลื่นขนาดใหญ่ กลัวความลึกของน้ำ กลัวไม่มีอะไรให้เกาะ กลัวความกว้างของทะเล

ถึงแม้อาการกลัวทะเลจะไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ บางคนมีอาการน้อยไปจนถึงบางคนอาจหมดสติได้ ใจความสำคัญของโรคกลัวทะเล คือความลึกลับที่เรามองไม่เห็น เหมือนกับสัตว์ทะเลในเรื่อง The sea beast 

ในแอนิเมชั่น แทบจะไม่มีตอนที่มนุษย์ลงไปเล่นทะเลปรากฎอยู่ ทั้ง ๆ ที่เมืองติดทะเลด้วยซ้ำ นั่นทำให้เห็นว่าคนในเรื่อง พยายามที่จะอาศัยทะเล ทั้งอาชีพ ทั้งที่อยู่ แต่กลับไม่สามารถเป็นมิตรกับธรรมชาตินี้ได้เลย

และแน่นอน ว่าโรคกลัวทะเลนี้ เป็นเพียงแค่ฉากนอก ที่แอนิเมชั่นต้องการจะบอกให้เรารับรู้ถึงความกลัว ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวของมนุษย์ที่พยายามท้ารบกับธรรมชาติ ด้วยการไปล่าอสูรทะเลเหล่านี้ และประกาศชัยชนะด้วยการตัดชิ้นส่วนมาถวายให้พระราชาและพระราชินี

เมื่อมนุษย์ทำลายธรรมชาติ เมื่อนั้น ธรรมชาติจึงเอาคืน

คุ้น ๆ ไหมว่าเรื่องแบบนี้ ไม่ได้อยู่แค่ในการ์ตูน

ในช่องว่างระหว่างวัย มี Propaganda

จุดเริ่มต้นของความกลัวในเรื่องนี้ เล่าผ่านการรับรู้สังคมของคนแต่ละวัย

The sea beast เล่าความเชื่อของคนแต่ละรุ่นผ่านตัวละคร 3 ตัว ได้แก่ กัปตันคราวน์, เจคอบ และเมย์ซี่ ตัวแทนของ Gen X, Gen Y และ Gen Z

คงไม่ต้องนั่งร่ายว่าลักษณะเฉพาะของคนแต่ละรุ่นเป็นอย่างไร เรื่องราวในตอนแรกขับเคลื่อนด้วยเจคอบ พระเอกของเรา ที่กัปตันคราวน์ไปพบเข้าในซากเรืออับปาง ความเชื่อที่คน Gen X ส่งต่อให้คน Gen Y ในเรื่องพยายามเล่าว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าพูด มันเป็นเรื่องจริง ผ่านความเจ็บปวดที่เจคอบต้องเจอ ว่าอสูรทะเลเหล่านี้ ฆ่าพ่อแม่ของเขา

จุดร่วมกันของกะลาสีในเรือพิชิตสมุทร คือทุกคนเกลียดสัตว์ประหลาดทะเล ทุกคนพร้อมที่จะตายหากเกิดการต่อสู้ระหว่างกัน ขอแค่อสูรทะเลเหล่านี้ตาย รุ่นลูกรุ่นหลานจะได้ใช้ชีวิตที่สงบสุข และพวกเขาจะได้แก้แค้นกับบาดแผลในอดีต

สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดของกัปตันคราวน์ คือความภักดีของเขา การเชื่อคำสั่งจากเบื้องบนมาโดยตลอดโดยไม่มีการตั้งคำถาม อีกทั้งตาซ้ายของเขายังถูกเจ้าแดงคำรามเอาไป นั่นทำให้เป้าหมายในชีวิตของพวกเขา คือการเก็บกวาดสัตว์ประหลาดเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งกัปตันคราวน์ไม่ใช่คนรุ่นแรก เขาเป็นถึงรุ่นที่ 3 ของตระกูล ในฐานะกัปตันเรือพิชิตสมุทร การภักดีและเชื่อฟัง จนถึงแนวคิดของงานคือชีวิต คือความเป็น Gen X ที่กัปตันคราวน์ แสดงให้เราเห็น

ในขณะที่เจคอบ คือผู้โชคร้าย อสูรทะเลพรากครอบครัวของเขาไป ความแค้นที่ฝังลึกและการล่าความสำเร็จ จึงเป็นมุมมองที่เขาแสดงออกในช่วงแรกของเรื่อง อายุของเจคอบน่าจะอยู่ในช่วง 30-38 ปี ถึงอย่างนั้น เขากลับได้เป็นวีรบุรุษ ที่ได้มีชื่อปรากฎในหนังสือการล่าอสูรทะเล

ความเป็น Gen Y ของเจคอบคือการที่เขาคือผู้ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หากนับตามโลกความเป็นจริง Gen Y คือคนที่เปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล เช่นเดียวกัน ความคิดของเขาได้เปลี่ยนไป เมื่อเมย์ซี่ พาเขาไปเห็น ความจริง อีกด้านของเหรียญที่เขาไม่รู้มาก่อน

เจคอบยังคงดื้อดึงและทำใจได้ยาก ว่าความเชื่อที่เขาเชื่อมาตลอดชีวิตไม่จริง อีกทั้งเรื่องจริงยังปรากฎตรงหน้าของเขา ว่าอสูรทะเลเหล่านี้ ไม่ได้ต้องการจะทำร้ายพวกเขา แต่มนุษย์ต่างหาก ที่ไปทำร้ายพวกเขาก่อน 

ตัวหลักของเรื่องอย่างเมย์ซี่ คือคนที่ใฝ่ฝันจะได้เป็นกะลาสีบนเรือพิชิตสมุทร ความแก่น ความซนของเธอ จากการเป็นเด็กกำพร้า ที่ไม่ได้มีพ่อแม่คอยประคบประหงม และความภาคภูมิใจที่พ่อแม่ของเธอเคยอยู่บนเรือล่าอสูรทะลชื่อดัง แต่ก็เป็นคนเดียวกันกับที่พยายามจะพิสูจน์และเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเจอมากกว่าหนังสือที่อ่านมาทั้งชีวิต

ความเป็น Gen Z ของเมย์ซี่คือการที่เธอแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา และพยายามท้าทายกับความเชื่อของคนยุคเก่า เมื่อความจริงที่ว่าอาจไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ การเดินเรือในสมัยก่อนที่ปรากฎในเรื่อง จึงเปรียบได้ว่า คือการเดินทางของคนแต่ละรุ่น ทำให้พวกเขามองหลายสิ่งหลายอย่างแตกต่างกัน

ท้ายที่สุดการต่อสู้กันในแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่ได้มีแค่มนุษย์ที่ต่อสู้กันกับสัตว์ประหลาด แต่บุคลิกเฉพาะของคนแต่ละรุ่น ถูกนำมาใช้ในฐานะช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมยังเผชิญอยู่

มันทำให้เห็นถึงความเห็นต่าง ที่คนแต่ละรุ่นจะมีความคิดไม่เหมือนกัน เพราะสิ่งที่เขาต้องเจอ และสิ่งที่เขาได้รับรู้ มันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เพราะเห็นต่างไม่ใช่เรื่องแย่ ตัวร้ายในเรื่องนี้คือคนที่เขียนหนังสือและนั่งชมชิ้นส่วนของอสูรทะลอยู่บนบัลลังค์ต่างหาก

ใต้ทะเลกับใต้อำนาจ สิ่งไหนน่ากลัวกว่ากัน

เพราะจริง ๆ หนังเรื่องนี้ว่าด้วยความกลัวของมนุษย์ต่อผู้มีอำนาจต่างหาก

การกำจัดอสูรทะลในเรื่อง เปรียบได้กับการสร้างความมั่นคงต่อรัฐ ถึงแม้เราจะไม่เห็นว่าสัตว์ประหลาดเหล่านี้ ไปตีเมืองเมื่อไหร่ แต่ใน หนังสือ มีบอกไว้ ว่าจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเจ้าทะเล เป็นเพราะเจ้าทะเลไปทำลายเมืองมนุษย์ก่อน 

หรือพูดง่าย ๆ อสูรทะเลคือภัยคุกคามของมนุษย์

เมื่อเมืองทะเลนี้ มีพื้นที่กว้างใหญ่ขึ้น ก็เป็นเพราะแรงงานหรือชาวกะลาสีทุกคนที่ไปปราบอสูรทะลรวมถึงทหารทุกนายที่ไปตีหัวเมืองต่าง ๆ จนเรือพิชิตสมุทรถูกหักหลัง เมื่อพระราชาและพระราชินี มีรับสั่งให้เรือของทหารองครักษ์ เป็นคนจัดการแดงคำรามแทน

ถึงแม้ตระกูลของกัปตันคราวน์จะเป็นเจ้าของเรือพิชิตสมุทรมารุ่นต่อรุ่น เป็นตำนานที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนจริง ๆ แต่ความภักดีที่มีให้ต่อองค์เหนือหัว คือสิ่งที่พวกเขาปฎิบัติกันมาอย่างยาวนาน ถึงแม้จะรู้สึกไม่ชอบใจอย่างไร ก็ได้แต่เก็บไว้และทำงานรับใช้ต่อไป

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ มีจุดขับเคลื่อนตั้งต้นด้วยหนังสือ ซึ่งในเรื่องดูจะเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องของตำนานกะลาสีเล่มเดียวที่ (บังคับให้) มีด้วย เรื่องเล่าทั้งหมด ถูกเล่าด้วยแง่มุมเดียวมาตั้งแต่แรก ไม่เคยมีใครคิดจะหาสาเหตุว่าเรื่องราวเหล่านี้จริงหรือไม่ แต่ก็คงไม่ยุติธรรมหากพูดแบบนั้น เพราะความสูญเสียจากการต่อสู้ในทะเลนั้นเกิดขึ้นจริง

ความแค้นที่เกิดขึ้นของสังคม อีกทั้งการกำจัดอสูรทะล ยังทำให้บ้านเมืองมีความเจริญยิ่งขึ้น เหตุใดเล่า ถึงจะไม่เชื่อหนังสือเล่มนี้

การตั้งคำถามต่อโฆษณาชวนเชื่อตามสื่อ ซึ่งในเรื่องคือหนังสือ สิ่งที่แอนิเมชั่นพยายามทำให้เราเอ๊ะ อยู่ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งมีเค้าลางตั้งแต่ตอนต้น ว่าทำไมเมย์ซี่และเจคอบถึงไม่โดนแดงคำรามกิน และทำไมแดงคำรามถึงทำเช่นนั้น และทำให้สิ่งที่เจคอบเชื่อมาทั้งชีวิต เขาจะต้องทำอย่างไร เพราะสิ่งที่เขาทำมันไม่ใช่แค่ เชื่อหรือไม่เชื่อ แต่คือฆ่าหรือไม่ฆ่า ต่างหาก

ฉากที่เราชอบมากที่สุดในเรื่อง คงเป็นฉากที่แดงคำรามพาเมย์ซี่ เจคอบและเจ้าฟ้า ลอดผ่านใต้ทะเล นอกจากความสวยงามของภาพ แสงสีที่ชวนละมุน คือใต้ทะเลที่มนุษย์ไม่เคยไปถึง มีแต่ซากศพของสัตว์ประหลาดและซากเรืออับปางเท่านั้น

ความจริงที่ว่าในเรื่อง จึงสื่อออกมาได้ชัดเจนในฉากนี้ เมื่อความจริงอาจเป็นซากปรักหักพังที่อยู่ใต้ท้องทะเลที่เรามองไม่เห็น ความจริงมักโหดร้ายเสมอ และในความจริงมีเพียงคนข้างล่างที่ต้องเสียสละ

“ประวัติศาสตร์ของเราเป็นเรื่องโกหก” เมย์ซี่พูดอย่างเสียงดังฟังชัดต่อหน้าคนบนบัลลังค์

เธอยังคงถือหนังสือเล่มเดิมไปจนจบเรื่อง สิ่งที่แตกต่างกันไป คือความจริงที่เธอเชื่อไม่ได้อยู่ในหนังสืออย่างเดียว ราวกับว่าเธอยังคงเก็บมันไว้ในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่จะเรียนรู้จากอดีต เพื่อไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น

ถึงเนื้อเรื่องจะจบลง แต่เนื้อหายังคงทำงานกับข้างในของเรา เป็นเหมือนคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ ได้แต่หวังว่าพวกเราจะเป็นเหมือนเมย์ซี่ ที่ไม่ละทิ้งอดีตที่เคยผิดพลาด แต่นำมันมาปรับใช้ เพื่อหาอนาคตที่ดีขึ้น 

แล้วคุณผู้อ่านหล่ะ คิดว่าใต้ทะเลหรือการอยู่ใต้อำนาจ สิ่งไหน น่ากลัวกว่ากัน