ถ้าฉากหน้า คือการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ตามที่วุฒิสภาแก้ไข ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 287 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง เป็นผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ในอีกไม่กี่อึดใจ และเป็นจุดเปลี่ยนของกระบวนการค้นหา “ความจริง” ที่มีอัยการและฝ่ายปกครองเข้ามาถ่วงดุล และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้กับคนที่จะถูกอุ้มหาย ซ้อมทรมาน
ฉากหลัง คงเป็น “ปาฏิหาริย์” ที่ไม่ง่าย กับมือกฎหมายสายเหยี่ยวเช่นกัน Decode พูดคุยกับ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด มือกฎหมายในคดีผู้กำกับโจ้ จากวันที่ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหา จนศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต ดร.น้ำแท้ ชี้เป้าว่า คดีนี้เป็นเรื่องของการชันสูตรศพ เพราะหลักฐานชิ้นสำคัญจากกล้องบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องไว้ทำให้พิสูจน์การตายระหว่างการถูกควบคุมตัว “คดีนี้ผมลงไปทำเองพอทำก็ไปเปลี่ยนสิ่งที่เขาให้การเท็จไว้หลายอย่าง เปลี่ยนตั้งแต่รายงานชันสูตรของแพทย์ที่ลงสาเหตุการตายว่าเป็นเพราะยาเสพติด” แพทย์เปลี่ยนความเห็นใหม่ โดยลงความเห็นว่า ตายเพราะขาดอากาศ จากเดิมที่กลัวว่าเคยให้ความเห็นไปแล้วจะมีความผิดหรือไม่
“เพราะตำรวจไปเฝ้าเขาทั้งวันทั้งคืน นี่คืออิทธิพลในท้องที่ ซึ่งแพทย์คนหนึ่งย่อมเกรงกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจอยู่ในมือ “ถ้าเราไม่ลงไปช่วย ไม่สร้างความมั่นใจว่าเราจะดำเนินคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าเขาคิดว่าตำรวจจะดำเนินคดีเขาก็ไม่คิดสู้หรอก เขาก็อาจจะกลัวข้อหาที่ตำรวจจะยัดใส่เขาด้วยซ้ำไป”
กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายจึงเข้ามาสร้างมาตรการให้หลายหน่วยสอบสวนได้ มีทั้งอัยการ ฝ่ายปกครอง จะจับใครก็แล้วแต่ จะต้องแจ้งการจับให้กับหน่วยงานเหล่านี้รับทราบ
‘ตำรวจจับใคร เมื่อไร ที่ไหน‘ อัยการ-ฝ่ายปกครองถ่วงดุล
ในจุดเกิดเหตุ “กล้อง” จะเป็นหลักฐานสำคัญในคดี แต่คนที่เข้าถึงหลักฐานได้ต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปในจุดเกิดเหตุ และหลายกรณีก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำลายพยานหลักฐานนั่นเสียเอง “อัยการ” จึงเป็นคีย์แมนของการถ่วงดุลความจริงดร.น้ำแท้ ตั้งข้อสังเกตุว่า การที่เจ้าหน้าที่ทำร้ายคน จับคน ทำให้คนสูญหาย ทำให้คนตายมันเป็นบทบาทที่อัยการที่ต้องทำ เพราะอัยการจะรับผิดชอบทั้งหมดก่อนไปที่ศาลเป็นสุดทางของฝ่ายบริหาร และจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอัยการเช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ระบุว่า ถ้าใครโดนจับโดยมิชอบต้องแจ้งอัยการ แต่ปรากฏว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ไม่เคยได้ใช้เลย เพราะอัยการไม่เคยรู้ว่าตำรวจจับใคร เมื่อไร ที่ไหน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญา หรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกคุมขังเอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขังมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อยตัว ซึ่งเมื่อศาลได้รับคำร้อง ศาลต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที
ถ้ามีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 อัยการจะเป็นผู้ไปพิสูจน์ศพและทำสำนวนเองตามมาตรา 155 “จะเห็นว่า 2-3 มาตรานั้นเกี่ยวข้องกันหมด”
“ผมก็พูดในที่ประชุมฯ ว่า จับไปขังแล้วทำเขาตายให้อัยการสอบสวนดำเนินคดี แต่พอจับแล้วเขายังไม่ตายจะไม่ให้อัยการรู้เรื่องเลยใช่ไหม เพราะคาบเกี่ยวกันระหว่างตายกับเกือบตาย อัยการควรรับรู้ด้วย” อีกทั้ง มีเหตุที่อัยการควรรู้คดีตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น แต่ในการออกแบบนั้น ดร.น้ำแท้ ยืนยันว่า ไม่ได้มีแค่อัยการ ยังมีฝ่ายปกครอง นายอำเภอในท้องที่เข้ามารับรู้ด้วย
ต่อไปนี้จะบังคับใช้กับทุกการจับ เมื่อไรก็ตามที่มีการจับคน คุณต้องแจ้งให้นายอำเภอในท้องที่และอัยการรับทราบ “คนเราถ้ามันจะหายตัว หรือถูกอุ้มหาย หรือถูกทรมาน มักจะเกิดขึ้นทันทีที่มีการจับกุมหมายรวมถึงการจับกุมตัวตามอำนาจหน้าที่ เพื่อป้องกันการเอาคนนี้ไปทรมานหรืออุ้มหาย” หลังจากนี้จะกลายเป็นหน้าที่ของคนเหล่านี้ที่จะต้องแจ้งการจับกุม ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ศุลกากร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือใครก็ตามที่มีอำนาจตามกฎหมาย ถ้าพบการกระทำความผิดซึ่งหน้า
แล้วถ้าจับแต่ไม่แจ้ง ข้อแรกคือมีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นี่คือมาตรการที่เราปกป้องคนไม่ให้ถูกเอาไปทรมาน ไม่ใช่แค่ไปตามคนที่ทำทรมานมาลงโทษเท่านั้น
ยุติธรรมไทยจะไม่ ‘โมโนโพลี’
ประเทศไทยมักจะมีกฎหมายที่กำหนดฐานความผิด เช่นฐานความผิดทรมาน ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงย้อนกลับไปถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในเชิง “การป้องกัน” เพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดตั้งแต่ต้น คือหนึ่ง แจ้งการจับ สอง ต้องบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมถ่ายทอดต่อเนื่องจนกระทั่งนำตัวส่งพนักงานสอบสวน
ไม่ให้เจ้าหน้าที่ที่ทำการทรมาน มาสอบสวนช่วยพวกเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมจะ ไม่ ‘โมโนโพลี’ (Monopoly) แต่จะเป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีทางเลือก
อสส.ไฟเขียวศูนย์คดีอาชญากรรมฯ ดักทางทำลายหลักฐาน
คู่ขนานไปกับการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ล่าสุด อัยการสูงสุดได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการคดีอาชญากรรมสำคัญและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมสำคัญที่อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญคือการติดตาม สังเกตการณ์การสืบสวน และรายงานสภาพปัญหาการสืบสวน การสอบสวนที่มีผลกระทบต่อการดำเนินคดีของพนักงานอัยการและการบังคับใช้กฎหมาย และรับผิดชอบตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่ออำนวยความยุติธรรมและดำเนินการคุ้มครองป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดที่กำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการและสำนักงานอัยการสูงสุด ด้วยการแสวงข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน
ลับ-ลวง-ผ่าน บนกระดานของอำนาจรัฐ ‘เขาขีดฆ่า’
เมื่อผู้สื่อข่าววถามว่า มันยากไหมกว่าจะออกเป็นแบบนี้ ? ดร.น้ำแท้ ยอมรับตรง ๆ ว่า “มันยากมาก” และอธิบายต่อไปว่า ที่บอกว่ายากมากก็เพราะมันไม่ได้มาในคราบตำรวจ แต่มาคราบผู้แทนรัฐบาล ร่างฯ ฉบับของรัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมเนื้อหาไม่เหมือนกับร่างฯ ฉบับที่เราถืออยู่ในมือนี้ ต้องผ่านการต่อสู้อย่างยาวนาน ข้อต่อข้อ มาตราต่อมาตรา ทั้งในทางปฏิบัติ ทั้งในหลักการ มาตรฐานวิชาการ มาตรฐานสากล สู้กันหลายแง่ หลายมุมมากกว่าจะเอาชนะในชั้นกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปสู่ชั้นกรรมาธิการวุฒิสภากลับโดนแก้ไขเละเทะหมด ถ้าเราดูตามร่างฯ ฉบับที่โดนขีดฆ่า นั้น เขาขีดทิ้ง แทบไม่เหลือเค้าโครงของร่างฯ เดิม
“มันเป็นอะไรที่ปฏิหารย์จริง ๆ มันเป็นชัยชนะครั้งแรกของผมในรอบ 8 ปี 10 ปีที่ผมทำกฎหมายมา ผมพยายามปรับปรุงพัฒนากระบวนการยุติธรรมมาเป็น 10 ปี ผมแพ้คนที่มีอำนาจเอาตอนท้าย” ซึ่งก็ทุบจริง ๆ ทุบจนพัง!
คล้ายกับว่าเป็นความโชคดีที่วุฒิสภาไม่เอาด้วย จุดกระแสให้ประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการเรียกร้องและถกเถียงเรื่องนี้อย่างหนัก ดร.น้ำแท้ วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะ “เขารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย” เพราะใครก็ตามที่มาใช้อำนาจรัฐตรงนี้ เขาก็อาจจะใช้อำนาจรัฐนี้รังแกฝ่ายตรงข้าม ถ้าใครขึ้นมากุมบังเหียนก็มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ดังนั้นจึงต้องใช้อำนาจรัฐด้วยกันไม่ว่าจะเป็นอัยการ ฝ่ายปกครอง ไปคานอำนาจรัฐนั้น
“เราจะไม่ยอมให้ใครมาใช้องค์กรเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือได้โดยง่าย นี่คือมาตรฐานสากลซึ่งนักกฎหมายไทยไม่ค่อยรู้ มักจะมองว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจของ สตง.,ปปช.,อัยการ และก้าวล่วงอำนาจตำรวจ แต่การก้าวล่วงอำนาจในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติคือ คุณไม่ทำเดี๋ยวฉันทำ!
ในต่างประเทศ อัยการรับแจ้งความได้ ก็ในเมื่อตำรวจไม่ทำ อัยการก็รับแจ้งความนี่คือวิธีการที่นำหน่วยงานหนึ่งขึ้นมารับรู้ ไม่ใช่กระบวนการที่อัยการหายไปตั้งแต่ขั้นต้นเหมือนกับกรณีของประเทศไทยในการจับ ขัง ค้น ดำเนินคดี ยังขาดอัยการลงไปเผชิญเหตุ
ดังนั้น หลังจากกฎหมายนี้บังคับใช้อัยการจะลงมาดูด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ “ในต่างประเทศจะแจ้งข้อหาก็ต่อเมื่อคน ๆ นั้นจะถูกฟ้อง แต่ประเทศไทยแจ้งเละเทะ อยากแจ้งเท่าไรก็แจ้งได้”
เพียงแต่ระบบประเทศไทยที่เสียหายผิดเพี้ยนไปเพราะแยกตำรวจ อัยการ และฝ่ายปกครองออกจากกัน จึงไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีคนรู้เห็นพยานหลักฐาน มันจึงพัง ใช้เวลา เข้าถึงยาก ราคาแพง เพราะพยานหลักฐานถูกทำลาย
ปาฏิหาริย์มาตอนฝุ่นตลบ 5 ตัวแปรเปลี่ยนเกม!
กฎหมายฉบับนี้แม้จะชนะในชั้น กมธ. แต่จะไปแพ้ในชั้นอำนาจ ดึงเรื่องออกเล่นแร่แปรธาตุ ทำกันง่าย ๆอย่างนี้เลยหรือ
ถามว่าปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ยังไง? เพราะเหตุปัจจัยครบ เริ่มจาก หนึ่ง คนดือดร้อนเยอะ มันเป็นเหมือนวาระทางสังคมไปแล้วที่ยากจะยุติการอุ้มหาย สอง คือประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี สาม มีความรู้มาตรฐานสากลจากผมเข้าไป สี่ บรรดา ส.ส.คนที่นั่งหัวโต๊ะสำคัญมากที่ทำให้ปัจจัยนี้สำเร็จ ห้า ทุกคนยอมรับหลักการทางวิชาการ ก็ช่วยกันผลักดันผ่าน ส.ส.แบบเอกฉันท์ เท่ากับมันเป็นฉันทามติของประชาชน แต่พอผ่านไปอีกชั้นหนึ่ง ส.ว.ขอมานั่งเป็น กมธ.ในชั้นนี้ เราได้แต่อธิษฐาน และทำความเข้าใจกับ ส.ว. ผ่าน ส.ส.อีกที “ผมเขียนไปว่า การที่องค์กรรัฐองค์กรใดที่ใช้เป็นเครื่องมือรังแกประชาชน ท่านจะไม่พ้นวงจรการอุ้มหาย เราจะส่งต่ออะไรไปให้กับลูกหลาน วันหนึ่งคุณมีอำนาจ หรือวันหนึ่งถ้าคุณไม่มีอำนาจ คุณจะทิ้งอะไรไว้ให้ลูกหลานและสังคมไทย” เท่ากับว่า เราชนะแบบถล่มทลาย เป็นบันไดขั้นที่หนึ่งของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย และปักธงทางความคิดว่า ถ้าจะจับใคร ต้องแจ้งอัยการ ฝ่ายปกครอง และต้องมีการบันทึกหลักฐานด้วยกล้อง ที่สำคัญคือพิสูจน์ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้ ดร.น้ำแท้ มั่นใจว่า “จะไม่มีใครต้องหายไป”
แม้จะมีข้อกังวลของหน่วยงานและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่มองว่ามีบางมาตราที่กฎหมายฉบับนี้ยังไปไม่ถึง โดยเฉพาะ 3 ประเด็นย่อยที่ถูกแก้ไขคือ 1.การที่ศาลรับฟังพยานหลักฐานจากการทรมานได้ 2.การนิรโทษกรรมหรือยกเว้นโทษให้ผู้กระทำความผิดได้ และ 3.องค์ประกอบของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ที่ยังไม่เหมาะสมและอาจขาดความอิสระในการทำงาน ดร.น้ำแท้ มองว่า มันคือข้อที่เราไม่ได้คืนมาแต่สิ่งที่เราได้คือหัวใจสำคัญของการป้องกันตั้งแต่ต้น เราทำใจอยู่แล้ว เพราะเราโดนทุบเละมาไม่รู้กี่ร่างฯ แล้ว “ผมทำ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่เพื่อช่วยให้คนบริสุทธิ์สามารถรื้อฟื้นคดีอาญาได้ง่ายขึ้น, พ.ร.บ.ค่าตอบแทนค่าเสียหายของผู้เสียหายในคดีอาญาเพื่อให้เขาได้รับการชดเชยได้ง่ายขึ้น และจะมีการไม่จับใครมั่ว ๆ และแม้กระทั่งกฎหมายปฏิรูปตำรวจ กฎหมายเหล่านี้ผมไม่เคยผ่านเลย” แต่กฎหมายฉบับนี้นับเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแต่แม้ไม่ได้ทุกข้อที่เราเสนอ แต่ต่อไปนี้ ถ้าญาติพี่น้องคุณโดนจับ ถามก่อนเลยว่าเปิดกล้องหรือยัง ถ้าคุณจะจับเราใช่ไหม คุณจะแจ้งการจับไหม ถ้าไม่แจ้งเราจะแจ้งเอง หรือโทรหาอัยการ, นายอำเภอ ถ้าเขาไม่แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็สามารถป้องกันตนเองได้ ซึ่งการป้องกันตั้งแต่แรกมันดีกว่า
หลักสากลมันลบยาก! เขาก็ทำงานได้ยากขึ้น นี่คือเบื้องลึกเบื้องหลังที่ผู้มีอำนาจบางคนมองว่า เมื่อไรก็ตามที่ตำรวจให้อัยการมาดูการสอบสวนของตำรวจได้มันคือหายนะ “ผมแปลกใจต่อทัศนคติแบบนี้” ก่อนจะถามผู้สื่อข่าวกลับว่า คุณเคยได้ยิน การสอบสวนทำลายหลักฐานไหม มันไม่ควรให้หน่วยงานเดียวทำ จะมีใครต้องถูกปิดหูปิดตา
เพราะสิ่งที่อัยการรับรู้คือรัฐรับรู้ “เราเป็นรัฐเรารู้ว่ารัฐมีเล่ห์เหลี่ยมอย่างไร เมื่อให้อัยการไปดู เราจะรู้เล่ห์เหลี่ยมเหล่านั้น” เรื่องนี้ ดร.น้ำแท้ ยืนยันว่า หัวใจสำคัญของกฎหมายนี้อยู่ที่การรวบรวมพยานหลักฐาน