วิกฤติศรีลังกาในสายตาเพื่อนบ้านอินเดีย - Decode
Reading Time: 2 minutes

HumanIndian-คนอินเดียมีหัวใจ

ณฐาภพ  สังเกตุ

ชีวิตในอินเดีย…เช้าวันหนึ่งในขณะที่ผมกำลังเดินทางไปเรียน ฝนห่าใหญ่ก็ดันตกลงมาซะได้ เมือง Pune ที่ผมอยู่อาศัยตั้งอยู่ทางตะวันตกของอินเดีย ใกล้กับมหาสมุทรอินเดีย ฝนตกติดต่อกันเป็นสัปดาห์ สมกับเป็นฤดูฝนจริง ๆ 

ผมนั่งรอฝนเพลาอยู่ที่โซฟาข้างล่างหอพัก พลันเหลือบไปเห็นหนังสือพิมพ์ของอินเดีย ลงข่าวเกี่ยวกับวิกฤตของศรีลังกา ที่นี่วัฒนธรรมการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ยังแข็งแรง ร้านหนังสือ ร้านซีล็อก แผงขายหนังสือพิมพ์ มีให้เห็นอยู่ทั่วเมือง พวกเขาสนใจการอ่าน เฉกเช่นเดียวกันกับการให้ความสนใจวิกฤติของประเทศเพื่อนบ้านศรีลังกา อินเดียเป็นประเทศเดียวที่มีพรมแดนใกล้ชิดกับศรีลังกามากที่สุด

ผมเก็บความสงสัยอยากรู้ว่า คนอินเดียมองวิกฤติประเทศศรีลังกาอย่างไร ไปคุยกับคนอินเดียทั้ง 3 คน Rajgopal  Singhal นักลงทุนวัย 36 ปี Shivani Jadhav นักบัญชี (Chartered Accountant) วัย 26 ปี และGopal Podhade นักเรียนกฎหมาย วัย 24 ปี พวกเขามองวิกฤติที่เกิดขึ้นในศรีลังกาอย่างไร

“เพราะนโยบายประชานิยมของรัฐบาลศรีลังกา ที่มักจะแจกของฟรีอุดหนุนประชาชน นโยบายนี้ทำลายเศรษฐกิจของศรีลังกาจนย่อยยับ”

Rajgopal (ราชาโกปาล) เริ่มอธิบายให้ผมฟังหลังจากผมถามเขาว่าคิดเห็นอย่างไรกับวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยเขากล่าวต่อว่าที่ผ่านมานั้น อินเดียได้ช่วยเหลือศรีลังกาด้วยเงินหลายล้านดอลลาร์ ทั้งยังส่งอาหารกับธัญพืชให้มากมาย

“อินเดียกับศรีลังกาเรามีความสัมพันธ์ที่ดี เหตุผลหนึ่งเพราะศรีลังกาสามารถเจรจากับจีนได้”

โดย Rajgopal อ้างว่าอินเดียต้องการให้ศรีลังกาช่วยเจรจากับจีน ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศรีลังกามีความสัมพันธ์ที่ดีกว่ากับจีนเมื่อเทียบกับอินเดีย เพราะจีนได้เข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มากมายในศรีลังกา เช่น โครงการถมทะเลเพื่อสร้างเมืองท่าแห่งใหม่, สนามบินนานาชาติ, ถนน ทางหลวง, และการให้กู้ยืมเงิน 

ในขณะเดียวกัน Rajgopal ให้ความเห็นว่าจีนมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตครั้งนี้ในศรีลังกา เพราะรัฐบาลจีนให้สินเชื่อกับศรีลังกามากจนเกินไป จนในท้ายที่สุดศรีลังกาก็ผิดนัดการชำระหนี้ และเมื่อไม่มีเงินชำระหนี้สุดท้ายระบบเศรษฐกิจก็ล่มสลาย

“จีนมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตครั้งนี้ และวิกฤติต่อไปที่จะเกิดขึ้นก็คือในประเทศปากีสถาน”

โดยทั้งศรีลังกาและปากีสถานนั้น ล้วนเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในโครงการ One Belt One Road ของจีน ที่จีนมักยื่นมือเข้ามาเพื่อให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งในขณะนี้เองปากีสถาน ก็กำลังเผชิญกับภาวะหนี้สินจากต่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งยังต้องเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงาน จนหลายฝ่ายกล่าวขานว่า ปากีสถานคือ The Next Sri Lanka

ผมถามเขาต่อว่าอินเดียควรจะรับมืออย่างไรกับวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เขาตอบกลับมาว่า

“มันจะไม่ส่งผลกระทบต่ออินเดีย แต่อินเดียก็ช่วยอะไรไม่ได้มากสำหรับเรื่องนี้ อินเดียทำได้เพียงพยายามเสมอที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราก็มักจะโดนหักหลังตลอด” Rajgopal กล่าวทิ้งท้าย

ในขณะที่ Gopal (โกป้า) นักศึกษาวิชากฎหมายชั้นปีสุดท้าย ได้เปิดโอกาสให้เราได้คุยกับเขาในเรื่องนี้สั้น ๆ เนื่องจากเขาอยู่ในช่วงเวลาเตรียมตัวสอบปลายภาคครั้งสุดท้ายของชีวิตนักศึกษา เขาเล่าให้ผมฟังถึงชีวิตการเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบ 

ทุกเช้าเขาจะเข้าเรียนตอนแปดโมงเช้า โดยเขาจะเรียนในห้องสมุด พักเที่ยงเขาจะเดินกลับไปกินข้าวที่หอพัก ก่อนที่จะกลับไปเรียนต่อตอนบ่าย และพักเบรกอีกครั้งตอนเย็น ก่อนที่จะกลับไปเรียนต่อจนถึงเวลา 23.00 น. เขาทำแบบนี้ทุกวันแทบไม่มีวันหยุดในช่วงเวลาก่อนสอบ และแน่นอนว่าการเรียนการสอนของเขานั้น ใช้ตำราภาษาอังกฤษทั้งหมด 

หลังจาก Gopal เล่าชีวิตการเรียนของเขาให้ผมฟัง เขาก็ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤตของประเทศศรีลังกาว่า

“ผมคิดว่าสาเหตุของวิกฤตประเทศศรีลังกา เป็นเพราะการรวมอำนาจอยู่ที่ตระกูลเดียว ไม่มีการกระจายอำนาจอย่างเหมาะสม ไม่มีการตรวจสอบการคอร์รัปชัน ทั้งยังมีการกู้เงินจากต่างประเทศมาอย่างไม่จำกัด”

Gopal มั่นใจว่าประเทศอินเดียของเขาไม่มีทางที่จะต้องประสบกับวิกฤตเช่นนี้แน่นอน เพราะเขาเชื่อว่าประเทศอินเดียมีแผนสำรองที่รัดกุม และระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง เขาค่อนข้างมั่นใจในตัวรัฐบาลอินเดีย

เท่าที่พูดคุยกับคนอินเดียหลายคน หลายครั้งผมก็มักจะหยิบยกเรื่องการเมืองมาสนทนาแลกเปลี่ยนกัน โดยส่วนใหญ่แล้วเขาพึงพอใจในการทำงานของรัฐบาลอินเดียในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้มีการควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวด ในขณะที่ชาวอินเดียก็พร้อมปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด 

“แน่นอน ฉันมั่นใจในรัฐบาลของฉัน และที่สำคัญอินเดียมีเงินมากพอในการบริหารจัดการประเทศ ถึงแม้การเมืองจะมีความขัดแย้งกัน แต่เมื่อเกิดวิกฤตทุกคนจะมาร่วมกันแก้ไขปัญหา และในอินเดียเรามีนักธุรกิจมากมายที่ร่ำรวย พวกเขาพร้อมบริจาคเงินช่วยเหลือประเทศในยามเดือดร้อน”

Shivani (ชีวานี) ตอบคำถามเมื่อผมถามเธอว่า คิดว่าอินเดียมีโอกาสเกิดวิกฤติแบบศรีลังกาบ้างไหม ไม่ใช่แค่ Shivani แต่แหล่งข้อมูลทุกคนต่างตอบตรงกันว่าอินเดียไม่มีทางเกิดวิกฤตเช่นนี้ และที่สำคัญ Shivani ก็คาดหวังให้คนศรีลังกาสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้

“คนศรีลังกานิสัยดี เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับศรีลังกา คนอินเดียเราไม่ได้สงสารพวกเขา มันก็แค่สถานการณ์แย่ ๆ ที่เกิดจากการโกงกิน คอร์รัปชันของตระกูลหนึ่ง ตอนนี้พวกเขาก็ออกจากประเทศไปแล้ว ฉันหวังว่าผู้นำคนใหม่ของศรีลังกาจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และในท้ายที่สุดคนศรีลังกาจะเอาชนะ และผ่านไปได้”

ในขณะที่ตอนนี้สถานการณ์ในหลายประเทศทั่วโลกกำลังกระสับกระส่าย ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การเมือง สงคราม และโลกระบาด กลับพบว่าสถานการณ์ในอินเดียนั้นค่อนข้างนิ่งสงบ การเมืองนิ่ง ไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง หรือภัยจากการก่อการร้าย โดยสถานการณ์ล่าสุดนั้น Kanchana Wijesekera รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของศรีลังกากล่าวว่า ขณะนี้อินเดียเป็นประเทศเดียวที่ให้วงเงินสินเชื่อแก่ประเทศศรีลังกา

กล่าวในฐานะผู้พักอาศัยคนหนึ่งในประเทศอินเดียก็เป็นดังว่า โดยภาพรวมตอนนี้คนอินเดียยังคงใช้ชีวิตกันอย่างปกติสุข ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านน้ำชา คับคั่งไปด้วยผู้คนบริโภคจับจ่ายใช้สอย เรื่องโรคระบาด Covid-19 ยอดผู้ติดเชื้อยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ไปไหนมาไหนก็แทบไม่มีใครใส่แมสกันแล้ว ราคาอาหารข้าวของเครื่องใช้ก็ยังคงตรึงราคาปกติ ยังไม่เห็นการปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะอินเดียไม่พึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ที่ผมซื้อมาล้วนแล้วแต่ made in india 

สิ่งเดียวที่ผมคาดหวังให้เกิดขึ้นในอินเดียตอนนี้ โดยเฉพาะในเมืองของผมคืออยากให้ฝนหยุดตกเสียที ฝนที่นี่ตกทั้งวันทั้งคืน เพื่อนคนหนึ่งเคยบอกว่าฝนตกเช่นนี้น่ะดีแล้ว เราจะได้มีน้ำไว้ใช้ในยามแห้งแล้ง จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งที่ฝนได้หยุดตกลง

“คุณเห็นไหมว่าวันนี้ฝนไม่ตก หลังจากที่มันตกมาอย่างยาวนาน ฉันมองเห็นแสงตะวัน มันเหมือนกับว่าศรีลังกาเองก็จะได้เห็นแสงสว่างในความหวังนี้อีกไม่ช้า” Shivani เธอกล่าวกับผมหลังจากที่เราคุยกันเรื่องวิกฤตประเทศศรีลังกาจบลง