ซีรีส์วายไทยยังต้องไปต่อ...ไม่รอ 'หากินกับเพศสภาพ' - Decode
Reading Time: 3 minutes

เป็นไปได้ว่าซีรีส์วายยังเป็นขาขึ้น สะท้อนจากสถิติเรื่อง “Y Economy” พบว่า ระยะเวลา 2 ปีมีฐานคนดูซีรีส์วายบน Line TV เพิ่มขึ้น 328% หรือกว่า 3 เท่าตัว และมียอดการชมซีรีส์วายในแอปพลิเคชัน LINE TV ที่สูงเกินกว่า 600 ล้านวิว

ซึ่งสวนทางกับละครกระแสหลักที่เรตติ้งน้อยลงกว่า 40% อีกทั้งสามารถต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ ของไลน์ให้มูลค่าสูงขึ้น เช่น ซีรีส์วายบางเรื่องเมื่อเปิดตัวเพียงช่วงแรก ก็สามารถทำให้ยอดขายสติกเกอร์ไลน์คาแรกเตอร์ตัวละครโตทะลุ 1,000% สูงสุดในรอบ 1 ปี และยอดขายเมโลดี้ในหมวดเพลงจากซีรีส์สูงขึ้น 400% เป็นต้น

แต่ก็ยังมีบางสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้ซีรีส์วายของไทยยังคงไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร ทั้งในเรื่องของคุณภาพที่คนดูหลายคนก็ออกมาบอกว่า ต่างประเทศดีกว่า ระบบการทำงานของซีรีส์วายบางเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล และในแง่ของการร่วมมือการสนับสนุนจากภาครัฐที่ยังมีแต่เพียงคำชม แต่ไร้ซึ่งการสนับสนุนอย่างแท้จริง

De/code พูดคุยกับ สายพิรุณ ไชยเชียงพิณ นักเขียนซีรีส์วาย คนวงในที่รู้สาเหตุของปัญหาซีรีส์วายไทย โดยเธอใช้ Twitter Account นามว่า @CSaipirun เป็นพื้นที่ระบายความคับข้องของคนเขียนบทซีรีส์วายที่มีทั้งประเด็นปัญหากับสปอนเซอร์ต้นฉบับของนิยาย และครั้งนี้เราชวนขยายประเด็นต่อจากข้อจำกัดและการสนับสนุนจากรัฐไทยอยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรมนี้

ซีรีส์วายไทยตอนนี้เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพจริงหรือเปล่าในมุมมองของนักเขียนซีรีส์วาย

สายพิรุณตอบคำถามเราว่า “อันนี้เห็นด้วย เราไม่ได้รู้สึกดีเลย เรารู้สึกแย่ด้วยซ้ำ เราเขียนนิยายวายตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วพอมันดัง มีปริมาณมาก แต่เรากลับไม่ได้รู้สึกดีกับมันเลย ด้วยความที่เราอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย เราก็รู้สึกแย่ยิ่งไปอีก เพราะหากินกับเพศสภาพ

เราว่า ปัญหามันอยู่ที่เรื่องหลายเรื่องที่ดังแล้วสามารถขายได้ เลยมีนายทุนหน้าใหม่ โปรดักชั่นใหม่ ๆ อยากจะทำได้ แล้วพอเขามองแค่ว่า ฉันอยากรวย ฉันอยากได้เงิน แต่คุณไม่รู้ระหว่างทางมันเป็นอย่างไรบ้าง เราว่ามันอาจต้องเป็นวิชั่นของทางช่องด้วย ที่อาจต้องดูปริมาณ และทำไมมีแต่ชาย ชาย ทำไมไม่มีหญิง หญิงบ้าง มันก็เลยดูฉาบฉวยเกินไป”

นักเขียนผู้กลายเป็น “แพะ” ของซีรีส์วาย

สายพิรุณเป็นนักเขียนอีกคนที่เคยโดนกดเงินค่าบท และโดนกดดันเรื่องเวลา เธอได้เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับตอนที่เธอได้เป็นนักเขียนซีรีส์วายเรื่องแรกที่เธอได้ทำว่า “ราคากลางค่าบทตอนนี้เท่าที่เรารู้ได้ราคาบทตอนละ 1 หมื่นบาท แต่ตอนนั้นเราได้ 6,000 บาท แล้วจำนวนตอนมันก็เยอะมาก เราต้องเอานิยายอีกครึ่งเล่มที่เขายังทำไม่หมดจากซีซั่น 1 มาทำเป็นซีซั่น 2 ที่มีทั้งหมด 36 ตอน

แต่มีเรากับเพื่อนเขียนกันอยู่ 2 คน แล้วระยะเวลาเขียนเพียงไม่กี่เดือน ทำให้เราแทบจะวางแผนการทำงานไม่ทัน แล้วจำนวนตอนที่เยอะขนาดนี้ มันก็ต้องเสริมเส้นเรื่องอื่น ๆ ไปด้วย เพราะในนิยายมันมีแค่คู่เดียว พอเรามาทำกลายเป็นเราไม่มีทางที่จะทำให้มันเป็น 36 ตอน เราต้องเสริมเส้นเรื่องอื่น ๆ เข้ามา มันก็มีคู่รองในนิยายเล็กน้อย งานเราก็หนักขึ้นไปอีก แล้วก็มีเส้นเรื่องที่คิดขึ้นมาใหม่สานต่อจากซีซั่นแรก แล้วพอมาเขียนก็ยิ่งไม่ทันไปใหญ่”

จากแรงกดดันเรื่องจำนวนตอนที่มาก ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มเส้นเรื่องของคู่อื่น ๆ นอกจากคู่หลัก เพื่อเรื่องจะได้ดำเนินครบตามจำนวนที่นายจ้างได้จ้างเธอ และในระหว่างนั้นอ้อยกับเพื่อนของเธอที่เขียนซีรีส์เรื่องนี้ ได้ตัดสินใจสร้าง Twitter Account ขึ้นมา เพื่อพูดคุยกับคนดู แต่สิ่งที่เธอได้กลับเป็นโดนคนดูวิจารณ์เกี่ยวกับการที่พวกเธอได้เพิ่มเส้นเรื่องอื่น ๆ ขึ้นมา และการที่อำนาจต่อรองน้อยกว่าทำให้เธอไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องบางส่วนได้ แต่เนื่องจากคนดูไม่รู้การทำงานเบื้องหลัง ทำให้กระแสวิจารณ์พุ่งเป้ามาที่ผู้เขียนเต็ม ๆ

สายพิรุณ เสนอว่า ควรให้โอกาสทีมงานหน้าใหม่ ๆ ได้เข้าไปทำงานเพื่อให้มีหลายเสียงช่วยคอมเมนต์งานว่าดีแล้วหรือยัง จำเป็นต้องมีเลือดใหม่ ๆ เข้ามาหมุนเวียน ดังนั้นจึงอยากให้ลงทุนกับการเขียนบทมากกว่านี้ “ควรจะเขียนบทเสร็จก่อนขั้นตอน PreProduction และ Production ด้วยซ้ำ แต่เท่าที่เจอมาคือรีบตลอด เร่งขั้นตอนตลอด สุดท้ายคนเขียนก็ต้องรีบเขียนให้เสร็จ ไปแก้กันหน้ากองอีกที คุณภาพงานก็ลดลง”

ซีรีส์วายที่รัฐมองเห็น แต่ไม่สนับสนุน

กระทรวงพาณิชย์จัดโครงการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย (ซีรีส์ละครเกี่ยวกับความรักวัยรุ่นเพศเดียวกัน) เมื่อ 29 – 30 มิ.ย. พ.ศ.2564 มีผู้ประกอบการคอนเทนต์วายของไทยเข้าร่วมจำนวน 10 ราย เกิดการนัดหมายเจรจาธุรกิจรวมกว่า 158 นัดหมาย ทำรายได้ทะลุเป้ากว่า 360 ล้านบาท

เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนที่เผยแพร่ โดยกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564

ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีหลัง ผลงานของผู้ประกอบการไทย ได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 พันล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายระดับโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328% ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ

แล้วหากเราถามในมุมมองของนักเขียนซีรีส์วาย เห็นการสนับสนุนจากรัฐบ้างไหม?

“รัฐไม่ได้สนใจการมีอยู่ของซีรีส์วาย รัฐบาลตอนนี้เขามีความสนใจอยู่ที่สิ่งอื่น เขาก็ดูไม่ได้สนใจการมีอยู่ของซีรีส์วายเท่าไหร่ เขาอาจรับรู้ที่มีสิ่งนี้อยู่ คุณจะทำอะไรก็ทำไป ตราบใดที่เราไม่ไปก้าวก่ายที่เขาสนใจอยู่ เช่น พูดเรื่องการประท้วง อะไรที่มันสุ่มเสี่ยงสำหรับเขา เพราะที่ผ่านมาเขาไม่ได้มายุ่งอะไรกับซีรีส์วายเลย และเขาก็ไม่ได้สนับสนุนด้วย”

ในมุมมองของนักเขียนซีรีส์วายอยากให้ภาครัฐมีส่วนสนับสนุนในเรื่องไหน?

“ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อนเลย เพราะซีรีส์วายถ้ารัฐจะผลักดันหรืออัดฉีดเงินสนับสนุน PRไปต่างประเทศ ส่งออกวัฒนธรรมเท่าไร แต่ทำไปก็เท่านั้นเพราะคุณไม่ได้สนับสนุน LGBTQ+  ต่างชาติมองเข้ามาก็จะยิ่งรู้สึกแย่กับซีรีส์วาย เพราะเขาก็จะดูออกว่าคุณไม่ได้สนับสนุนจริง คุณเอาเพศของเขามาหากิน มาดูดเงินเข้าประเทศเฉย ๆ มันก็น่าเกลียดเกินไป”

ถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ซีรีส์วายก็จะสามารถเป็น Soft Power ในเรื่องท่องเที่ยวได้ เช่น งาน Pride ต่าง ๆ สามารถเชิญชวนให้คู่รัก LGBTQ+ ต่างชาติมาแต่งงานหรือฮันนีมูนต่อในประเทศไทยยังได้เลย เพราะเราก็เป็นประเทศท่องเที่ยวอยู่แล้ว เม็ดเงินสะพัดไปได้อีก ดังนั้นภาครัฐจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี สนับสนุนการส่งออก เชื่อว่า จะช่วยคัดกรองซีรีส์วายที่มีคุณภาพได้ เพราะถ้าจะส่งออกก็ต้องมั่นใจว่าเรื่องนี้ดีจริง ๆ ทำให้ผู้ผลิตมีแรงผลักดันอยากทำซีรีส์ที่มีคุณภาพมากขึ้น

KOCCA เป็นองค์กรที่ก่อตั้งจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมีหน้าที่เพื่อวางแผน บริหารจัดการ และพัฒนาธุรกิจด้านวัฒนธรรมเกาหลีอย่างครบวงจร หน้าที่ของ KOCCA คือ การออกกฎระเบียบที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนภาคเอกชนโดยเฉพาะรายเล็ก ๆ ในการจัดตั้งธุรกิจด้านเนื้อหาวัฒนธรรม รวมทั้งยังร่วมลงทุนและให้กู้ ไปจนถึงมีสตูดิโอให้เช่าในราคาถูกอีกด้วย นอกจากนี้หน้าที่ของ KOCCA ยังครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนการขยายตลาดวัฒนธรรมไปยังต่างประเทศ เพื่อเป็นธุรกิจส่งออก ซึ่งในไทยมีองค์กรในลักษณะนี้ไหม

สายพิรุณ ตอบได้คำเดียวว่า “ไม่มีจ้า” พร้อมกับเสียงขำเล็กน้อย เธอยังได้พูดเสริมต่อว่า “ควรมี ไม่อย่างนั้นเราจะเอาเงินที่ไหนมาผลิตซีรีส์ หรือหาไอเดียใหม่ ๆ และเราไม่รู้จะเอาไปขายใคร อยากผลิตเรื่องของเรา เราไม่รู้ว่าเราต้องไปหาใคร ถ้ามีองค์กรแบบเกาหลี นักเขียนก็ยังพอเห็นหนทางในการไปขายไอเดีย หรือขอเงินทุนได้ง่ายกว่าตอนนี้ เพราะนักเขียนในไทยตอนนี้ ถ้าใครมีคอนเนคชั่นมากกว่าคนนั้นก็จะมีโอกาสในการขายไอเดียได้มากกว่า”

ปริมาณที่มากกลับสวนทางกับคุณภาพที่มี

หลายคนก็คงได้ดูซีรีส์วายของต่างประเทศ เช่น Heartstopper ทุกคนก็คงเห็นจุดที่แตกต่างกับซีรีส์วายไทย โดยเราได้ถามอ้อยในมุมมองของนักเขียนที่เมื่อได้มองผลงานซีรีส์วายของไทยกับของต่างประเทศ มีจุดไหนบ้างที่ต่างกัน

“เรารู้สึกมันมีความน่าอ่าน แล้วมันเข้ากับรสนิยมวายของเรา ซีรีส์วายมันจะมีความฟิน มีความจบแฮปปี้น่ารัก เรื่องนี้มันก็เลยเข้ากับรสนิยมตรงนี้ สิ่งที่มันอาจจะดีกว่า มันมีฉากที่ตัวละครออกมาพูดคุยกับแม่ว่า เป็นไบเซ็กชวล แล้วคุณแม่ก็บอกขอโทษนะ ที่ทำให้ลูกรู้สึกคุยเรื่องนี้กับแม่ไม่ได้ ตรงนี้มันซื้อใจคนไทยได้เยอะมาก มันอาจจะคนละวัฒนธรรมด้วย เขาอาจจะมีความก้าวหน้าด้านนี้กว่าเรานิดนึง ซึ่งมันดีตรงที่มีตัวละครที่เป็นเกย์แล้วพูดออกมาอยู่แล้ว อีกตัวละครคุณก็เป็นไบเซ็กชวลได้ มันก็ทำให้เห็นมุมมองใหม่ ๆ”

แต่เมื่อหันมามองซีรีส์วายของไทยบางเรื่องก็มักจะมีประโยคที่พูดว่า “ฉันไม่ชอบผู้ชายคนอื่น ฉันชอบนายคนเดียว” 

สายพิรุณ กลับมองว่า ประโยคนี้มันก็ดูโรแมนติกดี แต่ก็ไปลดทอนการมีอยู่ของ LGBTQ+  เราอยากเปลี่ยนตรงนี้เหมือนกัน ถ้าเราได้เขียนซีรีส์วายเรื่องอื่น เราก็จะใส่สิ่งเหล่านี้ไปด้วย ไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวลก็มีเยอะ แต่ประโยคเจ้าปัญหานี้มันไปลดทอนมันหมดเลย เราก็ย้อนเวลากลับไปแก้ไม่ได้หรอก แต่ในอนาคตเราก็อยากพาซีรีส์วายไทยไปในทางที่ดีขึ้น

ต่อจากประเด็นข้างต้น สายพิรุณได้เสริมประเด็นเกี่ยวกับความหมายของซีรีส์วายที่ถูกตีความว่า ตัวละครต้องเป็นผู้ชาย แล้วมีเส้นเรื่องที่จบแบบสมหวัง โดยเธอได้ออกความเห็นว่า “คำว่าซีรีส์วายเริ่มมีปัญหาแล้ว มันเริ่มแยกไปอีกประเภทของตัวเอง พอเป็นซีรีส์วายต้องจบสมหวัง ตัวละครจะเลิกกันไม่ได้ แล้วมันจะมีความเป็นผู้ชายทั้งคู่ ถ้าในอนาคตอยากให้ยกเลิกคำนี้ ลองเปลี่ยนไปใช้คำอื่นมั้ย เช่น Boylove  อาจทำให้มีความหลากหลายในซีรีส์มากขึ้น”

“คนดูก็ต้องส่งเสียงคอมเมนต์ช่วยกันกดดัน เรื่องไหนแย่ ไม่ว่าจะต้นฉบับแย่ โปรดักชั่น บท นักแสดง กำกับ ตัดต่อแย่ ต้องบอกให้เขารู้ ถ้าเรื่องไหนผลิตซ้ำในเรื่องทัศนคติแย่ ๆ เช่น เรื่องการเหยียด เรื่องข่มขืน ก็ช่วยกันแบนไปเลย จะได้เกิดกระบวนการการตลาดในการคัดกรองเรื่องดี ๆบ้าง เหมือนตอนนี้ฝั่งผู้ผลิตบางคนก็หลับหูหลับตาผลิต แต่ไม่ฟังคอมเมนต์ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ตัวเองทำมันดีหรือไม่ดี ถ้าตัวเองไม่ได้มีผลกระทบอะไรเลย ก็จะผลิตเรื่องแย่ ๆ ไม่มีคุณภาพออกมาอีกเรื่อย ๆ” สายพิรุณ กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิงข้อมูลจาก

เสริมทัพส่งออกโต! รัฐบาลเดินหน้าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก ซีรี่วายและเกมมาแรงในภูมิภาค : กรมประชาสัมพันธ์