Ko au te awa, Ko te awa ko au
แปลเป็นไทยได้ว่า ‘เพราะแม่น้ำคือฉัน และฉันคือแม่น้ำ’ สุภาษิตชาวเมารี ชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติ
ไม่ว่าประโยคนี้จะเป็นกุศโลบายหรือเป็นเรื่องราวจริงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หลักแนวคิดเหล่านี้ คือสิ่งที่ทำให้ประเทศนิวซีแลนด์ สามารถผลักดันกฎหมายที่จะทำให้แม่น้ำไม่ถูกทำร้ายโดยฝีมือมนุษย์ต่อไป ด้วยการมอบ สิทธิ ให้กับแม่น้ำ
ทำไมแม่น้ำจึงต้องมีสิทธิ และสิทธิเหล่านี้จะมอบผลประโยชน์ใดให้กับแม่น้ำบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่กอบโกยและพึ่งพิงแหล่งน้ำต่าง ๆมาอย่างยาวนานทั่วทุกมุมโลก เมื่อช่วงชิงแต่ไม่มีการรักษา หากไม่มีแหล่งน้ำเหล่านี้ คงไม่ใช่แค่ปลาที่ขาดน้ำแล้วจะตาย
De/code ชวนทำความเข้าใจ การมอบสิทธิให้กับแม่น้ำหรือการทำให้แม่น้ำกลายเป็นคน นโยบายที่ทางภาครัฐต้องนำมาปรับและสามารถใช้ได้จริงในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในประเทศไทย ที่นับวันยิ่งเกิดภาวะวิกฤตมากยิ่งขึ้น
จากวิทยากรและตัวแทนภาคประชาชนต่าง ๆในเวทีเสวนา “สิทธิของแม่น้ำ” ณ สายน้ำโขงและลำน้ำสาขา, ความจริงหรือความฝัน? ถอดบทเรียนและการต่อสู้ที่ยังไม่จบจากผลกระทบจากโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ความหวัง (ฝัน) ถึงเครื่องมือทางกฏหมายใหม่ ๆ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน2565 ที่บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
เมื่อแม่น้ำกลายเป็น ‘คน’
การผลักดันสิทธิของแม่น้ำหรือการทำให้แม่น้ำมีสถานะทางบุคคล(Legal person) ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ผลักดันมาอย่างยาวนาน และมีหลายประเทศที่สามารถทำได้สำเร็จ หนึ่งในกรณีที่ถูกยกมาอ้างถึงเพื่อให้เห็นผลลัพท์ที่จะได้กลับมามากที่สุด คือการผลักดันสิทธิของแม่น้ำ วังกานุย (Whanganui) ในประเทศนิวซีแลนด์
ในเดือนมีนาคม 2017 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าแม่น้ำวังกานุย (Whanganui) มีชีวิตมีสิทธิของตัวเองเทียบเท่าบุคคลตามกฎหมายแล้ว หลังจากผลักดันมาตั้งแต่ปี 1870 ผู้ที่ทำร้ายแม่น้ำสายนี้ต้องได้รับโทษไม่ต่างจากการทำร้ายชาวเผ่าเมารีที่ถือว่าแม่น้ำสายนี้มีความสำคัญทางจิตวิญญาณ
H.E. Melissa Haydon-Clarke อุปฑูตนิวซีแลนด์ประจำกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวในเวทีเสวนานี้ ถึงกระบวนการผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้น “สิ่งสำคัญคือการให้ผู้คนที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเหล่านี้ มีส่วนร่วมในการออกแบบและรักษา เพื่อให้เกิดกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักรู้ถึงผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่อุตสาหกรรมต่าง ๆประชาชนทั่วไป ไปจนถึงชุมชนในบริเวณใกล้แม่น้ำในฐานะที่ทุกคนมีสิทธิ์และเสียงในการที่จะหาประโยชน์และรักษามันเท่ากัน”
ซึ่งมีกรอบของกฎหมาย เพื่อที่จะทำให้เกิดความสมดุล และตัดสินได้ว่า ใคร คือคนที่จะมีสิทธิที่จะพูดในนามของแม่น้ำเหล่านี้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมายมากขึ้นด้วย
“เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญของกรณีแม่น้ำวังกานุย คือการมีตัวแทนและการมอบหมาย ในการที่จะกระทำในนามของแม่น้ำ ในส่วนของคนที่เป็นผู้แทนคือการแต่งตั้งจากทางภาครัฐ และยังมีคนที่ได้รับการมอบหมายในแต่ละครั้งนั้น คือการแต่งตั้งมาจากชุมชนพื้นเมืองหรือคนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น ๆที่อาศัยและใช้แม่น้ำโดยตรง ทั้ง 2 ตัวแทนก็จะมีสิทธิ์และพิทักษ์ในนามของแม่น้ำได้”
“พวกเขาทั้ง 2 คน ในฐานะที่ทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญคือภาครัฐจะต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มคนทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อที่จะให้สิทธิของแม่น้ำ ได้กลายเป็นสถานะของบุคคลขึ้นมาจริง ๆและเข้าใจบริบทของแต่ละพื้นที่ให้ได้จริง ๆ”
การผลักดันที่เกิดขึ้นได้จริงในนิวซีแลนด์ มีรากฐานที่มั่นคงจากหลักแนวคิดและความเชื่อท้องถิ่น ในด้านของจิตวิญญานและธรรมชาติของชาวเมารี สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ชนพื้นเมืองหรือผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโดยตรง ต้องการที่จะรักษาและมีสิทธิ์และเสียงในการปกป้องอย่างเต็มที่
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การเกิดขึ้นมาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เราจะเห็นได้ว่าประเทศนิวซีแลนด์ที่มีรากฐานแนวคิดที่มั่นคงในเรื่องของการปกป้องรักษาธรรมชาตินั้น ต้องผลักดันเรื่องนี้เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ศตวรรษ
เพราะฉะนั้นแล้วภาครัฐ คืออีกหน่วยงานหนึ่งที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ในการผลักดันกฎหมายนี้ และต้องมีความเข้าใจในบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมถึงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ในการสร้างสมดุล ทั้งการหาตัวแทน ข้อกฎหมาย ไปจนถึงการรักษาและพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ๆในทิศทางที่ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย
ให้สถานะบุคคลกับ ‘แม่น้ำโขง’ ความเชื่อมั่นที่รัฐไทยต้อง ‘สร้าง’
ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวถึงชุดความคิด ว่าด้วยการจัดการแม่น้ำในประเทศไทยและต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อแม่น้ำโขงมาเป็นระยะเวลานาน
“วิธีคิดเก่า ๆที่นำมาใช้ในการจัดการแม่น้ำ มันทำให้เกิดปัญหา มีทั้งการกักน้ำไว้ มันคือการทำลายสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแม่น้ำ มันไม่ใช่การสักแต่ ขุด ลอก สร้างประตูระบายน้ำ สร้างเขื่อน”
จากเสียงชาวบ้านตามุย รวมถึงข่าวปัญหาของแม่น้ำโขงที่ปรากฎอยู่ในสื่อต่าง ๆในช่วงเวลากว่า 10 ปีให้หลัง หลายหลังคาเรือนต้องผันอาชีพตัวเอง จากการประมงน้ำจืด หรือการหาปลา หาผักจากริมน้ำโขง ทั้งเพื่อการบริโภคและนำไปขาย กลายเป็นอาชีพรับจ้างต่าง ๆโดยเฉพาะอาชีพรับจ้างก่อสร้าง
การเปลี่ยนอาชีพดั้งเดิมของผู้คนริมโขง มาจากการที่แม่น้ำโขงเกิดความผิดปกติ จากที่น้ำขึ้นและน้ำลงตรงตามฤดูกาล กลับขึ้นและลงอย่างคาดเดาไม่ได้ การขึ้นและลงของน้ำที่มีความผิดปกตินี้ ไม่ได้ส่งผลแค่การลงไปจับหาปลาไม่ได้เพียงอย่างเดียว แต่เพราะไม่มีปลาให้จับ พันธุ์ปลานับร้อยชนิดหายไปจากแม่น้ำโขงยังรวมถึงพืชผักนานาชนิด ที่หายไปพร้อมกัน
ทว่า การหายไปของฝูงปลาและพืชผัก มีร่องรอยทิ้งไว้ ร่องรอยที่ว่าคือโครงการการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง จากข้อมูลในปี 2562 มีโครงสร้างที่จะสร้างเขื่อนจากประเทศจีน เป็นอย่างน้อย 25 เขื่อน และได้สร้างเสร็จไปแล้วกว่า 12 เขื่อน คอขวดของการไหลผ่านแม่น้ำโขงที่กระทบกับพี่น้องริมโขงในประเทศไทยคือ เขื่อนไซยะบุรี ที่ตั้งอยู่ในประเทศลาว นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กระแสน้ำโขงมีความเปลี่ยนไปและเกิดเป็นความผิดปกติ ส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตริมน้ำ และนั่นรวมคนริมโขงเข้าไปด้วย
“เราเดินทางมาเกือบ 300-400 กิโลเมตร เพื่อมาบอกว่าแม่น้ำโขงเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ตั้งแต่มีเขื่อน” เสียงจาก อำนาจ ไตรจักร ตัวแทนจากลำน้ำสงคราม นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนริมโขงโดยตรงแล้ว คือกลุ่มแม่น้ำสาขาที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่นับรวมการสร้างเขื่อนนอกเหนือจากที่อยู่บนเส้นแม่น้ำโขง และเขื่อนเหล่านั้นคือปัญหาหลักที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆตามมา
“ชาวบ้านทุกคนรักแม่น้ำ แต่คนที่ทำลายแม่น้ำคือนโยบายของรัฐ” พ่อประดิษฐ์ โกศล ตัวแทนจากกลุ่มลำน้ำชี ยืนยันว่า ปัญหาของการจะมอบสิทธิให้กับแม่น้ำ หรือการทำให้แม่น้ำมีสถานะทางบุคคลนั้น ยังเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นยากในไทย นอกจากการที่ภาครัฐจะไม่ได้มีการจัดการปัญหาของชาวบ้าน ซ้ำร้าย ภาครัฐกลับเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มทุนให้ทำการสร้างเขื่อนเหล่านี้ ตามที่กลุ่มตัวแทนได้กล่าวมา
แม่สมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนจากกลุ่มลำน้ำมูล ยังกล่าวด้วยว่าอยากให้แม่น้ำทุกสายเป็นอิสระ อิสระในที่นี้หมายถึงการไม่ถูกทำร้ายจากคนด้วยกันเอง ซึ่งปัญหาหลักที่พบโดยคนในพื้นที่ คือการสร้างเขื่อน
เสียงจากการผลักดันโดยภาคประชาชน โดยประชาชนที่ว่ากลุ่มคนริมโขงและริมน้ำสาขา ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ทั้งเขื่อนจีนและเขื่อนไทย อย่างที่ สิริศักดิ์ สะดวก ตัวแทนจากกลุ่มลำน้ำชี ต้องการจะเน้นย้ำให้เราเห็น คือการนำโมเดลนโยบายของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ในการมอบสิทธิและสถานะทางบุคคลให้กับแม่น้ำนั้น คือรัฐจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ว่าพื้นที่ของพวกเขาจะไม่ถูกทำลาย โดยเฉพาะจากการสร้างเขื่อนที่มีรัฐเป็นผู้หนุนหลังอีกชั้นหนึ่ง
“รัฐจะต้องมองลุ่มน้ำ โดยในลุ่มน้ำเหล่านี้มีคนอยู่ การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยที่มีอยู่หลายพันแห่ง แต่กลับสร้างเขื่อนขึ้นมาโดยใช้เหตุผลที่ว่าเพื่อผลิตไฟฟ้า คำถามคือเขื่อนเหล่านี้สร้างไฟฟ้าให้ประชาชนใช้หรือเพื่อใครกันแน่”
“สิทธิของแม่น้ำ” ความฝันหรือความจริง?
“เมื่อเราดูการสร้างเขื่อนที่ว่ากันว่าพัฒนา ตั้งแต่ประเทศจีน ประเทศเพื่อนบ้าน จนมาถึงประเทศไทย โครงการพัฒนาเหล่านี้ กำลังทำลายสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก”
“มีผลการวิจัยจำนวนมาก ที่ยืนยันแล้วว่า การสร้างเขื่อนหรือการสร้างเขื่อนทับตลิ่ง ในแม่น้ำสาขา ทำให้พันธุ์ปลาลดลง”
รศ.ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ้างอิงถึงผลวิจัยจากต่างประเทศจำนวนมาก ที่พูดถึงการสร้างเขื่อนในปัจจุบันนั้น สร้างผลกระทบด้านลบ มากกกว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
สำคัญที่การสร้างเขื่อนเหล่านี้ จะสร้างปัญหาให้กับผู้คนที่อยู่แถบลุ่มน้ำทั้งหมด ทั้งจากอาชีพจนมาถึงระดับภูมิประเทศในท้ายที่สุด การผลักดันสิทธิและมอบสถานะให้กับแม่น้ำ ปลายทางที่ รศ.ดร กนกวรรณเชื่อว่าจะเกิดขึ้น คือการที่แม่น้ำมีสิทธิและเรียกร้องให้กับตัวเองได้ เพื่อที่จะแบ่งปันความอุดมสมบูรณ์ให้กับผู้คนในบริเวณ
ปัญหาและข้อต่อที่เราต้องปลดล็อคโดยเร็วที่สุดในประเทศไทย คือการที่ภาครัฐ จะต้องเข้ามาร่วมมือและตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อแม่น้ำโขงมาเป็นระยะเวลานาน จนก่อให้เกิดวิกฤตพันธุ์ปลาสูญหาย พืชผักริมโขงหายไป รวมถึงวิถีชีวิตของคนริมโขงที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
การก่อให้เกิดความร่วมมือจากทางภาคเอกชน ภาคประชาชน ต่อภาครัฐ รศ.ดร. ธนพร ศรียากูล กรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า “สิ่งที่เราต่อสู้ทุกวันนี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อโครงสร้างใหญ่เราเป็นประชาธิปไตย”
หลักประชาธิปไตยที่ รศ.ดร. ธนพร กล่าวคือการมอบอำนาจหรือกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ การให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และได้รับผลกระทบได้มีสิทธิ์ในการพัฒนาและปกป้องรักษาพื้นที่ของตนเช่นกัน
รศ.ดร. ธนพร ยังกล่าวด้วยว่า ในกรณีที่ประเทศนิวซีแลนด์นั้น คือการที่รัฐบาลยอมรับชาติพันธุ์เมารี หรือชนเผ่าพื้นเมือง ตั้งแต่ตัวประชาชนไปจนถึงฐานแนวคิดหรือความเชื่อ นั้นทำให้เกิดกฎหมายการมอบสิทธิและสถานะให้กับแม่น้ำ เพราะสิ่งสำคัญคือกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำ จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถ้าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร ยิ่งในทุกวันนี้ที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอยู่แล้วนั้น การสร้างความเสียหายจากน้ำมือของมนุษย์จะยิ่งทำให้ธรรมชาติเสียหายหนักเข้าไปอีก
ชนเผ่าเมารีหรือชาติพันธุ์ในนิวซีแลนด์นั้น ไม่ได้ต่างอะไรกับพี่น้องคนริมโขง ทั้งคู่คือกลุ่มที่มีอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำและได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกเหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันของ 2 ประเทศ คือรัฐบาลที่มองความสำคัญของเรื่องนี้เป็นลำดับไหนต่างหาก
หลังจากเวทีเสวนานี้จบลง ไม่มีอะไรมายืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ ระหว่างสิทธิของแม่น้ำจะเกิดขึ้นก่อน หรือแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเหล่านี้จะหายไปพร้อม ๆกับสิ่งมีชีวิตโดยรอบก็ไม่อาจรู้ได้
แต่สิ่งที่ยืนยันชัดเจนเวทีฯ นี้และเสียงยืนยันจากชาวบ้านตามุย คือการรักษาและปกป้องลุ่มแม่น้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา คือรัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการตรงนี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการฟังเสียงประชาชน เพื่อให้คนริมโขงไม่ใช่แค่เฉพาะรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเองได้ แต่เป็นรักษาชีวิตและปากท้องของชุมชนด้วย
‘เพราะแม่น้ำคือเรา และเราคือแม่น้ำ’ สุภาษิตนี้ของชาวเมารีคงไม่เกินจริง เพราะสำหรับคนริมโขง หากแม่น้ำได้ตายลงไปจริง ๆพวกเขาก็คงจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบเดิมอย่างแน่นอน
รับชมบันทึกเวทีเสวนาย้อนหลัง: “สิทธิของแม่น้ำ” ณ สายน้ำโขงและลำน้ำสาขา, ความจริงหรือความฝัน? ถอดบทเรียนและการต่อสู้ที่ยังไม่จบจากผลกระทบจากโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ความหวัง (ฝัน) ถึงเครื่องมือทางกฏหมายใหม่ ๆ