วัฒน์ วรรลยางกูร จากไปแล้ว แต่งานของเขาได้กลายเป็นดาวเหนือนำทางให้เรา ทั้งวรรณกรรมและผลงานที่ถูกตีความผ่านศิลปะแขนงอื่น ๆ ไอ้แผนยังคงเร่ร่อนกลางเมืองหลวง เป็นประจักษ์พยานความโหดเหี้ยมของทุนนิยมอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ที่กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง แววตาแบบนักสู้พลัดถิ่นของวัฒน์ ที่ไม่ต่างจากแววตาของ ชัย ช่อมะกอก ผู้นำชาวนาใน “ตำบลช่อมะกอก” ปรากฎในนิทรรศการภาพถ่ายของ ศุภชัย เกศการุณกุล และความรักในบทเพลงลูกทุ่งพื้นถิ่นจนทำให้เกิดผลงาน ‘คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน’ ถูกถ่ายทอดออกมาในรายการสารคดีของ องอาจ หาญชนะวงษ์
มนต์รักทรานซิสเตอร์
“ผมได้เจอพี่วัฒน์ตอนฉายหนังรอบ Press แล้วแกเซ็นหนังสือให้ว่า “หนังสนุกกว่าหนังสือ” นั่นเป็นวันแรกที่ได้เจอกัน แต่คนเยอะเลยไม่ได้คุยกันมาก ตอนหลังได้เจออีกทีถึงได้คุยกันมากขึ้น และรู้สึกว่าถ้ารู้จักกันนานกว่านี้แกเป็นไอดอลเราได้เลย เพราะว่าพี่วัฒน์มีอุดมการณ์คล้าย ๆ เรา เรื่องความไม่ยุติธรรมหลาย ๆ อย่างที่มันก่อร่างสร้างตัวมาในสังคมไทยจนแกะไม่ออก เราเห็นและไม่ชอบในสิ่งเดียวกัน แต่ผมไม่มีความกล้าหาญเท่าพี่เค้า พี่วัฒน์สู้แบบเปิดหน้าและไม่เคยยอม”
เป็นเอก รัตนเรือง ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ราวปี 2544 ภายหลังจากเสร็จสิ้นการกำกับภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ที่เขียนบทจากวรรณกรรมเรื่องเดียวกันของวัฒน์ วรรลยางกูร โดยก่อนหน้าเขาให้โปรดิวเซอร์เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับนักเขียน เป็นเอกออกตัวว่าตนเองอาจจะเป็น Opportunists ที่ต้องการให้มีกลิ่นอายบางอย่างในหนังของตัวเอง มากกว่าถ่ายทอดออกมาแบบหน้าต่อหน้าตามวรรณกรรมต้นฉบับ
“ตอนที่ทำงานนี้ผมไม่เคยปรึกษาพี่วัฒน์เลย ส่วนที่ผมไม่ชอบในหนังสือ ผมทิ้งหมดเลย เหลือแต่ซีนที่ผมชอบเอาไว้ แต่งเพิ่มบ้าง ผูกเป็นเรื่องแล้วทำเป็นหนัง ผมคิดว่าด้วยวิธีนี้ หนังที่ออกมาจะยิ่งแสดงความซื่อสัตย์กับหนังสือได้มากกว่า”
แต่บางฉากที่เป็นเอกเลือกเก็บไว้นั้น เป็นฉากที่สำคัญ สะท้อนให้เห็นว่าเขายังคงรักษาแก่นเรื่องของวรรณกรรมที่ให้อารมณ์แบบตลกเสียดสีในเรื่องชนชั้นและความเหลื่อมล้ำ ผ่านชีวิตของไอ้แผนหนุ่มบ้านนาหนีทหาร คนชายขอบตัวเล็ก ๆ ที่ความฝันของมันเป็นแค่เรื่องตลกหน้าม่านในระบบทุนนิยม
“ในหนังสือของพี่วัฒน์มันเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว อย่างในซีนที่เป็นปาร์ตี้คนจน โดยจับคนรวยมาแต่งเป็นคนจนก็มีในหนังสืออยู่แล้ว เราแค่รู้สึกกับมันได้ เลยทำออกมา”
ในช่วงเวลาที่ตัดสินใจทำหนังเรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นเอกเพิ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงจากภาพยนตร์เรื่อง “เรื่องตลก 69” ที่พล็อตทั้งหมดเกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน เส้นเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบเป็นฉากที่อยู่ในอพาร์ทเมนท์แห่งเดียว เมื่องานชิ้นนั้นสิ้นสุดลงเขาจึงต้องการบางสิ่งที่ต่างออกไป โปรเจ็คท์การสร้างหนังมนต์รักทรานซิสเตอร์ให้โอกาสเขาได้ออกไปถ่ายทำในโลเคชั่นที่โล่งกว้าง และฉากคอนเสิร์ตเพลงลูกทุ่งในบรรยากาศต่างจังหวัด ผ่านการตีความใหม่ของผู้กำกับให้ตอบโจทย์ในความเป็นภาพยนตร์ เพื่อตรึงคนดูให้อยู่กับหนังตั้งแต่ต้นจนจบในเวลาชั่วโมงครึ่ง
“คือผมเกิดและโตที่กรุงเทพ ในเมื่อผมไม่มีความรู้เรื่องต่างจังหวัดเลย เราก็จะไม่ทำให้หนังมัน Realistic แต่จะสร้างโลกใหม่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกของไอ้แผนกับสะเดา แล้วผมมั่นใจว่าถ้าเราทำให้คนดูตามโลกของไอ้แผนกับสะเดาไปได้เรื่อย ๆ จะไม่มีใครมาด่าผมได้ว่ามันไม่เรียลลิสติกส์ พอเสร็จออกมาเป็นหนังก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ ทุกคนเอนจอยกับหนังจนไม่มีเวลาคิดเลยด้วยซ้ำว่าบ้านนอกในหนังมันโคตรปลอมเลย เพราะมัวแต่ลุ้นไปกับชีวิตไอ้แผน มันเป็นศิลปะในการทำหนัง”
สิ่งที่เป็นเอกคาดการณ์ไว้เป็นไปตามนั้น ยืนยันได้จากการที่มนต์รักทรานซิสเตอร์เวอร์ชั่นภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม กวาดรางวัลมากมายจากเทศกาลหนังทั้งในประเทศและระดับสากล เขาได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ และรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานแฮมเบอร์เกอร์อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 แม้จะได้เสียงตอบรับที่ดีมากเพียงใด แต่ผู้กำกับได้ย้อนมองว่าผลงานชิ้นนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบไปหมด สิ่งที่เขาพอใจคือพลังดึงดูดของหนังที่ก้าวข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
“ถ้าวิเคราะห์มนต์รักทรานซิสเตอร์จริง ๆ ให้นักวิจารณ์หนังมานั่งแยกเป็นซีน ๆ มันมีข้อผิดพลาดและสิ่งที่เหลือเชื่อเต็มไปหมดเลย ก็เหมือนกับหนังหลาย ๆ เรื่อง แต่ความมหัศจรรย์ในความเป็นภาพยนตร์ก็คือ ท่ามกลางความไม่สมบูรณ์แบบทั้งหลาย แต่พอรวมกันเป็นหนัง พลังของมันดูดเราเข้าไปอย่างชนิดที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ตอนนี้เพิ่งจะมาฉาย Netflix และยังมีคนพูดถึง เด็กที่ดูตอนนี้เกิดไม่ทันด้วยซ้ำ”
แม้ผู้กำกับและนักเขียนจะมีโอกาสพูดคุยกันไม่กี่ครั้ง แต่จุดเชื่อมโยงที่มากกว่าคือการสื่อสารกันของพวกเขา ผ่านการตีความวรรณกรรมเรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นเอกทวนความทรงจำครั้งท้าย ๆ ก่อนจะรู้ข่าวการจากไปของวัฒน์และเล่าว่าเคยได้รับการติดต่อจากนักเขียนที่สนิทกัน แจ้งว่าวัฒน์ต้องการดีวีดีของมนต์รักทรานซิสเตอร์ เพราะเขาถูกเชิญให้ไปพูดเกี่ยวกับวรรณกรรมเล่มนี้ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก สัญนิษฐานว่านั่นอาจเป็นจุดแวะพักระหว่างเส้นทางที่วัฒน์จะเดินทางจากลาวไปฝรั่งเศส
ครั้งสุดท้ายที่เป็นเอกได้เห็นวัฒน์ เป็นการเห็นเพียงภาพเคลื่อนไหวในหนังสารคดีเรื่อง “ไกลบ้าน” (Away) ที่กำกับโดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ มีเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยธีรพันธ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าผูกพันกับภาพยนตร์เรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ จนมารู้ในภายหลังว่าบทหนังทำมาจากวรรณกรรมของ วัฒน์ วรรลยางกูร อาจพูดได้ว่าพลังของวรรรณกรรมเรื่องนี้ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับทั้งสองรุ่น
“ผมเห็นหนังสั้นเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่า “นี่เหรอวะ นี่คือสิ่งที่ประเทศเราเชิดชูเกียรติคนที่เป็นศิลปินระดับประเทศ เราเชิดชูกันด้วยวิธีนี้เหรอ” มันสะเทือนใจมาก ตรง Sequence ที่ไปถ่ายบ้านแกซึ่งรกร้าง ผมน้ำตาไหลเลย นึกถึงคนที่เคยมีความสุขกับที่ตรงนี้ มีครอบครัว วัน ๆ ไม่ได้ยุ่งกับใคร นั่งเขียนหนังสือ มันอดสะเทือนใจไม่ได้”
ภาพเหมือนของศิลปิน
“พี่วัฒน์กลายเป็นตัวละครในหนังสือของตัวเอง คือชาวไร่ชาวนาที่ทอดแหจับปลา เราว่าถ้าแกมีชีวิตแบบนั้นก็มีความสุขพอสมควร โดยตัดเรื่องบาดแผลต่าง ๆ ออกไปให้หมดนะ แกเป็นคนตรงไปตรงมา เหมือนงานที่เขียนออกมา นักเขียนบางคนเขียนหนังสือเพราะว่าอยากเป็นเหมือนหนังสือที่ตัวเองเขียน แต่พี่วัฒน์คือ หนังสือเป็นยังไงตัวจริงเป็นอย่างนั้น ใช้ชีวิตแบบนั้นด้วย เราก็แค่ไปสังเกตการณ์ ไปเป็นพยานอยู่ตรงนั้น”
ภาพโดย: ศุภชัย เกศการุณกุล
ศุภชัย เกศการุณกุล พูดถึงความรู้สึกในการถ่ายภาพ Portrait วัฒน์ วรรลยางกูร งานภาพชุดนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่วัฒน์ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านและใช้ชีวิตกลมกลืนไปกับชุมชน ระยะเวลาราวสามวันที่ศุภชัยก้าวเข้าไปในพื้นที่ของนักเขียนพลัดถิ่น เขามีสมาธิจดจ่อกับการทำงาน และรู้โดยสัญชาติญาณของช่างภาพว่าผลงานครั้งนี้คือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ต้องบันทึกไว้
“เราถ่ายอย่างเดียว รู้สึกว่าการหยุดถ่ายมันเสียโอกาส เพราะเวลามีน้อย มีสมาธิกับการมองอย่างเดียว เสียงแทบจะไม่ได้ยินเลยด้วยซ้ำ ตอนนั้นคืออยู่กับตัวเอง กับสิ่งที่เห็น เป็นการทำงานแบบที่ต้องการ คือตัวแบบมีเวลาให้เรา คุยทุกเรื่องที่แกพูดได้ อนุญาตให้เราถ่ายรูปตลอดเวลา แม้ว่าจะมีหงุดหงิดบ้างในตอนแรก ๆ แต่คิดว่าแกคงเข้าใจว่ามันมีโอกาสไม่กี่ครั้งในชีวิตที่ได้ทำ”
หากขยายความคำว่า “การทำงานแบบที่ต้องการ” ของช่างภาพคนนี้ จะเห็นว่าที่ผ่านมาในงานถ่ายภาพบุคคลของเขาเป็นการบันทึกด้วยฟิล์ม และเป็นฟิล์มขาวดำ ศุภชัยเลือกผลิตงานในแนวทางนี้เพราะชอบในกระบวนการที่ช้าและประณีต สามารถให้ความสำคัญในเรื่องเทคนิคได้อย่างเต็มที่ เขาย้อนกลับไปยังบรรยากาศการทำงานในช่วงสามวันนั้น แม้ว่าโลเคชั่นที่ประเทศลาวอาจเป็นเพียงบ้านชั่วคราวของวัฒน์ แต่เป็นบ้านที่เขาทำกิจวัตรประจำวันอย่างสอดคล้องไปกับจังหวะของสถานที่ ตื่นเช้าลงอวนจับปลาในบ่อ จับกบ ทำกบสับผัดกระเพราเป็นกับข้าวต้อนรับผู้มาเยือน ร่ำสุราพลางพูดคุยกัน เช้าวันต่อมายังพาไปดูชาวบ้านหมักสาโท ราวกับว่าพวกเขาอยู่ในฉากหนึ่งของ “สิงห์สาโท”
“บ่ายวันนั้นฝนตก แล้วบังเอิญชาวลาวเขาไปลงแขกเกี่ยวข้าว ฝนกระหน่ำ พวกเขาเลยกางเต้นท์เพื่อกันฝน แล้วชวนพวกเราไปนั่งข้างในเต้นท์ พูดคุยกัน พี่วัฒน์ก็นั่งดื่มสาโทไปด้วย เรารู้สึกว่านั่นเป็นชีวิตที่ดี พูดก็พูดเถอะ เรารู้สึกว่าพี่วัฒน์กลายเป็นตัวละครในหนังสือของตัวเอง”
สามวันสองคืนที่ศุภชัยทำงานของเขา ได้สะท้อนออกมาเป็นภาพถ่ายขาวดำของวัฒน์ วรรลยางกูรที่ถูกคัดเลือกออกมา 5 ภาพ และได้รับการจัดแสดงในนิทรรศการ “กลับบ้าน” โดยเครือข่ายกวีสามัญสำนึกและลพรามา ที่ LAG Studio ในจังหวัดลพบุรี
“รูปที่เลือก 5 รูป ไปแสดงนิทรรศการ รูปหนึ่งคือตอนที่พี่วัฒน์ทำกับข้าว อีกรูปคือที่แกยืนข้างนอก เรายืนข้างใน แล้วปฏิทินมันบังเอิญตรงกับเดือนตุลาพอดี อีกรูปคือพี่วัฒน์ยืนถือแก้วกาแฟ แต่ข้างในมันเป็นสาโท อีกรูปเป็นตอนที่ฝนตก แกนั่งอยู่ในเต้นท์ มีชาวบ้านนั่งอยู่รอบ ๆ แล้วก็มีรูปที่แกใส่หมวกแล้วโพสต์ให้ถ่าย เป็นรูปบนโปสเตอร์นิทรรศการ เราตั้งชื่อเล่น ๆ ว่ารูปเจมส์ ดีน คือดูขบถ ดื้อรั้น ลูกทุ่ง มีความมั่นใจในตัวเอง เรารู้สึกว่าแต่ละรูปคือหนังสือที่พี่วัฒน์เขียน”
ฝังหัวใจไว้ในเพลงลูกทุ่ง
“เพลงที่อาจารย์วัฒน์แต่ง เป็นเพลงที่ใช้ปลอบประโลมคนส่วนน้อย คนที่ต้องการขับเคลื่อนสังคม เพราะแกเองก็เป็นนักสู้มาตลอด รวมทั้งเพลงที่แกรวบรวมมาเป็นตำราสารคดีของนักแต่งเพลง คนเหล่านั้นเป็นนักสู้เหมือนกัน มีความกล้า และเป็นเนื้อหาที่ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ให้ชาวบ้านมีสิทธิมีเสียงขึ้นมา ไม่ได้เป็นแค่ตัวตลก ตัวประกอบ แต่ให้เห็นชีวิตเลือดเนื้อของชาวนา แม้แต่ตอนวาระสุดท้ายที่แกจะจากไป ก็ยืนยันที่จะพูดถึงเรื่องนี้ อาจารย์วัฒน์เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าคนที่ต่อสู้ ยืนหยัดไม่เปลี่ยนแปลง เป็นคนที่น่านับถือได้ขนาดไหน”
องอาจ หาญชนะวงศ์ พูดถึงวัฒน์ทั้งในฐานะนักเขียนและการเป็นแหล่งข่าวของเขาในการผลิตรายการสารคดี “ข้างหลังเพลง” เมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา องอาจซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของรายการ อธิบายรูปแบบของรายการว่าต้องการเจาะลึกในความเป็นมาของบทเพลง โดยเฉพาะบทเพลงที่สร้างความหมายบางอย่างให้สังคม
องอาจ หาญชนะวงศ์
“แนวคิดของรายการข้างหลังเพลง คือเรามีความตั้งใจทำสารคดีที่ให้มากกว่าการฟังเพลง ส่วนใหญ่เพลงที่คัดเลือกมาถ้าไม่ใช่เพลงที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน ก็ต้องเป็นเพลงที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง ถูกพูดถึงอย่างมาก เป็นที่รู้จักในวงกว้าง อยากให้เห็นเบื้องหลังว่ากว่าจะมาเป็นเพลงที่มีคนพูดถึงแบบนี้ มันมีการต่อสู้ มีผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ยังไงบ้าง อย่างตอนที่สัมภาษณ์อาจารย์วัฒน์ เพราะแกเป็นคนรวบรวมงานของอาจารย์ไพบูลย์ บุตรขัน ซึ่งเป็นคนแต่งเพลง “ค่าน้ำนม” เพลงที่เราได้ยินทุกปี ยิ่งได้อ่านงานที่อาจารย์วัฒน์รวบรวมไว้ ยิ่งทำให้เห็นว่าคนที่กลั่นความรู้สึกออกมาแต่งเป็นเพลงค่าน้ำนม ไม่ได้มีชีวิตที่สวยงาม ซึ่งคนน่าจะได้รับรู้”
องอาจหมายถึงงานเขียน “คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน” ผลงานของวัฒน์ในการค้นคว้าเรียบเรียงชีวประวัติและงานเพลงของครูเพลงลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน คุณค่าของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นทั้งจดหมายเหตุและงานเชิงวิจัยที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกไว้ครบถ้วน เนื้อหาในหนังสือมีการอ้างอิงทั้งการสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับครูไพบูลย์ และเอกสารทางวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดเพลงลูกทุ่ง สะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันของวัฒน์ที่มีต่อดนตรีของคนรากหญ้า
“เรื่องของครูไพบูลย์ถูกรวบรวมไว้หมด ทั้งชีวิต การต่อสู้ ชีวิตชาวไร่ชาวนา แล้วด้วยความที่ครูไพบูลย์ป่วย ตามที่อาจารย์วัฒน์เล่าให้ฟัง ไม่ได้ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้ออกไปไหนมาก จึงอยู่กับการค้นคว้าข้อมูล อยู่กับการฟังการเขียน เลยแต่งเพลงออกมาได้ดี ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเห็นเลยว่าอาจารย์วัฒน์หาข้อมูลเยอะมาก ทั้งจากหอสมุดแห่งชาติ รวมไปถึงญาติพี่น้องของครูไพบูลย์ ตอนทำรายการยังแนะนำญาติพี่น้องของครูไพบูลย์ให้ผมไปตามสัมภาษณ์ได้หมดเลย เพราะแกค้นคว้ามาเยอะมาก”
องอาจเก็บฟุตเทจที่บันทึกการสนทนากับวัฒน์ไว้จนถึงตอนนี้ เขาย้อนเล่าให้ฟังว่าในวันที่ได้ทำงานกับนักเขียนเจ้าของผลงาน “คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน” บรรยากาศการถ่ายทำเป็นไปอย่างง่าย ๆ แต่เนื้อหากลับเข้มข้นและวัฒน์ถ่ายทอดออกมาอย่างลื่นไหล
“วันที่ไปสัมภาษณ์อาจารย์วัฒน์กำลังทำกิจกรรมระดมทุนช่วยคนที่ติดคดีการเมือง ผมก็เข้าไปในงานแล้วบอกว่าอาจารย์ครับผมขอสัมภาษณ์เรื่องอาจารย์ไพบูลย์ บุตรขัน แกก็อนุญาต ไดอะล็อคที่อาจารย์พูดก็มีเสน่ห์เหมือนฟังรายการวิทยุ เพราะค้นคว้าไว้จนตกตะกอนและเรียบเรียงไว้แล้ว เลยรู้สึกว่าเป็นบุญของผม จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะหลังจากนั้นแกก็ออกจากประเทศ ผมเป็นคนตัวเล็ก ๆ เป็นคนต่างจังหวัดที่มาทำงานกรุงเทพ มีส่วนทำงานเบื้องหลังรายการเล็ก ๆ รายการหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าตัวเองมีประโยชน์อะไรเท่าไหร่นอกจากไปทำมาหากิน ครั้งหนึ่งที่มีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์วัฒน์ก็ประทับใจ เป็นแรงบันดาลใจ ได้มีส่วนในการถ่ายทอดออกมา”
ภาพโดย: องอาจ หาญชนะวงศ์
แม้ว่าปัจจุบันองอาจจะไม่ได้ผลิตรายการข้างหลังเพลงให้กับทางไทยพีบีเอสแล้ว แต่การได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับวัฒน์ในครั้งนั้นได้มอบความกล้าบางอย่างให้กับเขา องอาจยังคงทำงานผลิตสื่ออยู่ในจังหวัดขอนแก่น และหาโอกาสในการสร้างความหมายบางอย่างในงานของตัวเองเสมอ ล่าสุดเขาทำโครงการชื่อ “ภาพยนตร์คนยาก” การสร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหวสะท้อนเมืองผ่านมุมมองคนไร้บ้าน ภายใต้ความร่วมมือกับกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยและมูลนิธิกระจกเงา โดยองอาจทำงานกับคนไร้บ้าน ใช้กล้องวิดีโอที่ได้รับจากมูลนิธิกระจกเงาเป็นเครื่องมือให้คนกลุ่มนี้ได้ทดลองถ่ายทำ ตัวเขาเป็นผู้อบรมทักษะให้ แล้วนำผลงานที่ได้มาตัดต่อเป็นภาพยนตร์เพื่อถ่ายทอดมุมมองของกลุ่มคนไร้บ้านในจังหวัดขอนแก่น
“ผมได้ศึกษาเรื่องคนไร้บ้าน ทำให้คิดถึงไอ้แผนตัวละครในมนต์รักทรานซิสเตอร์ ไอ้แผนเสียเวลาจากการต้องเกณฑ์ทหารไปหลายปี แทนที่จะได้มีลูกสร้างครอบครัว คือถูกลิดรอนโอกาสในช่วงที่แข็งแรงที่สุดของชีวิตไป แล้วสุดท้ายก็หาทางกลับบ้านไม่ได้ พอมีโอกาสได้ทำโครงการหนังทดลองกับกลุ่มคนไร้บ้าน จึงทำให้ผมเชื่อมโยงกับเรื่องของไอ้แผน ภาวะของคนที่ถูกทำให้ไร้บ้าน เหมือนที่อาจารย์วัฒน์พยายามบอกไว้ในมนต์รักทรานซิสเตอร์”
ยาวนานร่วม 50 ปี นับแต่วันที่วัฒน์ได้เล่าขานถึง “ตำบลช่อมะกอก” และงานเขียนเล่มอื่น ๆ ในกลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่สร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่องตราบวันที่จากไป อำนาจประชาชนที่เขายึดมั่นได้กลายเป็นจริงในใจคน การต่อสู้ของเขาถูกส่งต่อไปยังศิลปะแขนงต่าง ๆ เป็นศิลปะเพื่อประชาราษฎร์สกุลวัฒน์ วรรลยางกูร ที่จุดประกายไฟในใจคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า และพวกเขายังคงดันเพดานการต่อสู้ให้สูงขึ้นทุกขณะ
ภาพปก : องอาจ หาญชนะวงศ์
ภาพประกอบบทความ :
ศุภชัย เกศการุณกุล
องอาจ หาญชนะวงศ์