“แม่ไม่อยากใช้คำพูดนี้นะ” เหมือนกับการถูกฆ่าให้ตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันไม่ใช่การฆาตกรรมที่หน้า สน.ดินแดง แต่คือการฆ่าชีวิตแม่โดยตรง เราเป็นแม่แต่หาความยุติธรรมให้ลูกตัวเองไม่ได้ (ร้องไห้) มันคือความรู้สึกที่เราช่วยลูกเราไม่ได้ ภาพที่เขาโดนยิงยังอยู่ในหัวแม่ทุกคืน อยู่ในหัวอกแม่คนนึง ทุก ๆ เวลาที่เรานึกถึง
“1 ปีที่กำลังเวียนมาถึงบีบหัวใจแม่มาก จริง ๆ มันบีบใจทุกวัน ยิ่งใกล้ครบ 1 ปีที่น้องโดนยิงอยู่ใน รพ.จนเสียชีวิต ยิ่งรู้สึกไม่มีความหวัง มีมือที่ยื่นเข้ามาช่วยเราน้อยคนมาก มีคนสนใจคดีน้องน้อยคนมาก ความยุติธรรมของน้องกำลังหายไป กลับสู่วงจรของสังคมเดิม ๆ ว่าถ้าใครโดนคดีแบบนี้ เดี๋ยวก็เลือนรางจางหายไปเอง
“แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้หายไปเลยคือความรู้สึกแม่ ตั้งแต่วันที่เห็นภาพลูกล้มลงหน้า สน.ดินแดง ภาพนั้นยังอยู่ในหัวไม่ได้หายไปไหน ยังทิ้งความรู้สึกแย่ ๆ ไว้ในใจแม่อยู่เสมอ”
“เราเหนื่อยและหมดความเชื่อมั่นตำรวจไทย มันนานเกินไปสำหรับการทำสำนวนคดี แม่มีความรู้สึกเหมือนเขาจะยืดระยะเวลาไปเรื่อย ๆ ถ้าโอนย้ายคดีให้ DSI หรือทีมสอบสวนกลางได้ แม่ว่าคงจะมีความหวังมากกว่านี้ แต่แรงเราไม่ถึง ไม่มีใครที่เข้ามาช่วยเหลือคดีนี้อย่างจริงจัง”
เสียงจากนิภาพร สมน้อย แม่ของวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 หน้า สน.ดินแดง จากการออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
อีก 2 เดือนข้างหน้าจะครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ที่วาฤทธิ์ สมน้อย ถูกยิง De/code ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด จนถึงวันนี้คดีความยังไม่สั่งฟ้อง คนผิดยังคงลอยนวลใช้ชีวิตอยู่ในสังคม
จากการลงพื้นที่ทำงานสืบค้นเรื่องราวของวาฤทธิ์ครั้งนี้ นำไปสู่การตั้งคำถามต่อการทำงานของ สน.ดินแดง ต่อความสัมพันธ์กับผู้กระทำผิด และข้อสงสัยต่อการทำงานว่า ทำไมถึงยังไม่ยอมส่งสำนวนคดีของวาฤทธิ์ สมน้อย ฉบับสมบูรณ์ให้สำนักอัยการ De/code รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง พยาน หลักฐาน รวมถึงข้อพิรุธของคดีนี้ไว้ในเรื่องราวต่อจากนี้
ทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว ปากคำจากตำรวจผู้ดูแลสำนวนคดี
“ทุกคนถูกกำหนดไว้แล้ว ถ้าพูดกันแบบตรง ๆ วาฤทธิ์เขาอยู่จนถึงเวลาที่เขาสามารถอยู่บนโลกนี้ได้แค่นี้ ในเมื่อพระเจ้ากำหนดมาให้มีอายุขัยแค่นี้ ส่วนสาเหตุการตายก็เป็นเหตุและผลที่ทำให้เขาจากโลกนี้ไป ทุกคนต้องพบจุดจบไม่ว่าใครทั้งนั้น เราอยู่เพื่อรอความตายกันทุกคน”
De/code ต่อสายพูดคุยกับ พ.ต.ท. โสภณ แย้มชมชื่น รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ดินแดง ถึงประเด็นที่ตำรวจ สน.ดินแดง ยังไม่ส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม หลังสำนักอัยการมีหนังสือทวงถามให้ดำเนินการเป็นครั้งที่ 5 สน.ดินแดงมีเหตุผลอะไรที่จะต้องดึงคดีนี้ออกไปให้ช้าที่สุด ในเมื่อจับตัวคนร้ายได้แล้ว?
“ไม่ได้ช้าหรอก ส่งสำนวนคดีให้อัยการไปแล้วจะช้าได้อย่างไร ส่วนเขาจะให้ทางตำรวจเพิ่มเติมหลักฐานหรือไม่นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมไม่ได้รับข้อมูลที่คุณกล่าวอ้างจะต้องไปตรวจสอบอีกที เราไม่เอาคดีมาไว้ติดมือหรอก คดีแบบนี้ติดไว้กับมือก็โดนสังคมตั้งคำถามอยู่แล้ว”
พ.ต.ท. โสภณ ให้ข้อมูลว่าไม่ทราบเรื่องที่ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 มีหนังสือทวงถามเรื่องส่งสำนวนเพิ่มเติมถึง 5 ครั้ง ทั้งที่เขาเป็นผู้ดูแลคดีนี้ บอกแต่เพียงว่า “เดี๋ยวคงต้องตรวจสอบดูอีกที”
“สำหรับผมการทำอะไรที่รีบร้อนเกินไป อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะการเร่งรีบอาจก่อให้เกิดความผิดพลาด”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ทางตำรวจของกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีแถลงการณ์จับกุม ชุติพงษ์ ทิศกระโทก หรือแบงก์ อายุ 28 ปี (สน.ดินแดงไม่ได้เป็นคนจับกุม) โดยมีการอ้างว่าชุติพงษ์คือคนลงมือก่อเหตุยิง วาฤทธิ์ สมน้อย ก่อนเจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหาและได้รับการประกันตัว
“คุณไม่ต้องกลัวผมเชื่อเรื่องความยุติธรรม คนเราถ้าทำไม่ถูกต้องจะต้องถูกพระเจ้าลงโทษ ผมคงไม่มาทำบาปเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมจะไม่เข้าข้างใครทั้งนั้น มีคนเคยบอกผมว่า ‘เรื่องทุกอย่าง ทุกคดี ทุกความสูญเสีย ถ้าเกิดกับครอบครัวเราบ้างจะคิดอย่างไร’ ดังนั้น “ผมจะต้องทำให้ดีที่สุด”
หลังจากวันนั้นสังคม และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ไม่มีใครรู้เลยว่าชุติพงษ์ไปอยู่ไหน และตำรวจจับกุมผู้ร่วมก่อเหตุคนอื่น ๆ ได้หรือยัง?
พ.ต.ท. โสภณ พยายามสร้างความมั่นใจ และกล่าวกับเราว่าอย่านำเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับคดีอื่น
“ผู้ต้องหามีทั้งหมด 2 คน ตอนนี้จับได้แค่คนเดียว ตอนนี้เขาไม่ได้อยู่ในการควบคุมของตำรวจ เราส่งอัยการไปแล้ว จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องขึ้นอยู่กับอัยการ
“ตราบใดที่ยังไม่มีพยานหลักฐานว่า สน.ดินแดงมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี เราจะไปกล่าวหาใครไม่ได้หรอก ทุกอย่างจะเป็นไปตามพยานหลักฐาน”
แบงก์ ชุติพงษ์ ทิศกระโทก คือหนึ่งในตัวละครสำคัญของคดีนี้ เขาเป็นใคร มีความสัมพันธ์กับ สน.ดินแดงอย่างไร?
จนถึงวันนี้ 15 มิ.ย. 65 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยังไม่ได้สำนวนคดีฉบับสมบูรณ์ จาก สน.ดินแดง
ชุติพงษ์ ทิศกระโทก ความสัมพันธ์กับ สน.ดินแดง
2 วันให้หลังจากการพูดคุยกับ พ.ต.ท. โสภณ De/code ลงพื้นที่เขตดินแดงอีกครั้ง เพื่อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแบงก์ ชุติพงษ์ ทิศกระโทก แม้เราจะไม่พบเจอชุติพงษ์ แต่ก็ได้ข้อมูลชุดหนึ่งจากประชาชน 3 คนในพื้นที่ ที่ให้ข้อมูลมาตรงกัน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชุติพงษ์กับ สน.ดินแดง แหล่งข้อมูลคนที่ 1 กล่าวว่า
“เมื่อก่อนเขาเคยเข้ามาช่วยงานตำรวจบ่อย ๆ แต่ไม่เห็นหน้าเขามาเกือบปีแล้ว” ประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้เคียงกับ สน.ดินแดงกล่าว
โดยแหล่งข้อมูลคนดังกล่าวได้บอกให้เราเดินไปทาง ซ.ประชาสงเคราะห์ เพราะเขาจำได้ว่าชุติพงษ์ พักอาศัยอยู่แถวนั้น จนเราได้พบเจอกับแหล่งข้อมูลอีกคน ที่เคยเห็นและพบเจอกับชุติพงษ์
“ทุกวันนี้เขายังอยู่ในซอยตรงนั้น (ชี้มือ) เมื่อวานผมยังเจอเขาอยู่เลย เท่าที่ผมรู้จักเขาดูไม่ใช่นักเลงอันธพาล แต่พวกเขาเยอะเป็นเด็กวัยรุ่นทั้งนั้น เขาทำงานกับตำรวจไม่งั้นเขาอยู่ไม่ได้หรอก เขาไม่ใช่คนดินแดง แต่ผมเห็นเขามาอยู่แถวนี้ได้ 5 ปีแล้ว”
โดยเมื่อเทียบกับพื้นที่ ที่สันนิษฐานว่าเป็นที่พักของชุติพงษ์ ก็เป็นไปตามรายงานการดำเนินการศึกษากรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมือง ที่ระบุว่าในวันที่ 16 สิงหาคม มีกลุ่มชายฉกรรจ์ 12 คน ออกมาทำร้ายร่างกายกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณปากซอยประชาสงเคราะห์ 14 ก่อนมุ่งหน้าด้วยจักรยานยนต์ ไปทางซอยประชาสงเคราะห์ 21 เพื่อเข้ามาทางหลัง สน.ดินแดง จนเป็นเหตุการณ์ที่วาฤทธิ์ถูกยิงเสียชีวิต
หากชุติพงษ์และพรรคพวก เป็นคนลงมือยิงจริง ๆ ด้วยมูลเหตุที่ตำรวจออกมาแถลงคาดว่าเกิดจากความไม่พอใจต่อผู้ชุมนุม เพียงพอแล้วจริง ๆ หรือ? และทำไมเขาถึงออกมาก่อเหตุในช่วงเวลานั้น ทั้งที่บริเวณซอยที่พักของเขาอยู่เข้าไปลึก จนอาจกล่าวได้ว่าไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการชุมนุมหากไม่ได้ออกมา
และการที่เขาสามารถเข้าไปใน สน.ดินแดงได้ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ประกอบกับตัวเขาเองก็มีความสัมพันธ์ ที่เคยทำงานให้กับตำรวจ สน.ดินแดง หากชุติพงษ์ลงมือก่อเหตุจริง สิ่งที่ต้องค้นหาความจริงกันต่อไปอีกคือ เขาก่อเหตุเพราะความไม่พอใจส่วนตัว หรือได้รับคำสั่งจากผู้ใดมาอีกที?
เราใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ลองเดินตามเส้นทางที่คาดว่าผู้ลงมือก่อเหตุยิงวาฤทธิ์ใช้ในวันนั้น จนมาบรรจบที่หน้า สน.ดินแดงอีกครั้ง ผมเปิดรูปของชุติพงษ์ ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณ สน.ดินแดงดูอีกครั้ง เขายืนยันกลับมากับเราว่า
“เป็นเด็กตำรวจ แต่เขาไม่ได้เข้ามาที่ สน.นานแล้ว”
ร่องรอยกระสุนที่วาฤทธิ์ สมน้อยถูกยิง ยังคงปรากฎอยู่บนกำแพงตรงข้าม สน.ดินแดง
ยื้อเวลาให้คนลืม เพื่อปล่อยคนผิดลอยนวล
“คดีนี้เป็นคดีที่ง่ายด้วยซ้ำ แต่ก็มีเทคนิคทางการทำงาน ถ้าอยากยื้อให้คดีออกไปนานๆ ก็ทำสำนวนให้มีข้อบกพร่อง อัยการจะได้ส่งสำนวนกลับมาให้แก้ จะมีระยะเวลาที่ยื่นออกไปได้อีกโดยไม่ผิดระเบียบ”
พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน และ ส.ส. พรรคก้าวไกล รองประธานในคณะทำงานสืบหาข้อเท็จจริง (Fact finding) กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ได้พูดคุยกับ De/code ถึงการเข้าไปเก็บหลักฐาน และเบาะแสที่เชื่อมโยงกับคนร้าย ชวลิตแสดงความเป็นกังวลถึงคดีนี้ว่า
“สิ่งที่ผมกลัวคือการพยายามทำสำนวนคดีให้อ่อน และตัวผู้ต้องหาก็หลุดคดี เพราะตัวพยานหลักฐานอ่อน อาจจะเป็นความตั้งใจของเขาอยู่แล้วก็ได้ ทำตามกระบวนการไปเรื่อย ๆ ยื้อเวลาให้คนลืม”
โดยข้อมูลจาก รายงานการดำเนินการศึกษากรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ระบุว่า
คณะทำงานฯ พบหลักฐานที่ชี้ว่าในช่วงเวลาที่ ด.ช.วาฤทธิ์ถูกยิงนั้น มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 12 คน ที่คาดว่าหนึ่งในนั้นคือ ชุติพงษ์ ทิศกระโทก กลุ่มของเขาเริ่มทำร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมบนท้องถนน บริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 14 เวลาสองทุ่มเศษ โดยมีด.ช.ธนพล อายุ 14 ปี ถูกยิงบริเวณหัวไหล่ และวัยรุ่นคนอื่น ๆ ถูกไม้จากกลุ่มชายฉกรรจ์ไล่ฟาด
20.42 น. กลุ่มชายฉกรรจ์ขี่มอเตอร์ไซต์ มุ่งหน้าไปทางซอยประชาสงเคราะห์ 21 โดยซอยนี้สามารถทะลุเข้าข้างหลัง สน.ดินแดงได้ เป็นระยะทางเพียง 480 เมตร ก่อนที่ในเวลา 20.44 น. วาฤทธิ์จะถูกยิง
จนกระทั่งเวลา 21.38 น. พบว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์หลายคนยืนอยู่ภายในรั้ว สน.ดินแดง โดยกลุ่มชายฉกรรจ์เหล่านี้ไม่ได้ใส่เครื่องแบบตำรวจ และมีลักษณะการแต่งกายคล้ายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุทำร้ายผู้อื่น หน้าปากซอยประชาสงเคราะห์ 14 และกลุ่มที่ไล่ยิงวาฤทธิ์หน้า สน.ดินแดง
ซึ่งในเวลานั้น สน.ดินแดงมีการปกป้องสูงสุดจากหน่วย คฝ. ที่ป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมหรือประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป จึงย่อมไม่ใช่เรื่องปกติที่จะมีการอนุญาตให้พลเรือนหรือประชาชนคนใดเข้าไปในพื้นที่ สน.ได้
โดยในรายงานฉบับนี้ได้ข้อสรุปด้วยคำถามว่า คนกลุ่มนี้เป็นใคร พวกเขามีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดงอย่างไร
ซึ่งถ้าหากคนกลุ่มนี้คือกลุ่มของชุติพงษ์ ทิศกระโทก ที่ตำรวจจับกุมมาได้ ข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ก็บอกมาตรงกันว่า เขาเคยทำงานให้ตำรวจ สน.ดินแดง จึงเป็นเรื่องที่สน.ดินแดง ต้องออกมาชี้แจง หรือเร่งส่งสำนวนคดีความที่สมบูรณ์ให้อัยการ ไม่อย่างนั้นเราคิดว่า การปล่อยให้ สน.ดินแดงทำคดีนี้ต่อไป ก็เหมือนให้ผู้รู้เห็นเป็นใจกับผู้ทำผิด มาสืบหาความผิดของตัวเอง?
“มันผิดปกติตั้งแต่ตอนเกิดเหตุแล้วว่ากลุ่มคนก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง มีความสัมพันธ์กันอย่างไร นำมาถึงกระบวนการสืบสวน สอบสวน ที่ไม่คืบหน้า”
กลับมาที่การพูดคุยกับ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ เขาให้ความเห็นว่าคดีนี้ สน.ดินแดงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงควรที่จะโอนคดีนี้ให้หน่วยงานอื่นเป็นคนดูแล ชวลิตแสดงความมั่นใจว่า
“คนร้ายยิงปืนออกมาจากบริเวณตรงหน้า สน. เมื่อยิงเสร็จแล้วก็ยังอยู่แถวนั้น โดยที่ในอาคารโรงพักก็มีตำรวจ จึงนำมาสู่ข้อบ่งชี้ที่ควรสงสัยได้ว่า
“ความสัมพันธ์ของกลุ่มชายฉกรรจ์ที่เป็นผู้ก่อเหตุ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเขาก่อเหตุอย่างอุกอาจหน้า สน.ดินแดง เป็นประเด็นสำคัญที่จะมาเชื่อมโยงกับคำถามที่ว่า ทำไมคดีถึงไม่คืบหน้า”
โดยในตอนท้าย พ.ต.ต.ชวลิต ได้ฝากถึงตำรวจ สน.ดินแดงไว้ว่า
“ในฐานะที่เคยเป็นตำรวจพิสูจน์หลักฐาน หลักฐานที่ผมไปดูมามันชัดเจนว่าเชื่อมโยงกับตัวสถานีตำรวจดินแดง ดังนั้นตำรวจ สน.ดินแดงต้องมาเคลียร์ แต่การที่ไม่ยอมออกมาเคลียร์ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ แสดงว่าคุณทำเองรึเปล่า?”
แอมเนสตี้ ประเทศไทย ความหวังจากกลไกระหว่างประเทศ
“ทางแอมเนสตี้ ประเทศไทย จะติดตามคดีนี้จนถึงที่สุด ไม่ควรมีใครได้รับความสูญเสียแบบนี้ วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดต้องไม่เกิดขึ้นอีก”
นุ่น มนูญ วงษ์มะเซาะห์ ผู้ช่วยฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือให้มีการเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น กล่าวกับเราถึงเรื่องการคืนความยุติธรรมให้กับวาฤทธิ์ว่า
“เราได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องทางการไทยต้องสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำตัวผู้กระทำผิดเข้ารับการไต่สวนและลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม”
นอกจากนี้แอมเนสตี้ ประเทศไทย ยังเข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์การสหประชาชาติ (United Nations) สถานทูต และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ โดยจะนำเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าของวาฤทธิ์ เข้าไปพูดคุย ให้หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกดดันทางการไทยให้เร่งการตรวจสอบ
แต่กลไกระหว่างประเทศไม่อาจเพียงพอ เพราะเราอยู่ในสังคมที่หากจะกดดันหน่วยงานรัฐ จำเป็นต้องอาศัยกลไกจากสังคมภายใน นุ่นกล่าวว่าถ้าสังคมตื่นตัวเรื่องของวาฤทธิ์ เราคงมีความหวังมากกว่านี้
“วาฤทธิ์เสียชีวิตจากการออกไปใช้เสรีภาพในการชุมนุม รัฐมีหน้าที่ทำให้พื้นที่ที่ผู้คนออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราอยากขอให้สังคมตื่นตัวกลับมาพูดถึงวาฤทธิ์ กลับมาเร่งรัดรัฐบาลผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เร่งตรวจสอบ คืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวของวาฤทธิ์ กระบวนการยุติธรรมควรปกป้องเหยื่อไม่ใช่ทำร้ายเหยื่อ”
แต่ไม่ว่าเรื่องราวของวาฤทธิ์จะถูกกลับมาพูดถึงหรือไม่ นุ่นกล่าวในตอนท้ายในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนว่า
“ยังมีความหวังอยู่ เราต้องทำงานสิทธิมนุษยชนอย่างมีความหวัง ถ้าหมดหวังเมื่อไหร่ทุกสิ่งจะไม่ขับเคลื่อน ถ้าเคสนี้ไม่ได้รับความยุติธรรมจริง ๆ เราทุกคนต้องใฝ่หาให้วาฤทธิ์ เดินหน้าทำงานต่อไป เพราะหน้าที่ของเราคือต้องจดบันทึกประวัติศาสตร์นี้ไว้เพื่อไม่ให้ถูกลืม”
วาฤทธิ์ สมน้อย จะไม่มีวันถูกลืม จนกว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้น
“แม่สู้ต่ออยู่แล้ว ไม่ว่ายังไงแม่ยังอยากรู้ว่า ที่น้องถูกยิงใครเป็นคนทำ แต่เสียงเราดังไม่พอ ตัวเราพร้อมเสมอแต่ไม่มีใครคอยช่วยเรา เหมือนคดีอื่นที่เป็นกระแสสังคม
“แม่เลี้ยงมาของแม่ตั้งแต่เล็กจนโต ลูกแม่ไม่เคยเจ็บและทรมานขนาดนี้ เขาทรมานมากเลยนะ ขนาดเรานอนไม่ขยับซักชั่วโมงสองชั่วโมง แม่คิดว่ายังเหนื่อยเลย แต่นี่เขาสู้มาจนถึงสองเดือนครึ่ง จนเขาสู้ไม่ไหว เขาทรมานแล้วเราคนที่ยังอยู่ทรมานยิ่งกว่า
“แม่คิดถึง แม่อยากกอด แม่อยากทำในสิ่งที่แม่เคยรับปากเขาไว้ แต่แม่ไม่ได้ทำ เขาเคยขอแม่ไว้หลาย ๆ อย่าง แม่บอกเขาเดี๋ยวก่อนเดี๋ยวแม่ทำให้ รอแม่ว่างก่อน สุดท้ายแม่ไม่ได้ทำ เขาอยากได้ชุดบอล แม่บอกรอตังแม่ออกก่อน เดี๋ยวแม่พาไปซื้อให้ และก็เดี๋ยวอีกหลายอย่าง จนน้องไม่อยู่แล้ว
“ให้บอกอะไรถึงตำรวจที่ทำคดี สำหรับแม่ไม่มีอะไรให้บอกแล้ว ถ้าคนที่ล้มลงเป็นญาติ หรือเป็นแม้กระทั่งลูกของคุณ คุณจะสนใจเขาไหม จะเป็นแผลในใจของคุณไหมว่า วันหนึ่งคดีของลูกหลานคุณจะเงียบหายไป ถ้าเป็นตำรวจเขาจะทำอย่างไร คุณยังจะเลือกปฏิบัติเหมือนที่ทำกับวาฤทธิ์อยู่ไหม
“ยังคงรู้สึกไม่ชิน ที่ไม่ได้เห็นเด็กคนหนึ่งวิ่งอยู่ต่อหน้า ไม่ได้ยินเสียงเขาอีกต่อไปแล้ว ยังมีสิ่งที่ค้างคาที่เราอยากทำให้เขา มันเปลี่ยนไปเยอะมาก 1 ปีที่ผ่านมา แม่ไม่สามารถที่จะหลุดออกจากความรู้สึกเหล่านี้ได้ ยังคงเห็นข้าวของที่เขาใช้ เส้นทางที่เคยเที่ยวด้วยกัน ยังคงคิดถึงน้องอยู่ ยังเห็นของที่เขาอยากกินแต่เขาไม่ได้กิน ยังเจ็บอยู่ในหัวใจว่าทำไมของที่เขาเคยกินวันนี้เขากินไม่ได้ ทำไมเราต้องไปใส่บาตรให้เขา ในวันที่เขาพูดกับเราไม่ได้แล้ว”
ไม่รู้ว่าหลังจากที่งานชิ้นนี้ถูกปล่อยออกไป จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง…
สน.ดินแดง ยังคงเป็นคนจัดทำสำนวนคดีต่อไปไหม ทั้ง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ที่จับกุมมา
สำนวนคดีจะยืดเยื้อออกไปอีกนานเท่าไหร่
ความยุติธรรมของวาฤทธิ์ สมน้อย จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
เราไม่มั่นใจ…เมื่ออาศัยอยู่ในสังคมที่ไม่ปกติเช่นนี้ ความยุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งเสมอไป และความยุติธรรมของวาฤทธิ์ สมน้อย จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการยุติธรรมไทย ได้รับการกดดันจากหลายฝ่าย ทั้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ ฝ่ายการเมืองโดยกลไกรัฐสภา สื่อมวลชนที่หันมาสนใจติดตามทำข่าว เพราะเมื่อไหร่ที่คนในสังคมตระหนักถึงความรุนแรงและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อนั้นความหวังคงยังพอมี และวาฤทธิ์ สมน้อย จะไม่ถูกทำให้ตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากความอยุติธรรมทั้งมวล
ขอบคุณข้อมูลจาก:
– ตร.จับคนยิงเด็กอายุ 15 ปีหน้า สน.ดินแดงได้ 1 คน
– รายงานการดำเนินการศึกษากรณีความรุนแรง ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมือง
– วิดีโอช่วงเวลาที่วาฤทธิ์ สมน้อยถูกยิง
อ่านบทความตอนที่ 1: ฉากชีวิตเด็กชายวาฤทธิ์ สมน้อย ลูกแม่ไม่ใช่ฮีโร่ประชาธิปไตย
อ่านบทความตอนที่ 2: After ‘วา’เลนไทน์ ความยุติธรรมคือความหวังเดียวที่เหลือของวาฤทธิ์ สมน้อย
Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน
เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565