Kafka on the Shore เราต่างมีชีวิตชำรุด รอคอยการซ่อมแซม - Decode
Reading Time: 3 minutes

“การอยู่โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงามีหลากรส” ความเหงาในโลกนิยายของมุราคามิก็มีหลากหลายรสชาติเช่นกัน

Play Read สัปดาห์นี้วนกลับมาถึงคิวของผมรีวิวหนังสือ ไม่รู้คิดถูกหรือไม่ที่เลือกหยิบเล่ม Kafka on the Shore คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ ของฮูรูกิ มูราคามิ มารีวิว นัยหนึ่งคือความคุ้นเคยต่อนิยายของมุราคามิ แต่เล่ม Kafta on the Shore ก็จัดอยู่ในประเภทโหดหิน

ฟังเพลงจากช่วง Playlist(en) ระหว่างอ่านบทความ เมื่อหนังสือเล่มนี้กลายเป็นบทเพลง

จักรวาลนิยายของมุราคามิถ้าแบ่งตามระดับความอ่านยาก-อ่านง่าย ในมุมมองนักอ่านที่ตามอ่านนิยายของเขาเช่นผม ผมแบ่งออกมาเป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 คือนิยายรักทั้งหลายแหล่ของเขา Norwegian wood (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) / South of the Border, West of the Sun (การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก) / Sputnik Sweetheart (รักเร้นในโลกคู่ขนาน) / After Dark (ราตรีมหัศจรรย์) / Color Tsukuru Tazaki and His Years of Pilgrimage (ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ) เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่อ่านสนุก รู้สึกร่วมกับเรื่องราวได้ง่าย

ระดับที่ 2 คือนิยายที่เริ่มมีความแฟนตาซี มักมีเหตุการณ์ประหลาด ๆ หลุดเข้ามาในเนื้อเรื่อง มันเป็นนิยายต่อเนื่องที่มีชื่อว่า ไตรภาคมุสิกอันประกอบด้วย 4 เล่มนี้ Hear the Wind Sing (สดับลมขับขาน) / Pinball, 1973 / A Wild Sheep Chase (แกะรอย แกะดาว) / Dance Dance Dance (เริงระบำแดนสนธยา)  ทั้ง 4 เล่มดำเนินเรื่องด้วยตัวเอกคนเดียวกัน เริ่มต้นตอนมัธยมปลายจบลงที่ตอนอายุ 35 ปี ผมยกให้ไตรภาคมุสิก เป็นนิยายที่ดีที่สุดของมุราคามิ 

ระดับที่ 3 คือเหล่านิยายเล่มหนาเตอะ ส่วนใหญ่แล้วล้วนโลดแล่นอยู่ในโลกแฟนตาซี The Wind-Up Bird Chronicle (บันทึกนกไขลาน) / Killing Commendatore (สังหารจอมทัพอัศวิน) และเล่ม  Kafka on the Shore (คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ) ที่ผมกำลังหยิบขึ้นมาเขียนถึง

ปริศนา-ร่องรอยการชำรุดของชีวิต

“ความเว้าแหว่งบางชนิด ส่งแรงไปดึงดูดผู้คน หรืออย่างน้อยที่สุดดึงดูดคนบางประเภท เช่นเดียวกันกับที่นิยายบางเล่มตรึงเธอไว้ได้”

นิยายของมุราคามิ ตรึงนักอ่านด้วยความเว้าแหว่งไม่สมบูรณ์แบบ Kafka on the Shore คือนิยายที่ดำเนินเรื่องโดย คาฟกา ทามูระ เด็กหนุ่มอายุ 15 ปี ผู้ต้องการเป็นเด็กหนุ่มอายุ 15 ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก โดยการหนีออกจากบ้าน มีเจ้าหนูอีกาเป็นเพื่อนในจินตนาการของเขา (ผมคิดเช่นนั้น) เขาเป็นเด็กหนุ่มผู้ต้องคำสาปจากพ่อของตัวเอง

“การใช้ชีวิตอยู่ทำให้ฉันสลายหายตัวไป พิลึกว่ะ…คนเราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตไม่ใช่หรือ แล้วทำไมยิ่งอยู่นานวัน ฉันสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ในตัวกลายเป็นความว่างเปล่า”

Kafta on the Shore ตั้งคำถามต่อการมีชีวิตอยู่ ตัวละครหลากหลายที่โลดแล่นอยู่บนหน้ากระดาษ ด้วยแก่นสารที่ทำให้มีชีวิตอยู่สืบไป แต่บางครั้งเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของแต่ละคน ก็ซับซ้อนเกินกว่าจะพรรณนาให้คนอื่นเข้าใจ เราเพียงแต่ทำหน้าที่ไขลานชีวิตของใครของมัน

เรื่องราวโดยย่อของ Kafka on the Shore เมื่อคาฟกา ทามูระ หนีออกมาจากบ้าน เขาไปอาศัยอยู่ในห้องสมุดบนเกาะชิโกกุ และไปเกิดความรู้สึกแปลกประหลาดบางอย่างกับมิสซาเอกิ หญิงสาววัย 50 ปี ผู้มีภูมิหลังสูญเสียคนรักไปตั้งแต่วัยรุ่น เรื่องราวพิลึก ซับซ้อน เริ่มต้นขึ้นเมื่อคาฟกา ทามูระ รู้จักกับมิสซาเอกิ

ในขณะเดียวกันโลกอีกใบก็ดำเนินสืบเนื่องไปพร้อมกัน เรื่องราวของอีกหนึ่งตัวละครชายเฒ่านาคาตะ ชายผู้สูญเสียความทรงจำและสติปัญญาทั้งหมดไปในวัยเด็กช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟื้นขึ้นมาเพื่อพบว่าตัวเองสามารถสื่อสารกับแมวรู้เรื่อง เข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ฆาตกรรมพ่อของคาฟกา ทามูระ 

2 เรื่องราว 2 ตัวละครหญิง 3 ตัวละครชาย ดำเนินเรื่องควบคู่กันไปใน Kafka on the Shore คาฟกา ทามูระ ชายหนุ่มอายุ 15 ที่หลงรักสาวอายุ 50 ปี  นาคาตะชายเฒ่าผู้ออกเดินทางตามหาศิลาเบิกทวาร เรื่องพิลึกกึกกือ ของปัจเจกที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงในทุกตัวละคร

“ในโลกกว้างนี้ คนคนเดียวที่เธอจะพึ่งได้มีแต่ตัวเธอ ปัจเจกในตัวของเราแต่ละตนล้วนแล้วแต่โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา”

แม้นิยายของมุราคามิจะชอบสร้างเรื่องราวให้ตัวละคร เผชิญกับเรื่องราวปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวคนเดียว เหมือนพยายามส่งสารถึงผู้อ่านว่า ‘เฮ้ย ชีวิตตัวคนเดียวมันก็ไม่ได้แย่นักหรอกว่ะ ไม่ถึงตายหรอก’

แต่แท้จริงแล้วผมไม่คิดอย่างนั้น เราไม่สามารถโดดเดี่ยวอยู่คนเดียวได้ และหากสังเกตดูแล้ว นิยายทุกเล่มของมุราคามิ ตัวละครก็ไม่ได้ผ่านหรือเผชิญกับปัญหา อุปสรรคตัวคนเดียว มักจะมีคนโผล่มาช่วยเหลือเขาเหล่านั้นอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่ตลอดเวลา

ชีวิตแท้จริงแล้ว เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีมิตรสหายคอยช่วยเหลือในบางคราว แต่ก็ต้องยืนหยัดให้มั่นพอ ที่จะผ่านบางเรื่องราวด้วยตัวคนเดียว

“คาฟกา ในชีวิตของเราทุกคนมีจุดที่ไม่มีวันหวนกลับ มีบางรายจุดนั้นจะเคลื่อนต่อไปข้างหน้าก็ไม่ได้ เมื่อถึงจุดนั้นเราทำได้เพียงแค่ค้อมยอมรับ”

โควทดังกล่าวนี้สามารถเชื่อมโยงกับทุกตัวละคร 2 หญิง 3 ชายในนิยายเรื่องนี้

คาฟกา ทามูระ เลือกที่จะรัก แม้ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุด แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธเฆี่ยนตีการตัดสินใจของตัวเอง

นาคาตะ ในวันที่เขาสลบไปและฟื้นขึ้นมา ชีวิตเขาก็ไม่สามารถกลับคืนไปเป็นแบบเดิม เขาสูญเสียสติปัญญา ถูกทอดทิ้งจากสังคม แต่นาคาตะมีชีวิตสืบไป มีความสุขในแบบฉบับของเขา

โฮชิโนะ ชายหนุ่มที่ขอติดสอยห้อยตามการเดินทางไปกับนาคาตะ เข้าไปพัวพันกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเขาทั้งที่ไม่จำเป็น แต่เมื่อเขาเลือกแล้ว เขาก็น้อมรับและเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไม่เสียดาย

มิสซาเอกิ หญิงสาวผู้สูญเสียชายผู้เป็นที่รักอย่างไม่มีวันย้อนกลับ เธอไม่สามารถใช้ชีวิตคืบคลานต่อไปข้างหน้าได้ เหมือนชีวิตเธอหยุดนิ่งที่ตรงนั้น แต่เธอก็เลือกมีลมหายใจอยู่ต่อไป

โอชิมะ หญิงสาวในร่างชายหนุ่มผู้ดูแลห้องสมุด ความผิดปกติทางร่างกายที่เขาไม่ได้เลือก เขาค้อมยอมรับโดยสดุดี

เราทุกคนล้วนมีจุดที่ต้องตัดสินใจ และรู้ดีอยู่แก่ใจว่าจุดตัดสินใจนั้น ไม่อาจนำพาชีวิตให้หวนคืนกลับดังเดิมอีกครั้ง แต่ทำอย่างไรได้ การเคลื่อนต่อไปข้างหน้าจำเป็นต้องตัดสินใจสละทิ้ง ชีวิตไม่อาจแบกทุกสิ่งอย่างติดตัวไป และก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะได้รับสิ่งใดกลับคืน

“หากจะมองในแง่เวลามนุษย์เราพังสลายไปทุกคน เปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่นเกิดขึ้นได้เสมอไม่ช้าก็เร็ว”

ตัวมุราคามิเอง ได้กล่าวไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้มีปริศนาใส่รหัสมากมาย แต่ไม่มีวิธีถอดรหัสให้ สิ่งที่มีให้คือปริศนาเหล่านี้ หลายข้อผสมผสานกัน และจากการมีปฏิสัมพันธ์กัน ความเป็นไปได้ในการถอดรหัสก็ก่อร่างขึ้น สำหรับผู้อ่านแต่ละคน รูปแบบของการถอดรหัสจะแตกต่างกันออกไป พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ปริศนาทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการถอดรหัส อธิบายยาก แต่เป็นนวนิยายที่ผมพยายามเขียน”

Kafka on the Shore เปิดอิสระที่ผู้อ่านจะตีความถอดรหัสถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หลายเรื่องก็ค้านกับจริยธรรมในใจของใครหลายคน บางอย่างก็เหมือนหลุดฝันอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ไร้รูปธรรมจับต้อง ยากที่จะชี้ชัดได้ว่า แก่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่จุดใด แต่ก็พูดได้ว่าหนังสือเล่มนี้ เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านจินตนาการและถอดรหัส ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เหมือนต่อจิ๊กซอว์ชีวิตของตัวละครที่บางชิ้นส่วนขาดหายไป

ความรักที่มากกว่าในนิยายมุราคามิ

“ฉันต้องการคุณ ต้องการคนแบบคุณ ที่จะมาช่วยเติมความกลวงเปล่าในชีวิตของฉัน แต่ฉันก็ไม่อาจเติมความกลวงเปล่าในใจคุณได้ จวบจนวาระสุดท้าย ความกลวงเปล่าในใจของคุณเป็นของคุณแต่เพียงผู้เดียว”

หนึ่งในประเด็นหลักและถูกกล่าวถึงใน Kafka on the Shore คือเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคาฟกา ทามูระ กับ มิสซาเอกิ ทั้งสองอายุห่างกันเกือบ 40 ปี คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่พิสดาร  อันที่จริงความรักก็ไม่ควรขึ้นอยู่กับข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ความรักที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่องก็หมิ่นเหม่…ไม่มีคำเฉลยของปริศนา มุราคามิใคร่ให้ผู้อ่านเป็นคนตัดสิน ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ก่อตัวขึ้น ท่ามกลางความรู้สึกไร้เหตุผล

แต่นิยายของมุราคามิ ไม่ได้มีแค่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ เวลาพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์อย่างที่ใครมักเข้าใจ เขามักจะสอดแทรกความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น เข้ามาในนิยายเสมอ ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนคือจุดเด่น เป็นจุดเชื่อมเรื่องของนิยายมุราคามิ เฉกเช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างนาคาตะกับโฮชิโนะ และคาฟกา ทามูระกับโอชิมะ

โอชิมะมองคาฟกา ทามูระเหมือนน้องชาย เขาให้การช่วยเหลือเรื่องที่พัก และให้คำแนะนำชีวิตดั่งผู้ที่เกิดก่อน เจ็บปวดมาก่อน เขามักมีประโยคคมคายมาเตือนสติคาฟกา ทามูระเสมอ

โฮชิโนะมองนาคาตะ เหมือนคุณตาของตัวเอง เขาออกเดินทางช่วยนาคาตะตามหาศิลาเบิกทวาร เรื่องราวระหว่างโฮชิโนะมองนาคาตะ ทำให้ผู้อ่านอมยิ้ม และลดทอนความตึงเครียดระหว่างเรื่องราว

ในท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตทุกตัวละครใน Kafka on the Shore  ต่างได้รับการซ่อมแซมในแบบที่พวกเขาตามหาและควรจะเป็น คาฟกา ทามูระกลายเป็นเด็กหนุ่มอายุ 15 ปีที่แข็งแกร่ง นาคาตะพบเจอศิลาเบิกทวารและทำภารกิจได้สำเร็จ 

การซ่อมแซมร่องรอยของชีวิตพวกเขา ไม่ได้หมายถึงการทำให้ชีวิตสมบูรณ์แบบ กลับกันยิ่งซ่อมแซม ต่อเติมส่วนที่ขาดหายของชีวิตเท่าไหร่ ชีวิตก็เผยความอ่อนแอ ความกลัวที่อยู่ในใจออกมามากขึ้นเท่านั้น

นิยายของมุราคามิจึงมิได้ว่าด้วยเรื่องของการมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่มันคือการอยู่ร่วมกับบาดแผล ความทรงจำ และร่องรอยบอบช้ำของชีวิต อย่างธรรมดาสามัญ

“บางครั้ง ชะตาชีวิตเปรียบเสมือนพายุทรายเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนทิศวูบวาบ แกหักเหเปลี่ยนทิศ แต่พายุทรายไล่กวดมาติด ๆ หักเลี้ยวอีกครั้ง พายุทรายเลี้ยวตาม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะหันเหไปทางใด เหมือนการเริงระบำล้อความตายก่อนรุ่งสาง ทำไมหรือ? เพราะพายุทรายมิใช่สิ่งที่พัดมาจากแดนไกล มิใช่สิ่งที่ไม่เกี่ยวกับแก พายุทรายคือตัวแก” – เจ้าหนูอีกา

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี

หนังสือ: คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore)
นักเขียน: Haruki Murakami
ผู้แปล: นพดล เวชสวัสดิ์
สำนักพิมพ์: กำมะหยี่