31 พ.ค.65 กกต.รับรองผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนใหม่ชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาบทสนทนาเรื่องชีวิตในเมืองกรุงเทพฯ ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง นำเสนอและเรียกร้องให้แก้ไขหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือเรื่องคนพิการในเมืองหลวง นอกจากบทบาททางการเมืองในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณชัชชาติยังเป็นพ่อของลูกชายหูหนวกที่เข้าใจชีวิตคนพิการ และสนับสนุนลูกชายเป็นอย่างดี มิติด้านนี้ของผู้นำคนใหม่ ทำให้ความคาดหวังด้านนโยบายคนพิการในเมืองหลวงเพิ่มขึ้น
คนส่วนใหญ่อาจผุดภาพปัญหาที่คนพิการเรียกร้องขึ้นมาได้ทันทีเพราะเป็นเรื่องที่เราได้ยินจากคนพิการบ่อยครั้ง เช่น ขนส่งสาธารณะ, ทางลาดทางเดินที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการให้เท่าเทียมกับคนไม่พิการ เป็นต้น บทความนี้
De/code พูดคุยกับตัวแทนคนพิการถึงรากอคติที่กรุงเทพฯ มองคนพิการไม่เท่ากัน ต้องอุปถัมภ์สงเคราะห์ พร้อมทั้งฝากความหวังให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ เข้าใจและแก้ไขเมืองให้เห็นพวกเขาเป็นพลเมืองเท่ากับคนอื่น
เสาวลักษณ์ ทองก๊วย คนพิการด้านการเคลื่อนไหว นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพคนพิการ สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ องค์การสหประชาชาติ และผู้บริหารสมัชชาคนพิการอาเซียน บอกกับเราว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองเคร่งเครียดเร่งรีบที่คนในเมืองต่างเอาตัวเองให้รอดก่อน “คนเป็นแบบไหนก็สะท้อนการออกแบบเมืองแบบนั้น” เสาวลักษณ์กล่าว
อะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าเมืองนี้ไม่ได้มองคนพิการเป็นพลเมืองเหมือนคนอื่น
“เวลาจะเดินทาง น้องต้องรอให้มารับขึ้นลิฟต์ไหม ต้องรอเจ้าหน้าที่พอไปขึ้นรถไฟฟ้าหรือเปล่า
คนพิการต้องรอ แบบนี้มันคนเท่ากันหรือเปล่า” เสาวลักษณ์กล่าวเปิดกับฉัน
เรื่องการเมืองคนพิการไม่เท่าพลเมืองคนอื่นในเมืองนี้มีจนไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว คนพิการหลายคนต้องไปนั่งรอความช่วยเหลือจากคนอื่นเพื่อใช้ชีวิตปกติ นั่นก็ไม่ใช่คนเท่ากันแล้ว หรือการที่เราต้องถูกคนด่าว่าทำไมไม่ไปเดินถนนล่ะ มาเดินทำไมบนฟุตบาท ต้องคอยให้คนอื่นยกสิ่งกีดขวางออก มันก็ไม่ใช่คนเท่ากัน
การขึ้นรถไปฟ้าแล้วต้องกดเรียก “คนพิการมานะ ช่วยเปิดลิฟต์ให้หน่อย” มันใช่คนเท่ากันไหม
เวลาน้องขึ้นลิฟต์ต้องไปกดอย่างนี้ไหม ทำไมคนพิการต้องทำ พอเขาบอกรอก่อนนะ ตอนนี้รปภ.ไม่ว่างเลย มันใช่คนเท่ากันไหมคะ เสาวลักษณ์ถามกลับว่าคนไม่พิการอย่างฉันต้องทำแบบนั้นไหม แล้วทำไมคนพิการต้องทำ สิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สะท้อนว่าเมืองนี้ไม่มองคนพิการเท่ากับพลเมืองคนอื่น ธุระและเวลาของคนพิการถูกคนในเมืองมองว่ารอได้ รอรับความช่วยเหลือได้ อย่าโวยวายราวกับพวกเขาไม่มีสิทธิ์ สะท้อนทัศนคติของคนเมืองนี้ว่ามองคนพิการเป็นคนที่รอรับการสงเคราะห์ รอการช่วยเหลือเงียบ ๆ ก็พอ
เสาวลักษณ์เสริมต่อว่า อะไรทำให้คนในเมืองนี้มีทัศนคติแบบนี้ นักออกแบบเมืองหลายคนบอกว่า การออกแบบเมืองอย่างไรก็ทำให้คนมีนิสัยอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่โทษคนที่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบกัน เพราะเมืองบังคับให้เขาเป็นแบบนั้น ในเวลาเร่งด่วนทุกคนเสียเวลาไม่ได้ ฉันต้องเอาตัวรอดก่อน แกไว้ทีหลัง พร้อมกับหาข้ออ้าง คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ขาดซึ่งน้ำใจ เพราะเมืองมันไม่มีน้ำใจให้คน เมืองไม่เห็นความสำคัญของคน เมืองเห็นแต่ความสำคัญของสิ่งของมากกว่าคน
สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเห็นแก่ตัวจังเลย ส่วนหนึ่งเพราะเมืองไม่ทำให้คนรู้สึกว่าฉันไว้ใจเมืองได้ ในแง่เวลาของการเดินทาง ความปลอดภัย และการเคารพซึ่งกันและกัน นั่นคือสิ่งที่อยากฝากถึงผู้ว่าฯ กทม.ทำอย่างไรเมืองนี้ถึงจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนด้วย
ปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนเมืองหลวงแห่งนี้มองคนพิการแตกต่างและไม่เท่ากับพลเมืองทั่วไป คือ โครงสร้างเมืองและทัศนคติ สองสิ่งนี้ไม่แยกขาดกัน ต้องแก้ไขไปพร้อมกันเท่านั้น ทัศนคติส่วนใหญ่มองว่าความพิการเป็นเรื่องส่วนตัวที่คนภายในครอบครัวต้องจัดการกันเอง
ฉันมีประสบการณ์ช่วยเหลือคนพิการอยู่บ้างในมหาวิทยาลัยและกรุงเทพฯ สามปีที่แล้วฉันเดินอยู่บนฟุตบาท กทม. มุ่งหน้าไปบีทีเอสเพื่อไปทำงานอย่างทุกวัน วันนั้นฉันออกก่อนเวลาจึงไม่รีบนัก ระหว่างทางเจอคนตาบอดยืนคลำทางอยู่บนตีนสะพานลอย มือหนึ่งถือเก้าอี้ ไหล่สะพานกล่องบริจาค มืออีกข้างแกว่งไม้เท้าหาทางลงจะพื้นปูนนั้น ข้าง ๆ คนตาบอดมีร้านอาหาร มีคนอยู่พวกเขาดูหัวเราะและส่ายหัวกับความงุ่นง่านตรงหน้า
ฉันเข้าไปเสนอความช่วยเหลือ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น อยากไปไหน ให้ฉันช่วยหรือเปล่า พร้อมยื่นแขนให้เขาจับ เรามุ่งหน้าไปบีทีเอสด้วยกัน วันนั้นเขาขึ้นรถเมล์ผิดสาย คนขับวัยรุ่นไม่คุ้นชินกับการบริการคนพิการจึงขับเลยป้าย คนขับด่าทิ้งท้ายว่าตาบอดแล้วยังเป็นใบ้อีกทำไมไม่พูดล่ะ เขาเล่าด้วยเสียงน้อยใจ ฉันรับฟังเงียบ ๆ และเจ็บไปด้วย
ใบ้ คือคำด่า คนพิการทางการได้ยินรู้สึกไม่ดีกับคำเรียกนี้ แต่คนไทยและสื่อยังเรียกอยู่โดยที่ไม่รู้หรือรู้แต่ไม่สนใจเพราะคิดว่ายังไงพวกเขาคงไม่ได้ยิน
ระหว่างทางฉันชวนคุยเรื่องการเดินทางในกรุงเทพฯ เขาเล่าว่ารถเมล์เป็นขนส่งสาธารณะที่เขาใช้ทุกวัน เขาจำรถเมล์สายกลับบ้านได้ ไปกลับด้วยการขอให้คนไม่พิการบอกการมาถึงของรถ บอกเขาว่าถึงจุดหมาย บอกว่าเลยป้ายและไล่เขาลงในบางวัน “ชินแล้วครับ” เขาตอบ
เราเดินถึงบันไดบีทีเอส ที่เดิมที่ฉันผ่านทุกวันไปทำงาน และกลับมาค่ำ ๆ จะเห็นชายคนนี้นั่งอุ้มกล่องรับบริจาค เราบอกลากัน ฉันขึ้นบันไดเลื่อนรถไฟฟ้าไปทำงาน ความรู้สึกและน้ำเสียงของชายคนนั้นติดอยู่ในความทรงจำ เมืองอะไรทำให้มนุษย์คนนึงรู้สึกด้อยค่าได้ง่ายเพียงนั้น เพียงเพราะเข้าไม่ถึงการเดินทางอย่างง่าย เพียงเพราะต้องรอคอยความช่วยเหลือ เมืองอะไรไร้น้ำใจและทำไมคนในเมืองนี้ถึงมีความคิดพิกลกับคนพิการอย่างนี้ เมืองกรุงเทพฯ สำหรับฉันใจร้ายกับเพื่อนมนุษย์ที่ร่างกายแตกต่างจนเกินไป
เหตุการณ์นี้ย้ำคำกล่าวของเสาวลักษณ์ว่าทัศนคติและโครงสร้างเมืองที่ไม่โอบรับคนพิการต้องแก้ไขไปพร้อมกัน ไม่สามารถแยกขาดหรือเลือกแก้ได้
ทัศนคติที่มองคนพิการไม่เป็นคนเท่ากัน
เสาวลักษณ์เล่าถึงที่มาของทัศนคติสงสารคนพิการ ต้องช่วยเหลือและปฏิบัติราวกับพวกเขาไม่ใช่คนเท่ากันนั้นมาจาก
1. แนวคิดสงเคราะห์ อีกทั้งอธิบายแนวคิดอื่น ๆ ที่สังคมมองคนพิการ ดังนี้แนวคิดสงเคราะห์ เป็นแนวคิดที่มองคนพิการน่าสงสาร เวทนา เกิดมาทำอะไรไม่ได้ คนไม่พิการมีหน้าที่คอยช่วยเหลือพวกเขา สังคมไทยมีความเชื่อทางศาสนาที่หล่อหลอมให้ช่วยคนพิการแล้วจะได้บุญ ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นการกดทับซ้ำซ้อน
2. แนวคิดเชิงการแพทย์ เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีความพิการ แพทย์ต้องรักษาให้หายเริ่มจากสมัยสงครามโลกที่มีทหารบาดเจ็บต้องตัดแขนตัดขา เกิดขาเทียม ทำให้ทหารเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตแบบคนไม่พิการให้ได้ ทำให้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป สหรัฐฯ สร้างสถานฟื้นฟู สถานสงคราะห์ สถานฝึกอาชีพต่าง ๆ ให้ทหารพิการเหล่านั้นได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ ภายใต้ข้อจำกัดทางร่างกาย
เสาวลักษณ์กล่าวว่าแนวคิดนี้แพร่หลายในหมู่ผู้ปกครองที่มีเงิน พวกเขามองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องจัดการแก้ไขให้บุตรหลานหายจากความพิการ กลับมาใช้ชีวิตคล่องแคล่วด้วยการแพทย์ พร้อมปกป้องลูกพิการราวกับไข่ในหิน ทำแทนทุกอย่างไม่ให้เขาออกมาเจอโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีทรัพยากรพอที่จะเข้าถึงได้ การปกป้องแบบนี้นับเป็นความรุนแรงในครอบครัวประเภทหนึ่ง
3. แนวคิดสิทธิ เกิดจากคนพิการลุกขึ้นมาบอกว่าการปกป้องเขาเกินไปแบบนี้ไม่ใช่ชีวิตที่เขาต้องการ การเอาเขาไปอยู่สถานสงเคราะห์ ไม่ให้ออกไปไหน ไม่ให้ทำงาน ถ้าจะทำก็ทำในสถานฝึกอาชีพ นั่นไม่ใช่ชีวิตของเขา เขาอยากเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ประเทศและสังคมก็ไม่ให้เรียน ประเทศไทยยุคแรก ๆ เคยบอกว่าคนพิการไม่ต้องทำบัตรประชาชน สิ่งนี้สะท้อนถึงความเป็นพลเมืองไม่เท่ากัน
คนพิการคนแรกที่เปลี่ยนแปลงเรื่องนี้คือคุณเอ็ด โรเบิร์ต คนพิการที่อยากเรียนหนังสือที่ University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกา ที่นั่นปฏิเสธรับคนพิการด้วยแนวคิดว่าคนไม่พิการและคนพิการมีโอกาส และอุปสรรคการใช้ชีวิตต่างกัน คนพิการควรอยู่ในสถานฟื้นฟู สถานฝึกเฉพาะมากกว่ามาเรียนมหาวิทยาลัย
คุณโรเบิร์ตต่อสู้จนสามารถเข้าเรียนได้ และตั้งทฤษฎีการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการจนมีกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้น จนปี 1981 รวมตัวไป UN ยื่นหนังสือโดยใช้คำขวัญว่า Nothing about us without us ตั้งแต่นั้นก็เกิดการปฏิรูปแนวคิดต่อคนพิการจากสงเคราะห์เป็นแนวคิดสิทธิ
Nothing about us without us ข้อเรียกร้องต่อกรุงเทพฯ จากคนพิการ
เสาวลักษณ์ทิ้งท้ายต่อการพูดคุยครั้งนี้ว่า คนพิการในกรุงเทพไม่ใช่ประชากรส่วนน้อย พวกเขาอาจเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวผู้มีอำนาจหรือคนกำหนดนโยบายเมืองนี้ เขาอาจเป็นลูก เป็นพ่อแม่ที่ชรา พวกเขาอยากใช้ชีวิตที่ปกติด้วยตัวเองเหมือนกับคนไม่พิการ
สามข้อเรียกร้องใหญ่ ๆ ที่เสาวลักษณ์หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ หนึ่ง ระบบขนส่งสาธารณะที่อำนวยความสะดวกกับคนทุกกลุ่ม การเข้าถึงง่าย มีทางลาดสำหรับคนพิารด้านการเคลื่อนไหว ไฟแดงที่มีสัญญาณเตือน มีเสียงบรรยายระหว่างข้ามทางม้าลายสำหรับคนตาบอด หรือสัญญาณไฟที่เห็นชัดสำหรับคนหูหนวก
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าจะแก้ไขง่ายสุดในมุมของเสาวลักษณ์เพราะเรามีโครงสร้างเมืองที่สามารถเชื่อมร้อยกันได้ถ้ากำหนดนโยบายสำหรับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
สอง ค่าใช้จ่ายในระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม ไม่แพงเกินค่าครองชีพและค่าแรงขั้นต่ำรายวัน เพราะคนพิการมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคนไม่พิการมาก เมื่อต้องเดินทางในเมืองหลวง เสาวลักษณ์มองว่าปัญหาค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางเป็นภาระหนักของคนกรุงเทพ และหนักยิ่งกว่าเมื่อเป็นคนพิการ
ประการสุดท้ายคือเรื่องการส่งเสริมโรงเรียนเรียนร่วม การศึกษาเป็นหนึ่งในสิทธิพลเมือง ปัจจุบันมีโรงเรียนตัวอย่างที่สามารถถอดบทเรียนและขยายเป็นโรงเรียนตัวอย่าง เปิดให้เป็นโรงเรียนเรียนร่วมได้แต่ยังไม่เพียงพอ การเรียนร่วมเป็นทักษะชีวิตที่คนพิการได้เรียนรู้พร้อมกับสังคม เช่นเดียวกับที่สังคมได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับความหลากหลายโดยไม่มีอคติเรื่องความพิการ หรือการสงเคราะห์อย่างที่ผ่านมา
คนพิการเป็นหนึ่งในพลเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร การออกแบบนโยบายและปรับเปลี่ยนจากการเมือง เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน คุณค่าความเป็นคนไม่ควรถูกทำลายง่าย ๆ จากเมืองที่ไม่น่าอยู่และไร้น้ำใจ และไม่ควรมีใครถูกปฏิบัติด้อยกว่าเพียงเพราะเขาแตกต่าง