“คุณรู้มั้ย คนผิดกับคนชั่ว ในหลายครั้งไม่ใช่คนเดียวกัน”
ประโยคเริ่มบทสนทนาของคุณโชคชัย (นามสมมุติ) ชวนให้ตั้งคำถามและขยายความสงสัย เจ้าของเรื่องราวของเราในวันนี้ ซึ่งเป็นบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ พ่วงด้วยใบปริญญาจากคณะเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทจิตวิทยาปรึกษา รวมทั้งเป็นอดีตนักโทษประหาร
ชวนเรากลับมาตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมและภาพจำสังคมของเราแล้วว่า ‘โอกาสที่สอง’ มีให้สำหรับทุกคน จริง หรือ
ก่อนหน้าจะมีโซ่ตรวนและตราประทับแปะป้ายความเป็นนักโทษประหาร โชคชัยเป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ใช้ชีวิตปรกติ ทำงานเป็นคนขับรถรับ-ส่งสนามบินเหมือนทุกวัน
แต่ในวันนั้นผู้โดยสารและเส้นทางที่คุณโชคชัยขับไป ได้เปลี่ยนจุดหมายปลายทางของเขาไปตลอดชีวิต เพราะในสัมภาระที่ผู้โดยสารพกพามาด้วยนั้น อัดแน่นด้วยยาเสพติดจำนวนมาก
แม้ว่าโชคชัยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเลยแม้แต่น้อย ที่ทำงานเองได้พยายามช่วยเหลือเป็นพยานความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดจบลงตรงที่คุณโชคชัยมีความผิด และศาลตัดสินโทษสูงสุดคือประหารชีวิต
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้อาจแตกต่างออกไป หากไม่ใช่ช่วงเวลาที่ฝ่ายบริหารของประเทศไทย (พ.ศ. 2544) กำลังประกาศสงครามกับยาเสพติด ยุคสมัยที่ฝ่ายบริหารแทรกแซงฝ่ายตุลาการขนาดที่ว่าหากจะยกฟ้องคดียาเสพติดจะต้องทำเรื่องชี้แจง ไพ่ชีวิตของคุณโชคชัย อาจออกมาอีกหน้าหนึ่ง
ชีวิตของนักโทษประหาร ในยุคสมัยที่ 80 % คือคดียาเสพติด
“คนแต่ละคนเหมือนหนังสือแต่ละเล่ม ร้อยคนมีเหตุผลร้อยอย่างที่เข้ามาอยู่ตรงนี้ บางครั้งเรามีคำถามเหมือนกันว่าอะไรทำให้พวกเขาจนตรอก อะไรเป็นตัวผลักดัน บางคนทำผิดเพราะอยากซื้อมอเตอร์ไซค์ไว้ส่งลูกไปโรงเรียน แค่นั้นเลย”
ครั้งหนึ่งนักโทษประหารจะต้องใส่โซ่หนึ่งเส้นล่ามไว้ที่ขาตลอดเวลา และมีอีกเส้นหนึ่งล่ามขาไว้เวลาออกมาด้านนอก สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน 7 วัน 24 ชม.คืออีกโลกหนึ่งที่มีระเบียบสังคมเป็นของตัวเอง
คุณสามารถเลือกเป็นขาใหญ่ใช้เงินดูแลทุกคนตั้งแต่ผู้คุมยันนักโทษ เลือกเป็นนักรับจ้าง taxi ซามูไร หรือจะเลือกเป็นใครสักคนในกลุ่มที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพราะมีความรู้ต้องพึ่งพา แบบที่คุณโชคชัยเลือกบทบาทนั้น และเรียนจบปริญญาอีก 2 ใบก็ย่อมได้
“ครั้งหนึ่งรัฐเคยใช้นโยบายปราบปรามขั้นเด็ดขาด ใครผิดคดียาเสพติดโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต แต่ในปัจจุบันรัฐหันไปใช้นโยบายอีกแบบ เป็นการบำบัดรักษาแทนโทษก็เบาขึ้น แล้วคนที่ตายไปทำยังไง คนที่ตัดสินประหารไปแล้วจะชดเชยด้วยวิธีไหน ที่ผ่านมาคืออะไร หรือเราเป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งให้คนที่คิดนโยบายจับเดินไปมาตามใจอยากเท่านั้น
“โทษประหารชีวิต มันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้เลย”
ถึงแม้จะเป็นนักโทษประหาร แต่กระบวนการยุติธรรมมีการอภัยโทษ มีการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา เฉลี่ยนักโทษคดียาเสพติด จึงจำคุกจริงอยู่ที่ราว ๆ 20 ปี ในขณะที่คดีอุกฉกรรจ์อื่น ๆ อย่างความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มีอัตราโทษเฉลี่ยอยู่ที่ 12-13 ปีเท่านั้น
“จริงอยู่ที่โทษประหารชีวิตมันช่วยให้เกิดการแก้แค้นทดแทน แต่มันเป็นสิ่งที่เยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวได้จริง ๆหรือเปล่า คนทำผิดหลายคนมีความรู้สึกที่อยากจะชดใช้เยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียหายตลอดเวลา อะไรก็ได้ที่จะช่วยคลี่คลายความคับแค้นใจให้อีกฝ่าย เป็นเงินประจำเดือน เป็นอะไรก็ได้ที่จะทำให้ครอบครัวผู้เสียหายรู้สึกถึงความพยายามของพวกเขา รู้สึกได้ว่าพวกเขารู้สึกผิด มันอาจดีกว่าความตาย การแก้แค้นทดแทนไปแบบนั้น”
เมื่อถึงวันที่ได้ออกจากคุก = อิสรภาพที่มีโซ่ตรวนที่มองไม่เห็น
เกือบ 20 ปีที่โชคชัยอยู่ข้างใน จังหวะแรกที่หวนคิดถึงก้าวแรกที่ได้พ้นจากกรงขังคือความงุนงง จับทิศทางไม่ถูก ทุกอย่างดูรวดเร็วไปหมด วุ่นวาย สกปรก มีกลิ่นที่ไม่คุ้นเคย เกิดความรู้สึกแปลกแยก ความรู้สึกที่อดีตผู้ต้องขังจะเรียกกันว่า ‘ถูกกลืนกินด้วยบรรยากาศของคุก’ มันคือความรู้สึกที่เหมือนถูกจับจ้องตลอดเวลา แม้แต่ท่าเดินก็จะผิดแปลก เกร็ง แข็งทื่อ เป็นความรู้สึกที่คนข้างนอกไม่มีทางเข้าใจ ยิ่งมาพูดว่าเข้าใจ ยิ่งตอกย้ำว่าพวกเขาไม่รู้อะไรเลย
มีหลายคนที่พยายามกลับไปใช้ชีวิตปรกติ กลบไปทำงานเท่าที่ทำได้ แต่พอทำไปสักพักก็จะถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ต้องถูกออกจากงานแม้จะทำงานดีแค่ไหนก็ตาม แค่เป็นไรเดอร์ส่งของยังทำไม่ได้
ในขณะนี้มีหลายภาคส่วน หลายหน่วยงาน พยายามที่จะนำโทษประหารชีวิตออกจากกระบวนการยุติธรรมของไทย ด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนและอีกหลายปัจจัย แต่เมื่อถามโชคชัยถึงทางเลือกสองทางนี้ เรากลับได้รับคำตอบที่แตกต่างไปจากน้ำเสียงของนักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการอย่างสิ้นเชิง
“คนที่อยู่ในคุกอยู่ได้ก็ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งจะได้ออกไป เป็นเหมือนเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของเราเลยก็ว่าได้ หากยกเลิกโทษประหารชีวิต และบังคับใช้เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ‘จริง ๆ’ ความหวังตรงนั้นหมดไปเลย
“แล้วในคุกที่อยู่กันจำนวนผู้คุม 16 คน ต่อนักโทษ 1,000 คน ในภาวะที่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ มีค่าไปหมด นมสักกล่อง บุหรี่สักตัว แทงกันได้เลย แล้วไม่ต้องแคร์อะไรแล้วด้วย เพราะทำดียังไงก็ไม่ได้รับการลดหย่อน ก็ไม่ได้ออกไปอยู่ดี คุณจะควบคุมความสิ้นหวังขนาดนี้ได้ยังไง คนที่น่าสงสารจะไม่ใช่นักโทษแล้ว แต่คือผู้คุม”
ถ้าต้องเลือกระหว่างโทษประหารชีวิต กับ โทษจำคุกตลอดชีวิต
เมื่อพูดถึงโทษประหารชีวิต อีกเสียงหนึ่งที่อยากให้รับฟังในวันนี้ คือเสียงของ รองศาสตราจารย์โคทม อารียา ที่ชวนคุยประเด็นนี้ด้วยคำถามสำคัญว่า
“ควรจะมีอำนาจไหน หรือเหตุผลใด ที่สามารถพรากชีวิตมนุษย์ด้วยกันจริง ๆ หรือ?
“ในขณะที่เรากำลังหาเหตุผลมากมายมาหว่านล้อมตัวเอง และสังคมให้เชื่อว่าเราสามารถขจัด หรือยับยั้งความชั่วร้ายของมนุษย์ได้ด้วยการพรากสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดที่คนหนึ่งคนจะพึงมี อย่างสิทธิในการมีชีวิตไป แล้วความชั่วร้ายเหล่านั้นจะจบลง แล้วสังคมเราจะปลอดภัยขึ้น
“เรามีงานวิจัย ตัวเลข จำนวนสถิติมากมายที่แสดงให้เห็นแล้วว่า การลงโทษที่รุนแรงไม่ได้ลดจำนวนอาชญากรรมได้จริง ในทางกลับกัน การยกเลิกโทษประหารที่มีอยู่ทั่วโลก ก็ไม่ได้ทำให้สถิติของอาชญากรรมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
“หากเราจะมองในมุมของการแก้แค้นทดแทน ญาติของผู้เสียหายจะได้ประโยชน์กว่าไหม หากผู้กระทำความผิดมีชีวิตอยู่เพื่อเรียนรู้ และชดใช้ให้กับความสูญเสียนั้น ไม่ว่าจะด้วยตัวเงินหรือการสำนึกผิด การตายตกไปตามกันไม่ได้เปลี่ยนผลที่เกิดขึ้นแล้วแต่อย่างใด แต่การอยู่ต่อเพื่อชดเชยเยียวยาผลเหล่านั้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเป็นที่สุดกับทุกคน”
โดยวิธีการที่เป็นรูปธรรมนั้นโคทม อารียา ได้เสนอว่าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เร่งรีบ เพื่อให้สังคมเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้ ด้วยการแบ่งเป็นระยะตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเคยเสนอไว้คือ
- ระยะที่ 1 คงการพักการปฏิบัติ คือไม่นำนักโทษมาประหารชีวิตเพิ่ม
- ระยะที่ 2 แก้กฎหมายไม่ให้มีการบัญญัติโทษประหารชีวิตสถานเดียว
- ระยะที่ 3 ยกเลิกโทษประหาร กรณีความผิดที่ไม่ใช่อาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด
- ระยะที่ 4 ยกเลิกโทษประหารสำหรับอาชญากรรมทุกประเภท
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อยุติโทษประหารชีวิต โจทย์สำคัญที่สะท้อนจากเสียงของอดีตนักโทษอย่างโชคชัย จึงไม่เพียงตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมต้นทาง ที่ตัดสินใครสักคนหนึ่งว่าสมควรตายอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยเงื่อนไขใด
แต่ยังชวนสังคมสงสัยถึงสิ่งที่จะมาทดแทนโทษประหารชีวิตอย่างจำคุกตลอดชีวิตด้วยว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ มีขั้นตอน วิธีปฏิบัติจริงอย่างไร และคำถามที่สำคัญที่สุดนั้น คือสังคมจะสามารถมอบโอกาสที่สองให้แก่ผู้กระทำความผิดได้จริง ๆ หรือเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรู
ท้ายที่สุดแล้วเช่นเดียวกับที่ โคทม อารียา ตั้งคำถามเราต่างต้องหาคำตอบให้กับตัวเองว่า
ควรจะมีอำนาจไหน เหตุผลใด ที่สามารถพรากชีวิตของมนุษย์ด้วยกันจริง ๆ หรือ ?