ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
บทสรุปง่าย ๆ สำคัญว่าหากผู้ว่าฯ กทม.จะสามารถเป็นตัวแทนของคน 99% มหานครแห่งความเหลื่อมล้ำ การที่ผู้สมัครจะมีจุดยืนเพื่อคน 99% ทั้งมิติทาง การเมือง เศรษฐกิจและสังคม จึงนับเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายบริหารที่จะนำสู่จุดเริ่มของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเช่นกัน
1.ผู้ว่าฯ กทม. จำเป็นต้องมีจุดยืนต่อต้านระบบอำนาจนิยม การสืบทอดอำนาจและเผด็จการทางการเมือง หลายท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจของผู้ว่าฯ กทม. เป็นเรื่องขยะ รถเมล์ ถนน น้ำท่วม ศูนย์เด็ก จะเกี่ยวข้องอะไรกับความเป็นเผด็จการและประชาธิปไตย แต่กรุงเทพฯ คือศูนย์กลางของโครงสร้างอำนาจผูกขาด ศูนย์กลางของการต่อสู้ตั้งคำถามต่อความไม่เป็นธรรม ราชดำเนิน ราชประสงค์ หน้าทำเนียบรัฐบาล ล้วนเป็นพื้นที่ของการปะทะเรียกร้องของการเมืองทุกกลุ่ม ทุกเฉดสีอุดมการณ์ ผู้ว่าฯ กทม. จึงต้องส่งเสริมให้มีกระบวนการต่อสู้เรียกร้องตามขบวนการประชาธิปไตย สนับสนุนการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการประท้วงและการนัดหยุดงานตามมาตรฐานสากล และเข้าใจกระบวนการต่อสู้ของประชาชนธรรมดา และร่วมยืนหยัดต่อต้านระบอบอำนาจนิยมในรูปแบบต่าง ๆ
2.ไม่ใช่นักบริหารที่กลวงเปล่าต้องกล้าที่จะขัดขืนต่ออำนาจของระบบราชการและแก้ไขระเบียบที่ล้าหลัง บ่อยครั้งที่ผู้สมัครที่มาจากการเลือกตั้งมักเผชิญกับปัญหาที่สำคัญ คือการต้องเจอกับระเบียบ เจอกับข้าราชการที่อาจทำงาน ทำโพรเจกมายาวนานเป็นสิบปี อยู่กับระเบียบที่ห้ามทำอะไรในสิ่งที่ก้าวหน้า ผู้ว่าฯ กทม.แม้จะเข้ามาชั่วคราวเมื่อเทียบกับข้าราชการ แต่การเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้ ต้องกล้าที่จะขัดขืนต่อวิธีคิด วิธีการทำงานของข้าราชการแบบเดิม หรือการปรับเปลี่ยนระเบียบที่กีดขวางความก้าวหน้าของนโยบายต่าง ๆ
3.ผู้ว่าฯ กทม.ของคน 99% จำเป็นต้องเป็นศัตรูกับความมั่งคั่งของคน 1% เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่าผู้ว่าฯ ของคนทุกคน แต่นั่นคือคำกล่าวที่ละเลยว่า เมืองนี้ไม่เคยเป็นของทุกคน เมืองที่เป็นศูนย์กลางของการผูกขาดอำนาจและความเหลื่อมล้ำ แต่แน่นอนว่า คน 1% พวกเขามักดูเสียงดังมากกว่า ดูโอบอ้อม ใจดี มีการศึกษา สมเหตุสมผลมากกว่าที่จะทำให้ผู้ว่าฯ ต้องค้อมหัวฟัง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษี การจ้างงาน หรือโพรเจกต่าง ๆ มักถูกวางอยู่บนเงื่อนไขของคน 1% ที่ดูจะใกล้ชิด และมีเวลาส่งเสียง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าสัว นายทุน เจ้าที่ดิน ผู้ว่าฯ กทม.ต้องปิดหูข้าง 1% ลงเสียบ้าง และใช้เวลาในการฟังคน 99% ที่พวกเขาอาจไม่มีเวลา ไม่มีอิทธิพล ไม่มีผลประโยชน์ในการส่งเสียงได้เท่ากับคน 1% แต่การเป็นตัวแทนของคน 99% และผลักดันนโยบายเพื่อคน 99% ย่อมกระทบต่อคน 1% เป็นปกติธรรมดา ผู้ว่าฯ กทม.ต้องกล้าที่จะยืนหยัดเพื่อสิ่งนี้
4.ผู้ว่าฯ กทม.ของคน 99% ต้องสนับสนุนประชาธิปไตยในที่ทำงานและสิทธิของคนทำงาน กรุงเทพฯ คือศูนย์กลางของระบบทุนนิยมไทย ศูนย์กลางของการกดขี่ ขูดรีด คนทำงานหลายล้านคน หากกรุงเทพมหานครสามารถเป็นตัวอย่างของมหานครของการปกป้องคุ้มครองสิทธิของคนทำงานมากกว่าของเจ้าสัวและนายทุนที่มั่งคั่ง เราจะมีสวนสาธารณะที่สวยงาม ทางเท้าที่กว้างขวาง หรือรถไฟฟ้าถึงที่ทำงาน คงเปล่าประโยชน์ หากเราไม่มีแม้แต่เวลาว่างที่จะใช้ชีวิตส่วนตัว หรือความเครียดอันแสนสาหัสที่เกิดจากการกดดันในที่ทำงาน หลายคนก็จะวนกลับมาข้อแรกว่าเป็นอำนาจของกระทรวงแรงงาน แต่ผมยืนยันว่าผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจมากพอที่จะออกมาตรการส่งเสริมทางบวกเพื่อสร้างประชาธิปไตยในที่ทำงาน และส่งเสริมการรวมตัวของคนทำงานในรูปแบบต่าง ๆ
5. ข้อสุดท้ายที่สำคัญ ผู้ว่าฯ กทม. จำเป็นต้องสนับสนุนรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และยืนยันว่าเป็นสิ่งที่เกิดได้ทันที หลายท่านอาจบอกว่ารัฐสวัสดิการไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจของผู้ว่าฯ แต่มันคือสะท้อนความเชื่อพื้นฐานสองข้อคือ 1. คุณเชื่อหรือไม่ว่าคนเท่ากัน 2.คุณเชื่อหรือไม่ว่าทรัพยากรบาทแรกจนบาทสุดท้ายสมควรนำมาดูแลประชาชนก่อน เจ้าสัว กลุ่มทุน หรือระบบราชการ จากประสบการณ์ของผมการมีความเชื่อเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้เป็นเรื่องผิดแผก แปลกประหลาดหรือไร้เดียงสา ผู้สมัครนายกเทศมนตรี หรือ อบจ.ในจังหวัดห่างไกลก็ยังสามารถเชื่อเรื่องนี้ได้ หากคุณเชื่อเรื่องว่าสวัสดิการที่ดีที่สุดสำหรับคนรวย คนจน ชนชั้นกลาง คือสวัสดิการระบบเดียว คุณก็จะสามารถพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่คลองเตยได้ทัดเทียมกับโรงเรียนนานาชาติที่สุขุมวิท สามารถพัฒนาโรงพยาบาลสังกัด กทม. ย่านตลิ่งชันให้ทัดเทียมกับโรงพยาบาลเอกชนย่านพระราม 9 มันก็มาจากพื้นฐานที่เราเชื่อหรือไม่ว่า คนเท่ากันหรือไม่ หากผู้ว่าฯ กทม. นิยมการแก้ด้วยการรับผิดชอบตัวเอง หรือกลไกตลาด ย่อมเป็นภาพสะท้อนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานได้
ทั้งหมดนี้คือเรื่องพื้นฐานที่สุดสำหรับคน 99% ที่เราต้องตรวจสอบว่าหากเราเป็นคนส่วนใหญ่ของเมืองนี้ 5 ข้อนี้ก็นับว่าไม่มากและยากเกินไปที่เราควรเรียกร้องจากผู้สมัครในไม่กี่วันข้างหน้านี้