อาชีพของผู้พิการทางสายตามีให้เลือกไม่กี่อย่าง เป็นวนิพกร้องเพลงพร้อมกล่องบริจาค นวดแผนไทย หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าหวย ในขณะที่ผู้พิการกลุ่มนี้เป็นจิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ ใน Supply Chain ของงานในภาคบริการที่เกิดจากหวย แต่กลับได้รับแรงกระแทกเต็ม ๆ จากทุกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหวย ล่าสุดเมื่อต้นเมษายน 2565 มีข่าวใหญ่เรื่องภาครัฐกวาดจับเว็บไซต์ขายหวยออนไลน์เจ้าดัง พร้อมประกาศว่ากลางมิถุนายนนี้ จะแก้ปัญหาการขายหวยเกินราคา ด้วยการขายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังในราคา 80 บาท
ข่าวช็อกวงการตามมาอีกหลายระลอกหลังจากนั้น ทั้งคลิปเสียงหลุด ทั้งข่าวลือเกี่ยวกับการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง ส่งผลในทางใดทางหนึ่งให้หลังจากนั้น ประธานคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบผู้ค้าสลากฯ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง โดยชี้แจงว่าเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล แรงกระเพื่อมที่รุนแรงถึงเพียงนี้ ตอกย้ำว่าเรื่องของหวยสัมพันธ์กับโครงสร้างส่วนบนของสังคมโดยตรง
ในขณะที่คนตัวเล็กตัวน้อยได้แต่แหงนหน้ามองอยู่ขอบสนาม เช่นเดียวกับ พี่ขาววัย 55 ปี ผู้พิการทางสายตาที่ทำอาชีพขายหวย เธอขยับแผงหวยหนักอึ้งในมือ และขอใช้โอกาสทองช่วงเคานต์ดาวน์ก่อนถึงวันเลือกตั้ง สะท้อนเสียงแผ่วเบาของผู้พิการไปยังรัฐบาล
ถูกคนตาดีแย่งอาชีพ ถูกไล่ที่ ถูกมิจฉาชีพกรีดหวย
พี่ขาวเป็นคนสุรินทร์ เกิดมาพร้อมพันธุกรรมที่ทำให้มีลักษณะเป็นคนผิวเผือก ส่งผลให้ตาแพ้แสงและระบบประสาทที่ส่งภาพจากตาไปยังสมองผิดปกติ ทำให้พี่ขาวมองเห็นได้เพียงเลือนรางและมีปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัยที่สูงขึ้น แต่พี่ขาวมีภาระมากมายที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เมื่อจบ ป.6 จึงเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนนวดแผนไทยที่ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน จนได้วุฒิฯ เทียบเท่า ม.3 และทำงานนวดกับทางศูนย์ฯ เรื่อยมาเพื่อหารายได้ส่งให้พ่อที่เป็นอัมพฤกษ์อยู่ที่ต่างจังหวัด แต่อาชีพนี้จำเป็นต้องยุติลงเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจร้านนวด
“พอเกิดโควิดร้านต้องปิดตามนโยบายของรัฐ ตอนนั้นมืดแปดด้านไม่รู้จะไปทำอะไร นวดก็ไม่ได้ถ้าถูกจับขึ้นมาจะถูกยึดใบประกอบโรคฯ คนตามองไม่เห็นมันไม่มีอาชีพอะไรให้เลือกมาก นอกจากโดนสั่งปิดร้านนวดแล้ว ห้องที่เราเช่าเขาก็จะขอคืน เราไม่รู้จะทำยังไง เลยโทรไปปรึกษากับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เขาให้หวยมาขาย 500 ใบ ในราคาโควตาผู้พิการ”
ด้วยต้นทุนราคาหวยจากสมาคมคนตาบอดที่ต่ำกว่าท้องตลาด ทำให้พี่ขาวได้ค่าส่วนต่างประมาณ 9 บาท 80 สตางค์ต่อใบ รวม ๆ แล้วมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 4,000-4,500 บาท ยังไม่นับรวมค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
นอกจากนั้นปัญหาสำคัญคือการที่ไม่สามารถขายหวยได้หมดทุกงวด หวยที่เหลือคนขายต้องรับผิดชอบต้นทุนเหล่านั้น พี่ขาวพูดเปรย ๆ ว่าถ้าขายไม่หมดแล้วกองสลากรับคืนจะลดภาระไปได้ แต่ทุกวันนี้ถ้าเหลือห้าสิบใบหรือร้อยใบล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกไว้ ถ้าหวยที่เหลือเหล่านั้นเกิดถูกรางวัลขึ้นมานับว่าเป็นโชคดี แต่เท่าที่เป็นอยู่เรื่องแบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้พิการต้องเผชิญ คือการที่คนขายหวยเจ้าถิ่นซึ่งเป็นคนตาดี ขับไล่ไม่ให้มาขายใกล้ ๆ พี่ขาววิเคราะห์ว่า ด้วยความเห็นใจมักทำให้คนทั่วไปมีแนวโน้มจะซื้อหวยจากผู้พิการมากกว่า
“เราเคยเดินผ่านตรงจุดที่เจ้าถิ่นขายอยู่ แล้วลูกค้าขอซื้อจากเรา เขาดึงแผงไปถามว่ามีเลขนี้ไหม เรายังบอกเจ้าถิ่นไปว่า ‘ขอโทษนะคะ ขอยืนแป๊บนึง พอดีลูกค้าเขาซื้อ’ เขาใส่เลย บอกว่ามายืนตรงนี้ไม่ได้เขาเสียค่าที่ แต่เราไม่รู้ว่าเขาเสียให้ใคร ตาเรามองไม่เห็นไม่อยากมีเรื่อง”
นอกจากนั้นผู้พิการที่ขายหวยยังต้องผจญกับกลุ่มมิจฉาชีพ ที่หากินด้วยการใช้มีดกรีดเอาหวยจากแผง พี่ขาวเล่าว่าคนเหล่านี้มักจะทำงานกันเป็นทีม มีหน้าม้ามากันสองสามคนทำทีเป็นมาซื้อหวย แล้วอาศัยช่วงจังหวะชุลมุนใช้คัตเตอร์กรีดหวยออกไป บางครั้งได้ไปเป็นร้อยใบเพราะผู้พิการทางสายตามองไม่เห็น
เพื่อนหลายคนของพี่ขาวที่ขายหวยอยู่ในห้างสรรพสินค้าโดนเป็นประจำ เมื่อ รปภ. ตรวจดูกล้องวงจรปิด แต่ด้วยความที่คนขายตาบอดจึงไม่สามารถชี้ได้ว่าผู้ร้ายคือใคร หรือเท่าที่เคยจับได้กลับรับโทษจำคุกแค่ห้าหกเดือนเท่านั้น
เมื่อถามพี่ขาวเกี่ยวกับข่าวคราวเรื่องการขายหวยเกินราคา 80 บาท และดูเหมือนว่าช่วงต้นปี 2565 ภาครัฐจะมีการตรวจจับอย่างกระตือรือร้น ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการขายหวยเกินราคาไปทั่วประเทศ มีทั้งรางวัลนำจับรายละ 1,000 บาท ถูกจับขึ้นมาต้องเสียค่าปรับตามการแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งฯ พ.ศ. 2517 จากที่ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แก้ไขเป็นไม่เกิน 10,000 บาท
นอกจากนั้นล่าสุดยังมีการปราบปรามเว็บไซต์ขายหวยออนไลน์เจ้าดัง จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พี่ขาวสะท้อนความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า
“มันอยู่ที่คนได้โควตาหวย คนมีไม่ขาย คนขายไม่มี คือคนที่มีเอาไปปล่อยให้พวกยี่ปั๊วะขาย แล้วจะปล่อยราคาเดิมไหมล่ะ มันเป็นทอด ๆ ไป ถ้าจะให้ปล่อยใบละ 80 มันอยู่ไม่ได้ ถึงจับเว็บขายหวยออนไลน์เจ้าใหญ่ แต่ในฐานะคนที่ไม่มีโควตาและเป็นรายย่อยที่ขายจริงก็ซื้อหวยแพงเหมือนเดิม เพราะต้องไปซื้อที่แยกคอกวัวกับสนามบินน้ำ เหมือนพ่อค้าตลาดไทไปซื้อผักจากชาวสวนมานั่นแหละ ถึงยังไงคนที่จะไปซื้อผักมาทำอาหารที่ตลาดไท ก็ซื้อได้ในราคาแพง ถ้าคุณควบคุมที่ตลาดไทหรือตลาดสี่มุมเมืองไม่ได้ คนขายรายย่อยก็ยังต้องซื้อแพงเหมือนเดิม”
สำหรับผู้หญิงสูงวัยที่มีความบกพร่องทางร่างกายคนหนึ่ง พี่ขาวมีเลือดนักสู้อย่างเต็มเปี่ยม เธอภูมิใจที่มีอาชีพสุจริตหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ไม่ได้เรียกร้องขอความสงสารจากใคร ไม่ได้ขอให้รื้อถอนโครงสร้างสังคมแล้วสร้างใหม่ให้เท่าเทียมขึ้น เพียงแต่ขอให้พื้นที่เล็ก ๆ ตรงนี้สะท้อนไปถึงภาครัฐที่ดูเหมือนว่ากำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องของสลากกินแบ่ง
“จริง ๆ กองสลากน่าจะให้โควตาผู้สูงอายุกับคนพิการมาเลย ไม่ต้องให้เบี้ยคนพิการหรือเบี้ยคนชราก็ได้ ให้เรามาเลยคนละ 5 เล่ม ส่วนจะปล่อยขายหรือขายเองก็ถือว่าเขามีทุนเลี้ยงชีพ อย่างคนชราที่เกษียณมาไม่มีลูกหลานเลี้ยง ได้ตรงนี้เป็นรายได้ แล้วตามหน่วยงานรัฐอาจจะจัดที่ให้ขาย โดยที่เราไม่ต้องเสียค่าที่ เช่น ให้โควตาคนขายหวยที่เป็นคนพิการสองที่ คนสูงอายุสองที่ จะเป็นตามธนาคารหรือรถไฟฟ้าก็ได้
“อยากฝากบอกรัฐว่าจะดูแลคนพิการยังไงต่อ ตอนนี้คนพิการไปขึ้นทะเบียนเพื่อถือกล่องร้องเพลง ตกลงว่าจะสนับสนุนให้คนพิการขอทาน หรือจะสนับสนุนให้คนพิการทำอาชีพอย่างสุจริตมีคุณค่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เอื้อสถานที่ให้เราได้ทำมาหากิน โควตาควรให้ทุกคน จัดสถานที่ขายให้โดยที่ไม่โดนไล่ รวมทั้งช่วยกวาดล้างคนที่มาไล่ที่คนพิการด้วย”
คนจน คนพิการ อยู่ตรงไหนในห่วงโซ่อุปทานการซื้อ-ขายหวย
นอกจากปัญหาที่กระทบกับผู้พิการซึ่งเป็นห่วงโซ่ท้าย ๆ ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหวยแล้ว การจะเข้าใจสิ่งนี้อย่างถ่องแท้อาจต้องสมมติให้เห็นภาพว่าประเทศเรามีรูปทรงเหมือนพีระมิด ตรงยอดพีระมิดคือคนที่ “เข้าถึงทรัพยากรได้ง่าย” ส่วนตรงฐานพีระมิดคือ “คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร”
ความรวยหรือจนเริ่มต้นกันที่ตรงนี้ เช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นที่ทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลหรือหวย เป็นความหวังแห่งชาติ การทุ่มเทซื้อหวยเพื่อหวังรางวัลที่ 1 สักครั้ง จึงเป็นความฝันในการเข้าถึงทรัพยากรที่ชั่วชีวิตนี้ไม่เคยมี ทรัพยากรในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวเงิน แต่หมายถึงการศึกษาของลูก สุขภาพของแม่ผู้แก่ชรา หรือการล้างหนี้จากเงินกู้นอกระบบ เพราะสายป่านของคนจนมันสั้นแค่เช้าจรดเย็น
ดังนั้นรากของปัญหาที่เกิดจากหวยจึงไม่ได้หยุดแค่การปรับราคาให้เหลือ 80 บาท แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการที่รัฐบาลวางตำแหน่งหวยไว้ตรงไหนในสังคมไทย มีคำจำกัดความอย่างไรในภาคธุรกิจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกี่ฝ่าย การ “เสี่ยงโชค” ที่ก่อให้เกิดการสร้างงานในภาคบริการที่เกิดจากหวย เป็นห่วงโซ่อุปทานที่ยืนอยู่บนหลักการของการสร้างเศรษฐกิจให้ยั่งยืนจริงหรือไม่ เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานมากน้อยเพียงใด
หาคำตอบเหล่านี้จาก รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มตั้งแต่ทัศนคติของผู้คนที่มีต่อสลากกินแบ่งฯ
“เนื่องจากมีความพยายามเบี่ยงเบนคำว่าสลากกินแบ่งให้เป็นคำว่าการเสี่ยงโชคไม่ใช่การพนัน ในงานสำรวจของเรามีการถามเรื่องนี้ เพราะอยากรู้ทัศนคติในเรื่องของการพนัน โดยถามว่า
‘คุณเชื่อหรือไม่ว่าการซื้อสลากกินแบ่งไม่ใช่การพนัน’ มีคนที่เห็นด้วยว่าไม่ใช่การพนัน 52% และคนที่ไม่เห็นด้วย 35.2% เมื่อถามอีกข้อหนึ่งว่า ‘คุณเชื่อหรือเปล่าว่าการซื้อหวยใต้ดินไม่ใช่การพนัน’ มีคนที่เห็นด้วยว่าไม่ใช่การพนัน 27% แต่คนที่ไม่เห็นด้วยมีถึง 62% เพราะฉะนั้นมันจึงมีความย้อนแย้งของทัศนคติ”
ภาพจากPage Facebook: Mekong Chula
นวลน้อยอธิบายเพิ่มเติมว่าในต่างประเทศถือว่า เรื่องของการซื้อล็อตโต้ (Lotto) เป็น sector ของสันทนาการซึ่งเป็นหมวดของความบันเทิง ในทางเศรษฐศาสตร์จัดเป็นการบริโภค (Consumption) เช่นเดียวกับการซื้อตั๋วหนังหรือฟังเพลง โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ต้องการอะไรกลับมา เป็นการซื้อความพึงพอใจ
แต่ในขณะที่การซื้อสลากกินแบ่งในไทย สื่อโหมเรื่องคนถูกหวยการเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน ทำให้คนมีแนวโน้มใช้จ่ายเงินในหมวดนี้เพื่อให้ได้เงินกลับมา
ตรงนี้จึงเป็นปัญหาที่บางประเทศพยายามไม่ให้มีการโฆษณาหรือกระตุ้นการขายมากจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นการสร้างปัญหาให้ผู้มีรายได้น้อย
“คนที่ซื้อสลากส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย เราสำรวจคนที่ซื้อหวยอยู่ 20 กว่าล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนมีรายได้น้อย เพราะฉะนั้นส่วนที่แบ่งให้รัฐ 23% เป็นเงินรายได้ที่รัฐได้จากคนจน รัฐกำลังขายหวยให้คนมีรายได้น้อย ทั้งที่หากเขาไม่ซื้อตรงนี้ จะสามารถนำเงินไปพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างอื่นได้”
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของภาครัฐ ที่จะมีการแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา โดยมีแนวทางการขายสลากผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของภาครัฐ และจัดให้มีจุดขายที่ประกันราคาหวย 80 บาท ทั่วประเทศในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565
นวลน้อยย้อนมองตั้งแต่เรื่องของนโยบายการขายหวยออนไลน์ โดยมีความเห็นว่านโยบายนี้เป็นผลดี หากแต่ต้องคิดรูปแบบที่จะทำให้ผู้ค้ารายย่อยทั่วไป มีโอกาสค้าขายผ่านออนไลน์ด้วย ไม่ไปตกอยู่กับร้านค้าหรือบริษัทใหญ่ ๆ เพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือเรื่องการจดทะเบียนผู้ขายให้ถูกต้อง มากกว่าจะเป็นระบบนายหน้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องระบบนายหน้าในสังคมไทย เกี่ยวโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกหลายฝ่าย รวมทั้งกลุ่มผู้พิการที่ทำอาชีพขายหวยเช่นพี่ขาว มีคนอีกมากมายที่ไม่ได้รับการจัดสรรหวยเพราะหลายเหตุผล
นวลน้อยเสนอทางออกในเรื่องนี้ไว้ว่า สำนักงานสลากไม่ควรจะจัดสรรให้เฉพาะสมาคมผู้พิการเท่านั้น เพราะมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในสมาคม คนกลุ่มนี้อาจแย่งจองไม่ทัน ดังนั้นควรเปิดช่องทางตรงให้พวกเขาเข้ามาจดทะเบียนโดยตรงกับสำนักงานสลาก อาจจะมีการการันตีโควตาให้โดยเฉพาะ เป็นจำนวนห้าหรือสิบฉบับเป็นรายบุคคล ซึ่งไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงของสำนักงานสลากที่มีรายได้มหาศาล
“เวลาจะแก้ปัญหานี้ต้องแก้แบบภาพรวมว่าขนาดของธุรกิจควรเป็นอย่างไร ใครควรมีสิทธิมาขายบ้าง ควรให้น้ำหนักกับคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่เป็นแรงงานวัยที่ยังแข็งแรง ซึ่งสามารถทำงานอย่างอื่นได้มากกว่ามาขายหวย ยังไม่นับว่าเป็นการตัดโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ด้วย”
นวลน้อยอธิบายในประเด็นปัญหาแรงงานนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการเปรียบเทียบ sector ในภาคธุรกิจหวยกับรูปแบบการบริโภคอื่น ๆ ที่มีสายป่านยาวกว่า โดยในทางเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี คือธุรกิจที่มีความต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ก่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ซึ่งไปช่วยซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ในขณะที่ธุรกิจในหมวดสันทนาการ ซึ่งหมายรวมถึงการซื้อขายสลากกินแบ่ง ภาคธุรกิจเหล่านี้มีสายการผลิตที่สั้นกว่าภาคอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม และไม่มีภาคบริการไหนที่ใหญ่เป็นแสนล้านบาทเหมือนธุรกิจหวย
“ประเทศควรสร้างให้คนมีความหวังจากการประกอบอาชีพ ใช้ทักษะ ฝีมือ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไปได้ดี ยาวนาน แต่ถ้าทำให้คนรู้สึกว่านี่เป็นอาชีพเดียวที่จะทำให้คนรวยได้มันดูสิ้นหวัง ยิ่งคุณทำให้มันใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ คนก็วนอยู่ในหลุม แทนที่จะวางแผนกับชีวิตด้วยฝีมือ ความพยายาม เพื่อให้ก้าวหน้า กลับรอโชคให้ลอยมา ทำอย่างอื่นไม่ค่อยได้แล้วแต่ฟ้าบันดาล ผู้คนรู้สึกว่าถ้าไม่มีสำนักงานสลากก็ไม่มีทางเลือกอื่น มันคือความอับจนของการผูกขาด การผูกขาดทุกชนิดมันสร้างความอับจนให้คน”