“ทำไมคู่เขาถึงได้ แต่คู่เราไม่ได้”
หนึ่งคำถามที่เธอและเธอเผลอถามเราซ้ำไป-มา ตลอดการสัมภาษณ์ในครั้งนี้
หนึ่งคำถามสั้นๆ ที่ฉายชัดถึงสิทธิการสมรสที่ไม่เท่าเทียมของกลุ่มคู่รัก LGBTQI
หนึ่งคำถามที่จำเป็นต้องได้รับคำตอบว่า ด้วยเหตุอันใดความรักของพวกเธอถึงถูกตัดสินว่าไม่ควรค่าแก่การได้รับสิทธินี้
‘สิทธิ’ ที่แท้จริงแล้ว ไม่ควรต้องมีใครเป็นผู้มอบให้ เพราะสิทธินั้นเป็นของพวกเราตลอดมา
ส่งท้ายเดือน Pride Month – Decode ขอพาคุณไปถอดรหัสความสัมพันธ์ เมื่อความรักอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพาชีวิตคู่ให้ไปถึงฝั่งฝัน ผ่านเรื่องราวของ อ้อม-สุมิตรา จันทะบุรมย์ และ แบงค์-นิรมล ทองชาติ คู่รัก LGBTQI ที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานานกว่า 16 ปี เส้นทางความรักของพวกเธอไม่ต่างจากคู่รักคู่อื่นๆ มีสุข มีทุกข์ และมีอุปสรรคที่ต้องช่วยกันฟันฝ่า ทั้งคู่ผ่านพ้นทุกปัญหาที่เข้ามาด้วยความความรักที่มีให้กันอย่างเต็มเปี่ยม และตัดสินใจเข้าพิธีวิวาห์เพื่อเป็นหลักฐานว่าไม่ว่าจะยากเพียงใด ความรักของเธอจะชนะเสมอ
จนกระทั่งถึงวันที่แบงค์ล้มป่วยและต้องการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่อ้อมไม่มีสิทธิเซ็นยินยอมการรักษาให้แก่คนที่เธอรัก วันนั้นเป็นวันที่ทำให้ทั้งคู่ได้รู้ซึ้งว่าสุดท้ายแล้วแค่ความรักที่มีให้กันอาจไม่เพียงพอ แม้จะรักกันมากแค่ไหนแต่พวกเธอจำเป็นต้องได้รับสิทธินั้นเพื่อที่จะได้มีสิทธิรักและเคียงคู่กันตลอดไป
Chapter 1 จากคู่รักกลายมาเป็นคู่ชีวิต
“คนนี้ตอนแรกพี่เกลียดมาก” อ้อมพูดไปหัวเราะไป เมื่อเราขอให้เธอเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นเรื่องราวความรักระหว่างเธอและแบงค์ ก่อนที่หญิงสาวผู้มีรอยสักแสนเท่จะส่งไม้ต่อให้คนรักของเธอเป็นคนเล่าเรื่องราวถัดจากนี้
“เราทั้งคู่เจอกันตอนเรียนปวช. ทันทีที่ผมเจอกับเขาตอนนั้นก็รู้สึกว่าใช่เลย สำหรับผมช่วงเวลานั้นเป็นเหมือนปั้ปปี้เลิฟ เราคบกันได้อยู่ 2 ปีกว่า ด้วยอายุและด้วยอะไรหลายๆ อย่างสุดท้ายก็แยกทางกันไป เขาก็ไปแต่งงานและมีชีวิตคู่ ส่วนเราก็ดำเนินชีวิตของเราต่อมา” แบงค์จบประโยคด้วยรอยยิ้มบาง
ก่อนจะไปประเด็นถัดไปอย่างเรื่องการแต่งงาน เราขอวกกลับมาถามแบงค์ถึงความยากของการคบหากันในสมัยนั้น เพราะถ้าหากเราย้อนเวลากลับไปเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว ก็ดูไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากที่เราคาดการณ์ไว้นัก
“ตอนนั้นที่คบกันเราเปิดเผยไม่ได้เลยครับ ไม่ได้เลย เวลาผมพาอ้อมเข้าบ้านก็จะพาเข้าไปในฐานะเพื่อน เพราะตอนนั้นคุณย่าของผมยังอยู่และท่านเองเป็นคุณครูด้วย เรื่องนี้เลยไม่สามารถเปิดเผยออกมาได้ ก็ต้องเก็บเป็นความลับเอาไว้ แต่โชคดีที่พ่อกับแม่ผมโอเค โดยเฉพาะแม่ผม แกเปิดเต็มที่เลย แม่เป็นคนหัวสมัยใหม่มาก”
ทางฝั่งครอบครัวอ้อมเองก็คล้ายกันกับฝั่งครอบครัวแบงค์ เธอยอมรับว่าในสมัยนั้นการคบกันของพวกเธอเป็นเรื่องที่แปลกในสายตาของคนอื่น แรกเริ่มแม่ของเธอเองก็ไม่ยอมรับในการคบหากันครั้งนี้ ถึงขั้นที่ว่าถ้าแบงค์มานอนที่บ้านเมื่อไหร่ แม่ของอ้อมจะสั่งให้น้องสาวของเธอมาคอยนอนคั่นกลางทุกครั้งไป แต่สุดท้ายด้วยความมั่นใจและความมั่นคงในความรักของทั้งคู่ ก็ทำให้แม่ของอ้อมยอมรับในความรักของพวกเธอ
“แม่เขาก็คอยดูพฤติกรรมของพี่แต่รู้ว่าห้ามอะไรพี่ไม่ได้ พี่บอกกับแม่ว่าพี่ตัดสินใจได้ พี่ไม่ได้ทำในสิ่งที่เลวให้แม่ดู หลังจากนั้นเขาก็คอยดูเราสองคนมาเรื่อยๆ จนวันแต่งงานนี่แหละ พี่กับแบงค์ก็พิสูจน์ให้เขาเห็นถึงความรักของเรา”
เกือบระยะเวลา 3 ปีที่ทั้งคู่ได้คบหากันอย่างเปิดเผยแต่ท้ายที่สุดก็มีเหตุให้ต้องเลิกรากันไป แบงค์เดินหน้าออกไปใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง ในขณะที่อ้อมเลือกที่จะสร้างครอบครัวและมีลูกชายที่น่ารัก 1 คน แต่หลังจากแต่งงานได้ไม่นานอ้อมก็มีปัญหากับสามี จนสุดท้ายการตัดสินใจแยกทางกันคงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้อ้อมตัดสินใจเดินทางกลับมาบ้านเกิดที่อยุธยาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งการเริ่มต้นใหม่ที่ว่านี้หมายรวมถึงการกลับมาสานสัมพันธ์กับแบงค์อีกครั้ง
อ้อมยิ้มเขินก่อนจะค่อยๆ เผยความในใจออกมาให้เราฟัง
“เอาจริงๆ พี่คิดถึงเขาตลอดนะ ลึกๆ ในใจของเรายังมีความผูกพันเหลืออยู่ แต่พี่คิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะพี่เองก็ผ่านการมีครอบครัว ผ่านการมีลูก ตอนที่กลับมาคุยกันใหม่ๆ พี่จำได้ว่าพี่เคยบอกกับแบงค์ว่า เราคุยกันอย่างนี้ก็ได้ อยู่ในสถานะให้กำลังใจกันและกันแบบนี้ก็ได้ เพราะพี่เองก็มีลูก พี่อยู่กับลูกพี่ได้ แต่แบงค์ไม่ยอม เขาบอกว่าไม่ได้ เขาอยากกลับมาสร้างอะไรทุกอย่างที่เคยทิ้งไปร่วมกันกับพี่อีกครั้ง ไม่กี่เดือนต่อมาแบงค์ก็ลาออกจากงานเดิม แล้วย้ายมาทำงานโรงงานด้วยกันกับพี่ ตั้งแต่วันนั้นเราก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแทบจะ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันไหนที่ห่างกันเลย”
เป็นเวลากว่า 5 ปีที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ตอนเช้าออกไปทำงาน ตกเย็นกลับบ้านมาทำกับข้าว ความรักของพวกเขาดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและมีความสุขในแบบของมัน แต่กระนั้นทั้งคู่ก็ยังคงคิดเหมือนกันเสมอว่าความสุขที่มีมันยังไม่สุด ลึกๆ แล้วพวกเธอทั้งคู่ต่างรับรู้ได้ว่า ความรักครั้งนี้ยังคงขาดอะไรบางอย่าง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอะไรบางอย่างที่สร้างพื้นที่ว่างในหัวใจของคนทั้งคู่ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
“เราคบกันมาสักพัก พี่ก็เป็นคนถามแบงค์ว่าอยากแต่งงานไหม เขาก็ตอบพี่มาเลยว่าอยากแต่ง เพราะมันเป็นความฝันของเขา พี่เองก็เหมือนกัน ชีวิตหนึ่งเราก็อยากจัดงานแต่งงานกับคนที่เรารัก เพราะสำหรับพี่ 5 ปีที่ผ่านมามันใช่แล้ว และเราทั้งคู่เองก็อยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเราตั้งรากฐานกันไว้แล้วและต้องการจะอยู่ด้วยกันไปชั่วชีวิต เราก็เลยจัดงานแต่งงานขึ้นมา”
งานวิวาห์ของอ้อมและแบงค์เรียกได้ว่าเป็นที่ฮือฮาไปทั้งจังหวัด ถึงขั้นมีนักข่าวต่างประเทศมาขอบันทึกภาพความทรงจำในวันนั้นเก็บไว้ เช่นเดียวกันกับบรรดาเพื่อนร่วมงานในโรงงานเองก็ตื่นเต้นกับงานแต่งงานของทั้งคู่ ขนาดที่ว่าการ์ดแต่งงานกว่า 300 ใบก็ยังไม่เพียงพอ แต่เหนืออื่นใดสิ่งที่ทำให้ทั้งคู่เป็นปลื้มที่สุดคือ การที่ครอบครัวของทั้งสองคน ยินดีกับการแต่งงานที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
“มันก็มีความสุขแหละครับ เราทั้งคู่ได้สวมชุดแต่งงาน ผมจำได้ว่าอ้อมร้องไห้ตั้งแต่วันที่ลองชุดแล้ว ส่วนของผมถึงแม้ชุดจะแน่นไปนิดนึง แต่เราก็ดีใจที่ได้ทำในสิ่งที่เราบอกไว้กับทุกคนว่าเราจะแต่งงานกัน มันมีความสุขมากจริงๆ”
ถึงแม้แบงค์จะกล่าวสั้นๆ ตามสไตล์คนขี้อาย แต่การย้ายมือข้างหนึ่งของเธอไปกุมมืออีกข้างหนึ่งของอ้อมระหว่างที่พูดประโยคข้างต้น ก็พอจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความสุขที่เกิดขึ้น ความสุขที่พวกเธอได้แต่หวังให้มันคงอยู่ตลอดไป
Chapter 2 เรามีเพียงงานสมรส แต่ไร้สิทธิคู่สมรส
ปีนี้เป็นปีที่ทั้งคู่แต่งงานกันครบรอบ 10 ปี และ เป็นปีที่ 16 ของการตัดสินใจใช้ชีวิตที่เหลือร่วมกัน สำหรับในละครการแต่งงานคงเป็นเหมือนจุดจบของเรื่องราวต่างๆ แต่สำหรับชีวิตจริงสิ่งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่เท่านั้น ในขณะที่ความรักของทั้งคู่กำลังผลิบาน บททดสอบครั้งสำคัญก็ได้มาเยือนอ้อมและแบงค์อีกครั้ง เมื่อแบงค์พบว่าเธอป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหดตัว ชีวิตรักที่เคยวาดฝันเกิดรอยร้าว ความเป็นจริงเข้ามาตีแสกหน้าทั้งคู่ไวกว่าที่คิด
อ้อมเริ่มต้นเล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงที่ต่างไปจากเดิม แม้มือของทั้งคู่จะยังคงกุมมือกันและกันไว้ แต่สายตากลับสะท้อนความจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตคู่ของพวกเธอ
“ตอนนั้นแบงค์กำลังทำงานที่โรงงานตามปกติ อยู่ดีๆ เขาก็หน้ามืด หน้าตาก็ซีดไปหมด ในมือมีแต่เหงื่อ สักพักเขาก็บอกว่าเขาเจ็บหัวใจแล้วก็ทรุดลงไปกับพื้น ด้วยความที่แบงค์เป็นคนขี้เล่น ทุกคนก็คิดว่าแบงค์แกล้ง พี่เองยังแอบคิดเลย แต่พักหลังๆ เขาเป็นหนักขึ้นและถี่ขึ้น การไปนอกพักในห้องพยาบาลอย่างเดียวเอาไม่อยู่ สุดท้ายก็ต้องส่งโรงพยาบาล”
อ้อมขยายความให้เราฟังเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรกเธอไม่สามารถที่จะขึ้นรถพยาบาลไปเป็นเพื่อนแบงค์ได้ เนื่องจากทั้งคู่ไม่ใช่สามีภรรยาตามเงื่อนไขที่ทางโรงงานได้ตั้งกฎเอาไว้ แน่นอนว่าทุกคนในโรงงานรับรู้ว่าในทางปฏิบัติทั้งคู่คือสามีภรรยาที่อยู่กินด้วยกัน แต่ในทางกฎหมายความสัมพันธ์ของอ้อมและแบงค์เป็นเพียงแค่คนสองคนเท่านั้น ต่อให้อ้อมจะได้สิทธิไปโรงพยาบาล แต่เธอก็ไม่มีอำนาจที่จะเซ็นเอกสารใดๆ แทนแบงค์
จนท้ายที่สุดอาการของแบงค์มีทีท่าไม่ดีและจำเป็นต้องได้รับข้อมูลจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดเพื่อวินิจฉัยอาการได้อย่างตรงจุด ทางโรงงานจึงอนุญาตให้เธอสามารถเดินทางไปโรงพยาบาลร่วมกันกับแบงค์ได้ ฟังดูแล้วก็เหมือนพายุกำลังใกล้สงบแต่ใครจะรู้กันว่า แท้จริงแล้วกลับมีคลื่นลูกใหญ่ที่รอโหมกระหน่ำใส่คนทั้งคู่ทันที่ที่อ้อมถึงโรงพยาบาล
“ครั้งที่แรงที่สุดเป็นครั้งที่พี่พาพี่แบงค์ไปฉีดสีที่โรงพยาบาล ระหว่างที่เขาอยู่ในห้องผ่าตัด หมอก็บอกพี่ว่าให้โทรตามครอบครัวแบงค์ด่วนเลย เพราะถ้าเกิดต้องทำการบายพาสขึ้นมา มีแค่แม่หรือครอบครัวของแบงค์เท่านั้นที่มีสิทธิเซ็นยินยอมการรักษาแทนได้” อ้อมพูดจบก็เงียบไปครู่หนึ่ง
“พี่อ้อมโกรธไหม” เราถาม
เธอตอบขึ้นมาทันควัน “ไม่โกรธแต่น้อยใจมากกว่า”
“เรารู้ว่ากฎหมายประเทศไทยตอนนี้มันเป็นแบบนี้ แต่เราก็เฝ้าถามตัวเองตลอดว่าวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ไหม มันจะมีสักวันไหมที่เขาจะปล่อยให้เรามีสิทธิตรงนี้ ลองนึกดูนะว่าพี่เป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวกับพี่แบงค์มากที่สุด พี่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเขา สิ่งที่พี่อยากได้คือสิทธิที่พี่จะได้มีไว้เพื่อมาใช้ดูแลเขา อย่างน้อยๆ ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นมาอีก รอบนี้พี่มั่นใจได้ว่าเขาอาจจะรอดด้วยลายเซ็นพี่ได้ หรือต่อให้เขาไม่รอดแต่อย่างน้อย ณ ช่วงเวลานั้นพี่ได้ช่วยเขาเต็มที่แล้ว พี่ว่าแบบนั้นมันโอเคกว่า”
“เราทั้งสองคนตกลงเป็นครอบครัวกันแล้ว ทำไมเราต้องให้พ่อแม่หรือญาติพี่น้องเรามาเซ็นอันนี้อีก ถ้าต้องทำอย่างนี้มันก็ไม่ใช่คำว่าครอบครัวแล้วไหมคะ หรืออย่างเวลาเราไปออกรถ ไปซื้อบ้านด้วยกัน เราจำเป็นต้องยกให้เป็นของใครคนใดคนหนึ่งตลอด ถามว่าจริงๆ แล้วเราอยากแบ่งไหม ก็ไม่นะ เราอยากที่จะมีชื่อร่วมกัน อยากให้สิ่งต่างๆ เป็นหลักฐานของความพยายามของเรา สิ่งที่เราต้องการก็แค่สิทธิในตัวของกันและกัน เราไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้เลย”
ก่อนแยกจากกันเราถามอ้อมและแบงค์ว่า สำหรับพวกเขาแล้วการได้จดทะเบียนสมรสมีความหมายว่าอย่างไร ทั้งคู่นิ่งเงียบไป ก่อนที่อ้อมจะพูดขึ้นมาว่า
“ในความคิดของพี่เราทั้งคู่คือสามีภรรยากัน ในการ์ดแต่งงานพี่ก็บอกให้เห็น ทุกวันนี้ทุกคนรู้ว่าแบงค์คือสามีพี่ แต่ในเรื่องสิทธิที่คู่ชายหญิงมีกันอยู่ ไอเรามันไม่มีไง ถามว่าคนเรามันก็ต้องการให้เหมือนๆ กันทุกคน พี่เองก็ต้องการไม่ต่างกัน แต่พี่เลือกไม่ได้ว่าต้องมีแฟนเป็นผู้ชาย ชีวิตพี่เป็นแบบนี้ พี่รักแบบนี้ พี่ก็เลยอยากให้มันมีสิทธินี้จริงๆ พี่แค่อยากมีเอกสารชิ้นนั้นเหมือนคนอื่นเขาบ้าง พี่อยากเก็บสิ่งนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ดูว่า ถึงแม้คุณย่าจะเป็นนางสาวกับนางสาว แต่พวกเขาก็อยู่กันแบบนี้และอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิตจริงๆ”
“ถ้าวันนั้นมันมาถึงเมื่อไหร่ พี่บอกเลยว่าพี่จะไปจดทะเบียนเป็นคู่แรกเลยค่ะ พี่จะลงเฟซบุ๊กโชว์ทุกคนว่าพี่จดแล้ว”
Chapter 3 หนทางสู่การสมรสอย่างเท่าเทียมของคู่รัก LGBTQI
เงื่อนไขแห่งการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)
มาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ มีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
“ต้องเข้าใจก่อนว่าปพพ. เป็นกฎหมายฉบับใหญ่ที่จะกำหนดว่า เราจะมีสิทธิอันพึงมีพึงได้ในเรื่องการก่อตั้งครอบครัวอย่างไรบ้าง ในนั้นจะพูดไปถึงว่าการสมรสก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของชายหญิงที่เป็นคู่สมรสและก่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิในกรณีที่มีทายาทที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะระบุไว้ในปพพ. นอกจากเรื่องของกฎหมาย หากเรามามองในเรื่องของความรู้สึก ในกรณีของคู่รักต่างเพศโดยเฉพาะฝ่ายหญิง หลายคนจะรู้สึกว่าตนจะมีความมั่นคงก็ต่อเมื่อคู่ของเธอแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าต้องการจะสมรสด้วยการจดทะเบียนสมรส ซึ่งสิ่งนี้เป็นเหมือนหลักประกันของความมั่นคงของครอบครัว”
นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ตอบคำถามของเราที่ถามเธอว่า แม้จะมีการแต่งงานแต่เหตุใดการจดทะเบียนสมรสถึงยังสำคัญ เธอขยายความให้ฟังต่อว่าหากเรากลับมามองในกรณีของคู่รัก LGBTQI แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส ก็ย่อมถูกปฏิเสธโดยระบบทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากไม่ตรงตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการถูกปฏิเสธเช่นนี้ก็ย่อมมีค่าเท่ากับการไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย แม้ทั้งคู่จะใช้ชีวิตเสมือนคู่สมรสก็ตาม
“เราต้องยอมรับว่าระบบกฎหมายของประเทศไทยไม่เคยมีการพูดถึงสิทธิที่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมไหน เราไม่เคยกล่าวถึงเลยว่าหากคู่รัก LGBTQI ต้องการจะตั้งครอบครัว เขาจะได้รับสิทธิอะไรบ้าง ด้วยเหตุนี้เองเราจึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายออกมาเพื่อรองรับสิทธิตรงนี้ โดยในประเทศไทยก็เกิดเป็น 2 แนวทางด้วยกัน หนึ่งคือการออก พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งถือเป็นการออกกฎหมายใหม่ ไว้ใช้สำหรับคู่รัก LGBTQI โดยเฉพาะ ซึ่งสิทธิบางอย่างที่ได้รับก็อาจจะแตกต่างจากคู่รักต่างเพศ ส่วนอีกหนึ่งแนวทางคือการแก้ปพพ.มาตรา 1448 ซึ่งถือเป็นกฎหมายเดิม จากที่เคยใช้คำว่า ‘ ชายหญิง’ ก็ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า ‘บุคคล’ และจากคำว่า ‘สามีภรรยา’ ก็แก้เป็นคำว่า ‘คู่สมรส’เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีการระบุเพศ ก็ทำให้ใช้สิทธิตามกฎหมายได้เสมอกัน”
นอกจากประเด็นการแก้กฎหมายเดิม vs. การออกฎหมายใหม่ ความแตกต่างของ 2 กฎหมายนี้อาจจะอยู่ที่มุมมองความคิดที่ต่างกัน ด้านหนึ่งมองว่าการจะลุกขึ้นมาแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นเป็นเรื่องยุ่งยากและอาจส่งผลกระทบต่อกฎหมายลำดับรอง ฉะนั้นการออกกฎหมายใหม่อาจจะเป็นแนวทางที่ง่ายกว่า แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับมีความคิดเห็นสำหรับเรื่องนี้ต่างออกไป โดยมองว่าการออกกฎหมายแบบนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงการเป็นพลเมืองชั้น 2 ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ด้วยเหตุผลอะไรคนกลุ่มนี้ถึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคนละฉบับกับชายหญิงรักต่างเพศ ซึ่งนัยนาได้ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“หนึ่งเรื่องที่ทุกคนควรรับทราบคือเรามีรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้ามาก ไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญปี 50 หรือ 60 ได้อธิบายไว้ชัดเจนเลยว่าห้ามมีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งเรื่องนี้หมายรวมถึงการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง หรือ เพศสภาพที่ต่างจากเพศกำเนิด ซึ่งในตอนที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ยกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้นมาก็ได้ให้เหตุผลว่า ต้องการพัฒนากฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานของรัฐธรรมนูญซึ่งเคารพหลักการสิทธิความหลากหลายทางเพศ
“แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือเมื่อเราดูในรายละเอียดของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กลับพบข้อกำหนดในเรื่องสิทธิหน้าที่ที่ไม่เท่าเทียมกับคู่สมรสต่างเพศตามปพพ.อยู่หลายข้อ โดยเฉพาะข้อสำคัญอย่างเรื่อง สิทธิสวัสดิการร่วมที่จะได้จากรัฐในฐานะคู่สมรส ซึ่งดิฉันเองก็เคยได้สอบถามไปทางหน่วยงานที่ยกร่างว่าเพราะเหตุใดถึงได้มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ เขาก็ให้เหตุผลกลับมาว่าเนื่องจากพ.ร.บ.คู่ชีวิตเป็นการออกกฎหมายใหม่ หากเข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการย่อมกระทบต่อเรื่องงบประมาณ ซึ่งท้ายที่สุดทั้งสองเรื่องนี้อาจจะส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
“ในขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงเรื่องการแก้ปพพ.1448 หลายคนก็แสดงความกังวลใจว่าถ้าหากเราแก้กฎหมายนี้ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลัก แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลกระทบให้เราต้องตามแก้กฎหมายลำดับรองอีกเป็น 100 ฉบับ เพราะฐานะความเป็นสามีภรรยามันก็เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในทุกเรื่อง อย่างเช่น กฎหมายภาษี หรือ กฎหมายประกันภัย ซึ่งสำหรับดิฉันคิดว่า ถ้าเราเห็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายแม่บทจริงๆ กฎหมายรองก็ต้องบังคับใช้ให้สอดคล้องกัน”
อย่าลืมว่าท้ายที่สุดแล้วกฎหมายเขียนขึ้นมาโดยคน เมื่อเราพบว่ากฎหมายนั้นไม่สามารถคุ้มครองหรือให้ความเป็นธรรมกับคนได้อย่างแท้จริง คนผู้ซึ่งเขียนกฎหมายขึ้นมาก็ต้องลุกขึ้นมาแก้ไขมัน
ครั้งหนึ่งนักกฎหมายตรงหน้าเรานี้เคยลุกขึ้นมาขับเคลื่อนกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับผู้หญิง ตั้งแต่เรื่อง พ.ร.บ. ชื่อบุคคล-การให้สิทธิผู้หญิงสามารถกลับมาใช้นามสกุลเดิมได้แม้จดทะเบียนสมรส ไปจนถึงการแก้กฎหมายให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกคำนำหน้าชื่อของตนเอง เธอยอมรับว่าเส้นทางในการแก้กฎหมายครั้งนั้นเต็มไปด้วยคำคัดค้านและแรงเสียดทานมากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงอคติที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เธอคิดว่าการแก้กฎหมายสมรสอย่างเท่าเทียมของคู่รัก LGBTQI เองก็กำลังเผชิญหน้ากับเรื่องนี้อยู่เช่นกัน
“มันสะท้อนให้เห็นเลยว่าเขารับไม่ได้และมองเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศในลักษณะที่ยังเป็นปัญหา ถ้าให้พูดแบบตรงไปตรงมา ดิฉันคิดว่ามันยังมีร่องรอยของการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันปรากฏอยู่ การนำเสนอพ.ร.บ.คู่ชีวิต ในรอบนี้ไม่ได้เข้าใจถึงสิทธิพลเมืองของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง
“มันก็กลับมาที่คำถามเดิมว่าในเมื่อเราต้องการออกกฎหมายเพื่อสร้างหลักประกันของพลเมืองให้มีความเสมอกัน แต่เหตุใดเราถึงเลือกที่จะเว้นวรรคที่จะทำให้พลเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิเหมือนกันกับพลเมืองที่เป็นชายหญิงรักต่างเพศ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมายาคติ เป็นอคติ เพราะแท้จริงแล้วมนุษย์เรามีความแตกต่างหลากหลาย ความผิดพลาดในอดีตของเราคือการไปกำหนดให้พลเมืองมีแค่ชายและหญิง
“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการแก้ไขความผิดพลาด เราต้องไม่ส่งทอดมรดกนี้ไปยังลูกหลานของเรา เราจำเป็นต้องหยุดมัน”
ปัจจุบันกฎหมายสมรสของคู่รักหลากหลายทางเพศทั้ง 2 กฎหมายก็กำลังเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยขณะนี้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็ได้ผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาและเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติฯไปยังคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ทางฝั่งพรรคการเมืองอย่าง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ก็ได้เตรียมผลักดันการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (การสมรส) และนำเสนอเข้าสู่สภาต่อไป ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้ง 2 กฎหมายก็จะถูกนำเข้ามาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน
อ้างอิง:
https://thestandard.co/civil-and-commercial-code-1448-140663/
https://www.naewna.com/politic/465315