เป็นวันที่ไร้เป้าหมายว่าการมาถึงของ Playread ครั้งนี้ เราจะเลือกหยิบหนังสือเล่มไหนมารีวิวดี และเพราะเป็นคนขี้เบื่อเลยมีนิสัยอ่านหนังสือแบบสลับเล่ม ถ้านับที่ถืออยู่ในมือตอนนี้ คงมี 3 ถึง 4 เล่มได้
และเช่นกันกับวันที่ไร้เป้าหมายชีวิต ระหว่างทางลงของสะพานลอย การเหลือบไปเห็นชีวิตชายชราข้างถนนกับกองหน้ากากอนามัยในราคา 20 บาท ทำให้เราตัดสินใจเลือกหยิบหนังสือเรื่อง ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มารีวิว
หลายต่อหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากอ่านเล่มนี้จบ หรือเพียงแค่อ่านข้อเขียนเพียงบางช่วงคุณจะเห็นภาพสังคมในอุดมคติ สังคมที่สิทธิขั้นพื้นฐานของการเกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมควรจะได้ เป็นโลกที่เราจะมีโอกาสได้เห็นชีวิตชายชราคนนั้นได้รับสวัสดิการจากสังคมและรัฐอย่างเป็นธรรมทั้งในฐานะพลเมืองของรัฐ หรือในฐานะคนธรรมดา
‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ เป็นหนังสือที่รวบรวมขึ้นเพื่อระลึกถึง หลังจากที่เจ้าของข้อเขียนล่วงลับไปในปี 2542 ในเล่มได้แบ่งข้อเขียนของ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ออกเป็น 2 ภาค ภาคส่วนของอัตชีวประวัติและภาคของความคิด และมีบทที่แยกออกมาบทหนึ่ง คือ คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ข้อเขียนที่จับหัวใจและถูกพูดถึงมากที่สุด
“เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก”
เพียงย่อหน้าแรกที่ชวนเราตั้งคำถามว่า วันนี้สังคมในอุดมคติของอาจารย์ป๋วยใกล้ความจริงแล้วมากน้อยแค่ไหน?
หากอาจารย์ป๋วยยังมีชีวิตอยู่ คงมีอายุครบ 106 ปีเต็ม แต่ว่าสิทธิที่แม่คนหนึ่งจะเข้าถึงอาหารที่สะอาดมีประโยชน์เพียงพอต่อแม่และเด็กในท้อง ระบบสาธารณสุขที่ไร้ชนชั้น และการสนับสนุนที่ดีจากรัฐ ดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไกลกว่าจุดเดิม
เป็นร้อยกว่าปีที่ก้าวหน้าขึ้นแบบไม่เต็มร้อย ที่เรายังคงได้ยินข่าวการเอาเปรียบหญิงตั้งครรภ์ลาคลอดแล้วโดนไล่ออกแบบมัดมือชก โดนโกงทั้งเงินเยียวยา และวันลาที่ควรได้ตามสิทธิ์อยู่ต่อเนื่อง
“ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผมได้รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์”
ผลวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ ของ James J. Heckman ในปี 2000 เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ พบว่าการลงทุนในเด็กเล็กวัย 0 – 3 ปี จะสร้างผลตอบแทนคืนให้กับสังคม 7 เท่า
ประเทศไทยเองมีสวัสดิการสนับสนุนทรัพยากรมนุษย์อยู่ เป็นสิทธิที่รัฐมอบให้กับเด็กสัญชาติไทย ในครอบครัวยากจน อายุ 0 – 6 ปี ภายใต้ชื่อ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
แต่ความหวังที่ดูเหมือนพอจะมีกลับหดตัวลง ในประเทศที่การเข้าถึงสวัสดิการรัฐ ต้องแลกด้วยการพิสูจน์ความจน คุณต้องหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า คุณเป็นพ่อแม่ที่มีรายได้รวมกันต่ำกว่า 1 แสนบาท เพื่อแลกกับเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาทถ้วน ขณะที่ต้นทุนในการเลี้ยงเด็กให้เติบโตมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยมากกว่าที่รัฐให้ถึง 5 เท่า (ตามงานวิจัยทางวิชาการอยู่ที่ 3,182 บาทต่อเดือน)
นี่คือความเป็นจริงที่ของรัฐสวัสดิการไทยตอนนี้ที่ได้น้อยและไม่ถ้วนหน้าที่ดำเนินไปด้วยระบบพิสูจน์ความจนที่ผลักเด็กยากจนตกหล่นจากระบบกว่า 30% (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย : TDRI)
นอกจากเรื่องสวัสดิการในเด็กที่เราพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าร้อยปีผ่านไป ความฝันของอาจารย์ป๋วยพอจะมองเห็นชัดเจนขึ้นมาบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงเป็นเพียงฝันอยู่ ยังมีเรื่องพื้นที่สาธารณะ ระบบการศึกษา ประกันสังคม การจ้างงาน ไปจนถึงน้ำสะอาดและอากาศบริสุทธิ์ ที่สะท้อนถึงนโยบายสาธารณะและสิทธิขั้นพื้นฐานที่ป๋วยได้บรรยายถึงโลกอนาคตบนความต้องการของเขา ที่ทั้งหมดก็เพื่อให้การมีชีวิตของเราดูมีความหมายขึ้นมาบ้าง
ในบทเหลียวหลัง แลหน้า ตัวหนังสือได้คืนชีพให้กับชีวิตประวัติศาสตร์ และความทรงจำของอาจารย์ป๋วยพาเราเดินทางผ่านเส้นเวลาที่เมื่อยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกว่า มีหลายประโยคที่ทำให้รู้ว่าประเทศไทยไม่ได้ไปไกลกว่าเดิมเลย จาก พ.ศ. 2495 ที่ป๋วยและเพื่อนได้ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
‘แม้ว่าจะรู้สึกว่าได้ทำงานรับใช้ชาติและสังคมอย่างเต็มที่มาจนถึงอายุจะ 60 ปีแล้วก็ตาม…ยังไม่สามารถที่จะบันดาลให้ผู้ที่ยากไร้เป็นจำนวนมากในประเทศไทยมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่แร้นแค้น’
ปัจจุบันยังคงเป็นเช่นนั้นที่คนส่วนใหญ่ในประเทศยังแร้นแค้นอยู่ แต่อาจซ้ำร้ายยิ่งกว่าในวันที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมถูกปล่อยให้มีจินตนาการต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ทั้งยังเติบโตด้วยอัตราเร่ง พร้อม ๆ กับการมีคนเพียง 1% เป็นเจ้าของทรัพยากรเกือบทั้งหมด กลุ่มคนที่อาจจะสะดุดอยู่บ้างในยุคโควิด-19 แต่ความเสียหายของพวกเขาเทียบไม่ได้เลยกับการตกคลาสเส้นความยากจนของชนชั้นกลาง และอัตราการฆ่าตัวตายของคนจนที่เพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างปีใน 2563 กรมสุขภาพจิตรายงานอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยอยู่ที่ 7.37 คน ต่อประชากรหนึ่งแสน นั่นหมายความว่าจาก 67 ล้านคนในไทย จะมีคนฆ่าตัวตายเกือบ 5,000 คน โดยมีสภาวะทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในฆาตกร
ความรวยจนไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการพ่ายแพ้ต่อระบบเศรษฐกิจ หรือความไม่สามารถแข่งขันทางธุรกิจเท่านั้น อาจารย์ป๋วยมองว่า…
“ถ้าไม่มีการลงมือพัฒนาชนบทอย่างละเอียด เพียงแต่สร้างระบบและสภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้นอย่างเดียว ก็ไม่สามารถกู้ฐานะของเพื่อนร่วมชาติหลายสิบล้านได้ดีพอ”
เมื่ออ่านจบจึงรู้ว่า การเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจไม่ใช่เรื่องใหม่ สภาพปัจจุบันคงล้มเหลว ชนบทยังคงจน ถึงแม้จะมีกระแสละครเกาหลี Hometown cha cha cha ที่พยายามกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าของชนบท แต่เราคงไม่ถึงกลับตาบอดมองไม่เห็นว่า งบพัฒนาประเทศไทยถึง 70% ถูกเทเข้าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครทั้งหมด และ 76 จังหวัดในตอนนี้ หรือจะ 30 กว่าจังหวัดชนบทสมัยป๋วยก็ยังคงต้องแบ่งกินแบ่งใช้ส่วนที่เหลือจากศูนย์กลางอำนาจ การกระจายอำนาจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เกิดด้วยข้ออ้างความมั่นคงของชาติ ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ภาพความจริงของไทยที่ไร้ความสวยหรูโรแมนซ์เหมือนละคร เป็นเวลาที่ผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ…โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
อีกข้อเขียน ภาคความคิด เรื่อง ความรับผิดชอบทางจริยธรรม เป็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ อาจารย์ป๋วยชี้ให้เหตุว่า การพัฒนาที่แท้จริงมีจุดมุ่งหมายอย่างไร
‘แท้จริงการพัฒนาก็มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ประชาราษฏร์มีความเจริญ มีความสมบูรณ์’
ไม่ใช่การพัฒนาที่ร่างแผนขึ้นมาเพื่อให้คนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ หรือจะมาในรูปแบบที่มักทำกันผ่านการประมูลสัมปทานเขื่อน เหมือง อ่างเก็บน้ำ ไปจนถึงโรงไฟฟ้า ที่มักจับคำว่า ‘เพื่อการพัฒนาเป็นตัวประกัน’ แต่ผู้จ่ายและผู้เสียหายตัวจริงนั่น คือ ประชาชนทั้งหมดที่ไม่ได้ประโยชน์แม้เสี้ยวเดียว
และการพัฒนาไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของการเพิ่มรายได้ส่วนบุคคลและส่วนรวม ด้วยเงินและวัตถุเท่านั้น อาจารย์ป๋วยกล่าวว่า ‘รายได้ชนิดที่ทำให้คนมีเวลาว่าง มีเวลาหย่อนใจ มีเวลาไปเที่ยว นี่ก็ถือว่าเป็นรายได้เช่นกัน’
การพัฒนาประเทศจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการเพิ่มเงินในกระเป๋าที่ปัจจุบันเพิ่มให้แต่คนกระเป๋าใหญ่ การเพิ่มที่คนเล็กคนน้อยที่มีอยู่มหาศาลมีความหวังเพียงแค่รอเศษเดนจากชนชั้นอื่น แต่เป็นการเพิ่มความอยู่ดีกินดี ความสุขในชีวิตบนหลักการพัฒนาที่ควรจะเป็นด้วย (ในเล่มอาจารย์ป๋วยใช้คำว่า หลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจ)
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจจาก 10 ตัวอย่างในข้อเขียนที่แม้จะผ่านมากว่าครึ่งร้อยปี แต่ยังคงมีโอกาสได้เห็นความบิดเบี้ยวนี้ คือ นโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งช่วยเหลือหมู่ชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
‘การทำให้เงินเฟ้อถึงขนาด การเก็บภาษีอากรไม่ทั่วถึง ผู้มีอาชีพที่แน่นอนและข้าราชการส่วนมากซึ่งมีบัญชีแสดงรายได้หรือเงินเดือนเป็นหลักฐานเท่านั้นที่ต้องรับภาระภาษีเต็มที่’ ซึ่ง Decode เองก็เคยเผยแพร่บทความที่ชื่อว่า ภาษีที่ไม่แฟร์ ความพ่ายแพ้ของมนุษย์เงินเดือน ที่ชี้ให้เห็นว่า มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องรับภาระอันหนักอึ้ง มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่โอบอุ้มระบบภาษีอันเป็นรายได้ของรัฐ ในขณะเดียวกันที่คนรวยมีช่องทางหนีภาษีอยู่รอบทิศ
มนุษย์เงินเดือนในวันนี้นับเป็นผู้สร้างชาติ ไม่ต่างจากชาวนาที่เคยเป็นผู้สร้างชาติมาแล้วในอดีต แต่ดันถูกทิ้งขว้างในวันนี้ อย่างที่เราได้เห็นในวันนี้ชาวนาถูกทอดทิ้งอยู่หน้ากระทรวงการคลัง ตากแดด ตากฝน ขอความเห็นใจจากผู้มีอำนาจในนโยบาย ความจำต้องทนบนความหวังอันริบหรี่ ในวันที่เครื่องมือทำกินและที่ดินกำลังจะถูกยึด ชัดเจนที่วันนี้กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เคยเป็นกระดูกสันหลังของชาติถูกทำลายอย่างไม่ใยดี
ภาพที่เกิดขึ้นในวันนี้ช่างห่างไกลจากหลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาในความหวังความฝันของอาจารย์ ป๋วย อยู่มากพอควร
‘ในการรักษาระดับรายได้ของคนให้อยู่ใกล้เคียงกัน หรือมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ควรพิจารณาถึงภาษีมรดก ภาษีเงินได้ เป็นสำคัญ’ ข้อเขียนที่มีอายุกว่า 40 ปีที่พิสูจน์ชัดว่าการจัดเก็บภาษีเหล่านี้ยังคงไร้น้ำยาและบิดเบี้ยวจนไม่อาจเกลี่ยเงินในกระเป๋าของเราให้เท่ากัน
น่าเสียดายที่พื้นที่จำกัด และกลัวจะแตกประเด็นไปไกล จึงไม่สามารถหยิบยกข้อเขียนที่สำคัญอีกเรื่องในเล่มมาบอกเล่าในครั้งเดียวได้หมด แต่อยากแนะนำให้ผู้อ่านไปติดตามกัน เพราะเป็นอีกเล่มที่บันทึกฉากตอนของหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกฉีกออกอย่างเหตุนองเลือด 6 ตุลาฯ ไว้ได้ชัดเจนที่สุดอีกเล่ม
‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ไม่ได้เป็นเพียงผู้เพ้อฝันถึงสังคมอุดมคติเท่านั้น แต่ตลอดบรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้าย เรารู้ว่า อาจารย์ป๋วย คือ คนที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อผลักดันยูโทเปียของเขาให้เติบโตขึ้น ผ่านการทำงานในฐานะข้าราชการผู้ซื่อตรง ตั้งแต่วินาทีแรกจนวินาทีสุดท้ายที่การเมืองไทยเป็นพิษหยิบยื่นสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่เขา และเป็นจังหวะที่พอดีมาก ที่บทความนี้ได้เผยแพร่ในช่วงเดียวกันกับวันคล้ายวันเกิดของเขา คือ วันที่ 9 มีนาคม
พอให้เราได้ระลึกถึงบ่อเกิดความดีทางความคิดที่อาจารย์ป๋วยได้ทิ้งไว้ พอให้คนรุ่นหลังได้ความเข้าใจว่า ความสุข คุณค่า และความหมายของชีวิตผูกโยงเป็นเรื่องเดียวกันกับการมีอยู่ของรัฐ เราจึงจำเป็นต้องทักท้วง เรียกร้อง และถามถึง โลกสังคมที่ทุกคนไม่เพียงทุกข์ร่วมกัน แต่ควรเป็นสังคมที่สุขร่วมกันได้ด้วย
หนังสือ: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
ผู้เขียน: ป๋วย อึ้งภากรณ์
สำนักพิมพ์: โกมลคีมทอง
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี