“ขอบ้าน-ขอค่าเจ็บป่วย“ เสียงคนจนริมรางถึงว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. - Decode
Reading Time: 3 minutes

ผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขตหลักสี่-จตุจักร ที่พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลชนะเรียงกันมาตามลำดับ ย่อมส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไม่มากก็น้อย ยิ่งจังหวะรุกหนักของประชาธิปัตย์ จากคำถามของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ถึงกำหนดวันในการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ส่งสัญญาณ “รุก” อย่าง “เยือกเย็น” แต่ถ้าลงเอยที่ความคลุมเครือและยืดเวลาออกไป ความเชื่อมั่นของคนกรุงเทพฯ คงจะซึมลึกไปอีกนาน โดยเฉพาะคนจนเมืองที่ต้องทนอยู่ใต้ซากปรักหักพังของการพัฒนาเมืองมานาน ต่างสะท้อนว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลง อยากได้ผู้ว่าฯ คนใหม่ที่นับรวมพวกเขาไว้ในสมการของการพัฒนาเมืองโตเดี่ยว เช่นเดียวกับ พี่ตี๋-เชาว์ เกิดอารีย์ และ ลุงอ๊อด-นาวี หลุ่มบางหล้า สองคนจนเมืองริมทางรถไฟที่ De/code ไปพูดคุยด้วย ซึ่งถึงแม้จะไม่มีสิทธิ์เลือกผู้ว่าฯ กทม. เพราะมีสถานะเป็นประชากรแฝง แต่ทั้งสองก็สะท้อนความหวัง

อยากเห็นผู้ว่าฯ คนใหม่ที่มีคุณภาพ จัดการปัญหาเร่งด่วนโดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย สาธารณสุข และค่าครองชีพสูง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่คนจนเมืองอย่างพวกเขากำลังเผชิญ


กรุงเทพฯ ทางรอดหรือซอยตัน

บทสนทนาเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าเก็บกระเป๋าหอบลูกเมียจากบ้านเกิดที่กาญจนบุรีมายังใจกลางเมืองหลวงของพี่ตี๋

“เราอยู่ที่กาญฯ เราไม่มีงานทำ ไม่รู้จะทำอะไร ก็ต้องแบกชีวิตเขามาในกรุงเทพฯ มาแล้วก็พยายามทนอยู่ให้ได้ ถามว่าอยู่กรุงเทพฯ ดีกว่ากลับไปอยู่บ้านที่กาญฯ ไหม มันก็ดีและเสียกันคนละอย่าง แต่เราอยู่ที่นี่เรามีงาน มีเงิน แต่ห่างไกลคนที่เรารัก และถ้าอยากกลับไปอยู่บ้านที่กาญฯ น่ะ เราต้องมีเงินก่อนถึงจะกลับไปได้ ค่าครองชีพมันต่ำจริงแต่ก็ต้องมีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้เหมือนกัน”

ด้านลุงอ๊อดเท้าความถึงจุดตั้งต้นที่มาอาศัยที่ชุมชนแห่งนี้ว่า “ผมนี่เกิดที่นี่ ผูกพันกับที่นี่ แม้จะมีบ้าน มีญาติอยู่ที่สมุทรปราการ แต่กลับไปก็ยากจะทำมาหากินเหมือนที่ตี๋ว่า และจริง ๆ ผมเคยกลับไปอยู่ที่สมุทรปราการน่ะ ถึงจะเป็นเขตปริมณฑลแต่มันก็ไม่มีงานอะไรให้เราทำมากเท่ากับมาอยู่กรงเทพฯ อยู่กรุงเทพฯ มีงานนั่นนี่ให้เราทำ เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ อย่างเช่นขับวินมอเตอร์ไซค์ที่สมุทรปราการกับขับที่นี่ แน่นอนว่าขับที่นี่ดีกว่าเยอะเลย เพราะกรุงเทพฯ คนทำงานเยอะ เราก็มีลูกค้าเยอะกว่า”

บทสนทนาเริ่มต้นเผยแผลเหวอะหวะจากโครงสร้างที่สุดจะเหลื่อมล้ำของประเทศ เห็นได้ชัดว่าทั้งพี่ตี๋และลุงอ๊อดถูกความไร้โอกาสของการทำมาหากินซึ่งมีอยู่น้อยในชนบทบีบให้ต้องมุ่งเมืองเพื่อเอาชีวิตรอด แน่นอนว่าในเมืองหลวงแห่งนี้พวกเขาได้งาน ได้เงิน แต่นั่นก็แลกมากับการทิ้งคนที่รักอีกจำนวนหนึ่งไว้ที่บ้าน แลกกับการยอมเป็นประชากรแฝงที่ไม่มีบ้าน น้ำประปา หรือแม้แต่ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง สิบปีของพี่ตี๋และเกือบทั้งชีวิตของลุงอ๊อด ณ ชุมชนบุญร่มไทร จึงย่ำอยู่แต่ตรงที่คำว่า “รอด” ไม่เคยขยับไปไกลถึงขั้น “ดีขึ้น” ยิ่งตอนนี้โควิด-19 ซ้ำเติมจนลูกค้าหายกำไรหด ประกอบกับข้าวของราคาแพง ค่าแรงต่ำ ชีวิตของทั้งสองก็ยิ่งต้องดิ้นรนซ้ำแล้วซ้ำเล่า


(ถูก)ทิ้งไว้ริมราง ทางรถไฟสายเก่า

การดิ้นรนที่จะอยู่ต่อในกรุงเทพฯ มีต้นทุนทั้งทางทรัพย์และทางใจที่ทั้งสองต้องแบกรับ เช่นที่ลุงอ๊อดเผยถึงการแบกค่าครองชีพแสนแพง สวนทางรายได้ที่ลดน้อยถอยลง

“ชีวิตในกรุงเทพฯ ของผมทุกวันนี้ได้รับผลกระทบหลายเรื่อง โดยเฉพาะอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์ที่ผมทำอยู่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก่อนหากินกันแบบสบาย ๆ แต่ตอนนี้รายได้ลดลง ลูกค้าน้อยลง คิดดูน่ะเมื่อก่อนผมวิ่งรถตั้งแต่ตีห้าครึ่งถึงเที่ยง ผมได้แน่ ๆ ห้าร้อยถึงเจ็ดร้อยบาท แต่วันนี้ผมออกตีห้าครึ่งกลับมาสิบโมงได้สองร้อยยี่สิบ หมดค่าน้ำมันไปแล้วแปดสิบ เหลือร้อยสี่สิบ แฟนไปทำงานทุกทีให้ร้อยนึง วันนี้ให้แปดสิบ ผมเหลือกินข้าวหกสิบบาท ดีว่าที่ประชุมหมู่บ้านเขาทำกับข้าวก็กินที่นี่ แต่ถามว่าตอนเย็นผมจะกินอะไรกับแฟนสองคน เงินร้อยนึงนี่ถือไปตลาดไม่ได้อะไรเลยครับ แกงถุง ข้าวถุง ก็หมดแล้ว ข้าวของมันแพง แต่ค่าเเรงยังต่ำ มันไม่สอดคล้องกัน รายรับเราน้อย ประหยัดยังไงก็ไม่พอ เรื่องเงินเหลือเก็บนี่ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีหรอกครับ ถ้าเหลือนี่เก่งมาก”

“ทุกอย่างมันเสื่อมสภาพลงหมด ทางหน่วยงานของรัฐ หรือ กทม. เขาอาจกำลังแก้ไขมั้ง แต่เราไม่รู้ว่าเขาแก้ไขกันแบบไหน ผลคือมันไม่ดีขึ้นเลยมีแต่จะแย่ลง เขาน่าจะลงมาดูพวกเราบ้าง อยู่กินกันยังไง อะไรแบบไหน”

“ส่วนการเยียวยาเอาจริง ๆ ที่เขาให้มานะ มันไม่พอหรอกครับ ใช้ประเดี๋ยวเดียวก็หมด ถ้าถามว่าให้เขาเอาเงินตรงนั้นมาแจกกับทำให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นเหมือนเดิม ผมขอเอาเป็นเศรษฐกิจเหมือนเดิมดีกว่าครับ เพราะมันยั่งยืนกว่าเยียวยา”


ปัญหารายได้น้อย ค่าครองชีพสูงเป็นปัญหาเดียวกันกับที่พี่ตี๋เองเผชิญ เขาเผยว่า “ผมขับวินมอเตอร์ไซค์เหมือนพี่อ๊อด แต่ในช่วงสองปีมานี้ ลูกค้าน้อยมาก จากที่เราเคยได้วันละพันกว่าบาทลดเหลือลงวันละร้อยกว่าบาท กว่าจะปรับตัวได้ก็ยากมาก กระทบไปหมดทั้งค่าอาหาร เงินให้เด็กไปโรงเรียน เราไม่สามารถจ่ายได้เหมือนเดิม ต้องนำเงินที่เก็บไว้มาใช้ จนตอนนี้เงินเก็บไม่มีเหลือแล้ว แต่โควิดก็ยังไม่หมด คนยังว่างงาน เราก็ต้องเจอกับปัญหาเดิม”

อาจมีเสียงถกเถียงว่า รายได้น้อยค่าครองชีพสูงเป็นปัญหาทั่วไปที่ใคร ๆ ในเมืองหลวงแห่งนี้ก็ต้องเผชิญ กระนั้นข้อถกกลับที่พูดได้เต็มปากคือมีจุดที่ต่างไปจากที่พี่ตี๋ ลุงอ๊อด และคนในชุมชนริมทางรถไฟแห่งนี้เผชิญแน่นอน เพราะการไม่สามารถมีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ ได้ก็ทำให้พี่ตี๋ ลุงอ๊อด และคนส่วนใหญ่ที่นี่แทบจะเข้าไม่ถึงสิทธิ์และการช่วยเหลือต่าง ๆ เฉกเช่นที่ชาวกรุงเทพฯ ซึ่งมีทะเบียนบ้านได้รับ

ยิ่งค่าครองชีพเพิ่มสูงพวกเขาก็มีเงินเหลือน้อยลงสำหรับจ่ายค่าหยูกยา ค่าการศึกษา และอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายด้วยตัวเอง

พี่ตี๋ฉายภาพผลกระทบจากการไม่สามารถมีบ้านให้เห็นชัดขึ้นว่า “ทุกวันนี้ชุมชนที่เราอยู่ไม่สามารถเป็นชุมชนจัดตั้งกับเขตได้ กทม. จึงไม่ได้ดูแลเราเหมือนกับชุมชนจัดตั้งอื่น ๆ อย่างการให้ถุงยังชีพ โซนเราไม่มี เราก็จะเสียประโยชน์ตรงนี้ไป ซึ่งสำหรับผมมันก็คือความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งครับ”

“อีกปัญหาและเป็นปัญหาสำคัญ คือพอว่าชุมชนของเราไม่ได้จัดตั้งประกอบกับบ้านที่เราอยู่ตอนนี้ตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟก็เป็นเรื่องยากมากที่เราจะไปขอทะเบียนบ้านได้ เมื่อไม่ได้เป็นคนที่นี่ถูกต้องตามกฎหมายการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ก็ลดน้อยลง เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา เราไม่สามารถมีเป็นของตัวเองได้ ต้องต่อไฟต่อน้ำจากบ้านข้างเคียง ชีวิตความเป็นอยู่ของเราก็แพงขึ้น เพราะทั้งค่าน้ำค่าไฟต้องบวกเพิ่มไปกว่าที่ใช้จริง”

“มากไปกว่านั้นก็มีเรื่องของการรักษาพยาบาล อย่างบัตร 30 บาท เราไม่สามารถใช้กับโรงพยาบาลที่นี่ได้ ต้องกลับไปใช้สิทธิ์ที่บ้านเกิด ถ้าไม่ใช่เจ็บป่วยฉุกเฉินจะรักษาที่นี่ มันต้องเสียเงิน มันก็หนักนะ เราคนจนไปเข้าโรงพยาบาลเอกชนไม่ไหวอยู่แล้ว”

การเป็นคนจนเมืองที่ไร้ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยกลายเป็นแรงกระแทกที่กระทบต่อชีวิตของคนชุมชนบุญร่มไทรอยู่ทุกวัน ซึ่งนอกจากจะเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ แล้ว

การไม่สามารถเป็นคนกรุงเทพฯ ได้ตามทะเบียนราษฎร์ ยังตัดสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะมีส่วนในการกำหนดอนาคตความเป็นอยู่ของพวกเขาในเมืองนี้ด้วย


“บ้าน-ค่าเจ็บป่วย” ปัจจัยสี่ที่เกินเอื้อมถึง

แม้ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกผู้ว่าฯ กทม. แต่ทั้งพี่ตี๋และลุงอ๊อดก็มีความหวังที่จะเห็นเมืองที่พวกเขาแบกชีวิตมาอยู่มีอะไรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยสามเรื่องเร่งด่วนที่ตัวแทนคนจนเมืองอยากให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่หยิบมาคลี่และแก้ไข ได้แก่ เรื่องความมั่นคงของที่อยู่อาศัย สิทธิ์รักษาพยาบาลพร้อมกับการยกระดับสาธารณสุข และการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ลดค่าครองชีพ

เรื่องแรกและเรื่องสำคัญที่พี่ตี๋หวังคือการได้รับการเหลียวแลให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่ เขาเสนอด้วยน้ำเสียงที่ดังฟังชัดว่า “เรื่องแรกเราต้องการที่อยู่อาศัย อยากให้เขาสร้างบ้านพักให้กับคนที่มีรายได้น้อย จะให้ซื้อหรือให้เช่าในราคาถูกก็ได้ เขาจะสร้างที่ไหนก็ได้ในกรุงเทพฯ ที่เอื้อต่อการทำงานด้วย คือคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ แออัดเกิน แต่ถ้ามีบ้านเช่าราคาถูกที่รัฐจัดสรรให้อันนี้ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยหลักของการจะไปลืมตาอ้าปากต่อได้”


ด้านลุงอ๊อด เสริมประเด็นข้างต้นว่า “ตอนนี้บ้านเช่าทั้งหมดเป็นของเอกชน ราคาขั้นต่ำก็สามพัน ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟนะ แต่ถ้ารัฐให้เราเช่า หรือเช่าซื้อก็ดีเหมือนกัน เพราะโอกาสยังเป็นของเรา แต่นั่นแหละว่าตามตรงเราก็เช่าซื้อไม่ได้หรอก เพราะ statement เรายังไม่ได้ มันไม่ได้รองรับคนอาชีพอิสระ ออกมอเตอร์ไซค์มาทำมาหากินยังยากเลย ซื้อมือหนึ่งไม่ไหวต้องหาซื้อมือสองสภาพดี ๆ ”

เรื่องต่อมาซึ่งพี่ตี๋เรียกร้องคือสาธารณสุขและสิทธิ์รักษาพยาบาล “อีกเรื่องเร่งด่วนคืออยากให้มีการจัดสรรเรื่องของสาธารณสุข เรื่องของความสะอาด การเก็บขยะ เบื้องต้นคือก็ต้องให้คนในชุมชนช่วยกันอยู่แล้ว แต่ถ้ามีพนักงานเก็บขยะเข้าถึงชุมชนก็จะดีมาก กทม. ควรมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลบ้าง ปกติรถเก็บขยะเข้ามาไม่ถึง เพราะชุมชนเราเป็นสถานที่ปิด ส่วนมากเขาเก็บอยู่ในซอยข้างหน้าโน้น”

“ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาล เราต้องการให้ครอบคลุมสิทธิ์มาถึงเราที่ก็อยู่ใน กทม. มาเป็นสิบ ๆ ปี หรือบางคนอยู่มาตั้งแต่เกิด และลดขั้นตอนไม่ต้องใช้บัตรอะไรให้เยอะแยะ ยื่นบัตรประชาชนใบเดียวก็เพียงพอแล้ว มันน่าจะทำอะไรได้ทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องไปถ่ายเอกสาร ไปทำอะไรให้มันมากเรื่อง ล่าช้าเสียเปล่า”

“เรื่องสุดท้ายคือค่าแรงที่ต่ำเกิน สามร้อยบาทนี่ต่ำเกิน ขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างขยับราคาขึ้นหมดแล้ว อย่างอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์ของเรานี่ดูผิวเผินอาจบอกว่าไม่สัมพันธ์อะไรกับค่าแรงขั้นต่ำ แต่เอาเข้าจริงมันเป็นโดมิโนกันนะครับ คือถ้ากลุ่มพนักงานหรือแรงงานเขาไม่ได้เงินที่เพียงพอ เขาก็ต้องประหยัดของเขา เปลี่ยนจากขึ้นรถเราเป็นเดินหรือไปขึ้นรถเมล์แทน จึงอยากให้มีการปรับค่าแรงเขาเพิ่มขึ้น เขาก็มีกำลังจ่ายมากขึ้น ต่างคนต่างพยุงกันไป”

ทั้งสามเรื่องสะท้อนถึงความต้องการของคนจนเมือง เฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย สิทธิ์รักษาพยาบาลและสาธารณสุขนับว่าสำคัญมาก เป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรเข้าถึงได้ง่ายเพราะชีวิตคนจนเมืองที่หาเช้ากินค่ำนั้นเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว การมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งจึงเป็นก้าวแรกที่จะช่วยให้ก้าวไปลืมตาอ้าปากต่อได้ ส่วนสิทธิ์รักษาพยาบาลก็เปรียบเหมือนตาข่ายที่จะช่วยรองรับพวกเขาไม่ให้หล่นลงในเหวลึกเมื่อต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ที่ผ่านมาจึงน่าสนใจว่าทำไมทั้งสองเรื่องสำคัญนี้ไม่ถูกแก้ ติดขัดอะไร กฎหมาย งบประมาณ หรือเพราะคนจนเมืองถูกกีดกันออกจากนโยบายพัฒนาเมืองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว


ขอเลือกคนที่ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา”

แม้ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกผู้ว่าฯ กทม. แต่ทั้งพี่ตี๋และลุงอ๊อดก็มีความหวังที่จะเห็นเมืองที่พวกเขาแบกชีวิตมาอยู่มีผู้นำที่มีคุณภาพและขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งคนจนเมืองอย่างเขาไว้ข้างหลัง

ลุงอ๊อดเผยถึงความสิ้นหวังตลอดแปดปีที่ผ่านมาว่า

“เจ็ดแปดปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย มีแต่เปลี่ยนให้แย่”

“เลือกตั้งครั้งนี้เขาว่าเป็นโอกาส แต่เอาจริง ๆ นะครับ ผมไม่รู้หรอกน่ะว่าใครเป็นยังไง เพราะว่าคนที่เข้ามาผมไม่เคยได้สัมผัสเลย อีกอย่างตอนนี้ผมไม่ได้ตามเลยว่ามีใครบ้างที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เฉพาะหากินเลี้ยงครอบครัวก็ยากแล้ว ไม่มีเวลาตามข่าวเลย ก็มองบ้างผ่าน ๆ แต่ไม่มีเวลาเจาะลึกหรอก เพราะต้องทำมาหากิน แต่ถามว่าอยากได้คนแบบไหน ผมอยากได้คนที่ช่วยเหลือประชาชนจริง ๆ จะโกงกิน โอเคผมคิดว่ามันก็มีแหละ แต่คุณโกงแล้วต้องช่วยเหลือประชาชนด้วย ไม่ต้องช่วยให้ดีเลิศหรอกแต่แค่ช่วยให้เขาพยุงตัวเองไปได้ ผมไม่อยากได้คนที่กินแล้วก็หายเข้ากลีบเมฆ ทิ้งให้ประชาชนอยู่แย่ ๆ เหมือนเดิม”

ด้านพี่ตี๋ระบุถึงปัจจัยในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ของตนว่า

“ผมจะพิจารณาถึงนโยบายว่าแต่ละคนมองยังไง เขาเข้ามาแล้วเขาจะทำอะไรให้เราบ้าง”

“ที่สำคัญคนจนเมืองแบบเราต้องการผู้นำที่เราเข้าถึงได้ และเขาก็เข้ามาหาเราด้วย คือที่ผ่านมาเราจะเห็นผู้ว่าฯ กทม. จริง ๆ ก็ตอนมีเหตุใหญ่ ๆ อย่างน้ำท่วมเอย ไฟไหม้ครั้งใหญ่เอย อย่างนี้ ถึงแม้จะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เราก็เข้าถึงเขาไม่ง่ายนะ อีกอย่างเขาควรเข้าถึงเราเพื่อมาดูว่าเป็นอยู่กันยังไง เดือดร้อนยังไง สะอาดไหม  พอเข้าไม่ถึงกันเราก็เสนออะไรไม่ได้ ก็ต้องรออย่างเดียว”

หากพลิกดูนโยบายที่ประกาศออกมาบ้างแล้วของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะพบว่านโยบายที่ส่วนมากจะเน้นไปที่การพัฒนาเมือง ส่วนนโยบายเพื่อคนจนเมืองโดยตรง ที่เห็นชัด ๆ ก็มีนโยบายจัดหาที่ดิน เพื่อจัดสรรที่อยู่อาศัยของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เพื่อช่วยให้คนจนเมืองหรือประชากรแฝงมีที่อยู่อาศัยและสามารถประกอบอาชีพใกล้แหล่งที่ทำกินได้

น่าจับตาว่าก่อนจะถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะมีใครพูดถึงพวกเขาและนับรวม “คนจนเมือง” มาไว้ในสมการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ อีกบ้าง จะมีใครกระโดดลงมาปัดกวาดสารพัดปัญหาตั้งแต่ความมั่นคงที่อยู่อาศัย สิทธิ์รักษาพยาบาล ไปจนถึงเรื่องเล็ก ๆ แต่สำคัญอย่างขยะชุมเมือง และเสนอนโยบายที่จะขยับชีวิตคนกลุ่มนี้จากเส้น “รอด” ไปสู่เส้น “ดีขึ้น” ได้บ้าง  De/code ชวนหาคำตอบต่อในบทความนโยบายของแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ต่อคนจนเมือง เร็ว ๆ นี้