เหตุหมอกระต่ายถูกตำรวจขับบิ๊กไบค์ชนระหว่างข้ามทางม้าลาย กลายเป็นประเด็นร้อนที่กระทุ้งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลายคนให้ออกมาเเสดงวิสัยทัศน์เสนอนโยบายเเก้ปัญหาอุบัติเหตุคนข้ามทางม้าลายกันถ้วนหน้า ผู้สมัครอิสระอย่างชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ เสนอนโยบายที่เน้นการป้องกัน อาทิ กวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจัง ทาสีเเถบทางข้ามให้ชัด ไปจนถึงติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลงโทษคนขับที่ไม่หยุดให้คนข้าม ด้านสุชัชวีร์ สุวรรณศักดิ์ ตัวเเทนพรรคประชาธิปัตย์ เสนอนโยบายการมีส่วนร่วมโดยเน้นให้ประชาชน ชุมชน ร่วมตรวจประเมินถนนเป็นประจำ บวกกับการปลูกฝังจิตสำนึกกฎจราจร ขณะที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เสนอการมีเส้นชะลอความเร็ว จัดให้มีไฟส่องสว่าง เเละมีการจับ ตัดเเต้ม คนขับที่ฝ่าฝืน
การเสนอนโยบายเพื่อซื้อใจชาว กทม. ด้วยการหยิบปัญหาเร่งด่วนเเละเรื้อรังของกรุงเทพฯ มาขึงกลางเเละชูว่าจะทำให้ได้ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เเละก่อนจะได้เห็นเกมงัดง้างทางนโยบายดุเดือดมากขึ้น De/code ชวนทวนอดีตสำรวจนโยบายหาเสียงและกลยุทธ์ของอดีตผู้ว่าฯ กทม. 6 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อเผยเปิดให้เห็นว่าที่ผ่านมามีนโยบายเรื่องใดถูกหยิบมาซื้อใจประชาชนชาว กทม. แล้วบ้าง
พลตรีจำลอง ศรีเมือง – การเมืองภาพตัวแทนคนจนเมือง
ตั้งต้นกันที่การเลือกตั้งปี 2528 ซึ่ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ตัวแทนจากกลุ่มรวมพลัง เป็นผู้ชนะ กล่าวกันว่า พล.ต.จำลอง มิได้เน้นขายนโยบาย แต่เน้นขายตัวตนและภาพลักษณ์ความเป็นคนมีคุณธรรมซึ่งแตกต่างไปจากผู้สมัครคนอื่น ๆ
เช่นที่ Duncan McCargo นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษให้ความเห็นว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งของ พล.ต.จำลอง มาจากปัจจัยด้านภาพลักษณ์ส่วนตัวที่แสดงออกว่าเป็นคนธรรมะธัมโมและสมถะ โดยเฉพาะลักษณะส่วนตัวของ พล.ต.จำลอง ที่แสดงออกถึงความเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด รับประทานอาหารเจ และแต่งกายด้วยเสื้อม่อฮ่อม ตัดผมสั้น คล้ายกับสมณะ
พล.ต.จำลอง ยังกล่าวถึงตนเองว่า “คนที่สามารถตัดความต้องการของตนเองได้มากที่สุด คือผู้ที่จะสามารถแก้ปัญหาของชาติได้ดีที่สุด”[1]
ขณะที่เรื่องนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง พล.ต.จำลอง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสวัสดิการทางสังคมมากนัก เขามองว่านโยบายที่ใช้เงินในการพัฒนาไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่อาจนำไปสู่การคอร์รัปชันของข้าราชการที่ “ฮั้ว” กับบริษัทรับเหมามากกว่า แนวนโยบายหลักของ พล.ต.จำลอง จึงไม่ใช่การก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เน้นการทำนโยบายที่แก้ปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นประเด็น ๆ ไปมากกว่า เช่น นโยบายแก้ปัญหากวาดถนน นโยบายแก้ปัญหาคอร์รัปชัน นโยบายแก้ปัญหาสุนัขจรจัด และนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต [2]
ส่วนการคว้าชัยชนะครั้งที่ 2 ในปี 2533 ซึ่งกวาดคะแนนได้มากถึง 703,672 นั้น พล.ต.จำลอง ลงสมัครในนามพรรคพลังธรรม โดยการหาเสียงเน้นไปที่การขายผลงานในสมัยแรกประกอบกับการประกาศตัวเป็นตัวแทนคนจน กทม. มากกว่าการขายนโยบายที่น่าสนใจ
ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา – ผุดรถไฟฟ้า-เรือแสนแสบ เปลี่ยนกองขยะเป็นสวนภูเขา
การเลือกตั้งครั้งถัดมาความนิยมในตัว พล.ต.จำลอง ลดน้อยถอยลง แต่พรรคพลังธรรมยังคงเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ที่คนกรุงเชื่อมั่น ผลการเลือกตั้งปี 2535 ร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา จึงสามารถคว้าชัยให้กับพรรคพลังธรรมอีกครั้ง ด้วยคะแนน 363,668 คะแนน
อย่างไรก็ตาม ร.อ. กฤษฎา ไม่ใช่มือใหม่ในเวทีการเมือง เพราะในสมัยที่ พล.ต.จำลอง เป็นผู้ว่า กทม. เขาเคยนั่งเก้าอี้รองผู้ว่าฯ ฝ่ายโยธา มาก่อน และแม้ว่าจะมีกระแสความคิดว่าสามารถชนะได้ก็เพราะความนิยมของคนกรุงเทพฯ ต่อพรรคพลังธรรมยังมีอยู่มาก กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายและผลงานของ ร.อ. กฤษฎา ก็ช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ด้วยเช่นกัน
เช่นที่ สมคาด สืบตระกูล ที่ปรึกษาของ ดร.พิจิตต รัตตกุล เปิดเผยว่า “ในการเลือกตั้งปี 2535 ดร.พิจิตต ได้เสนอหาเสียงด้วยประเด็นนโยบายเช่นเดียวกัน แต่ระดับความเข้มแข็งของพรรคพลังธรรมมีมาก กระแสนิยมคุณจำลองมีมาก ประชาชนจึงให้การสนับสนุนคุณกฤษฎา” [3]
โดยนโยบายสำคัญ ๆ ของ ร.อ.กฤษฎา อาทิ การดำเนินการให้มีรถไฟฟ้าเดินรถสองสายคือสายสุขุมวิทและสายสีลม ซึ่งได้วางศิลาฤกษ์จริงช่วงปลายปี 2537, โครงการเดินเรือในคลองแสนแสบที่เราใช้บริการกันอยู่จนทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีการเสนอโครงการแก้ปัญหามลพิษ เช่น การเปลี่ยนกองขยะให้เป็นสวนภูเขา พัฒนาศูนย์ความเจริญชานเมืองเพื่อลดปัญหาจราจร เป็นต้น [4]
พิจิตต รัตตกุล – นโยบายจับต้องได้ สร้างแครักเตอร์ผู้นำสุภาพ ไม่โจมตีคู่แข่ง
ดร. พิจิตต รัตตกุล ก้าวสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2535 แต่ครั้งนั้นเขาพ่ายแพ้ให้กับ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ไปกว่า 57,928 คะแนน มีข้อถกถามผุดขึ้นตามมาอย่างน่าสนใจว่าเหตุใด ดร.พิจิตต ถึงไม่สามารถประสบชัยชนะได้ทั้งที่ได้ชูนโยบายเป็นหลักในการหาเสียง โดยเฉพาะนโยบายสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหากายภาพของระบบโครงสร้าง รวมถึงปัญหาจราจร
มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม ผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นเผยคำตอบข้อคั่งค้างใจดังกล่าวว่ามีเหตุผลหลัก ๆ สามเรื่องที่ทำให้ ดร.พิจิตต ชวดเก้าอี้ผู้ว่าฯ เรื่องแรกคือประชาชนเห็นผลงานของ ดร.พิจิตต น้อยเกินไป เหตุผลต่อมาคือนโยบายและความพร้อมทุกด้านยังมีไม่มากพอ และประการสุดท้ายคือ ดร.พิจิตต ยังใหม่ในการเลือกตั้งท้องถิ่น [5]
อย่างไรก็ดี ดร.พิจิตต ไม่ทิ้งความฝันที่จะเป็นผู้ว่าเมืองหลวง เขากลับมาลงสมัครอีกครั้งในปี 2539 ซึ่งครั้งนี้ เขาทำการบ้านเตรียมความพร้อมมาค่อนข้างดีในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การเลือกสรรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีชื่อเสียงมาร่วมทีมจนสามารถสร้างความเข้มแข็งได้ นำมาสู่การออกแบบนโยบายที่เริ่มจากการสำรวจปัญหาภาพรวมของ กทม. และลงไปศึกษาปัญหาของชุมชนย่อย โดยทุกปัญหาจะถูกนำเข้ามาประชุมปรึกษาหารือ เพื่อคัดสรรประเด็น ซึ่งเน้นความสำคัญไปที่ประเด็นใกล้ตัวหรือข้องเกี่ยวกับชีวิตประชาชนโดยตรง
ความน่าสนใจในการเดินเกมผ่านนโยบายของ ดร.พิจิตต คือการนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และหาจุดที่จะทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงและรู้สึกร่วมได้มากที่สุด
นโยบายสำคัญ ๆ ที่ ดร.พิจิตต นำเสนอ อาทิ นโยบายแก้ปัญหาการจราจร ผ่านโครงการรถรางเลียบคลองแสนแสบ คลองเปรมประชาชากร และคลองภาษีเจริญ เป็นระบบรถไฟรางเดียวขนคนได้ชั่วโมงละ 10,000-15,000 คน นโยบายแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ “เก็บ-แยก-กำจัดขยะ” ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บ การแยก และกำจัดขยะที่ทันสมัยให้หมดต่อวัน พร้อมกับสร้างโรงงานกำจัดขยะผลิตกระแสไฟฟ้า นโยบายด้านสาธารณสุข โดยเสนอจัดตั้ง “กทม. โพลีคลินิก” ที่พัฒนามาจากสถานที่และบริการของศูนย์อนามัยของ กทม. ประมาณ 50 แห่ง เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มใหญ่ที่ด้อยโอกาสทางการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วม ผ่านการจัดตั้งสภาประชาคมให้ภาคประชาชนสะท้อนปัญหาและเสนอความต้องการอีกด้วย[6]
ผลจากการนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมประกอบกับการแสดงบุคลิกภาพเป็นผู้นำที่สุภาพ ไม่หยาบคาย ไม่โจมตีคู่แข่ง และการมีทีมที่ดี ช่วยให้ ดร.พิจิตต ชนะเลือกตั้ง ปี 2539 มาด้วยคะแนน 768,994 คะแนน
สมัคร สุนทรเวช – ร่ายกลอน แก้ฝุ่นพิษ คุณภาพชีวิตคนกรุง
การเลือกตั้งครั้งที่ 6 จัดขึ้นในปี 2543 โดย สมัคร สุนทรเวช ซึ่งลงสมัครในนามพรรคประชากรไทยสามารถคว้าชัยชนะมาด้วยคะแนน 1,016,096 นับเป็นการได้คะแนนแตะหลักล้านเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ซึ่งนอกจากจะมีชั่วโมงบินทางการเมืองจนอาจเรียกได้ว่าเป็นบารมีทางการเมือง ทั้งจากการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรีมาหลายสมัย สมัคร ยังเสนอนโยบายที่แตะปัญหากรุงเทพฯ อย่างรอบด้าน ตั้งแต่นโยบายแก้ปัญหาจราจร โดยเสนอโครงการวงแหวนรอบกลางกับถนนใยแมงมุม ให้รถที่เข้าออกกรุงเทพฯ เลือกทางเข้าออกได้สะดวกขึ้น และรวมถึงการเสนอย้ายอุตสาหกรรมย่อยไปชานเมืองลดการแออัดในกรุงเทพฯ [7]
ขณะที่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สมัคร เสนอโครงการเช่าที่ว่างหลังตึกต่าง ๆ เปลี่ยนโฉมเป็นสถานที่พักผ่อนที่มีต้นไม้ดอกไม้สวยงามให้คนกรุงเทพฯ และเสนอแก้ปัญหาอากาศเป็นพิษด้วยการนำเครื่องกรองอากาศมาติดตั้งในท่อไอเสียรถยนต์
นโยบายที่น่าสนใจอีกอย่างของสมัคร คือนโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ การย้ายค่ายทหารออกจากเมือง โดยค่ายทหารเก่าจะทำเป็นสวนสาธารณะ หรือการเสนอโครงการการประปาย่านมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง ที่จะขอพระราชทานน้ำจากเขื่อนป่าสักมาแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำแก่คนในสามเขตข้างต้น [8]
ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองที่ยาวนานและเป็นที่รู้จักโดยทั่ว สมัคร แทบไม่ต้องพึ่งการตลาดผ่านสื่อมากนัก เขาขายนโยบายของตัวเองผ่านการปราศรัยและเดินแจกแผ่นพับ แต่แผ่นพับหาเสียงของสมัครก็มีลูกเล่นด้วยการระบุนโยบายเป็นบทกลอน ซึ่งช่วยให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงนโยบายมากขึ้น
อภิรักษ์ โกษะโยธิน – ชีวิตที่ดีกว่าของคนกรุงเทพ
การเลือกตั้งครั้งที่ 7 จัดขึ้นในปี 2547 นับเป็นครั้งที่สองที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถคว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้ ภายใต้การนำของ อภิรักษ์ โกษะโยธิน คนหนุ่มรุ่นใหม่และอดีตนักบริหารมืออาชีพกวาดคะแนนเสียงไป 911,441 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 38.20 จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งสิ้น 3,955,855 คะแนน ทิ้งห่าง ปวีณา หงสกุล คู่แข่งคนสำคัญไปกว่า 292,372 คะแนน
ในการหาเสียง อภิรักษ์ แสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ ‘คำประกาศสู่กรุงเทพฯ เมืองใหม่’ โดยมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการไม่เน้นเรื่องการทุ่มงบประมาณจำนวนมาก ทั้งชูสโลแกน ‘เลือกอภิรักษ์นักบริหารรุ่นใหม่ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนกรุงเทพ’ ด้านนโยบายหลัก ๆ มีด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่ 1.กทม.เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ 2.ครอบครัวเป็นสุขในกรุงเทพฯ ของเรา 3. สวยสะอาดสดใสในกรุงเทพของเรา 4.กรุงเทพฯ ของเราชีวิตไม่ติดขัด และ 5.ทุกคนต้องตั้งตัวได้ เติบโตได้ ในกรุงเทพของเรา [9]
ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร – ปชป.เหนียวแน่น แก้ปัญหาจราจรซื้อใจมวลชน
การจัดเลือกตั้งในปี 2551 ภายหลังการลาออกของอภิรักษ์ โกษะโยธิน กรุงเทพฯ ยังคงเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่สามารถคว้าชัยชนะ ภายใต้การนำของ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ุ บริพัตร โดยกวาดคะแนนไปได้ 934,602 คะแนน
สำหรับนโยบายที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เสนอนั้นเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพฯ ทั้งด้านกายภาพและการบริการประชาชน เริ่มจากนโยบายแก้ปัญหาจราจร ผ่านการเสนอโครงการรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทและสายสีลม รวมถึงขยายเส้นทางเดินเรือคลองแสนแสบจากวัดศรีบุญเรืองไปถึงมีนบุรี 14 ท่า ให้ประชาชนได้เดินทางสะดวกขึ้น นโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ผ่านการปรับปรุงสนามหลวงและก่อเกิดสวนสาธารณะขนาดใหญ่โดยตั้งเป้าไว้ที่ 5,000 ไร่ [10]
ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็เสนอนโยบายความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชน ผ่านโครงการติดตั้งกล้อง CCTV ดูแลความปลอดภัย ป้องปรามการเกิดเหตุ และจับคนกระทำผิดไปลงโทษ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 20,000 กล้อง ส่วนด้านการศึกษา เขาเสนอหลักสูตร “โตไปไม่โกง” บรรจุทำการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัด กทม. เพื่อปลูกฝังคุณธรรมความสุจริตให้เด็กและเยาวชน [11]
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นั่งเก้าอี้ผู้ว่า กทม. จนครบวาระสี่ปี และกลับมาลงสมัครชิงชัยอีกครั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิม แม้จะมีแต้มต่อในฐานะแชมป์เก่า แต่ผลงานในสมัยแรกก็ไม่ได้สร้างความพอใจแก่ชาวกรุงเทพฯ มากนัก ซึ่งสะท้อนผ่านโพลขณะนั้นว่าเขามีคะแนนนิยมที่ตามหลังผู้สมัครคนอื่น ๆ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ และพรรคประชาธิปัตย์จึงค่อนข้างต้องทำงานอย่างหนักในการหาเสียง
โดยนโยบายซื้อใจมวลชนในสมัยหลังที่สำคัญ ๆ เช่น นโยบายแก้ปัญหาจราจร ผ่านการพัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมต่อของระบบรถโดยสารสาธารณะ นโยบายดูแลเด็กและเยาวชน รวมถึงนโยบายการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การขายเฉพาะนโยบายนั้นดูจะไม่เพียงพอ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ จึงต้องร่อนจดหมายเปิดผนึก จากใจถึงใจ ถึงคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาพการแถลงข่าวขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่เคยสนับสนุน และซาบซึ้งที่พรรคต้นสังกัดยังให้โอกาส[11] [12]
สุดท้าย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็สามารถกอดเก้าอี้ผู้ว่า กทม. ไว้ได้อีกสมัย ด้วยคะแนนเสียงที่ได้รับอย่างล้นหลามและมากเป็นประวัติการณ์ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ 1,256,349 คะแนน
ถึงตรงนี้อาจสรุปอย่างย่นย่อได้ว่าชัยชนะในศึกเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ขึ้นอยู่ปัจจัยที่แตกต่างตามแต่ช่วงจังหวะหรือยุคสมัย คนที่ชนะก็มีทั้งที่ขายตัวตน ขายความเชื่อมั่น และขายนโยบาย ซึ่งประการหลังสุดผู้ลงสมัครแทบทุกคนต้องวางแผนและเลือกสรรสิ่งที่คิดว่า “ใช่และโดน” ส่งต่อให้คนกรุงเทพฯ ได้ตัดสินใจ
อย่างไรก็ดีหากว่ากันตามตรงข้อค้นพบที่สำคัญคือตลอดการเลือกตั้งทั้งแปดครั้งที่หยิบมาเขียนถึง มีนโยบายที่ถูกหยิบมาเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาทินโยบายแก้ปัญหาจราจร แก้เรื่องขยะ หรือสิ่งแวดล้อม จนชวนสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวยังเรื้อรังและไม่ถูกแก้ให้ยั่งยืนได้จริง ๆ
แม้อดีตที่ผ่านมาแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ก็มีค่าในฐานะบทเรียนให้คนในปัจจุบันได้ทบทวน เลือกหรือละที่จะทำเช่นเดิม ซึ่งวันนี้ คนกรุงเทพฯ จะมีโอกาสได้ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ ของตนอีกครั้ง อาจเป็นไปได้ว่าคราวนี้จะได้คนที่จะจัดการปัญหาเรื้อรังและปัญหาเร่งด่วนอื่น ๆ ที่คั่งค้างมายาวนานได้จริง ๆ นั่นไม่ใช่เป็นประโยชน์แค่เฉพาะตัวเอง แต่หมายถึงการกำหนดคุณภาพชีวิตของลูกหลานในอนาคตด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
[1], [2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2528),” สืบค้นจาก https://shorturl.asia/5ZQqV
[3], [5] สุภาเพ็ญ วงษ์รัตนโต, ยุทธวิธีการหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ประเด็นนโยบาย ศึกษากรณี: ดร.พิจิตต รัตตกุล ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ปี 2539, หน้า 36.
[4] ตาแหลม, “กรุงเทพมหานครสมัย ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ เมื่อปี 2535-2539,” สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/dhamma/7320
[6] สุภาเพ็ญ วงษ์รัตนโต, ยุทธวิธีการหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ประเด็นนโยบาย ศึกษากรณี: ดร.พิจิตต รัตตกุล ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ปี 2539, หน้า 46.
[7] อภิชาติ หาลำเจียก, กลยุทธ์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2543 : ศึกษานโยบายของผู้สมัคร นายสมัคร สุนทรเวช, หน้า 33.
[8] อภิชาติ หาลำเจียก, กลยุทธ์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2543 : ศึกษานโยบายของผู้สมัคร นายสมัคร สุนทรเวช, หน้า 34-35.
[9] RYT9, “ อภิรักษ์ ย้ำนโยบาย 5 ข้อ ลงผู้ว่าฯกทม. ระบุ ‘อิสระ — ไม่อิสระ’ ไม่สำคัญเท่าความตั้งใจ,” สืบค้นจาก https://www.ryt9.com/s/ryt9/141868
[10], [11] TCIJ, “เจาะประวัติอนาคตผู้ว่าฯกทม. ตอน1,” สืบค้นจาก https://www.tcijthai.com/news/2013/01/watch/1802
[12] Thai PBS, “เส้นทางหาเสียงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ แชมป์เก่าสืบค้นจาก,” สืบค้นจาก https://news.thaipbs.or.th/content/151077