จับตาการพูดคุยสันติภาพสามจังหวัดใต้ บนโจทย์ใหม่ของการหาทางออกทางการเมือง - Decode
Reading Time: < 1 minute

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

หลังจากไม่ได้ประชุมร่วมในที่เดียวกันเกือบสองปี คณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลกับคณะตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นมีนัดหมายจะพบปะกันในวันที่ 11 มกราคมนี้ที่ประเทศมาเลเซีย เป็นการนัดหมายพบปะกันของคณะพูดคุยแบบเต็มคณะของทั้งสองฝ่าย ต่างไปจากก่อนหน้านี้ที่เป็นคณะทำงานด้านเทคนิค ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือหัวข้อการพูดคุยที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องสำคัญของแต่ละฝ่าย กล่าวคือฝ่ายรัฐบาลต้องการคุยเรื่องการลดความรุนแรงในพื้นที่ ในขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องการให้พูดคุยเรื่องการแก้ปัญหาด้วยการหาทางออกทางการเมือง

การระบาดหนักของโควิดทำให้การนัดหมายเลื่อนออกมาเรื่อย ๆ จนอาจจะเรียกได้ว่าทำให้เกิดภาพกระบวนการสันติภาพที่ชะงักงัน แม้ว่าจะมีการพูดคุยกันผ่านการประชุมออนไลน์แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในสายตาของผู้เข้าร่วม อาจจะเพราะสิ่งที่พูดคุยกันระหว่างทีมทั้งสองเป็นเรื่องที่ต้องการบรรยากาศ “หนนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าจะได้พบปะพูดคุยกันจริง ๆ แต่ทั้งนี้เงื่อนไขยังไม่เสถียรเพราะการระบาดของโควิด ได้แต่หวังว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะไม่ทำให้มีมาตรการเพิ่มเติมที่ทำให้พบกันไม่ได้ เช่นการปิดสนามบินเป็นต้น” แหล่งข่าวฝ่ายรัฐบาลกล่าว

การนัดหมายพบปะในเดือนมกราคมจึงมีความสำคัญในเชิงของการสานต่อสิ่งที่เริ่มมาแล้วรวมทั้งกลบภาพของความแน่นิ่งไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ส่วนหนึ่งของการเตรียมการเพื่อประชุมร่วมกันของฝ่ายรัฐบาลคือการที่ทีมงานได้เปิดการพบปะหารือกับกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นภาคประชาชนในพื้นที่เพื่อระดมความเห็นประกอบการพูดคุย  ความสนใจของคณะยังผลให้มีผู้นำเสนอความเห็นในเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงรูปแบบการปกครองพิเศษ เหมือนจะเป็นที่รู้กันว่าเรื่องของการหาทางออกทางการเมืองจะเป็นหัวข้อของการพูดคุยหนนี้อย่างแน่นอน นี่น่าจะถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการพูดคุยสันติภาพชุดนี้ที่เรื่องของ “การหาทางออกทางการเมือง” เป็นหัวข้อในการหารือของคณะตัวแทนชุดใหญ่ นับว่าเป็นย่างก้าวที่ขยับออกจากที่เดิมที่คุยกันมาแต่เรื่องเทคนิค

ตัวแทนสภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยนัจมุดดีน อูมา ได้นำเสนอผลการตรวจสอบความเห็นของประชาชนในพื้นที่สำหรับรูปแบบการปกครองพิเศษแก่คณะพูดคุยของรัฐบาล พวกเขานำเอาโมเดลต่าง ๆที่มีผู้ทำไว้แล้วไปสอบถามประชาชนหลายส่วนและสรุปออกมาได้ว่า โมเดลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดมีสองโมเดลซึ่งหลักการสำคัญก็คือการเลือกตั้งโดยตรงผู้บริหารระดับสูงสุดในพื้นที่ แน่นอนว่ารูปแบบที่นำเสนอหนนี้ไม่ได้ใหม่ไปจากที่มีการนำเสนอกันมาแล้ว สิ่งที่ใหม่คือการที่บอกว่า ได้นำไปสอบถามความเห็นจากประชาชนหลายพื้นที่

“สภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” ถอดรหัสแล้วก็คือกลุ่มอดีตนักศึกษามุสลิมในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงในนามกลุ่ม พีเอ็นวาย (PNY) ที่ต่อมากลายเป็น พีเอ็นวายเอส (PNYS) อันเป็นการรวมกลุ่มของนศ.ที่ทำกิจกรรมด้านการเมือง สายสัมพันธ์ของพวกเขายังคงเหนียวแน่น และหลายคนทำงานและมีบทบาทในพื้นที่ เมื่อพิจารณาจากสถานภาพนี้ วิธีการนำเสนอของพวกเขาจึงน่าสนใจ และสถานะของนัจมุดดีน อูมายิ่งทำให้ข้อเสนอน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เมื่อถามว่าคาดว่าบีอาร์เอ็นจะคิดอย่างไรกับข้อเสนอนี้ คำตอบจากนัจมุดดีนก็คือ ต้องไปถามบีอาร์เอ็นเอาเอง

ในขณะที่ภาคประชาชนโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือที่มีไทยพุทธและมุสลิมทำงานร่วมกันก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยไปพบนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเมื่อ 23 ธันวาคม 2564 ผลักดันให้รัฐสภาตั้งกรรมาธิการศึกษากระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่นำเสนอเรื่องนี้ ก่อนหน้านั้นมีสส.จากหลายพรรคของสามจังหวัดยื่นญัตติมาแล้วต่างกรรมต่างวาระกัน เพื่อให้มีการตั้งกรรมาธิการดังกล่าว คำตอบจากประธานรัฐสภาคือเรื่องนี้น่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในเดือนมกราคมนี้ คาดว่าจะเป็นวันที่ 14 หรือไม่ก็ 28 ม.ค.

พูดง่าย ๆว่า ช่วงต้นปี 2565 เราจะมีเรื่องราวของการพูดคุยสันติภาพเข้าสู่ความสนใจของสาธารณะอย่างแน่นอน ทั้งจากความเคลื่อนไหวพบปะกันของคณะพูดคุยสองฝ่าย และการพิจารณาญัตติเสนอตั้งกรรมาธิการศึกษากระบวนการสันติภาพในสภา ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้มีการอภิปรายกันถึงความสำคัญของการแสวงหาทางออกให้กับความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ นับได้ว่าเป็นการดึงเอาวาระสามจังหวัดภาคใต้กลับสู่การถกเถียงระดับชาติกันอีกครั้ง  ความเคลื่อนของสส.และภาคประชาสังคมหนนี้บอกเราอย่างชัดเจนว่า ความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องที่ต้องใช้การเมืองเข้าคลี่คลาย ในขณะที่อีกด้านก็เป็นสัญญานแสดงด้วยว่า ภาคประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในกลไกกระบวนการสันติภาพมากขึ้น พวกเขาไม่ต้องการเป็นแต่เพียงผู้ดูและรอรับผลการต่อรองของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

อันที่จริงเราไม่อาจรู้ได้ว่าสาธารณะทั่วไปให้การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพมากน้อยเพียงใด เรายังไม่เห็นการทำโพล หรือสำรวจความเห็นประชาชนนอกพื้นที่มากนัก ในส่วนของผู้มีอำนาจก็แทบจะไม่ได้พูดถึงความเคลื่อนไหวเหล่านี้ หรือสร้างความสนใจในหมู่ประชาชน กระบวนการสันติภาพจึงมีอาการเสมือนถูกปล่อยทิ้งให้อยู่ในมือคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่หากพิจารณาความจริงจะพบว่า แนวคิดในเรื่องการสร้างสันติภาพผ่านการต่อรองกับกลุ่มขบวนการเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับไทย อาจกล่าวได้ว่า องคาพยพของราชการไทยและสังคมไทยไม่คุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ กลไกของรัฐบาลที่รับมือเรื่องกระบวนการพูดคุยแม้จะรวบรวมบุคคลจากหลายหน่วยงาน แต่ก็ยังเป็นเพียงหน่วยงานขนาดเล็กขึ้นอยู่กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่น่าแปลกใจที่ในสมัยการพบปะของตัวแทนรัฐบาลกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลายภาคส่วนในสังคมจึงทั้งแตกตื่นและตื่นเต้น บ้างมีความคาดหวังประหนึ่งว่าการพบปะกันไม่กี่ครั้งจะทำให้ความรุนแรงยุติ หรือได้ข้อตกลงสำคัญอันใด ผู้คนใกล้ชิดวงการจึงต่างวิเคราะห์กันว่า ความยากลำบากอย่างสำคัญของการพูดคุยช่วงต้นในยุคสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจากการ “เปิดเผย” มากเกิน ทำให้บรรดากองเชียร์เข้าไปจับตาได้ทุกฝีก้าวจนคนที่อยู่บนโต๊ะพูดคุยแทบไม่มีช่องว่างให้หายใจ ไม่สามารถคุยกันอย่างตรงไปตรงมาได้ อาจจะเพราะด้วยเหตุนี้ทำให้ในช่วงหลังการพูดคุยมักจะมีการปิดรายละเอียดคาดว่าเพื่อจะได้ไม่กระตุ้นปฏิกิริยาของบรรดาแฟนคลับมากเกินไปจนเสียขบวน แต่วิธีนี้ก็มีความเสี่ยงของการที่การพูดคุยจะจำกัดวงอยู่ในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องวงเล็ก ๆ ในขณะที่เรื่องของกระบวนการสันติภาพโดยตัวของมันเองกลับต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนทุกฝ่าย  ที่สำคัญ ถึงที่สุดแล้วหากกระบวนการสันติภาพสามารถเดินไปจนบรรลุข้อตกลงใด ๆ ผลที่ได้ก็ยังจะต้องผ่านการรับรองของรัฐสภาอยู่ดี

บรรดาผู้รู้ในเรื่องกระบวนการสันติภาพพูดเอาไว้หลายเวทีและสถานะว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้กระบวนการสันติภาพเป็นหนทางในการคลี่คลายความขัดแย้งที่ยั่งยืนได้ ต้องมีผลของการต่อรองที่ตอบโจทย์คนหลายภาคส่วนในสังคม  ไม่เช่นนั้นเมล็ดพันธุ์ของความไม่พอใจจะงอกงามขยายตัวต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว เช่น ในมินดาเนา เมื่อกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร หรือเอ็มเอ็นแอลเอฟ (Moro National Liberation Front / MNLF) ทำข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์และได้จัดตั้งเขตปกครองตนเอง ผลของการเจรจากลับไม่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกบางกลุ่มทำให้เกิดการแแยกตัวออกจากกลุ่มใหญ่ไปตั้งกลุ่มใหม่ที่ยังคงต่อต้านรัฐบาลต่อไป กลุ่มใหม่ที่ว่าก็คือกลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโรหรือเอ็มไอแอลเอฟ (Moro Islamic Liberation Front/MILF) ซึ่งต่อมาเข้าสู่กระบวนการสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์จนนำมาซึ่งการทำข้อตกลงและได้เขตปกครองตนเองใหม่ที่เพิ่งลงหลักปักฐานกันไปเมื่อเกือบสามปีที่แล้ว โดยรวมเอาเขตปกครองตนเองเดิมที่กลุ่มเอ็มเอ็นแอลเอฟตั้งไว้เข้าไปด้วย เรียกว่ากว่าจะเข้าที่ก็เสียเวลากันไปมากโข

บทเรียนอีกประการหนึ่งจากฟิลิปปินส์ที่น่าสนใจคือเรื่องของปฏิกิริยาของผู้คนในสังคมส่วนที่เหลือ หลังจากที่เจรจาต่อรองกับกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟจนได้ร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งเขตปกครองตนเองใหม่ในมินดาเนาได้แล้ว รัฐบาลต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้รับรองผลในปี 2557 แต่ข้อเสนอกลับถูกคว่ำ แม้ว่าเรื่องดังกล่าวส่วนหนึ่งจะเป็นผลของการขับเคี่ยวระหว่างคู่แข่งทางการเมืองผสมโรงเข้าไปด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรัฐสภาฟิลิปปินส์ในเวลานั้นมีผู้ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก สมาชิกกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟและบรรดากลุ่มต่างๆที่รณรงค์สันติภาพรวมไปถึงกลุ่มผู้หญิงที่เข้าไปมีบทบาทในการพยายามโน้มน้าวสมาชิกสภาคองเกรสของฟิลิปปินส์ให้เห็นชอบกับร่างกฎหมายพื้นฐานสำหรับการจัดตั้งเขตปกครองตนเอง ต่างพูดถึงแรงต้านของสมาชิกสภาว่าหนักหน่วงรุนแรงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแสดงอคติกับมุสลิม และนั่นคือภาพสะท้อนของฟิลิปปินส์ที่สังคมส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ซึ่งอันที่จริงแล้วพูดได้ว่า โดยทั่วไปมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องศาสนาอิสลามมากกว่าชาวพุทธ การนำร่างกฎหมายพื้นฐานสำหรับจัดตั้งเขตปกครองตนเองเข้าสู่สภาคองเกรสของฟิลิปปินส์หนนั้นกระทำภายใต้อดีตประธานาธิบดีเบนิโญ อากิโน ซึ่งก็เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนนิยมสูง แต่ร่างกฎหมายอันเป็นผลจากกระบวนการสันติภาพที่เขาต้องการฝากเอาไว้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงในตำแหน่งประธานาธิบดีกลับไม่ผ่านสภา ผู้เกี่ยวข้องต่างต้องนำเอากลับไปปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ จนมาถึงสมัยประธานาธิบดีดูแตร์เต้ ต้องถือว่าโชคดีที่ดูแตร์เต้เป็นคนพื้นเพจากเกาะมินดาเนา เขาได้ผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่และในที่สุดสภาให้การรับรอง แต่ในที่สุด เนื้อหาที่ฝ่ายเอ็มไอแอลเอฟได้มาจากข้อตกลงในการเจรจาก็ได้ถูกลดทอนลงไปจากเดิม 

หลายคนที่ผ่านการรณรงค์ช่วงนั้นบอกว่า มันเหมือนกับว่า หลังจากผ่านการต่อรองกับรัฐบาลอย่างหนัก พวกเขาต้องเข้าไปต่อรองกับรัฐสภาฟิลิปปินส์อีกครั้งหนึ่งก็ว่าได้ บทเรียนนี้บอกเราว่า นักการเมืองที่เป็นตัวแทนและทำหน้าที่แทนผู้มีสิทธิออกเสียงฟิลิปปินส์ไม่จำเป็นต้องร่วมทางกับรัฐบาลเสมอไปในเรื่องสันติภาพ

และตัวอย่างเช่นนี้ทำให้เห็นได้ว่าการต่อรองใดๆในกระบวนการสันติภาพต้องเกาะเกี่ยวเอาประชาชนทั้งสองฝ่ายเข้าไปด้วย  การมีส่วนร่วมแต่เนิ่นๆของสภาจึงน่าจะมีนัยสำคัญมากกว่าการจะไปมีส่วนร่วมในช่วงหลัง

ว่ากันว่าหัวใจของกระบวนการสันติภาพก็คือเรื่องของการปรองดอง การหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายของความขัดแย้งต่าง “ได้” และไม่มีใครได้หรือเสียเต็มที่ ในทางปฏิบัติมันหมายถึงการมาตกลงกันว่าอะไรที่ยอมความกันได้ เข้าทำนองพบกันครึ่งทาง มีหลายเรื่องที่กระทบผู้คนจำนวนมาก เช่นเรื่องของความรุนแรง การจัดแจงหรือปรับโครงสร้างในเรื่องการเมืองการปกครองในพื้นที่ใหม่ การสื่อสารกับสาธารณชนจึงจำเป็นทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ฝ่ายรัฐบาลย่อมมีภาระที่จะต้องสื่อสารกับคนทั้งประเทศในเรื่องของกระบวนการสันติภาพ เพื่อให้พวกเขาก้าวไปพร้อม ๆกับรัฐบาล แต่ที่สำคัญคือคนในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต้องมีพื้นที่ได้เข้าร่วมในการต่อรองด้วยในแบบใดแบบหนึ่ง

ที่ผ่านมา คณะพูดคุยฝ่ายไทยมีโอกาสพบปะกับคนกลุ่มต่างๆค่อนข้างมาก ช่วงต้นเดือนธันวาคมก็ได้จัดพบปะกับประชาชนกลุ่มต่างๆในพื้นที่ไปอีกระลอกหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากคณะของรัฐบาลมีกลไกและเครือข่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐรองรับนั่นเอง  ในทางกลับกัน ยังไม่ปรากฎภาพกลุ่มบีอาร์เอ็นสื่อสารกับชุมชนคนสามจังหวัดเท่าไหร่นัก พวกเขาอาจจะสื่อสารกับประชาชนกลุ่มที่เข้าถึงได้แต่การสื่อสารที่จะทำให้พวกเขาได้ฉันทานุมัติในเรื่องรูปแบบทางการเมืองที่จะตอบโจทย์ตัวเองได้ดูเหมือนจะเป็นไปอย่างจำกัด

บีอาร์เอ็นเองบอกว่า ต้องการให้คนในกลุ่มเข้าเมืองไทยเพื่อสื่อสารพูดคุยกับคนในพื้นที่ แต่ทางฝ่ายไทยยังขอเวลาในเรื่องนี้

“ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเรา เพราะมีคนที่ไม่เห็นด้วยอีกมาก เรื่องนี้ต้องใช้เวลา”

แหล่งข่าวในซีกรัฐบาลบอก แต่เขายืนยันว่า ฝ่ายรัฐบาลอยากเห็นผู้ร่วมโต๊ะพูดคุยกลุ่มบีอาร์เอ็นได้เห็นภาพและความเป็นจริงของพื้นที่ในช่วงพศ.นี้ เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ในวันนี้กับวันที่พวกเขาออกจากพื้นที่นั้นต่างกัน และไม่แน่ว่าความฝันของคนรุ่นใหม่จะเหมือนกับของผู้คนในวันนั้น  แต่เนื่องจากคนที่จะเข้ามานั้นมีคดีติดตัว จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่ลงตัว อย่างไรก็ตาม การที่พวกเขาจะได้เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่กลายเป็นหนึ่งในบททดสอบความจริงใจในกระบวนการพูดคุยหนนี้ของฝ่ายรัฐบาล

แต่ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าทุกฝ่ายยอรับว่า การได้สื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย “กลม” มากขึ้น ตอบโจทย์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆมากขึ้น เพิ่มโอกาสของการที่จะได้ข้อสรุปที่ทำให้ได้สันติภาพที่ยั่งยืนมากขึ้น

เรื่องของการมีส่วนร่วมอาจจะมีตัวอย่างและบทเรียนจากหลายแห่งที่ไทยสามารถเรียนรู้ได้ ในกรณีของไอร์แลนด์เหนือ มีงานเขียนที่สนับสนุนการนำข้อเสนอของสองฝ่ายไปทำโพลเป็นระยะๆตลอดช่วงเวลาของการทำกระบวนการสันติภาพ ทั้งนี้เพื่อทดสอบแรงสนับสนุนและเปิดโอกาสให้คนบนโต๊ะเจรจาได้ปรับข้อเสนอของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้สนับสนุนของตน แต่เรื่องเช่นนี้มีปัญหาทางเทคนิคที่จะต้องคำนึงถึงว่า การทำโพลนั้น ๆตรงไปตรงมาเพียงใดและสะท้อนเสียงของประชาชนจริงหรือไม่  แต่วิธีการนี้ก็นับว่าเป็นกลไกในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่น่าสนใจ 

กล่าวสำหรับบีอาร์เอ็น บทสนทนาที่ยากที่สุดอาจจะเป็นบทสนทนาระหว่างพวกเขากับสังคมไทย  หลายปีที่แล้วเคยมีการพากลุ่มสื่อจากกรุงเทพฯไปพบคนของฝ่ายขบวนการหลายราย เนื้อหาในการพบปะกันหนนั้นคือเปิดใจคนในกลุ่มเรื่องปัญหาความขัดแย้งจากมุมมองของพวกเขา และกลุ่มได้ขอร้องสื่อจากกรุงเทพฯให้ช่วยกันสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ  มีการเปิดอกคุยเรื่องข้อคับข้องใจ และนักข่าวจากกรุงเทพฯได้ซักถามพวกเขาเรื่องการใช้ความรุนแรง การใช้กำลังกับพลเรือนอยู่หลายชั่วโมง จะว่าไปแล้วการพบปะกันหนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก และมันคงทำให้พวกเขารู้แล้วว่า ความสนใจของสื่อจำนวนมากอยู่ที่ใด  นั่นเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายขบวนการพยายามจะเชื่อมต่อกับสังคมไทยเพื่อขอแรงสนับสนุนในเรื่องกระบวนการสันติภาพ  หลังจากนั้นเป็นต้นมา การสื่อสารไปเน้นหนักอยู่ที่กลุ่มมาราปาตานี  สำหรับบีอาร์เอ็น พวกเขาเลือกพูดกับสื่อเฉพาะบางราย ส่วนการสื่อสารภาพกว้าง พวกเขาเลือกที่จะพูดกับคนในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูเท่านั้น 

ฮารา ชินทาโร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามาลายูในพื้นที่เขียนอธิบายไว้ในFacebook ส่วนตัวของเขาว่า เหตุที่เขาต้องแปลแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นโดยที่ไม่มีใครร้องขอ ทั้งยังเป็นการทำแบบอาสา ก็เพราะข้อจำกัดในเรื่องการสื่อสารอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ๆ  ชินทาโรถือเป็นนักวิชาการที่มีความสนใจส่วนตัวในเรื่องความขัดแย้งและการคลี่คลายปัญหา อาจจะนับได้ว่าเป็นความโชคดีของสังคมไทยที่มีนักวิชาการเช่นนี้ทำหน้าที่อาสาช่วยแปล ไม่เช่นนั้นการสื่อสารที่ออกมาจากบีอาร์เอ็นส่งผ่านไปยังสาธารณะของไทยคงจะยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นไปอีก

พิจารณาจากทั้งมุมของรัฐบาลและบีอาร์เอ็น และจากมุมของทั้งในและนอกพื้นที่  เห็นได้ชัดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารกันในเรื่องกระบวนการสันติภาพมากขึ้นกว่าเดิม