ทิ้งทวนปี 2564 อ่านประวัติศาสตร์และการเมืองไทยไปข้างหน้า ผ่านหนังสือ 10 เล่ม - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ปีที่แล้วผมเขียนบทความแนะนำหนังสือดีเด่น 10 เล่มที่จะช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์และการเมืองไทยร่วมสมัย มาปีนี้ขอสานต่อด้วยการแนะนำหนังสืออีก 10 เล่มน่าสนใจที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงปี 2564 โดยหนังสือที่แนะนำมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากหลากหลายสำนักพิมพ์ มีทั้งงานวิจัยค้นคว้าใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรก รวมถึงงานคลาสสิคและต้นฉบับเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่ เมื่อมองดูภาพรวมแล้ว ต้องถือว่าปี 2564 เป็นปีที่ดีและคึกคักมิใช่น้อยสำหรับแวดวงหนังสือแนวประวัติศาสตร์และการเมืองไทย ว่าแล้วมาไล่เรียงกันไปทีละเล่มเลย

1. อาสา คำภา, กว่าจะครองอำนาจนำ (ฟ้าเดียวกัน)

เล่มนี้เพิ่งตีพิมพ์ออกมาช่วงปลายปี แต่ขึ้นแท่นเป็นหนังสือขายดีในเวลาอันรวดเร็ว หนังสือเล่มหนานี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “สารานุกรมการเมืองไทยสมัยใหม่” ก็ว่าได้ ดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกซึ่งผู้เขียนใช้เวลาศึกษาค้นคว้าอยู่หลายปี เป็นหนังสือที่ละเอียดพิสดาร รอบด้าน และฉายให้เห็นภาพรวมของการเมืองไทยสมัยใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 จนมาจบที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ผู้เขียนใช้ความอุตสาหะอย่างมากในการอ่านและรวบรวมเอกสารหลักฐานประวัติศาสตร์จำนวนมากมายมหาศาล แล้วนำมาสังเคราะห์ วิพากษ์ ปะติดปะต่อจนออกมาเป็นเรื่องราวที่ร้อยเรียงกันอย่างน่าทึ่ง สิ่งที่โดดเด่นคือ การประยุกต์ใช้แนวคิดอย่าง “ฉันทามติของชนชั้นนำ” “อำนาจนำ” “เครือข่ายในหลวง” (network monarchy) ฯลฯ มาอธิบายปริศนาของการเมืองไทยได้อย่างลงตัวและกระจ่างชัด อ่านแล้วจะเข้าใจการเมืองไทยลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิมและเห็นเครือข่ายชนชั้นนำไทยที่โยงใยเกาะเกี่ยวกันอย่างแน่นหนาและซับซ้อน ทั้งด้านที่ร่วมมือกัน ขัดแย้งกัน และแตกหักกันในแต่ละยุคสมัย หากคุณมีเวลาและเงินเหลือในกระเป๋าสำหรับหนังสือการเมืองเพียงเล่มเดียวในปีนี้ ขอแนะนำให้หาเล่มนี้มาไว้ในครอบครอง

2. สยามปฏิวัติ: จาก ‘ฝันละเมอ’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่อภิวัฒน์สยาม 2475. บทนำโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และคำบรรยายเปิดบทโดย กษิดิศ อนันทนาธร (Bookscape)

เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ “เทียนวรรณ” กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีความคิดมาก่อนกาล แต่ยังไม่เคยได้สัมผัสข้อคิดข้อเขียนของพวกเขามาก่อน หนังสือเล่มกะทัดรัดนี้ถือว่ามีคุณค่าสูง เพราะไปรื้อฟื้นบันทึกประวัติศาสตร์ของนักคิดปัญญาชนสำคัญในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทยผู้มาก่อนกาล ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ความคิดทางการเมืองยังเป็นเรื่องต้องห้ามมาจนถึงเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ไล่มาตั้งแต่คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 สมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะ, ความเรียง “ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ” โดย เทียนวรรณ, “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ” โดย ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้าคณะ ร.ศ. 130, บทความ “มนุษยภาพ” โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ปิดท้ายด้วยประกาศคณะราษฎรที่เชื่อกันว่ากลั่นขึ้นมาจากมันสมองของปรีดี พนมยงค์ อ่านเล่มนี้แล้วจะตระหนักว่าการปฏิวัติใด ๆ ในโลกล้วนก่อเกิดมาจากกระแสความคิดที่ล้ำยุคสมัยของมันเสมอ

3. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, เมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า: ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ.2513-2519 (Illuminations)

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของสังคมไทย น่าเสียดายที่อาจารย์มาจากไปก่อนเวลาอันควร ต้นฉบับเล่มนี้คือหนึ่งในงานเขียนที่บันทึกเรื่องราวอดีตในช่วงตอนสำคัญที่ตัวผู้เขียนเองได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย มันจึงเป็นทั้งงานวิชาการและการบันทึกยุคสมัยที่เต็มไปด้วยข้อมูลชั้นต้นจากผู้มีส่วนในการ “สร้าง” ประวัติศาสตร์ยุคนี้ขึ้นมา เล่มนี้ควรค่าแก่การอ่านในห้วงยามปัจจุบัน เพราะในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ มีเพียงยุค 2516-2519 และยุคปัจจุบันเท่านั้นที่พลังนักศึกษาก่อตัวกลายเป็นพลังทางสังคมที่มีบทบาทโดดเด่น แม้ว่าเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์จะแตกต่างกัน แต่บทเรียนจากการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในอดีตย่อมเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน

4. ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130 (มติชน)

เล่มนี้เดิมทีเป็นหนังสือหายาก และเป็นหนังสือสำคัญเล่มนี้ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ เขียนโดยผู้นำการปฏิวัติ ร.ศ. 130 จึงเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นว่าการปฏิวัติครั้งนี้ก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร และเหตุใดผู้นำคณะราษฎรจึงกล่าวว่าหากไม่มีการปฏิวัติ ร.ศ. 130 ก็ไม่มีการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร การตีพิมพ์ใหม่ครั้งนี้มีการจัดรูปเล่มอย่างสวยงาม และยังได้นักประวัติศาสตร์การเมืองอย่างอาจารย์ณัฐพล ใจจริง มาช่วยบรรณาธิการต้นฉบับ เพิ่มเติมภาคผนวกและเขียนบทความอธิบายเพิ่มเติมก็ยิ่งช่วยทำให้หนังสือเล่มนี้ทรงคุณค่ามากขึ้น ผู้อ่านจะได้เห็นสายธารของการถกเถียงและต่อสู้อันยาวนานในสังคมไทยว่าด้วย “อนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม” “ราชาธิปไตยกับประชาธิปไตย” ฯลฯ ที่ยังคงร่วมสมัยในปัจจุบัน เล่มนี้ควรอ่านคู่กันไปกับเล่ม สยามปฏิวัติ: จาก ‘ฝันละเมอ’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่อภิวัฒน์สยาม 2475 จะได้อรรถรสเพิ่มขึ้น

5. นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน (มติชน)

แม้ว่าหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรจะถูกตีพิมพ์ออกมามากมายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับเหตุการณ์และผู้คนในช่วงตอนสำคัญของสยามประเทศครั้งนั้นก็ยังมีอีกมากมาย หนังสือเล่มนี้ของนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ช่วยเสริมเติมเต็มจิ๊กซอว์หลายตัวที่ขาดหายไป ความโดดเด่นของเล่มนี้คือใช้หลักฐานใหม่ๆ จำนวนมากจำพวกหนังสืออนุสรณ์งานศพ และบันทึกหายากของบุคคลในประวัติศาสตร์ ทำให้อ่านสนุก เพลิดเพลินเพราะเต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ผู้เขียนเองได้รับฉายาจากคนในวงการว่าเป็น “สารานุกรมคณะราษฎรเคลื่อนที่” หรือ “แฟนพันธุ์แท้คณะราษฎร” ฉะนั้นข้อมูลจึงแน่นและลึก ถือว่าเป็นอีกเล่มที่หนอนหนังสือประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาด

6. นิโคลาส เวร์สแตปเปิน, การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์ (River Books)

หนังสือ 2 ภาษา (ไทยและอังกฤษ) พิมพ์สี่สีเล่มนี้ แค่ดูภาพประกอบอย่างเดียวก็ถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง ผู้เขียนเป็นนักวิชาการชาวเบลเยียมที่มาหลงเสน่ห์ของลายเส้นและเรื่องราวเกี่ยวกับการ์ตูนไทย หนังสือเล่มนี้รวบรวมและเล่าเรื่องราวกว่าร้อยปีของประวัติศาสตร์การ์ตูนไทย แม้ว่าจะมีนักเขียนการ์ตูนหลายคนที่หลุดรอดไม่ถูกศึกษาในงานชิ้นนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่ง ผู้เขียนบทความเองเคยใช้การ์ตูนของคุณประยูร จรรยาวงศ์ (ซึ่งถูกศึกษารวบรวมในเล่มนี้ด้วย) เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ในการศึกษาการเมืองช่วงสงครามเย็นและรัฐบาลเผด็จการทหารสมัยก่อน 14 ตุลาฯ ยอมรับว่าโลกของการ์ตูนมีความรุ่มรวยและน่าตื่นเต้น การ์ตูนเป็นทั้งสื่อรวมสมัย เป็นทั้งงานศิลปะ และเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่ส่องสะท้อนอุดมการณ์ ความคิด และจิตสำนึกร่วมสมัย การศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและการเมืองวัฒนธรรมผ่านวัฒนธรรมการ์ตูนจึงน่าสนใจและเปิดโลกให้ผู้อ่านเห็นอะไรมากมาย

7. อภิชาต สถิตนิรามัย, อิสร์กุล อุณหเกตุ, ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา (มติชน)

หนังสือเล่มนี้พาเราย้อนกลับไปไกลถึงยุคก่อนสนธิสัญญาเบาริ่ง แล้วค่อยๆ อธิบายการคลี่ยคลายและแปรเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจไทยนับจากนั้นเป็นต้นมา โดยชี้ให้เห็นว่าอำนาจทางการเมืองที่รวมศูนย์กับการผูกขาดทางเศรษฐกิจนั้นสัมพันธ์กันแนบชิดเพียงใด และโครงสร้างเช่นนี้เองที่ผลิตความเหลื่อมล้ำที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน และความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอย่างสูงในมือชนชั้นนำกลุ่มน้อยถืออุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย หากอยากเข้าใจความขัดแย้งทางการเมือง จึงต้องเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย และย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ อ่านแล้วจะเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่ประชาธิปไตยถูกสกัดกั้นไม่ให้เติบโตหยั่งราก งานชิ้นนี้อ่านไม่ยาก และเปิดหูเปิดตาอย่างไม่น่าเชื่อ

8. Aim Sinpeng, Opposing Democracy in the Digital Age: The Yellow Shirts in Thailand(University of Michigan Press)

หนังสือเล่มนี้ศึกษาขบวนการพันธมิตรฯ และกปปส. โดยใช้ข้อมูลที่หลากหลาย โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากจากสื่อโซเชียล เป็นงานศึกษาที่ใช้กรณีศึกษาของไทยเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกร่วมสมัย กล่าวคือ ชนชั้นกลางกลายเป็นพลังสนับสนุนการเมืองแบบอำนาจนิยมแทนที่จะเป็นพลังส่งเสริมประชาธิปไตย และสื่อโซเชียลสามารถถูกใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพและทำลายประชาธิปไตยแทนที่จะหล่อเลี้ยงให้เสรีภาพงอกงาม ทำให้เราต้องหันมาทบทวนบทบาทของภาคประชาสังคมและสื่อโซเชียลอย่างรอบด้านมากขึ้น งานชิ้นนี้ใช้ทฤษฎีและวิธีวิจัยที่รัดกุมรอบด้าน และช่วยให้เราเข้าใจความขัดแย้งในการเมืองไทยร่วมสมัยได้ชัดขึ้น

9. Puangthong Pawakapan, Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs (ISEAS)

สิ่งที่เป็นปริศนาประการหนึ่งคือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่กองทัพเข้ามามีบทบาทแทรกแซงทางการเมืองสุงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่เรากลับไม่ค่อยมีงานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับกองทัพ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ทำวิจัยและตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา งานชิ้นนี้เจาะลึกไปที่ประเด็นสำคัญยิ่งที่คนไม่ค่อยรับรู้ คือ การแทรกซึมของกองทัพเข้ามาในพื้นที่และกิจกรรมทางสังคม เพื่อควบคุมสอดส่องประชาชนและบั่นทอนให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ โดยเฉพาะการจัดตั้งมวลชนของรัฐ และปฏิบัติด้านสงครามจิตวิทยาและข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกเรียกขานว่า “ปฏิบัติการ IO”  หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการทั้งต่อวงวิชาการและต่อสาธารณชนอย่างสูง และตอกย้ำให้เราตระหนักว่าตราบใดที่ไม่มีการปฏิรูปกองทัพก็ยากที่ประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานในสังคมไทย

10. IN TRODUCTION TO NO.112 (iLaw)

แม้จะแนะนำเป็นเล่มสุดท้าย แต่เล่มนี้คือหนังสือที่เข้ากับสถานการณ์ของสังคมไทยในเวลานี้มากที่สุด หนังสือเล่มนี้เขียนในเชิงตั้งคำถาม 12 คำถามที่มักจะถูกถามเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่รู้จักกันสั้น ๆ ทั่วไปว่า “ม.112” เช่น ประเทศอื่นมีกฎหมายแบบนี้หรือไม่, ทำไมคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรานี้มักไม่ได้ประกันตัว ฯลฯ หลังจากนั้นจะมีการตอบคำถามด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างหนักแน่นไปทีละคำถาม เมื่ออ่านจบ รับประกันว่าผู้อ่านจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่ถูกพูดถึงมากที่สุดมาตรานี้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ ไม่ว่าคุณจะจัดตัวเองว่าอยู่เฉดไหนทางการเมือง นี่คือหนังสือที่ควรค่าแก่การสละเวลาอ่าน เพราะเล่มนี้คือ หนังสือเกี่ยวกับ ม.112 ที่อ่านเข้าใจง่ายและให้ข้อมูลรอบด้านที่สุด