ก้อนอิฐในมือสามัญชน
ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
ความสามารถในการเชื่อมต่อกับโลกดิจิทัลที่ผู้คนแต่ละกลุ่มมีแตกต่างกันไปนั้น กำลังทำให้ความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ในสังคม กลายพันธุ์เป็นความเหลื่อมล้ำที่มีรูปแบบซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างของปรากฎการณ์นี้ในสังคมไทยคือ จำนวนผู้คนมหาศาลที่ตกหล่นจากระบบการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือเยียวยาโควิดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นผลจากการออกแบบนโยบายที่ไม่เข้าใจมิติที่ทับซ้อนระหว่างช่องว่างใหม่กับช่องว่างทางดิจิทัล
จะว่าไป ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลนี้อาจไม่ต่างจากพฤติกรรมของไวรัสสายพันธุ์ใหม่เท่าใดนัก ตรงที่มันมีผลกระทบต่อกลุ่มคนแต่ละกลุ่มหรือแต่ละพื้นที่ในลักษณะที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคม
ที่สำคัญ ช่องว่างทางดิจิทัลมักจะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-สังคมที่มีอยู่เดิม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเปรียบเทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้สูง ครัวเรือนที่ยากจนมักอยู่ในกลุ่มที่มีการเข้าถึงและความสามารถในการเชื่อมต่อกับโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ของโลกดิจิทัลได้ค่อนข้างจำกัด กลุ่มอื่น ๆ ที่มีสามารถเข้าถึงได้น้อยเพราะข้อจำกัดในแง่ทรัพยากร ก็มักเป็นกลุ่มคนชายขอบเดิม คือ กลุ่มคนในชนบท ผู้หญิง และคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายของรัฐที่ละเลยความสามารถในการเชื่อมต่อจึงเป็นนโยบายที่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำหรือสร้างความไม่เป็นธรรมให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น
รายงานการศึกษา เรื่อง “ช่องว่างทางดิจิทัลกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม: มองหาความสัมพันธ์จากประสบการณ์ในเอเชีย” ที่จัดทำโดยสถาบันสำหรับศึกษาด้านการพัฒนาแห่งฟิลิปปินส์ และเผยแพร่ในเดือนธันวาคม ปี 2020 ค้นพบว่าในภาพรวมของภูมิภาคเอเชีย คนกลุ่มที่มีความสามารถในการเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมากที่สุด มักจะเป็นกลุ่มคนที่อาศัยในเมืองหรือพื้นที่ที่มีรายได้สูง, กลุ่มคนที่มีช่วงอายุไม่ต่ำหรือไม่สูงจนเกินไปที่จะเรียนรู้และใช้สอยเทคโนโลยี, กลุ่มคนที่เป็นผู้ชาย, กลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาสูงหรือได้รับการฝึกฝนทักษะ,และสุดท้าย กลุ่มคนที่มีระดับความไว้วางใจต่อเทคโนโลยีในระดับสูง
ในบทความนี้ ผมต้องการแนะนำปรากฎการณ์ที่เรียกว่าช่องว่างทางดิจิทัล แนวคิดที่มีอายุมากกว่าสองทศวรรษ แต่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักหรือเข้าใจกันนัก
การปฏิวัติเชิงดิจิทัล (digital revolution) ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสัมพันธ์แนบแน่นแทบเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตประจำวัน จนเกิดพื้นที่ใหม่อย่างน้อยสามส่วน
หนึ่ง ภาคเศรษฐกิจที่กำลังถูกทำให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น เมื่อการติดต่อ-ซื้อขายถูกทำผ่านช่องทางที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและความเร็วที่สูงขึ้น
สอง เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมผู้บริโภคกับทางเลือกที่หลากหลายและวิธีการที่สะดวกมากขึ้น
สาม โลกของข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประตูเปิดไปสู่ข้อมูลและความรู้ที่กว้างหรือลึกกว่า ขณะเดียวกัน สิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตทั้งหลายกำลังถูกเชื่อมเข้าสู่ศูนย์กลางผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
ขณะที่อินเตอร์เน็ตกลายเป็นสาธารณูปโภคที่แทบจะขาดไม่ได้ในสังคมอีกต่อไป ในลักษณะเดียวกับถนนหนทาง หรือระบบประปาและไฟฟ้า แต่อินเตอร์เน็ตยังคงเป็นสินค้าเอกชนที่การเข้าถึงยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายของแต่ละคน ความไม่ลงรอยระหว่าง “ความจำเป็น” ของอินเตอร์เน็ต ถึงขั้นที่รัฐจะต้องเข้ามาจัดหาสาธารณูปโภคเชิงดิจิทัลให้กับทุกคน กับ “การเข้าถึง” ผ่านระบบตลาดและเงินนี้เอง ที่ทำให้ประเด็นเรื่องช่องว่างทางดิจิทัลกลายเป็นเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจที่เร่งด่วน โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งมากที่สุดของโลกอย่างประเทศไทย
สังคมไทยไม่สามารถดำเนินไปบนสมมุติฐานว่าคนทุกคนหรือทุกกลุ่มมีความสามารถในการเข้าถึงโลกดิจิทัลในระดับเดียวกันอีกต่อไป เพราะการเพิกเฉยเท่ากับว่าสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าระบบการศึกษา การแข่งขันทางเศรษฐกิจ หรือตลาดแรงงาน จงใจที่จะให้แต้มต่อกับกลุ่มคนที่มีความได้เปรียบ พูดง่ายๆ การละเลยที่จะจัดการกับช่องว่างทางดิจิทัล (digital divide) จึงเท่ากับปล่อยให้คนที่มีการเข้าถึงและได้รับโอกาสมากกว่า หาประโยชน์จากความได้เปรียบที่มีอย่างเต็มที่ และทำให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลถ่างช่องว่างระหว่างชนชั้นให้ขยายกว้างมากยิ่งขึ้น
ช่องว่างทางดิจิทัล (digital divide) ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้แบ่งคนออกเป็นแค่สองกลุ่ม
สังคมไทยอาจไม่คุ้นหูกับคำว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล” แต่แนวคิดนี้ถูกใช้โดยหนังสือพิมพ์หลายฉบับในสหรัฐฯ เมื่อ 26 ปีที่แล้ว ก่อนแนวคิดที่แนวคิดจะแพร่กระจายไปยังยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ
ในช่วงเวลามากกว่าสองทศวรรษ เกิดนิยามและความเข้าใจที่หลากหลายสำหรับคำว่าช่องว่างทางดิจิทัล ถึงขั้นที่มีการเสนอให้ยกเลิกการใช้แนวคิดนี้ เพราะความคลุมเครือและความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงช่องว่างทางดิจิทัล ความเข้าใจที่ถูกต้องคือ ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนที่สามารถและกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิทัล
ข้อมูลจากหนังสือ The Digital Divide โดยจาน วาน เดค (Jan van Dijk) ที่ตีพิมพ์ในปี 2020 อธิบายว่าการใช้อุปมาอุปมัยของ “ช่องว่าง (divide)” ที่มักทำให้เราเห็นภาพของรอยแยก อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ปรากฎการณ์นี้มีความชัดเจนตรงไปตรงมาราวกับว่ามีเส้นแบ่งระหว่างคนสองกลุ่มให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งที่จริงแล้ว ความเหลื่อมล้ำในเชิงดิจิทัลซับซ้อนกว่านั้นมาก เพราะเราสามารถมองปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมจากหลายมุมมอง เช่น ในมุมมองด้านนวัตกรรม ที่ให้ความสนใจกับโอกาสในการเข้าถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือในมุมมองของการมีส่วนร่วม ที่สนใจการกีดกัน อุปสรรค หรืออภิสิทธิ์ ที่เกิดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีแบบดิจิทัล โดยเฉพาะเมื่อช่องทางดิจิทัลกลายเป็นช่องทางสำคัญในการระบุตัวตนและเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐ เป็นต้น
การเข้าไม่ถึงจึงหมายถึงการถูกกีดกันออกจากการคุ้มครองทางสังคมและระบบสวัสดิการของรัฐไปโดยปริยาย
กลุ่มคนหลากหลายมักมีระดับการเข้าถึง ความสามารถและโอกาสในการใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึง (access) อย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่ การเข้าถึงเชิงวัตถุ (material access), การเข้าถึงด้านทักษะ (skills access), การเข้าถึงด้านการใช้งาน (usage access) และการเข้าถึงด้านแรงจูงใจ (motivational access)
กลุ่มชายขอบด้านดิจิทัลจึงอาจประสบกับการขาดแคลน ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งหรือหลาย ๆ ด้านพร้อม ๆ กัน ได้แก่ ขาดแคลนทุน, ขาดทักษะ, ขาดโอกาสและความสามารถการใช้งาน, และขาดแรงจูงใจ ซึ่งเกิดจากช่องว่างของการเข้าถึงเชิงปัญญา (mental access divide) มาอีกต่อหนึ่ง
การขาดแคลนทุนนั้นเกิดขึ้นจากราคาหรือต้นทุนสำหรับอุปกรณ์และการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตที่ยังราคาสูง ส่วนการขาดในด้านทักษะนั้น เกี่ยวข้องกับความสามารถในการใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ต่างๆ ส่วนการขาดด้านแรงจูงใจอาจเป็นประเด็นที่เข้าใจยากกว่าประเด็นอื่น หมายถึงความเชื่อมั่นและความต้องการที่จะเป็นเจ้าของหรือลงทุนในอุปกรณ์เชื่อมต่อ อย่างเช่นคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน และในระบบอินเตอร์เน็ต ในเชิงวิชาการ ระดับความเชื่อมั่นและความต้องการนี้มีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางด้านสังคม วัฒนธรรม และจิตวิทยา
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนต่าง ๆ อาจขาดแรงจูงใจในการใช้และเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น พวกเขาอาจขาดความสนใจ เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งโดยหลักการ เมื่อเทคโนโลยีนั้นสุกงอมหรือได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลาย ความสนใจหรือคาดคาดหวังเรื่องประโยชน์ที่ผู้คนจะได้รับก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หรือในบางกรณี ผู้ใช้อาจขาดความมั่นใจ เพราะกังวลว่าตนเองไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งอาจเกิดกับคนที่สูงอายุหรือขาดทักษะพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีมาก่อน
ในกรณีของแพลตฟอร์มในประเทศไทย ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การพัฒนาอย่างรวดเร็วของภาคเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ประกอบกับผลกระทบของการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่กำลังทำให้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนในชนชั้นแรงงานรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม เพราะภาคเศรษฐกิจแพลตฟอร์มกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการเชื่อมต่อกับโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากงานวิจัยที่ผมได้ศึกษาสภาพการทำงานของคนงานแพลตฟอร์ม อย่างเช่นไรเดอร์หรือคนงานหญิงในภาคการดูแล แสดงให้เห็นว่าคนงานจำนวนมากแบกรับต้นทุนของอุปกรณ์และสัญญาณอินเตอร์เน็ตด้วยตนเอง โดยไม่ได้รับการพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงทั้งในเรื่องทักษะ การใช้ประโยชน์และแรงจูงใจเลย นัยของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งใช้ความได้เปรียบจากความสามารถในการเข้าถึงทั้ง 4 ประการ ดูดซับเอาส่วนเกินจากมูลค่าตลาดที่เกิดขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าที่ตนสมควรได้รับ การกระจายผลได้ทางเศรษฐกิจกลับไปกระจุกตัวที่ชนชั้นนำของเศรษฐกิจใหม่ กระบวนการนี้ผลิตซ้ำช่องว่างทางชนชั้นโดยทำให้เกิดคนชายขอบเชิงดิจิทัลที่มีทัศนคติในแง่ลบและความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัลน้อยลงเรื่อย ๆ
ในขณะที่แพลตฟอร์ตประเภทต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ต่างจากการแตกตัวของอะมีบา ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการทำงาน แพลตฟอร์มที่พักอาศัย แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ส และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ฯลฯ เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังถูกเปลี่ยนเป็นสนามของการช่วงชิงและขูดรีดมูลค่าอย่างป่าเถื่อนและไร้กฎกติกา
ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลกำลังกลายเป็นใจกลางของปัญหาความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม มันเป็นมากกว่าเรื่องของความยุติธรรมในการกระจายผลได้ (distributive justice) ทางเศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงความยุติธรรมของการมีส่วนร่วม (participative justice) เพราะคนจำนวนมากกำลังถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจในตลาดแรงงาน และส่งผลให้ลูกหลานของพวกเขาเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา (นึกถึงการเรียนออนไลน์ ของครอบครัวยากจนในชนบท) และการมีส่วนร่วมทางการเมือง (ในอนาคต การแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายใหม่ จะต้องทำผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก) ของพวกเขาด้วย