"แรงงานเสี่ยง" ความเปราะบางใหม่ที่พรากชีวิตคนรุ่นใหม่ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาผมมีโอกาสบรรยายให้นักศึกษาและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยประเทศฟินแลนด์ในประเด็นปัญหาของ “แรงงานเสี่ยง” กลุ่มแรงงานแบบใหม่ที่มีการขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปีที่ผ่านมา และกลายเป็นตัวชี้วัดต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก แน่นอนที่สุดผมได้นำเสนอว่าแนวทางระยะยาวจำเป็นต้องนำเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในฐานะทางออกของปัญหานี้

Precariat รวมมาจากสองคำคือ Precarious (เปราะบาง) Proletariat (ผู้ใช้แรงงาน)รวมกันว่า Precariat หรือแปลได้ว่า แรงงานเสี่ยง ถูกใช้โดยนักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ Guy Standing เมื่อราวปี 2010 ซึ่งหมายถึงกลุ่มแรงงานที่แบกรับความเสี่ยงแทนชนชั้นนายทุน มีชั่วโมงการทำงานไม่แน่นอน รายได้ไม่แน่นอน สัญญาจ้างไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลต่อสภาพชีวิตประจำวันก็จึงไม่มีความแน่นอนตามมาด้วย นอนไม่เป็นเวลา ตื่นไม่เป็นเวลา ทำงานไม่เป็นเวลา และไม่มีเวลาสำหรับการพักผ่อนหรือมีชีวิตส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรับใช้ระบบทุนเลย Standing นำเสนอว่าการขยายตัวของแรงงานเสี่ยงจะทำให้เกิดบรรยากาศปลอดการเมือง หรือผู้คนถูกขโมยชีวิตจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก

คำว่าแรงงานเสี่ยง-Precariat แม้จะถูกใช้กว้างขวางในทางนโยบายและวิชาการมากว่าสิบปีแล้ว แต่ก็ยังถูกพูดน้อยในสังคมไทย ซึ่งเราอาจคุ้นกับคำว่า “แรงงานนอกระบบ” “แรงงานอิสระ” ฯลฯ แต่ก็เป็นคำที่ไม่ได้ฉายภาพ “แรงงานเสี่ยง”-Precariat ที่ครอบคลุม เมื่ออธิบายเจาะลงไปว่าหมายถึงกลุ่มไหนบ้าง Alex Foti ได้จำแนกไว้ในปี 2017 ว่าประกอบด้วย ชนชั้นว่างงาน หรือกลุ่มที่ไม่มีงานประจำ ทำงานรับจ้าง เหมาค่าแรง หรือรับงานกลับไปทำที่บ้าน หรือไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีงานเมื่อไร ซึ่งอาจรวมถึงแรงงานในครอบครัวด้วย ซึ่งแม้ในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วก็ยังมีกลุ่มนี้สูงถึง 25-30% ของวัยทำงาน  รวมถึงกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ที่มีรายได้ไม่แน่นอนและมีระยะเวลาของการรอคอยการมีรายได้ที่มั่นคงเป็นระยะเวลานาน เช่น นักเขียนบทที่รอคอยให้บทตัวเองถูกนำไปสร้าง หรือ นักวาดที่วาดรูปปริมาณมากโดยไม่มีรายได้เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้รวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบแพล็ตฟอร์มที่ไม่มีอำนาจในการต่อรองต่อรายได้ของตัวเอง “แรงงานเสี่ยง” กลายเป็นกลุ่มคนมหาศาล ที่ทำงานหนัก ซึ่งส่วนหนึ่งแล้วก็ถูกทำให้เชื่อผ่านสำนึกของการเป็นผู้ประกอบการแบบปลอม ๆ เช่นการใช้คำว่าเป็นหุ้นส่วนหรือนายตัวเองแต่แท้จริงแล้วคือผู้แบกรับต้นทุนมหาศาลแทนกลุ่มทุนใหญ่

การขยายของแรงงานเสี่ยงมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำทางเพศ มีรายงานว่าเมื่อลักษณะการจ้างงานแบบแรงงานเสี่ยงขยายตัวก็จะมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศสูงขึ้นผู้หญิงและ LGBT มีโอกาสเผชิญกับสภาวะการเป็นแรงงานเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เช่นเดียวกันกับปัญหาสุขภาพระยะยาวของผู้คนที่เมื่อสุขภาพไม่ดีอำนาจการต่อรองต่อการมีงานที่มั่นคงย่อมลดลง เช่นเดียวกันกับปัญหาที่ถูกส่งต่อสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อนาคตของพวกเขาไม่ได้สดใสแต่แบกรับความลำบากไว้อย่างมากภายใต้สภาวการณ์การจ้างงานที่ไม่มั่นคง

ดังนั้น แม้เราจะไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นไก่หรือเป็นไข่ อะไรเกิดก่อนหรือเกิดหลัง แต่การพัฒนาระบบสวัสดิการที่ดีย่อมทำให้การขยายตัวของแรงงานเสี่ยงลดลง โดยผมทำการเปรียบเทียบระบบสวัสดิการในประเทศต่าง ๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่าเมื่อมนุษย์เติบโตในสังคมที่สวัสดิการแตกต่างกันพวกเขาจะมี สุขภาพ การสนับสนุนของสังคม รวมถึงชีวิตคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร จากการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดีกว่าจะส่งผลให้ เรามีเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่สามารถพึ่งพาได้เยอะกว่า ซึ่งสวนทางกับความเข้าใจที่ว่าเมื่อมีระบบสวัสดิการที่ดีคนจะไม่สนใจกัน สวีเดน และนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีคนวัยกลางคนระบุว่าพวกเขามีเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่สามารถพึ่งพาได้สูงที่สุดหรือร้อยละ 96 ของประชากร ส่วนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นนับว่ารั้งท้ายในกลุ่มประเทศ OECD

ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสวัสดิการที่ดีกับการได้รับสนับสนุนทางสังคม

นอกจากนี้ผมยังได้เสนอต่อไปว่า ประเทศที่ระบบสวัสดิการที่ดีมีโอกาสที่จะทำให้คนรุ่นใหม่อายุ 15-24 ปีมีงานทำหรือได้รับการศึกษาระดับสูงมากขึ้น หรือทำให้คนรุ่นใหม่มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นแรงงานเสี่ยงน้อยลง

ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสวัสดิการที่ดีกับจำนวนคนอายุ 15-24 ปีที่ไม่ได้เรียนหรือทำงาน

ปัญหาแรงงานเสี่ยง เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกแต่ก็น่าสนใจมากว่าปรากฏการณ์การขยายตัวของแรงงานเสี่ยงไม่ได้อยู่ในสุญญากาศเพราะมีกลุ่มชนชั้นนำทั้งโลกได้รับประโยชน์จากการที่คนส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน ทำงานหนักและไร้อำนาจต่อรอง เพราะการทำงานของคน 99% ทำไปเพื่อให้คน 1%ร่ำรวยและทรงอำนาจมากขึ้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่ชนชั้นนำ 1% จึงพยายามอย่างยิ่งในการชะลอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หรือพยายามทำลายเพื่อให้ความเหลื่อมล้ำขยายออก ทางออกสำคัญต่อวิกฤติแรงงานเสี่ยงคือการกลับมาที่เรื่องพื้นฐานผ่านการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ว่าในประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่หรือเล็กก็ตาม