“ม.112 ยังมีความจำเป็น เพราะว่าประเทศไทยควรมีสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ม.112 คือสิ่งที่ใช้ปกป้องสถาบันฯ หากจะเปลี่ยน ม.112 ให้กลายเป็นกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป เราคิดว่ามันจะเกิดเรื่องวุ่นวาย เป็นการเพิ่มภาระให้สถาบันฯ” – พลอย คนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนการมีอยู่ของ ม. 112
“อยากให้ยกเลิก ม.112 คนทุกคนสามารถพูด ตรวจสอบสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างเป็นธรรม มันควรมีเสรีภาพที่จะพูดกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งสามารถพูดได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อีกฝ่ายตั้งคำถาม กลายเป็นว่าจะโดนกล่าวหาว่าไม่รักชาติ” – เพชร ธนกร ภิระบัน เยาวชนที่ถูกสั่งฟ้อง ม.112 ทั้งหมด 3 คดี
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63 – 22 พ.ย. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 158 คน ใน 164 คดี โดยส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดี จากการโพสต์บนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์อย่างน้อย 68 คน จากการปราศรัยในที่ชุมนุมอย่างน้อย 51 คน การแสดงออกอย่างอื่นต่อพระบรมฉายาลักษณ์อย่างน้อย 23 คน การติดป้ายหรือชูป้ายอย่างน้อย 19 คน และจากการแต่งกายชุดครอปท็อปอย่างน้อย 8 คน
นอกจากนี้ข้อมูลจาก ilaw ยังชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ทุกปี โดยปี 2550 ครองสถิติมากสุดอยู่ที่ 126 คดี ตามติดๆ ด้วยปี 2564 ที่มีจำนวนคดีความอยู่ที่ 125 คดี และถึงวันที่เขียนอยู่นี้ก็ยังไม่สิ้นสุดปี
ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดแคมเปญให้ประชาชนลงชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ซึ่ง ณ ขณะนี้ (25 พ.ย. 64) มีผู้ลงชื่ออยากให้ยกเลิกทั้งสิ้น 233,438 รายชื่อ
ทั้งนี้กลุ่มไทยรักษา ก็ได้มีการตั้งโต๊ะลงชื่อไม่แก้ไข – ไม่ยกเลิก ม.112 โดยทางแกนนำกล่าวว่า จะมีการล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลเปิดเผยออกมาอย่างแน่ชัดว่าได้กี่รายชื่อแล้ว
ต้องยอมรับว่าในสังคมตอนนี้ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ยกเลิก ม.112 และหากเราคิดอยู่บนความเชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมีเหตุผลเป็นของตัวเอง งานเขียนชิ้นนี้จึงอยากชวนผู้อ่านไปพูดคุยกับคนทั้ง 2 ฝ่าย ที่อาศัยอยู่โลกเดียวกันในชีวิตจริง แต่กลับมีความคิดต่างกัน เหมือนอยู่บนโลกคู่ขนาน เมื่อพูดถึงประเด็น ม.112
เมื่อฟังโดยไม่ตัดสินจากเหตุและผลของอีกฝ่าย เราอาจจะได้มุมมอง การรับรู้ที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่เราได้อ่านหรือได้เห็นที่ผ่านมา
ไม่ยกเลิก 112 ‘เห้ย สลิ่มว่ะ’
“เวลามีคนมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ แรกๆ เรารู้สึกเครียดอึดอัด มันเหมือนเขามาดูถูกความเชื่อความศรัทธาของเรา มันเกิดคำถามในใจว่าทำไม เขาถึงเผยแพร่ข้อมูลสร้างความเกลียดชังแบบนี้ขึ้นมา ถ้าวันนี้เขายกเลิก ม.112 มันคงวุ่นวายหลายอย่าง”
พลอย (นามสมมุติ) บัณฑิตป้ายแดง สาขาวิชาภาษาไทย ที่ชัดเจนในการแสดงจุดยืนของตัวเอง สนับสนุนการมีอยู่ของ ม.112 เธอกล่าวว่าเห็นด้วยกับม็อบคนรุ่นใหม่ในหลายประเด็น แต่เมื่อม็อบมีการกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 บุคคลต้นแบบของเธอ ทำให้เธอเลือกที่จะออกมายืนในฝั่งตรงข้าม
“ช่วงต้นปี 63 เราไปร่วมสังเกตการณ์เกือบทุกครั้งที่มีการชุมนุม ช่วงแรกที่ม็อบพูดถึงประชาธิปไตยเราเห็นด้วย แต่พอช่วงหลังๆ ม็อบมีการพูดถึงรัชกาลที่ 9 สำหรับเรา คือมันไม่ใช่”
พลอยกล่าวต่อว่า เธอยึดหลักการดำเนินชีวิตมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9
“ท่านสอนให้คนพอเพียง มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนรวย เรารู้สึกว่าท่านเก่งมาก ในวันที่ทุนนิยมเริ่มเข้ามาครอบครองประเทศไทย ท่านก็พยายามให้คนพึ่งพาตนเองให้ได้ เพื่อมาต้านทานทุนนิยมที่มันแรง เราคิดว่าด้วยวิธีการนี้มันจะทำให้ทุนนิยมไม่กลืนกินเรามากไป”
สำหรับพลอย สมัยก่อนสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจ ที่ทำให้เธออยากทำความดี แต่ ณ ปัจจุบันเธอกล่าวว่ามีมุมมองต่อสถาบันฯ เปลี่ยนไป เธอมองว่าสถาบันฯ เป็นองค์กรหนึ่งที่มีไว้คานอำนาจนักการเมืองเพราะเธอคิดว่า
“ที่มาของนักการเมืองเราไม่สามารถสืบได้ เขาอาจจะมาหวังผลประโยชน์ แต่สำหรับสถาบันฯ เรารู้สึกว่าเขามีจารีต วิธีการที่จะอบรมบ่มเพาะ เตรียมตัวที่จะเป็นพระมหากษัตริย์มาตั้งนานแล้ว มันมีจิตวิญญาณ เลยรู้สึกว่าสถาบันฯ ยังคู่ควรที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของใครหลายๆ คนต่อไป”
ภาพจาก: พลอย (แหล่งข้อมูล) ภาพจาก: พลอย (แหล่งข้อมูล)
ดังนั้นจุดยืนของเธอจึงเชื่อว่า ม.112 จะช่วยปกป้องสถาบันฯ แต่เธอก็เสนอว่าควรมีขอบเขตของกฎหมายให้ชัด แม้เธอจะสนับสนุนการมีอยู่ แต่เธอก็บอกเราว่า
“ควรจะมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้รู้ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแบบไหน”
และหากคนส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิกหรือแก้ไข เธอก็ยอมรับตามเสียงส่วนใหญ่ เพราะสำหรับพลอยนั้นการที่จะปกป้องสถาบันฯ ไม่ได้มีเพียงแค่การใช้ ม.112 อย่างเดียว เราถามเธอต่อว่า แล้วอะไรคือวิธีการปกป้องสถาบันฯ ให้ยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป
“อันดับแรกหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ต้องเลิกทำอะไรบ้ง ๆ ก่อน เช่นขึ้นป้ายวัคซีนพระราชทาน เราคิดว่ามันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอวยออกนอกหน้า ไม่ต้องไปอ้างว่าของสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของในหลวง วิธีการที่จะรักษาสถาบันให้สง่างามที่สุดสำหรับเรา คือการอยู่เฉยๆ มันอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก แต่เรารู้สึกว่า ใครมีหน้าที่อะไร ก็ควรทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด”
หลังเธอแสดงความคิดเห็นจบ เราได้แชร์เรื่องราวในระหว่างการหาแหล่งข้อมูล คนที่สนับสนุน ม.112 และพบว่าหลายคนปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ จนกระทั่งเราติดต่อพลอย และเธอขอใช้เวลา 1 วันในการตัดสินใจที่จะมาพูดคุยกับเรา อะไรคือความกังวลในการออกมาแสดงความคิดเห็นของเธอ
“เราแค่รู้สึกว่า การที่เราแสดงความจงรักภักดี โดยเฉพาะในช่วงปี 63 มันเป็นเรื่องที่ต้องเก็บซ่อน มันเป็นเรื่องที่คนเขาจะแบบ ‘เห้ย สลิ่มว่ะ’ เราอึดอัด เกิดความรู้สึกแปลกแยกกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน มันมีการแบ่งเขาแบ่งเราในใจแล้ว ทำให้เรารู้สึกไม่อยากคลุกคลีกับเพื่อนหรือคนรู้จัก”
สิ่งที่สูญเสียไปของพลอยต่อการแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ คือการสูญเสียเพื่อนบางคน แต่อย่างที่กล่าวไปตอนต้น หากนอกเหนือจากเรื่องสถาบันฯ ข้อเรียกร้องหลายๆ อย่างในม็อบ ก็เป็นสิ่งที่เธอเห็นด้วย เช่น เรื่องทุนผูกขาด การปฏิรูปข้าราชการ และเธอก็ยังเชื่อมั่นว่า ณ วันนี้ การยกเลิก ม.112 เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย แต่ในอนาคตเธอมองว่ามันเปลี่ยนแปลงได้
“ความคิดมันเป็นเรื่องที่เปลือกไม่ใช่แก่น วันหนึ่งมันอาจเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าวันหนึ่งเรากลายเป็นคนส่วนน้อย เราคงต้องยอมรับตามคนส่วนใหญ่ของสังคม แต่ว่าเราก็ต้องยึดมั่นในสิ่งที่เราคิดว่าถูก ถึงแม้วันข้างหน้าเราจะกลายเป็นคนส่วนน้อย แต่เราก็คงแสดงอะไรบางอย่างเพื่อให้เขารู้ว่า มีคนคิดแบบนี้อยู่นะ
“แม้เราอาจจะดูไม่ได้การยอมรับในสายตาคนอื่น แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ได้โกหกความคิดตัวเอง”
ในตอนท้ายเราถามเธอถึงความคิดเห็น เมื่อมีคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเธออยู่ในเรือนจำ หรือต่อสู้คดีอยู่ในชั้นศาล จาก ม.112
“ถ้าเกิดไปฟังผู้ใหญ่ เขามักจะบอกว่า เสียดายอนาคต โดนคนอื่นหลอกใช้ แต่มันไม่มีใครจูงจมูกใครได้ง่าย ๆ หรอก มันเป็นความคิดอุดมการณ์ของเขา เมื่อเขาเลือกแล้วต้องยอมรับผลที่ตามมา
“เราไม่ได้ชื่นชมในสิ่งที่พวกเขาทำ แต่มันก็เป็นความคิดของเขา เมื่ออยากจะทำอะไรบางอย่าง เพื่อแสดงความจริงออกมา มันก็ต้องแลกกับอะไรบางอย่าง”
ยกเลิก 112 ของคนเป็นภัยความมั่นคงต่อรัฐ
“เราไม่คิดว่าเราจะเป็นเยาวชนคนแรกที่ต้องมานั่งโดนอัยการสั่งฟ้อง ม.112 เราไม่ได้เตรียมใจขนาดนี้ เหมือนเราเอาชีวิตเราไปผูกกับสถานการณ์การเมือง ในขณะที่เราก็ยังไม่ทิ้งที่จะหาความฝันของตัวเอง
“ตั้งแต่ชีวิตโดนหมายจับ ม.112 ชีวิตเปลี่ยนไปมาก จากวันที่เคยเลิกเรียนเสร็จไปนั่งเล่นกับเพื่อน ไปดูหนัง หรือไม่ก็หางานพาร์ทไทม์ทำ แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ต้องออกมาอาศัยอยู่ข้างนอก เพราะกลัวว่าคนที่บ้านจะถูกคุกคาม ชีวิตที่จะกลับไปเป็นแบบเดิมมันคงไม่มีแล้วแหละ”
เพชร ธนกร ภิระบัน เยาวชนที่ถูกสั่งฟ้อง ม.112 ในวัยเพียง 17 ปี เบื้องหลังชีวิตของเพชรนั้น เกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ ในครอบครัวหาเช้ากินค่ำ เธอไม่ได้มีพ่อแม่พี่น้อง หรือเพื่อนที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ส่วนเหตุผลที่เธอออกมาเคลื่อนไหวนั้น เธอกล่าวว่าล้วนมาจากความสนใจของเธอเอง
“เรื่องการเมืองมันเข้ามาอยู่ในหัวสมองเราตั้งแต่ช่วงประถม อาจจะด้วยตอนเด็กชอบเข้าร้านเกมเล่นเฟสบุ๊ก ใช้โซเชียลมาตั้งแต่เด็ก จึงได้เห็นข้อมูลข่าวสาร มันคือการที่เราได้เห็นชีวิตของผู้คนมากมายที่ไม่ใช่ตัวเราแค่คนเดียว แต่มันคือการอยู่ร่วมกันในสังคม”
จากความสนใจดังกล่าวทำให้เพชรตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมม็อบมีนาคม 63 ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับเพชรม็อบคือพื้นที่ที่ทำให้ได้ส่งเสียง เพราะเพชรไม่สามารถพูดคุยเรื่องนี้กับคนรอบข้างได้อย่างเข้าใจ แต่การออกไปส่งเสียงของเพชร และโดนแจ้ง ม.112 ก็เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย
“เราไม่คิดว่าเราจะเป็นเยาวชนคนแรกที่โดนอัยการสั่งฟ้อง ม.112 เราไม่ได้เตรียมใจขนาดนี้ เหมือนเราเอาชีวิตเราไปผูกกับสถานการณ์การเมือง ในขณะที่เราก็ยังไม่ทิ้งที่จะหาความฝันของตัวเอง”
ความฝันของเพชร คือการอยากเป็นคนมีชื่อเสียง (อินฟลูเอนเซอร์ / ส.ส.) เพชรอยากเป็นกระบอกเสียงพูดแทนคนอื่น โดยมี ส.ส.รังสิมันต์ โรม เป็นแบบอย่างที่อยากดำเนินรอยตาม
เพชร ธนกร ภิระบัน
สำหรับคดี ม.112 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของเพชรนั้นมีทั้งหมด 3 คดี โดยคดีที่ 1 เป็นการขึ้นปราศรัยที่ท่าน้ำนนท์ เมื่อกันยายนปี 63 คดีที่ 2 การปราศรัยเมื่อเดือนธันวาคมปี 63 ที่ม็อบวงเวียนใหญ่ และคดีที่ 3 การที่เพชรไปชูป้ายที่สยามพารากอน ว่าต้องการให้ยกเลิก 112 โดยเธอให้เหตุผลที่ต้องการอยากให้ยกเลิกเพราะว่า
“ความไม่แฟร์ของ ม.112 ขอบเขตมันกว้างเกินไป และมันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่เอาไว้แจ้งคนที่เห็นต่าง ไม่ได้คิดในแนวคิดของคนส่วนใหญ่ที่เคยคิดในประเทศนี้ มันกลายเป็นกฎหมายที่เอาไว้ปิดปากคนที่เห็นต่างไม่ให้เราพูด หรือตั้งคำถาม”
เพชรกล่าวต่อว่าเตรียมใจไว้บ้างแล้วเหมือนกัน ที่สักวันอาจจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ
“เผื่อใจไว้บ้างแล้วคงเป็นการเปลี่ยนที่นอน พ่อเราเขาก็เครียด ถ้าต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เราเป็นห่วงแค่ครอบครัว เพราะเราเป็นความหวังเดียวของบ้าน ถ้าต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ และใครจะเป็นความหวังของครอบครัวแทนเรา”
สิ่งที่เพชรต้องสูญเสียตั้งแต่ถูกดำเนินคดี มีทั้งเรื่องเรียน การไม่ได้มีชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัว โดยความหวังของเพชรตอนนี้คือ การที่ไม่ต้องติดคุกและชนะในการเคลื่อนไหวตามข้อเรียกร้อง
บางคนอาจเกิดคำถามว่าถ้าไม่อยากสูญเสียและจะออกมาเคลื่อนไหวทำไม เพชรให้เหตุผลกับเราว่า
“ชีวิตทุก ๆ คนก็อยากที่จะมีความสุขอยู่กับคนที่รักทั้งนั้นแหละ รู้อยู่แล้วว่าที่พูดออกมามีความเสี่ยง แต่เราอยู่ในสังคมที่ต้องคอยมานั่งซุบซิบกันมานานแล้ว เราอยากอยู่ในสังคมที่เขาเห็นคุณค่าในตัวมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน”
เพชรยังคงเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิดแสดงออกมา และบอกว่าเวลายังอยู่ข้างพวกเขา เวลาจะผลิตคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดความเชื่อในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก
เพชรจึงกล่าวว่าในช่วงเวลาดังกล่าว จะดีกว่าไหมถ้าทั้งฝ่ายที่สนับสนุน ม.112 และฝ่ายที่อยากให้ยกเลิกต่างปรับตัวอยู่ในขอบเขตของตัวเอง
“คนที่ยังสนับสนุน ม.112 คงอยากบอกว่าอย่าไปแจ้งความเลย การที่คุณยิ่งแจ้งมันยิ่งไม่ได้ทำให้สถาบันฯ ดูสง่างามขึ้น มันจะเป็นข้อดีสำหรับฝ่ายคุณด้วยซ้ำหากหยุดแจ้งความ ทุกวันนี้เหมือนคุณราดน้ำมันและจุดไฟไปเรื่อย ๆ มันก็ยิ่งแรงขึ้นเรื่อย ๆ คำว่ารุนแรง คือมันจะกลายเป็นภาพจำที่คุณจารึกลงประวัติศาสตร์ ว่าคุณได้ทำอะไรลงไป”
ก้าวผ่านความกลัว ม.112 ทุกเสียงล้วนมีความหมาย
สังคมไทยในวันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากำลังต่อสู้กับความกลัวในประเด็น ม.112 ความกลัวที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างช้านาน และความกลัวจะหายไปจากสังคม จำเป็นต้องอาศัยการส่งเสียงที่ตัวเองคิดออกมาเพื่อแลกเปลี่ยนกัน และเสียงนั้นต้องได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียม โดยไม่ถูกตัดสินทั้งจากสังคม และกระบวนการของรัฐ
เหมือนดั่งที่เพชรและพลอยส่งเสียงออกมา และเราก็เชื่อว่าเขาทั้ง 2 แม้จะคิดเห็นต่างกัน แต่พวกเขาก็เคารพ และยอมรับเสียงของอีกฝ่ายที่คิดเห็นไม่เหมือนพวกเขา
และในสังคมที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ ล้วนมีเสียงที่แตกต่างมากกว่าแค่ 2 เสียงนี้ หากเราต่างส่งเสียง ในประเด็นความคิดเห็นที่เรามีต่อ ม.112 มันอาจจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายปัญหา และไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร คงเดิม ยกเลิก แก้ไข ดั่งที่พลอยบอกเราว่า “เธอก็พร้อมที่จะยอมรับเสียงของคนส่วนใหญ่” และสังคมก็มีโอกาสข้ามผ่านประเด็น ม.112 ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับกำจัดคนคิดต่างอย่างที่ผ่านมา
“เราคิดว่ามันจะมีคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่รุนแรงทั้ง 2 ฝั่ง ฝ่ายสนับสนุนสถาบันฯ เราก็จะเห็นข่าวอยู่บ่อย ๆ ประมาณว่า ‘เห้ยทำไมมึงไม่รักสถาบันวะ’ เราก็อยากบอกให้เขาใจเย็น ๆ พักก่อน ‘เอ็งนั่นแหละที่จะทำลายสถาบัน’ ฝั่งประชาธิปไตยก็มีเหมือนกัน มีทั้ง 2 ฝั่ง เราเลยรู้สึกว่าควรที่อย่าให้อุดมการณ์ ความศรัทธามาครอบงำเรา จนกลายเป็นคนที่ไปยัดเยียดความคิดเห็นให้กับคนอื่น” – พลอย คนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนการมีอยู่ของ ม. 112
“ถ้าอยากรู้ว่าคนที่โดนแจ้งความกฎหมาย 112 รู้สึกอย่างไร อยากให้คุณลองนึกตามว่าถ้าคุณเห็นต่างกับใครสักคน และมีคนมาแจ้งความคุณ โทษจำคุก 3-15 ปี แค่คุณอยากมีเสรีภาพในการพูด ถ้าวันหนึ่งคุณถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยความมั่นคงรัฐ คุณก็คงจะเข้าใจบ้างและเห็นความผิดปกติที่มันเกิดขึ้น มันไม่ควรมีใครมาโดนจับคุกเพราะการหมิ่นประมาท” – เพชร ธนกร ภิระบัน เยาวชนที่ถูกสั่งฟ้อง ม.112
อ้างอิงข้อมูลจาก
– https://tlhr2014.com/archives/23983?fbclid=IwAR2ico2kYqgRuW-lVXs1htsiyo4QKGQUSd5zdEYQ7vVSnZtMfj1nJ2OeYAA
– https://freedom.ilaw.or.th/node/994
– https://freedom.ilaw.or.th/node/923