ทำไมต่างจังหวัดถึงต่างจากกรุงเทพฯ ทั้งคุณภาพชีวิต การเดินทาง การศึกษา หรือโอกาสในการทำงาน ต่างกันได้มากขนาดนี้ ? De/code พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่ต่างเกิดและเติบโตคนละในเมืองที่ต่างกันออกไป แต่พูดถึงความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาจับต้องได้ นิยามเป็น
เราคุยกับ ตั้น เด็กกรุงเทพฯ ที่มักจะไปเที่ยวต่างจังหวัดบ่อย ๆ เธอมักจะมองเห็นปัญหาที่ตนไม่เคยเจอที่กรุงเทพฯ ตามมาด้วย กี้ เด็กที่เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัว เลยทำให้แม่ของกี้ต้องเอาเขาไปให้ยายเลี้ยงที่ต่างจังหวัด แต่ด้วยความคิดถึงแม่ เขาเลยย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ตอนประถม แล้วกำลังจะย้ายไปอยู่ที่ต่างจังหวัดอีกครั้ง และมาย เป็นเด็กที่เกิดที่ต่างจังหวัด แต่ได้ย้ายมาเรียนมัธยมด้วยเหตุผลที่ย้ายตามพ่อแม่มากรุงเทพฯ จนเป็นคำถามว่า ทำไมต่างจังหวัดถึงต่างจากกรุงเทพฯ และกลายเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉย สำหรับคนรุ่นใหม่ทั้ง 3 คน
กรุงเทพฯ VS ตจว. ต่างกันตรงไหนเอาปากกามาวง
“เรื่องการเดินทาง ในกรุงเทพฯ จะมีถนนที่กว้างกว่าต่างจังหวัด แถมถนนต่างจังหวัดยังเป็นหลุมเป็นบ่ออีก”
ตั้นพูดเปิดจากครั้งที่เธอเคยไปต่างจังหวัด ความรู้สึกนั้นเต็มไปด้วยความสงสัยที่สถานที่ตรงหน้าเธอ ต่างจากสถานที่ที่เธอเคยอยู่ ทั้งสัญญาณไฟจราจรที่ไม่ได้มีมาก รถสาธารณะที่ไม่เข้าถึงชุมชนที่เธอไป หรือไฟส่องสว่างเพราะสถานที่ที่เธออยู่นั้นเต็มไปด้วยแสงสว่าง และการเข้าถึงของสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศ ก็ควรได้รับ
“สิ่งที่แตกต่างเลย คือสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตของต่างจังหวัดจะไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวก เหมือนที่กรุงเทพฯ และโอกาสในการทำงานของกรุงเทพฯ ก็มากกว่าต่างจังหวัด”
มายพูดเชิงตัดพ้อเมื่อเธอได้เห็นกรุงเทพฯ ในมุมต่าง ๆ ที่ต่างจากต่างจังหวัดที่เธอเคยมา สิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่ต่างจังหวัดไม่มีแล้วกรุงเทพฯ กลับมี หรือโอกาสในการในการทำงานที่ทำให้ครอบครัวเธอ และตัวเธอต้องย้ายจากต่างจังหวัด เพื่อหาหนทางอยู่รอดของชีวิต
กระจายความเจริญสู่ต่างจังหวัด
ตั้นพูดถึงสิ่งที่กรุงเทพฯ มี แต่ต่างจังหวัดไม่มีจากครั้งที่เธอเคยได้ไปต่างจังหวัดว่า “ต่างจังหวัด รถประจำทางก็ไม่มี แท็กซี่ก็ไม่มี ส่วนรถไฟฟ้าอย่าหวังเลย ถ้าไม่มีรถส่วนตัวที่ต่างจังหวัด การเดินทางมันจะลำบากมาก มันก็อาจจะมีรถประจำทางแต่มันก็น้อยอยู่ดี แล้วถ้าเราไปไม่ทันรอบของเขา เราก็อาจต้องเดินไปเลย ซึ่งมันก็ไม่ใช่ใกล้ ๆ แล้วยังอันตรายอีก แต่กรุงเทพฯ ถึงจะเดินไกลแต่ก็ยังพอมีไฟส่องสว่างอยู่ อาจจะไม่ได้ปลอดภัยมากขนาดนั้น แต่มันก็เพิ่มความปลอดภัยขึ้นมา”
“การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ความทันสมัยต่าง ๆ เพราะว่าต่างจังหวัดมีการเติบโตน้อยกว่ากรุงเทพฯ เลยจำเป็นที่จะพัฒนา 2 อย่างนี้ เพื่อทำให้ต่างจังหวัดมีคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจที่ดี สำหรับการท่องเที่ยวและอีกมากมาย”
กี้ได้พูดประโยคข้างต้น แล้วอธิบายต่ออีกว่า “จริง ๆ มันไม่ควรหยุดพัฒนาแค่สองอย่างนี้ มันควรพัฒนาในทุก ๆ ด้าน แต่ที่เราเน้น 2 อย่างนี้ เพราะมันเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน กรุงเทพฯ มีแต่ตึก แต่ถ้าในต่างจังหวัดก็แทบจะไม่มีตึกเลย มันก็เลยค่อนข้างที่จะต่างกันด้านสภาพแวดล้อม และยังมีอีกเรื่องเลยคือ เรื่องการศึกษา การศึกษาในกรุงเทพฯ มันดีกว่าตรงที่มันมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า และที่กรุงเทพฯ ก็มีอุปกรณ์การเรียนมากกว่าต่างจังหวัดด้วย”
ถอดสมการงานกระจุกจนกระจาย
เมื่อมีจิ๊กซอว์เราก็ต้องต่อเพื่อให้เห็นรูป แต่บางทีรูปที่เราได้จากจิ๊กซอว์กลับไม่ได้แสดงออกมาชัดเจน ทำให้เราต้องมานั่งถอดรหัสจากสิ่งนั้นอีกที เมื่อเราแก้รหัสนั้นได้แล้ว เราก็จะได้พบกับความหมายของสิ่งนั้นจริง ๆ แล้วนำมาแก้ปัญหาได้ตั้นจึงได้ค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์ว่า
“คนที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหาด้านการเดินทางก็ควรที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่มัวแต่อยู่เฉย ๆ แล้วรอให้คนเข้ามาเรียกร้องให้แก้ปัญหา เขาควรที่จะออกมาถามชาวบ้านว่า ให้แก้ปัญหาตรงไหน เพราะบางทีเขาก็คิดที่จะทำอะไรโดยที่ไม่ปรึกษา แล้วสิ่งที่ตามมามันเป็นปัญหาที่ชาวบ้านได้รับไม่ใช่เขา เช่น การสร้างถนน ที่เวลาสร้างก็แสนจะนาน ชาวบ้านก็ต้องลำบากในการเดินทาง ทั้ง ๆ ที่มันควรจะทำให้สะดวกสบายขึ้น กลับทำให้เขาลำบากขึ้น เขาควรที่จะถามชาวบ้าน แล้วนำปัญหาเหล่านั้นมาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มัวแต่นั่งเฉย ๆ แล้วทำให้ชาวบ้านต้องมานั่งแก้ปัญหากันเอง”
“ธุรกิจต่าง ๆ ควรกระจายตัวมาที่ต่างจังหวัด ไม่ใช่กระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ แล้วคนก็ต้องไปหางานทำที่กรุงเทพฯ เพราะว่างานที่ต่างจังหวัดมันน้อย”
มายได้กล่าวประโยคข้างต้นด้วยความรู้สึกของเธอที่ต้องจากบ้านเกิดมา นอกจากนี้มายยังพูดถึงธุรกิจในไทย ที่มักกระจุกตัวอยู่แต่กรุงเทพฯ งานส่วนใหญ่เลยมาอยู่แต่ในกรุงเทพฯ แล้วเมื่อธุรกิจกระจายตัว งานต่าง ๆ ก็จะตามมา มันก็จะลดปัญหาต่าง ๆ เช่น การหางานในต่างจังหวัดยาก หรือประชากรในกรุงเทพฯ ที่มากเกินไป
คนเคลื่อนย้าย มูฟออนเป็นวงกลม
เมื่อที่ใดมีความเจริญ ที่นั่นผู้คนจะตามไปอยู่ด้วย ที่แห่งนั้นก็จะยิ่งเจริญมากขึ้น แล้วสถานที่ที่พวกเขาเคยได้ย้ายมา ความเจริญก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลงจนหนทางที่จะหาความเจริญ มีเพียงอย่างเดียว คือการย้ายที่อยู่
“คนมีเงินซื้อรถ แล้วถ้าคนไม่มีเงินจะทำอย่างไร”
ตั้นได้พูดประโยคข้างต้น ที่สอดแทรกด้วยความเหลื่อมล้ำของการเดินทาง คนรวยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็เดินทางสะดวก แต่คนจนที่ไม่มีทางเลือกมาก ทั้งการย้ายที่อยู่ หรือตัวเลือกในการเดินทางในต่างจังหวัด บางวันพวกเขาอาจต้องเดินหลายชั่วโมงเพื่อไปทำงาน
กี้พูดถึงความเหลื่อมล้ำของการศึกษาว่า “บางคนที่เขาขาดโอกาสในการเรียน ก็ด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่น สภาพแวดล้อม หรือโอกาสในการศึกษาต่าง ๆ เลยทำให้บางทีการศึกษาที่เราทุกคนอาจมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็ได้เรียน แต่ว่าบางทีในคำธรรมดานั้น มันอาจเป็นความฝันสักครั้งหนึ่งในชีวิตที่คนคนหนึ่งฝันไว้ว่าจะได้เรียน แต่ความฝันนั้นอาจต้องสลายไป ด้วยเรื่องสภาพแวดล้อม หรือการเงิน”
วาดฝันชีวิตไว้ที่ต่างจังหวัด
ในตอนนี้พวกเขาทั้ง 3 คน คุ้นชินการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มากกว่าต่างจังหวัดเสียอีก เราเลยให้พวกเขาวาดภาพชีวิต ว่าจะเป็นอย่างไรหากต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด
ตั้นได้วาดฝันในฐานะคนกรุงเทพฯ คนหนึ่ง เธอได้กล่าวว่า “การไปที่ไปอยู่ต่างจังหวัดมันก็ดี ในฐานะที่เราเป็นคนกรุงเทพฯ มันดีตรงอากาศดี สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่วุ่นวายเหมือนในกรุงเทพฯ แต่ก็ใช่ว่ามันจะดีเสมอไป มันก็มีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น การเดินทางที่มันค่อนข้างจะลำบาก ถ้ามีไม่มีรถส่วนตัว ความสะดวกสบายของต่างจังหวัดอาจไม่เท่ากับกรุงเทพฯ แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันอยู่ดี”
กี้พูดถึงชีวิตเรียบง่ายในต่างจังหวัดว่า “เราก็ยังนึกภาพไม่ค่อยออกว่ามันจะเป็นยังไง ถ้าไปอยู่ที่ต่างจังหวัดแบบถาวร แต่ก็คงเป็นเหมือนคนทั่ว ๆ ไป ที่ก็ใช้ชีวิตสบาย ๆ ทำไร่ ทำสวน อยู่กับครอบครัว มันก็ดูน่าจะมีความสุขดีนะ ในความคิดของเรา เราไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเป็นจริงไหม แต่ถ้าเป็นได้จริง ๆ มันก็ดี”
“ก็คงจะหาอะไรทำ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ถ้าคิดว่าจะกลับจริง ๆ ในเมื่อมีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้ก็จะพยายามเก็บเกี่ยวให้ได้มากที่สุด แล้วก็กลับไปพัฒนาให้มันดีขึ้น”
มายพูดถึงชีวิตเรียบง่ายที่เธอวาดฝันไว้ เธอตั้งใจที่จะค่อย ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แล้วนำไปปรับใช้ที่ต่างจังหวัด เพราะเธอคิดว่า เมื่อมาในที่ที่หาความรู้ได้มากกว่าที่ต่างจังหวัด เอก็เลยต้องเก็บเกี่ยวให้มาก ๆ แล้วนำกลับไปพัฒนาให้ต่างจังหวัดดีขึ้น เธอได้พูดตัดพ้อว่า “อาจจะไม่เท่ากับกรุงเทพฯ แต่มันก็อาจจะดีกว่าแต่ก่อนของต่างจังหวัดก็ได้”
ทุกคนก็คงจะได้เห็นมุมมองของเรื่องนี้จากทั้ง 3 คนแล้ว เราจึงยกหนึ่งในความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด ที่เราอาจเห็นได้ชัด คือการเดินทาง โดยเก็บความสงสัยเหล่านี้ไปถามอุ้ม วิภาวี กิตติเธียร หนึ่งในทีมพัฒนาของ Mayday ผู้เป็นแรงขับเคลื่อนให้คนไทยใช้รถสาธารณะมากขึ้น
จุดเริ่มต้นของ Mayday “เราเริ่มจากธุรกิจโฮสเทลก่อน พอโฮสเทลมีความแตกต่างจากอันอื่น เราชวนแขกในโฮสเทลไปเที่ยวชุมชน พอทำไปมา เราก็รู้สึกว่า มันมีประเด็นในการท่องเที่ยวชุมชน หรือว่าการท่องเที่ยวในอีกรูปแบบ ที่ไม่ใช่ท่องเที่ยวในกระแสหลัก เราก็เลยจัดตั้งกลุ่มหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า trawell พอเราทำ ทำให้เรามองเห็นว่า จริง ๆ การเดินทางมันเป็นสาเหตุของปัญหาหลาย ๆ อย่างของการพัฒนาเมือง ระบบขนส่งสาธารณะมันยังมีปัญหาเรื่องการเซอร์วิส หรือว่าเรื่องการสื่อสาร หลังจากนั้นก็สนใจเริ่มทำเป็นกลุ่ม Mayday ขึ้นมา เราอยากให้คนมาใช้การขนส่งสาธารณะ” วิภาวีกล่าว
จำเป็นต้องมี แต่ไม่มี
วิภาวีได้เล่าให้เราฟังว่า “การเดินทางควรตอบโจทย์การใช้ชีวิต ใช้เวลาน้อยให้คนสามารถนำเวลาไปหารายได้ หรือไปใช้พื้นที่สาธารณะ ซึ่งมันจะสามารถขยายขอบเขตความก้าวหน้าอื่น ๆ ”
โดยเราจะยกตัวอย่างปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้คนไม่ค่อย(อยาก)ใช้ขนส่งสาธารณะ เช่น การใช้เวลาเดินทางที่มาก ความปลอดภัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนมากมายต้องยอมเก็บเงิน ยอมเป็นหนี้เพื่อที่จะมีรถไว้เดินทางที่สามารถตอบโจทย์ มากกว่าการไปเผชิญกับสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าลำบากแน่นอน
ความแตกต่างของระบบขนส่งสาธารณะระหว่างต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องเวลา ความน่าใช้งาน เรื่องเวลาที่เราอาจไม่รู้ว่ารถจะมาตอนไหน รอแล้วรอเล่าก็ไม่มาสักที จนบางทีต้องกัดฟันเดินไปแทน แล้วเหตุใดเราถึงต้องเดิน ทำไมในต่างจังหวัดไม่มีรถไฟฟ้า หรือสิ่งอำนวยความสะดวกได้มากเท่ากับกรุงเทพฯ
“การออกแบบระบบขนส่งสาธารณะมันอยู่ที่ความหนาแน่นของประชากร เช่น ถ้าต่างจังหวัดที่ไม่ได้มีความหนาแน่นของประชากรสูงมากขนาดนั้น เป็นเทศบาลที่ไม่มีจำนวนคนเยอะมาก เราไม่จำเป็นต้องสร้างรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ว่าถ้าเราจะต้องมีรถสองแถวหรือว่ารถเมล์ อย่างน้อยมันควรจะอยู่ในมาตรฐานเดียวกันที่ไว้วางใจได้” วิภาวีกล่าว
พัฒนา แต่จับต้องไม่ได้
“การพัฒนาการขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องตอบด้วยค่าเดินทางที่สูงขึ้นอย่างเดียว”
ค่าเดินทางที่มากขึ้นตามการพัฒนา แล้วเหตุใดการพัฒนาถึงต้องตามมาด้วยค่าเดินทางที่สูงขึ้น โดยวิภาวีได้บอกไปเมื่อประโยคขึ้นต้นว่า การพัฒนาไม่จำเป็นต้องมีค่าเดินทางที่สูงขึ้น แล้วยังกล่าวต่อว่า
“สิ่งเหล่านี้ควรเป็นรัฐสวัสดิการที่รัฐมอบให้ ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ทำไมรายได้ไม่สูงขึ้นตาม นอกจากนั้นการขึ้นราคาต้องมีรูปแบบการให้บริหารที่ดีขึ้นตามไปด้วย”
แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับแตกต่างเช่น ค่ารถเมล์ที่สูงขึ้นจาก 6.5 บาท เพิ่มไปที่ราคา 8 บาท แต่ทำไมรถเมล์ยังเป็นเหมือนเดิม ยังไปในที่ต่าง ๆ ไม่ทั่วถึง
หลังจากที่เราได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ปัญหาเหล่านี้อาจหมดไป หากรัฐบาลกระจายความเจริญออกไปสู่ที่อื่น ๆ ที่นอกจากกรุงเทพฯ ถ้าทำแบบนี้ ก็คงไม่ต้องจำใจจากครอบครัวมาเพื่อหางานที่กรุงเทพฯ ต้องจากครอบครัวเพื่อมาเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพมากกว่า หรือย้ายมาอยู่ที่แลกกับการเป็นหนี้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ในเมืองแห่งการกระจุกตัวของความเจริญ