เป็นฟรีแลนซ์ จึงเจ็บปวด - Decode
Reading Time: 3 minutes

ถ้าคุณไม่เกลียดวันจันทร์ แต่เกลียดทุกๆ วันที่ตื่นมา เราคือเพื่อนกัน เพราะการทำงานของฟรีแลนซ์ต่างจากงานประจำ อาชีพนี้มีอิสระสูง รายได้ก็สูงตามแต่ข้อเสียคือรายได้ไม่มั่นคง ทำให้เกิดความเครียดเพราะไม่มีสวัสดิการและความมั่นคง

ศัพท์คำว่าฟรีแลนซ์เริ่มได้ยินกันอย่างหนาหูคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ของผู้กำกับอย่าง เต๋อ-นวพล ธำรงค์รัตนฤทธิ์ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์กระแสหลักเมื่อปี 2558 เป็นต้นมา

ส่วนฟรีแลนซ์ 2564 จะเป็นอย่างไรวันนี้ De/code จะเล่าผ่านมุมมองของหนังสือภาพยนตร์ศึกษาและอาชีพยอดฮิตที่ไร้ซึ่งการคุ้มครองของกฎหมายแรงงานอย่างไรเดอร์ พาร์ตเนอร์-บริษัทแพลตฟอร์มที่ไร้สวัสดิการและถูกรัฐหลงลืม

เราทุกคนล้วนเป็นยุ่นในบางเวลา

ฟรีแลนซ์ฯ (2558) หนังในดวงใจของใครหลายคน ที่เล่าถึงอาชีพรับจ้างไม่ประจำของตำแหน่งกราฟิก อย่างที่ ยุ่น (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) กำลังทำอยู่อย่างบ้าคลั่ง จนทำให้เขาเกิดโรคประหลาดที่คาดว่าน่าจะเป็น ‘อาการแพ้’ ไม่พบสาเหตุ 

ที่กล่าวว่าเราอาจเคยเป็นยุ่น คำว่าเรานั้นก็หมายถึงฟรีแลนซ์ หรือผู้ว่าจ้างรับงานอิสระในสาขาต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมในคุยสมัยนี้ ความรับผิดชอบของตำแหน่งนี้คือต้องบริหารจัดการเวลาเอาเอง ถึงทำงานกลางคืนนอนกลางวันก็ไม่มีใครว่า และยังต้องบริหารเงินให้พอใช้ในแต่ละเดือน นี่คือภาระที่ฟรีแลนซ์เกือบทุกคนต้องพบเจอ

ตอนดูหนังแล้วเห็นยุ่นอดหลับอดนอนเพื่อทำงานให้ออกมาดีสักชิ้น มันทำเราเกิดคำถามเสมอว่า

“ทำไปทำไม ร้อนเงินหรือเปล่า” เป็นคำถามเดียวกับที่หมออิม (รับบทโดย ดาวิกา โฮร์เน่) ถามยุ่นด้วยความเป็นห่วง

และเป็นอีกครั้งที่ยุ่นทำการตบหน้าคนดูแบบ ‘เรา’ ชาวฟรีแลนซ์อย่างแรง จริง ๆ อาจไม่ใช่แค่ยุ่น แต่มันเป็นจังหวะที่เรากำลังซัดหน้าตัวเองอย่างสะบักสะบอม เพราะในเรื่องของการพักผ่อนเราไม่ได้ต่างจากยุ่นนัก ที่เห็นงานสำคัญกว่าคุณภาพชีวิต และบางครั้งก็ไหลตามกระแสของเม็ดเงินและภาระที่ล้นมือ ต่างเพียงแค่ไม่มีหมออิมก็เท่านั้น เพราะชีวิตจริงก็ยังมีพี่เป้งอยู่

“คุณอึดมาก งานนี้ผมนึกถึงคุณคนแรก ทำให้เสร็จแล้วเราไปนิวยอร์คด้วยกันนะ” พี่เป้ง ตัวละครในภาพยนตร์กล่าว พี่เป้ง (ต่อพงศ์ จันทบุบผา) ตัวละครที่สร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นความบ้างานของยุ่น ด้วยการหยิบยื่นคำชมผสมกับแรงกดดัน ถ้าให้เปรียบก็คงคล้ายกับการที่แม่พยายามป้อนยาผสมน้ำหวาน เพียงแต่พี่เป้งไม่ได้เป็นห่วงสุขภาพยุ่นแม้แต่น้อย เขาสนใจแค่งานของเขาก็เท่านั้น

การที่พี่เป้งโดนถล่มจากแฟนหนัง เป็นบทเรียนว่าไม่มีใครควรเป็นพี่เป้งในชีวิตของใคร และไม่มีใครควรเป็นยุ่นที่รับงานอย่างไม่เป็นธรรมจากพี่เป้งด้วยเช่นกัน ทุกคนควรเรียนรู้ที่จะจัดความสมดุลให้แก่งานทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

“ฟรีแลนซ์มักถูก ‘มือที่มองไม่เห็น’ เหล่านี้ขูดรีดแรงงาน (โดยไม่กดขี่) จนตายซากแล้วก็ทิ้งไปหาร่างใหม่หรือหากต้นทุนคนเก่าเริ่มสูงขึ้นก็เลือกจ้างเด็กจบใหม่ราคาถูก” เอกสิทธิ์ หนุนภักดี นักเขียนจากประชาไทกล่าวในบทความ

ถ้ายุ่นเลือกงานเขาจะเสียชีวิต ถ้ายุ่นเลือกชีวิตเขาจะเสียงาน นี่คือทางเลือกที่ไม่มีใครอยากเลือก

เมื่อพี่สุชาติเปลี่ยนยูนิฟอร์ม

พี่สุชาติในปีพ.ศ. 2558 ทำอาชีพมอเตอร์ไซต์รับจ้างหรือที่คนนิยมเรียกว่าวินมอไซต์ฯ งานของพี่สุชาติเปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอยของการคมนาคมในกรุงเทพฯ เพราะคนเมืองต้องการความฉับไวในการเดินทาง ฟรีแลนซ์หรือคนในช่วงนั้นก็ต้องพึ่งพาพี่สุชาติเหมือนกันกับเจ๋ (วิโอเลต วอเทียร์)

แต่ปัจจุบันมีธุรกิจแพลตฟอร์มอย่าง Grab , Line man , Robinhood ฯลฯ เข้ามา ทำให้อาชีพวินมอไซต์ฯ ถูกแย่งลูกค้า บางคนก็ปรับเปลี่ยนมาทำงานเป็นไรเดอร์ เพื่อที่จะสามารถรับรายได้หลายทางและเป็นอิสระ เปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นนายตัวเองโดยไม่ถูกนายจ้างโขกสับ

แต่งานประเภทแพลตฟอร์มจัดประเภทผู้ให้บริการเป็นเพียง ‘พาร์ตเนอร์’ ไม่ใช่ลูกจ้าง หมายความว่าแรงงานจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย ต้องดูแลจัดการชีวิตตนเองเหมือนงานรับจ้างอิสระ ทั้งที่พาร์ตเนอร์เหล่านั้นไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ และใช้เวลาแต่ละวันทำงาน 8 – 14 ชั่วโมงต่อวัน การมองข้ามสิทธิและสวัสดิการเหล่านั้นไม่ต่างจากการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทั้งยังต้องทำตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพ หากทำผิดกฎบริษัทยังมีบทลงโทษถึงขั้นการระงับบัญชี (ข้อมูลจากThe momentum)

“ข้อเสียของไรเดอร์คือไม่มีอะไรรับรองชีวิตเรา ส่วนใหญ่ที่เกิดอุบัติเหตุสำหรับคนส่งอาหาร คือ การทำรอบ ต้องเร็ว แล้วอีกอย่างคือต้องเข้าใจว่าได้เงินน้อย ถ้าคุณยิ่งช้าคุณก็ได้รายได้น้อย” พรเทพ ชัชวาลอมรกุล ไรเดอร์ประสบการณ์ 4 ปีที่ครั้งหนึ่งเคยวาดฝันว่าอาชีพไรเดอร์จะเป็นอนาคตใหม่ของเขากล่าว

“เห็นมีประกันอุบัติเหตุให้ จริงๆ แล้วคือมีไว้เฉยๆ แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเลย 20 เคส จะผ่านสักหนึ่งเคสที่บริษัทช่วย”เขากล่าวต่อด้วยสีหน้าที่จริงจัง

จากคำให้สัมภาษณ์ของไรเดอร์ยิ่งทำให้เราควรจะต้องหันกลับมาตั้งคำถามถึงการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์และแพลตฟอร์มว่าแท้จริงแล้วกฎหมายที่เรายึดใช้อยู่ทุกวันนี้เหมาะสมและยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายหรือไม่ หรือมีเพียงแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการนิยามเช่นนี้  (อ้างอิงจากบทความ‘ไรเดอร์’ สองล้อที่บิดเบี้ยวของอาชีพแห่งอนาคต)

มองฟรีแลนซ์ ในมุมนักวิจารณ์หนัง

นอกจากมุมมองของคนดูที่มีต่อหนังเรื่องนี้แล้ว ยังมีหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ศึกษาเล่มหนึ่ง ที่กล่าวถึงหนังไทยในแง่มุมต่างๆ ทั้งหนังผี หนังตลก หนังบู๊ เรียกได้ว่ามีทุกแนวในวงการบ้านเรา คือหนังสือเรื่อง ภาพยนตร์ในชีวิตไทย มุมมองของภาพยนตร์ศึกษา เขียนโดย อัญชลี ชัยวรพร 

ในเล่มนี้จะมี 5 ส่วน ภาพยนตร์เรื่องฟรีแลนซ์ฯ อยู่ส่วนที่ 4 เกี่ยวกับประพันธกร (นักประพันธ์) ยุคโพสต์โมเดิร์น และมีภาพยนตร์เรื่องอื่นที่อยู่ในบทนี้ด้วยกันคือเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ของเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

“หากดูเผินๆ แล้วอาจจะเป็นหนังสือรวมบทวิจารณ์ แต่หากอ่านให้ดีจะเห็นได้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นการแสดงความทะเยอทะยานทางวิชาการที่สูงกว่านั้น ” เจตนา นาควัชระ กล่าวไว้ในหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้

ทฤษฎีประพันธกร เป็นวิธีการวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์รูปแบบหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ของผู้กำกับที่มีต่องานทั้งชิ้น ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพล และมุมมองทางศิลปะของผู้กำกับ (หน้า 146)

ส่วนของ ยุ่น ที่เป็นกราฟิกมือทองทำงานยุ่งตลอดเวลา ทำให้ในการถ่ายทำต้องใช้มุมกล้องแบบแฮนด์เฮลด์แทบตลอดเวลาเพื่อแสดงภาวะยุ่งเหยิงอลเวง กลับกันกับตัวละคร หมออิม ที่ใช้วิธีแช่กล้อง เพราะบทของเธออยู่ในห้องตรวจคนไข้เล็กๆ 

ในเชิงประพันธกร หลายคนบอกว่านวพลเป็นผู้กำกับที่มีลายเซ็นเฉพาะตัว เขาเป็นผู้กำกับอินดี้ที่ทำงานบนฐานอิสระ มุ่งผลิตงานที่ไม่เน้นดารา และมีการใช้ภาษาสไตล์หนังอาร์ต (หน้า 150)

สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “ลายเซ็น” ของเขาอยู่ที่เนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นการออกนอกลู่นอกทางแบบคนรุ่นใหม่เชิงหยอกล้อ หรืออารมณ์ความเหงาของตัวละครแบบนวพล อย่างเช่น การที่คนบ้างานเหงาจนต้องไปตีแบดกับพนักงานร้านสะดวกซื้อในเรื่องฟรีแลนซ์ฯ การที่แมรี่โทรกลับมาหาซูริเพื่อคุยเรื่องจิปาถะในเรื่อง Mary is happy หรือแม้แต่การที่จีนนั่งเล่นเปียโนคนเดียวในฮาวทูทิ้ง ทั้งหมดถูกวัยรุ่นสมัยนี้เรียกว่า เหงาแบบนวพล

เพราะเป็นฟรีแลนซ์ จึงเหงาและเศร้า

เหงาแบบนวพล ต่างจากเหงาแบบอื่น ถ้าเหงาแบบหว่อง (หว่อง กาไว) ก็คงจะเป็นการเหงาท่ามกลางผู้คนมากมายบนฟิล์มสีสันฉูดฉาดกับบทพูดสุดแสนประหลาดในสถานการณ์ประหลาด แต่เหงาแบบนวพล เป็นการเหงาที่สมองไม่ว่างเพราะกำลังโฟกัสเป้าหมายบางอย่างอยู่ แต่พอบรรลุเป้าหมาย ตัวละครจะกลับมาเหงาราวกับว่าเขาไม่มีคนที่จะให้เขาไปหาตอนประสบความสำเร็จหรือผิดหวัง

ยกตัวอย่างเช่น ยุ่น ตอนที่พี่เป้งให้เขาส่งงานภายในสองสัปดาห์ เนื้อเรื่องอยู่ในส่วนสุดท้ายของหนัง ยุ่นอดนอนสิบเอ็ดวัน ตุ่มขึ้นเต็มร่างกายของเขา โลกโอนเอนไปมา แล้วเขาก็ล้มลงหัวกระแทกกับพื้น กล้องหยุดนิ่งพร้อมกับถ่ายแช่ยุ่นที่ล้มหัวฟาด ตาของเขาไม่กระพริบเหมือนคนใกล้หมดลมหายใจ

เขาเริ่มจินตนาการงานศพ มีวงดนตรีที่ชอบบรรเลง คนที่มางานมีเจ๋ – รุ่นน้องที่สนิท พงศธร-เพื่อนเก่า ไก่-พนักงานร้านสะดวกซื้อ แม่ และหมออิม เป็นงานศพที่ดูเหงาสุดๆ เพราะท้ายที่สุดในงานนั้นไม่มีแม้แต่พี่เป้ง ไม่มีงาน แต่สุดท้ายเขาก็เผลอฉุกคิดขึ้นมาว่าถ้าพี่เป้งมาเห็นเค้าทำงานจนกำลังตายแบบนี้พี่เป้งคงจะดีใจ

ภาพตัดมาที่ยุ่นกำลังนอนใกล้หมดสติ

พี่เป้งคว้าคอเสื้อยุ่นให้ลุกขึ้นมาและตบหน้า 

เขาฟื้นขึ้นมาที่โรงพยาบาล พี่เป้งบอกให้เขาทำงานต่อให้เสร็จ

จบ./

แก่นของเรื่องคือจุดที่พี่เป้งไม่แม้แต่จะสนใจสุขภาพของแรงงานอย่างยุ่น ซ้ำทุกคนในเรื่องยังเป็นผลผลิตจากระบบทุนนิยม คือทำงานเพื่อให้มีเงิน แต่ไม่มีสิทธิได้ใช้เงินที่หามา สุดท้ายเงินก็เลยหมดไปกับค่าหมอที่เกิดจากการทำงานที่หักโหมจนเกินไป

การก้าวสู่ความสำเร็จของผู้กำกับร่วมสมัย ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิง “ลายเซ็นจากการกำกับหนัง” เหมือนสมัยก่อนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนอย่างอื่น ทั้งบทที่แปลกใหม่ ความเป็นคนดังของผู้กำกับ และที่สำคัญในกรณีหนังเรื่องนี้ คือ การต่อรองกับสตูดิโอที่มีแบรนด์ติดตัวอย่างจีดีเอช และดำเนินธุรกิจโดยอาศัยการตลาดเป็นตัวนำ ก็ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ฟรีแลนซ์ครองใจคนวัยทำงานและประสบความสำเร็จ

กราฟิคดีไซน์เนอร์อย่างยุ่นและพี่สุชาติในโลก Metaverse ที่ผันตัวมาเป็นไรเดอร์แพลตฟอร์มนั้นนอกจากความหักโหมที่ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อชีวิตที่ไม่มีใครมารองรับ เพราะก็มีไรเดอร์จำนวนมากที่ทำงานแล้วเสี่ยงต่ออุบัติเหตุอยู่เช่นกัน ซึ่งไม่ต่างจากยุ่นที่อดนอนจนเกือบหัวใจล้มเหลว

สุดท้ายความเป็นอิสระที่ใครหลายคนอยากได้ก็ถูกฉุดไว้ด้วยการไม่ได้มาซึ่งสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเพราะถือเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น วันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือการลาคลอด และยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในวัยเกษียณอีกด้วย

ความเป็นอิสระที่ได้มาจากอาชีพฟรีแลนซ์มีก็เหมือนไม่มีอยู่จริงทั้งยุ่น เจ๋ พี่เป้งและพี่สุชาติ

หนังสือ:  ภาพยนตร์ในชีวิตไทยมุมมองของภาพยนตร์ศึกษา
ผู้เขียน:  อัญชลี ชัยวรพร
สำนักพิมพ์: วราพร

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี