“ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสมควรที่จะได้รับการทรมาน ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ โดยเฉพาะความคิด ความรู้สึก ย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติ นี่คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงสามัญสำนึกพื้นฐานในโลกที่เราอาศัยอยู่
การบิดเบือนการบังคับใช้กฎหมาย ความอยุติธรรมในการซ้อมทรมานและอุ้มหายผู้ที่มีความคิดเห็นและรู้สึกแตกต่าง ไม่ใช่เป็นเพียงการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่มันคืออาญาสิทธิ์บัดซบที่ทำลายสามัญสำนึกพื้นฐานของโลก ทำลายเจตจำนงเสรีและการดำรงอยู่ของโลกใบนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษย์ที่ร้ายแรงที่สุด”
“ผู้มองไม่เห็นคุณค่าของความเป็นคนย่อมมองไม่เห็นคุณค่าของโลกส่วนรวมด้วย ในสังคมไทยอาชญากรรมต่อมนุษย์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกวัน ผู้มีความคิดต่างทางการเมือง ถูกปิดปาก ถูกตั้งข้อหา ถูกคุมขัง ไม่ได้สิทธิการประกันตัว และสูญหายไปจากครอบครัว จากเพื่อน จากสังคม ความบิดเบี้ยวในแวดวงตุลาการทำให้เกิดการสูญสิ้นอิสรภาพเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องปกติประจำวันที่ผู้คนต้องฝืนทนกับโครงสร้างอำนาจและความ อยุติธรรมโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม ไร้ศีลธรรมในสำนึก ผู้คิดต่างไปจากชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกลายเป็นนักโทษทางการเมือง ถูกจับกุม เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง”
“การกีดกันหรือการบังคับสูญหายที่ไม่ยอมให้ความคิด ความรู้สึก ความฝัน ที่แตกต่างได้มีที่อยู่ที่ยืนดังกล่าว กำลังทำลายความเป็นมนุษย์ ทำลายจิตวิญญาณของผู้คนในส่วนที่ลึกซึ้งที่สุด ผมมีความฝันและความหวังอย่างที่สุดว่าสังคมแห่งโลกที่เสรีซึ่งทุกความคิดได้รับความเคารพจะมาถึงในไม่ช้า และอำนาจ การเมือง วัฒนธรรมศักดินาจะพังทลายในเร็ววันเช่นกัน”
คือปาฐกถาที่สั้น กระชับ และสะเทือนความคิด โดย ผศ.ดร. ทัศนัย เศรษฐเสรี ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานเปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ทางศิลปะและภาพยนตร์ Safe in Custody Awareness Month ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 64 ที่ผ่านมา
กิจกรรมดังกล่าวเป็นโครงการรณรงค์ทางศิลปะซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่สาธารณชนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในกระบวนการจับกุมคุมขัง ผ่านงานศิลปะและวัฒนธรรม
ดังเช่นที่พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า “ประเด็นการป้องกันและการยุติการซ้อมทรมานเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของมูลนิธิที่พยายามจะขับเคลื่อน ซึ่งสำหรับแคมเปญนี้เราจัดทำขึ้นด้วยความหวังว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เข้มแข็งมากขึ้นในเรื่องการยุติการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่หลายครั้งเรื่องของทัศนคติและชุดความคิดของเจ้าหน้าที่และคนในสังคมด้วยที่ยังยอมให้การซ้อมทรมานเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง หรือทำเป็นลืมเลือนไม่ยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง หรือยอมให้เกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมร้ายแรงในสังคม เราจึงเล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายที่เราหวังต้องทำไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม
และเราก็เลือกใช้ภาพยนตร์ ใช้ศิลปะ การพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือเสริม แทนที่เราจะใช้กระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว”
ทั้งนี้ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Grey Zone ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวการซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการฉายหนังสารคดีเรื่อง Ultraviolence ของ Ken Fero ที่นำเสนอเรื่องราวความเจ็บปวดและความอยุติธรรมของผู้เสียชีวิตระหว่างการถูกจับกุมคุมขังโดยตำรวจในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนังที่ใช้เวลาในการสร้างยาวนานถึง 20 ปี
โดยยศธร ไตรยศ ศิลปินเจ้าของนิทรรศการภาพถ่าย Grey Zone กล่าวถึงกิจกรรมนี้ไว้น่าสนใจว่า
“งานศิลปะอาจไม่สามารถทำให้สิ่งเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน แต่เชื่อว่ามันจะเป็น soft power ที่ทำให้คนเข้าถึงง่ายขึ้นกว่าการเสพข่าวหรือการเรียกร้องโดยตรงอย่างเดียว ศิลปะจะเป็นสื่อกลางที่อาจจะทำให้คนกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงง่ายขึ้น”
สำหรับหนังสารคดีดังกล่าวพาคนดูไปสัมผัสกับกรณีการเสียชีวิตของผู้ถูกที่คุมขังซึ่งมีเงื่อนงำว่าเกิดจากการปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกรณีศึกษาส่วนใหญ่มักเป็นชาวผิวสี ซึ่งถูกทำร้ายด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาทิ การทำร้ายระหว่างเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลไปสถานีตำรวจ การถูกตำรวจตีจนกะโหลกศีรษะร้าว ไปจนถึงการกระทืบจนเสียชีวิต
สะท้อนให้เห็นว่าการซ้อมทรมานไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในประเทศโลกที่สามหากแต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ สุฮัยมี นักกิจกรรมรุ่นใหม่จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วยให้สัมภาษณ์หลังจากหนังฉายจบว่า “ได้ดูหนังแล้วก็รู้สึกว่าเรื่องแบบนั้นมันไม่ได้มีแค่ในไทย ในต่างประเทศก็มีไม่ต่างกัน สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรม กระบวนการสอบสวนที่ยังมีสองมาตรฐาน และหนังก็ช่วยให้เห็นภาพเปรียบเทียบระหว่างที่นั่นกับที่นี่ จุดร่วมคือประชาชนกลายเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมเหมือนกัน”
สุฮัยมี ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ. การซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย ที่ตนได้เข้าไปสังเกตการณ์ว่า “ผมได้เห็นการอภิปรายระหว่างฝั่งรัฐบาลกับภาคประชาสังคม และรู้สึกว่าเลนส์การเมืองของฝั่งรัฐบาลจะเป็นการมองจากข้างบนลงข้างล่าง ขณะที่ภาคประชาสังคมซึ่งลงไปสัมผัสกับปัญหาจริง ๆ เขามองจากข้างล่างขึ้นข้างบน และสำหรับผม
ผมมองว่ากฎหมายที่จะออกมาควรเป็นกฎหมายที่เข้าใจประชาชน เข้าใจชาวบ้าน ไม่ควรออกจากคนที่อยู่บนหอคอยงาช้าง”
ขณะที่ นพ.ทศพร คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า “พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน ที่กำลังร่าง ตอนนี้กำลังพยายามทำให้ออกมาดี แต่ก็มีความยากนิดนึง เพราะมีข้อท้าทายในเรื่องของเทคนิคทางกฎหมายด้วย การเขียนก็ต้องรอบคอบ เนื่องจากไปสัมพันธ์กับกฎหมายกับกฎหมายฉบับเช่นกัน”
หลากหลายช่วงของหนังสารคดียังฉายภาพ Social Movement ในอังกฤษที่ลุกขึ้นมาเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิต และต่อต้านการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สะท้อนถึงการตื่นตัวและเสรีภาพพลเมืองอังกฤษต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน นพ.ทศพร เองก็กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “Social Movement ที่เห็นในหนังเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ เลย ทำให้เราเห็นว่าที่นั่นไม่มีการกีดกันทำร้าย พวกเขาสามารถเดินออกมาส่งเสียงของตัวเองได้ ไม่มีการใช้กำลังทำร้าย ใช้ลวดหนาม มองกลับมาที่ไทยคิดว่าอาจต้องใช้เวลาและความเข้าใจของประชาชน ถ้าประชาชนเข้าใจ และตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ของตนเอง ก็น่าจะเห็นมวลชนออกมาต่อสู้เรียกร้องในเรื่องดังกล่าว เราก็จะได้ระบบที่ดีขึ้น”
ด้านพรเพ็ญ ให้ความเห็นต่อประเด็นเดียวกันว่า
“พวกเรายังอยู่ในภาวะที่ยังมีความหวาดกลัว รัฐบาลและตัวแทนของรัฐในนามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ยังไม่ยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้พูดคุยกันได้ในที่สาธารณะ การออกไปแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็ยังถูกจำกัดอยู่
ก็เลยเป็นผลให้เราไม่เห็นภาพการต่อต้านการทรมานในที่สาธารณะ ซึ่งจริง ๆ หลายปีก่อนหน้านี้ก็ทำไม่ได้ มีการฟ้องร้องกลับ มีการแจ้งข้อหา อย่างกรณีของพี่สาววันเฉลิม สัตยาสิทธิ์ ซึ่งออกมาปราศรัยเรียกร้องความยุติธรรมแก่วันน้องชายของตนเมื่อ 5 กันยายน 64 แล้วถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. การชุมนุม ก็สะท้อนถึงการโต้ตอบกลับต่อผู้ที่ร้องเรียนเรื่องการอุ้มหาย ดิฉันมองว่ามันเป็นตลกร้ายและความใจแคบของรัฐบาลในนามของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้วย”
Safe in Custody Awareness Month ยังคงจัดต่อเนื่องไปตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน โดยแบ่งกิจกรรมเป็นสองส่วน ได้แก่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ณ Doc Club & Pub และสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ เป็นกิจกรรมการฉายหนังเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย อาทิ เรื่อง Ultraviolence, Song of Repression, Solitary เป็นต้น พร้อมกับเวทีเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ส่วนอีกกิจกรรมคือนิทรรศการศิลปะเหนือจรดใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่ Patani Artspace จังหวัดปัตตานี ภายใต้แนวคิด Stop Torture ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 64 และที่โกดังราชวงศ์ จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด Safe House ผู้ที่สนใจสามารถร่วมกิจกรรมทั้งสองได้ฟรี(ดูโปรแกรมฉายหนังได้ที่ https://web.facebook.com/398415390205753/posts/4460187397361845/?_rdc=1&_rdr)