Space for Thai
นิศาชล คำลือ
ในการส่งมนุษย์ไปใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศนั้น จำเป็นที่จำต้องคำนึงถึงข้อจำกัดมากมายหลายอย่าง เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินและตัวนักบินอวกาศเอง ส่งผลให้ในบางแง่มุม พวกเขาต้องใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขับถ่าย การนอนหลับ หรือแม้กระทั่งการกิน
มนุษย์เราจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่นอกจากการกินเพื่ออยู่แล้วนั้น อาหารยังช่วยเติมเต็มมนุษย์ในด้านจิตใจได้อีกด้วย ลองจินตนาการเล่น ๆ ว่าคุณเป็นคนที่ชอบกินช็อกโกแลตมาก แต่หลังจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ช็อกโกแลตจะหายไปจากโลกใบนี้ตลอดกาล ฟังดูน่าเศร้าใช่ไหมล่ะ เรื่องเศร้าคล้าย ๆ กันนี้ก็กำลังเกิดขึ้นกับนักบินอวกาศที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเหนือศรีษะของเราไปเพียงราว ๆ 300 กว่ากิโลเมตร
ด้วยข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนัก อายุการเก็บรักษา สภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วง ความปลอดภัยของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในสถานี และอีกหลาย ๆ เหตุผล ทำให้อาหารของนักบินอวกาศส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบที่ผ่านการ Dehydration หรือการเอาน้ำออก และอาหารบางชนิดที่เป็นของเหลวจะถูกบรรจุอยู่ในรูปแบบหลอดบีบ ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง รสชาติและรสสัมผัสก็ไม่ถูกใจนักบินอวกาศนัก โดยเฉพาะกับนักบินอวกาศที่ต้องปฏิบัติภารกิจระยะยาวถึง 6 เดือนอยู่บนสถานีอวกาศ
แต่ไม่ได้มีเพียงนักบินอวกาศยุคใหม่ที่บ่นเรื่องสภาพอาหารการกินบนสถานีอวกาศ นักบินอวกาศมีการบ่นเรื่องนี้มาตั้งแต่ยุคที่มนุษย์ถูกส่งไปอวกาศแรก ๆ แล้ว ซึ่ง NASA และหน่วยงานอวกาศอื่น ๆ ก็ได้พยายามพัฒนาคุณภาพอาหารอวกาศมาตลอด เพื่อให้นักบินอวกาศมีชีวิตความเป็นอยู่ในอวกาศที่มีความสุขใกล้เคียงกับชีวิตบนโลกมากที่สุด เนื่องจากในวันหนึ่ง มนุษย์ทุกคนจำเป็นที่จะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ และคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในยุคนั้นจะดีได้ จำเป็นที่จะต้องอาศัยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเหล่านักบินอวกาศในยุคนี้
NASA ได้เปิดให้ผู้แข่งขันทั่วสหรัฐ ฯ และอีกหลายประเทศเข้าร่วมส่งไอเดียพัฒนาอาหารอวกาศภายใต้ชื่อโครงการ Deep Space Food Challenge เพื่อเฟ้นหาไอเดียจากผู้เข้าแข่งขันมาพัฒนาคุณภาพอาหารอวกาศ โดยทางเว็บไซต์ของ NASA ได้มีการประกาศชื่อทีมที่เข้ารอบด้วยกันทั้งหมด 28 ทีม ในวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เข้าแข่งขัน 18 ทีม เป็นทีมจากสหรัฐ ฯ และอีก 10 ทีม เป็นทีมจากนานาชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือทีม KEETA จากประเทศไทย
KEETA ได้ออกมาเปิดเผยคร่าว ๆ ถึงไอเดียที่ทำให้พวกเขาผ่านการเข้ารอบ แน่นอนว่าในยุคที่เครื่องพิมพ์สามมิติถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ใคร ๆ ก็คงนึกถึงการทำอาหารในอวกาศด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เราก็แค่สั่งพิมพ์อาหารขึ้นมาซะ มันจะไปยากอะไร แต่ทีม KEETA สร้างสรรค์กว่านั้น พวกเขายังออกแบบระบบนิเวศขนาดเล็ก หรือ Micro Ecosystem ขึ้นมา เพื่อที่จะสร้างแหล่งวัตถุดิบขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้วงสาคู สาหร่าย และอื่น ๆ โดยอาศัยการนำของเสียภายในยานมาหมุนเวียนให้เกิดระบบ ซึ่งไอเดียนี้จะสามารถไปตอบโจทย์เรื่องความสดใหม่ของวัตถุดิบได้ ทั้งยังสามารถนำของเสียภายในยานบางส่วนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย
นี่เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่าจับตามองมาก ๆ ว่าไอเดียอาหารของแต่ละทีม แต่ละประเทศจะออกมาเป็นอาหารอวกาศแบบไหนในท้ายที่สุด ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่านี่จะต้องเป็นมิติใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารอวกาศแน่ ๆ ด้วยความหลากหลายที่มาของแต่ละทีม ทั้งจากประเทศโคลัมเบีย ประเทศอินเดีย ประเทศบราซิล ประเทศอิตาลี และอื่น ๆ แม้ทีมอื่น ๆ จะยังไม่มีการออกมาเปิดเผยถึงไอเดียของพวกเขาอย่างแน่ชัด (อาจมีการเปิดเผยบ้างแล้วกับสื่อท้องถิ่นของแต่ละทีม) แต่คาดการณ์ว่าไอเดียอาหารอวกาศของแต่ละทีมจะต้องสร้างสรรค์ไม่แพ้กันเป็นแน่แท้
ส่วนท้ายที่สุดแล้วอาหารอวกาศของทีม KEETA จะสามารถเอาแชมป์การแข่งขันครั้งนี้มาครองได้หรือไม่ และพวกเขาจะงัดเอาไม้ตายอะไรออกมาฟาดฟันกับทีมอื่น ๆ ยังคงเป็นเรื่องที่เราต้องรอลุ้นกันต่อไป แต่ทั้งนี้ไม่ว่าทีมไหนจะคว้าที่หนึ่งมาครอง สิ่งที่เรารู้แน่ ๆ ตอนนี้คือ อาหารอวกาศจะถูกพัฒนาไปอีกขั้น และมื้ออาหารบนสถานีอวกาศจะมอบความสุขให้กับผู้รับประทานได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
แต่ทั้งนี้ โปรดอย่ามองว่า Deep Space Food Challenge สร้างขึ้นมาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารนอกโลกเท่านั้น เป้าหมายของการแข่งขันยังมุ่งเน้นให้เทคโนโลยีอาหารที่ได้สามารถกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารบนโลกของเราอีกด้วย
เทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับคนบางกลุ่มอาจมีไว้เพื่อความสวยงาม หน้าตาทางสังคม ความทันสมัย แต่ในอีกหลาย ๆ ชีวิต การมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะช่วยให้พวกเขาประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีจำนวนเกษตรกรเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่เกษตรกรผู้ผลิตอาหารในประเทศของเรากลับมีรายได้ที่ต่ำ พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ยังต้องผจญกับรายได้รายวันที่ไม่มั่นคง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด ที่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ การมาถึงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อาจจะจุดไฟความหวังให้คนหาเช้ากินค่ำในประเทศนี้ได้บ้าง