ความทรงจำสาธารณะจากแมนเชสเตอร์แห่งฟินแลนด์ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

การส่งต่อความทรงจำของผู้คนธรรมดาคือหัวใจของการสร้างรัฐสวัสดิการ ความทุกข์ ความหวัง ความสุข ชัยชนะที่ถูกบันทึก เป็นการชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกอย่างเดียวดาย เราไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่ตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ โครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมล้วนถูกตั้งคำถามจากยุคสมัยถึงอีกยุคสมัย เมื่อคนธรรมดาสามารถบันทึกความทรงจำของพวกเขาได้ ก็ย่อมสามารถจินตนาการถึงสังคมที่เสมอภาคมากขึ้นได้

วันนี้ผมชวนทุกท่านมองภาพการบันทึกความทรงจำของผู้คนผ่านพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งฟินแลนด์ที่เมือง Tampere ซึ่งได้รับการขนานนามว่าแมนเชสเตอร์แห่งฟินแลนด์ เนื่องด้วยเป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของฟินแลนด์ เมื่อครั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งยุโรป เมืองต่างๆที่ติดกับแม่น้ำ หรือชายฝั่งถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นแหล่งสะสมทุนของนายทุนอุตสาหกรรม  มันสร้างความมั่งคั่งมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความทุกข์ยากให้แก่ผู้คนมหาศาล ซึ่งเป็นการบ่มเพาะการต่อสู้ของผู้คนจากยุคสมัยแห่งการขูดรีด สู่ยุคสมัยของการต่อสู้กว่าจะถึงยุคสมัยแห่งรัฐสวัสดิการ Tampere เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการการต่อสู้ของคนทั่วไปในฟินแลนด์ กว่าจะถึงการสร้างรัฐสวัสดิการ

ปัจจุบัน Tampere กลายเป็นเมืองหลวงของโรงละคร ศิลปะ วัฒนธรรม การออกแบบ พิพิธภัณฑ์หลายที่ จุดสำคัญที่ผมจะพูดถึงคือ พิพิธภัณฑ์แรงงาน เป็นการฉายภาพภาพใหญ่ขึ้นให้ชัดเจนว่า มันไม่ใช่สถาบันวิจัยระดับสูง หรือแม้กระทั่งการเล็กเชอร์ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่นักวิชาการที่ชาญฉลาด หรือนายทุนที่เมตตา ประตูสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า- คือการต่อสู้ของคน 99% ของสังคม-ชนชั้นแรงงาน การหยุดงาน การประท้วง การสร้างพรรคการเมือง คือการสั่นสะท้านชนชั้นนำให้หวาดกลัวจนต้องยอมให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้น

เรื่องราวในพิพิธภัณฑ์เริ่มต้นง่าย ๆคือ ให้เราเข้าไปอยู่ในเรื่องราวนั้น สัมผัส ความโกรธ ความเศร้า ความหวัง ของผู้คนในนั้น เริ่มด้วย Standy ผู้คนในชุมชุนอุตสาหกรรม ผู้หญิง เด็ก คนทำงาน คนสูงอายุ ที่ผู้เยี่ยมชมสามารถนำตัวเข้าไปอยู่ในภาพนั้น ภาพเหล่านั้นสะท้อนออกมาในแววตาของผู้คนที่เติบโตและเกิดในสังคมที่สิ้นหวังและไม่มีสวัสดิการ

นอกจากนี้ เศษผ้าจากโรงงานทอผ้าที่ผู้จัดงานเชื้อเชิญให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัส มันคือภาพสะท้อนของชีวิตของผู้คนที่อยู่ในนั้น กว่าจะเป็นปุยนุ่น หรือเศษผ้ามันมีเลือด เนื้อ น้ำตาจากผู้คนในสังคมที่ไม่เป็นธรรม

ความแตกต่างของฟินแลนด์เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นรัฐสวัสดิการ นอกจากการเป็นสาธารณรัฐแล้วฟินแลนด์เป็นประเทศกลุ่มนอร์ดิกที่ได้อิทธิพลจากแนวคิด มาร์กซิสม์มากที่สุด และไม่ลังเลที่จะบอกว่ารัฐสวัสดิการเกิดขึ้นด้วยแนวคิดสังคมนิยม เวทีจำลองโพเดียมปราศรัยที่รวมคลิปการปราศรัยของผู้นำสังคมนิยมและโน้ตเพลง สามัคคีนานาชาติ-International ที่วางไว้ หลังเวทีเป็นห้องประชุมจำลองห้องประชุมใต้ดิน พร้อมกับการประดับธงสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่มีอายุมากกว่าร้อยปี สะท้อนให้เห็นว่าด้วยการต่อสู้ของคนธรรมดา การรวมตัวของผู้คนจึงจะทำให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมขึ้นมาได้

ความน่าสนใจคือพิพิธภัณฑ์พูดถึงจุดด่างพร้อยของขบวนการแรงงาน ที่มีแรงงานบางส่วนที่สนับสนุนนาซี-เผด็จการฟาสซิสต์ ที่ทำลายขบวนการแรงงานของสหาย อาศัยชื่อเป็นผู้นำแรงงานแรงงานสวามิภักดิ์ต่อเผด็จการทำลายการต่อสู้ทางชนชั้น พิพิธภัณฑ์ไม่ลังเลที่จะจารึกชื่อคนเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

การจัดแสดงได้แสดงถึงพัฒนาของการผลิตกระทั่งการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการ อันนำสู่การยกระดับชีวิตและความสร้างสรรค์ของผู้คนในสังคมอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน ฟินแลนด์กลายเป็นผู้นำเทคโนโลยี เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนต่อสู้เรียกร้องจนได้รัฐสวัสดิการ และทำให้ทางเลือกในชีวิตของผู้คนหลากหลายมากขึ้น เกิดจินตนาการมากขึ้น ดังเช่น ระบบปฏิบัติการแบบ Open Source อย่าง Linux ก็ถือกำเนิดที่ฟินแลนด์ ด้วยฐานความคิดสำคัญว่าทำไมเราต้องหากำไรจากสิ่งที่ทุกคนควรใช้ได้ฟรีอย่างโปรแกรมคอมพิวเตอร์  

จนมาถึงห้องหนึ่ง คือห้องงานแห่งอนาคต ให้ทุกคนช่วยกันระดมว่างานที่อยากทำในอนาคตหน้าตาเป็นอย่างไร เก็บรวบรวม ถึงปี 2022 โดยทีมงานจะนำมารวมแล้วขึ้นโชว์ ตามประเด็นที่น่าสนใจ บางคนอยากเป็นนักท่องเที่ยวอาชีพ บางคนอยากร้องเพลงที่ต่างไปจากความต้องการตลาด ความหลากหลายตรงนี้เมื่อสองปีก่อน รัฐบาลฟินแลนด์จึงทำการทดลองการสร้าง “ระบบเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า-Universal Basic Income-UBI” เพื่อให้ผู้คนสามารถมีความคิดความฝันที่หลากหลายเมื่อไม่ถูกครอบงำผ่านการบีบบังคับด้วยการต้องทำงานเพื่อประทังชีพ แต่ให้ทำงานที่ตนเองชอบและสนใจ ผมได้พบกับงานหนึ่งที่น่าสนใจและถูกนำมาจัดแสดง แปลใจความได้ว่า

“ฉันอยากเป็นนักขอบคุณ ขอบคุณคนที่ฉันรู้จัก ไม่รู้จัก คนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฉัน คนที่โอบอุ้มฉัน อาจเป็นคนที่ฉันเคยเจอ หรือรู้จักผ่านตัวหนังสือ หรือเคยผ่านมาในช่วงสำคัญในวัยเยาว์ มันคงเป็นงานที่น่าตื่นเต้น และเป็นงานที่ฉันอยากทำ ณ ตอนนี้”

ผมอ่านแล้วก็คิดตาม ทุกวันนี้ เราให้ความสำคัญกับบางอาชีพเป็นพิเศษ อาชีพที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมูลค่าเพิ่มไปเพิ่มต่อไปอย่างไร้ความหมาย มีนักการเงิน ที่ดูแลเงิน ดูแลตัวเลข แต่งานในอนาคตที่มีคุณค่าคือการดูแลคน ดูแลความรู้สึก ของมนุษย์ นี่คือจิตวิญญาณของรัฐสวัสดิการ และสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ที่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่พรากไปจากเรา

เดือนตุลา เดือนแห่งการปฏิวัติ พิพิธภัณฑ์แรงงานยืนยันหลักการว่า เสียงของคนธรรมดาของคนส่วนใหญ่ในประเทศคือตัวชี้ขาดการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการ หาใช่ความเมตตาของชนชั้นนำ หรือการกดเครื่องคิดเลขของนักวิชาการแต่อย่างใด