ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
ทุกวันนี้การ Live หรือไลฟ์สด เป็นเรื่องที่ทำได้อย่างง่ายดาย
เพราะอินเทอร์เน็ตกับเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยให้เราสามารถ “ทำไลฟ์” ได้ด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเครื่องเล็ก ๆ กับแอคเคาท์ในโซเชียลมีเดียที่ฟรี (แทบ) ทุกอย่าง เราไม่ต้องมีอุปกรณ์ราคาแพงลิ่วเหมือนในอดีต มันเปิดช่องทางและโอกาสให้กับคนธรรมดาสามัญได้เสนอสาระจากมันสมองของตัวเองต่อสาธารณะอย่างชนิดไม่เคยมีมาก่อน เราได้เห็นคนขายผ้าไทยนัดไลฟ์ให้ลูกค้าชมการสาธิตสดการนุ่งผ้าถุง ขณะที่ศบค.ไลฟ์การแถลงข่าวรายงานสถานการณ์โควิดรายวัน อีกด้านผู้รู้สารพัดเรื่องทำไลฟ์ให้ความรู้และความเห็นจนกลายเป็นบล็อกไลฟ์รายวันกันมากมาย ฯลฯ
สำหรับนักข่าว การรายงานสดต้องมีการเตรียมตัว วางแผน มีข้อมูลเพื่อให้ความหมายและบริบทกับภาพที่เห็น และที่สำคัญเพื่อป้องกันการผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ให้เกิดอาการ dead air หรือสภาพนิ่งเงียบในระหว่างออกอากาศ
ถ้าไม่ได้เตรียมตัว ผู้รายงานอาจจะปล่อยข้อมูลที่ผิดพลาดได้ แต่นอกจากมีข้อมูลแล้ว สิ่งที่คนทำรายงานสดมักต้องมีด้วย คือความสามารถในการพูดเพื่อจะถมเวลาในยามที่มีเวลามากกับทักษะในการสรุปความเพื่อกระชับสาระในกรณีที่เวลาเหลือน้อย มันคือความสามารถในการ edit หรือตัดแต่งกลางอากาศ
จริยธรรมในการ Live
สมัยก่อนนักข่าวมีวิธีคิดเรื่องการทำไลฟ์หรือรายงานสดโดยผูกไว้กับเหตุการณ์ที่น่าสนใจและ “มีความเคลื่อนไหว” มีครั้งหนึ่งที่ต้นสังกัดของผู้เขียนบอกมาว่าต้องการให้ทำไลฟ์จากงานประชุมใหญ่ระดับนานาชาติที่ไทยเป็นเจ้าภาพ แต่เราพบว่าวันที่คัดเลือกให้ทำไลฟ์ ดันเป็นวันที่ไม่มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหรือมีความเคลื่อนไหวมากพอ ในสภาพเช่นนี้ก็แน่นอนว่านักข่าวจะตั้งคำถามแบบดื้อ ๆ ว่า “เราจะไลฟ์ไปทำไม”
แม้เราจะดั้นด้นไปจนได้ แต่ในระยะยาวคือทำแบบนี้บ่อย ๆ จะเสีย “ไลฟ์” กล่าวคือการใช้อะไรบางอย่างอย่างพร่ำเพรื่อ โดยไม่เพิ่มคุณค่า รังแต่จะทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่หมดนัยในที่สุด แต่สิ่งที่พวกเรานักข่าวในเวลานั้นไม่ได้ตระหนักก็คือว่า นั่นคือสัญญาณของการที่การแข่งขันในวงการสื่อ ผลักดันให้พวกเขาต้องพยายามหาลูกเล่นใหม่ ๆ (ที่ต้นทุนไม่แพง) เพื่อดึงดูดคนดู ดังนั้นแม้แต่เรื่องที่นิ่งงันไม่เคลื่อนไหวเราก็ยังนำมาไลฟ์กันได้
จึงไม่น่าแปลกใจว่าในยามที่มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น เราจะได้เห็นสื่อหยิบไม้ตายของการรายงาน ด้วยการทำไลฟ์มาใช้เสมอ จนหลายกรณีอาจตะลุมบอนกันจนกลายเป็นปัญหาในตัวของมันเอง เช่นกรณีการรายงานการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะเคดีมีจากการติดอยู่ในถ้ำหลวงเมื่อปี 2561 ซึ่งในช่วงต้นสื่อถูกตำหนิว่ากลายเป็นอุปสรรคของการทำงานของทีมช่วยเหลือ หนักกว่านั้นก็คือกรณีการกราดยิงที่โคราชเมื่อปี 2563 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วมสามสิบราย เนื่องจากในการไลฟ์ของสื่อบางราย เกิดการเปิดข้อมูลที่จะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ตกอยู่ในอันตรายอยู่แล้ว
เราจะพบว่าสองกรณีนี้มักถูกนักวิชาการหรือผู้จัดอบรมจริยธรรมสื่อ หยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาเรื่อยมานับแต่เกิดเหตุ และคาดว่าจะกลายเป็นเรื่องที่อยู่คู่วงการสื่อไทยไปอีกนานแสนนาน ทั้งสองเหตุการณ์มันบอกเราว่า
การทำไลฟ์หรือรายงานสดมีพลังจริง แต่การทำงานที่ต่างคนต่างช่วงชิงกัน โดยไม่มีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องของขอบเขต ปล่อยให้การแข่งขันนำทางอย่างเดียว ผลสุดท้ายสิ่งที่ได้อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างที่ต้องการ
Live เผยด้านมืดของสังคม
สื่อต่างประเทศมีลักษณะการนำเสนอแบบไลฟ์บล็อก คือรายงานข่าวเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดต่อเนื่องภายใต้ลิงค์เดียว โดยมีการอัปเดตตลอดเวลา แต่ดูเหมือนสำหรับผู้เสพข่าวในไทยเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่นิยม สิ่งที่เรานิยมกันมากคือภาพเคลื่อนไหวและการไลฟ์สด อาจเป็นเพราะวิธีนี้ลดทอนภาระที่ยุ่งยาก ในอันที่จะต้องไปนั่งเรียบเรียงและเขียนเป็นเรื่องราว ทั้งยังสอดรับกับกระแสนิยมการเสพภาพเคลื่อนไหว แต่หลายหนมันก็กลายเป็นการเน้นเนื้อหาที่สร้างความสะเทือนใจ จนสังคมข่าวของเราแทบจะกลายเป็นสังคมอุดมดราม่า
ในขณะที่สื่อหลักมีเงื่อนไขในเรื่องการแข่งขัน และความจำเป็นของการผลิตงานต้นทุนต่ำ ซึ่งทำให้หลายครั้งเราได้เห็นการนำเสนอในลักษณะยึดโยง “ดราม่า” อีกด้านหนึ่งคนทั่วไปที่ใช้ไลฟ์หลายคน ก็เปิดเผยตัวตนกับสาธารณะอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ในต่างประเทศมีหลายกรณีที่เป็นการทำไลฟ์ความพยายามฆ่าตัวตาย หรือการไลฟ์การรุมข่มขืนเช่นกรณีเด็กหญิงวัยสิบสี่ที่ชิคาโกในปี 2560 และอื่น ๆ อีกมากมาย
ทั้งหมดกลายเป็นภาพด้านมืดของสังคมที่ปรากฏ แต่อีกด้านหลายเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องดำมืดหรือดราม่า แต่เนื้อแท้เป็นการชี้เป้าปัญหาให้กับสังคม
Live การส่งเสียงที่ดังกว่าที่เคย
อดีตผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ไลฟ์ โดยทำจากห้องพิจารณาคดี ในคดีสุดท้ายที่เขาตัดสินเมื่อตุลาคม 2562 หนนั้นน่าจะเป็นไลฟ์จากห้องพิจารณาคดีผ่านโซเซียลมีเดียครั้งแรกและเป็นไปได้สูงด้วยว่าอาจจะเป็นครั้งเดียว เพราะปกติแล้วการรายงานใด ๆ จากห้องพิจารณาคดีจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวด แต่การไลฟ์ของผู้พิพากษาคณากร ประกอบไปด้วยการอ่านคำพิพากษาที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตัวเอง มีการให้เหตุผลทั้งยังพยายามยิงตัวเอง
หลังจากนั้นการอ่านคำพิพากษาฉบับทิ้งทวนส่ออาการ “ดับเครื่องชน” การไลฟ์จึงเป็นความพยายามเปิดสปอตไลท์ไปที่ปัญหาที่ผู้ไลฟ์เชื่อว่าซุกอยู่ในมุมมืด
การพยายามฆ่าตัวตายส่อเค้าของอาการเรียกให้สาธารณชนเข้าใจถึงความใหญ่หลวงของปัญหา โดยภาพรวมการไลฟ์ของผู้พิพากษาคณากรมีลักษณะของการ “ฟ้อง” ประชาชนเพราะรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังสู้อยู่ใหญ่เกินไป การกระทำของเขาก็ทำให้สังคมได้ตระหนักว่าในโลกของผู้พิพากษามีปัญหาและมีคนที่พยายามขัดขืนระบบ…แต่ก็ไม่สำเร็จ
ในต่างประเทศ การไลฟ์เปิดให้เห็นเหตุรุนแรงในการชุมนุมและหลายกรณีกลายเป็นหลักฐานสำคัญ สำหรับการกระทำที่เกินกว่าเหตุของทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ เช่นการทำร้ายกันในการชุมนุมที่เมืองชาร์ลอตสวิลล์ เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมนาซีใหม่หรือนีโอนาซีกับผู้ชุมนุมต่อต้านการเหยียดผิว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2560
การบุกเข้าสภาคองเกรสในช่วงที่กำลังมีการประชุมสภาคองเกรส เพื่อรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมทุบทำลายข้าวของเมื่อช่วงต้นปีนี้ การทำร้ายผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเกิดขึ้นหลายหนในช่วงปี 2563 เช่นการผลักผู้ชุมนุมวัยเจ็ดสิบหกล้มหัวแตก ทุบตีผู้ชุมนุม ฯลฯ ก่อให้เกิดกระแสประท้วงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ ทั่วประเทศ ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์เมื่อ 5 มิถุนายน 2563 และในบรรดาเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ไลฟ์กลายมาเป็นบันทึกที่เป็นหลักฐานของการกระทำหลายอย่าง
ในระหว่างที่โควิดระบาดหนักรอบแรก ภรรยาผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านดือราแฮ อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอเมื่อ 10 เม.ย. 2563 กล่าวถึงปัญหาจากการปิดหมู่บ้าน และการขาดแคลนปัจจัยยังชีพ เพราะการดูแลที่ไม่ทั่วถึง มันเป็นไลฟ์ที่คนแชร์กันเป็นจำนวนมากและมีสื่อหลักนำไปเสนอต่อ จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเยียวยา
ถ้าเป็นยุคสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ภรรยาผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านดือราแฮอาจจะต้องเดินทางไปสำนักพิมพ์ใดสำนักพิมพ์หนึ่งเพื่อ “ร้องทุกข์” ซึ่งนั่นคือภารกิจอันหนึ่งของสื่อที่มีกับสังคม คือการนำเสนอเรื่องราวความลำบากของชาวบ้านที่ต้องการบอกผู้เกี่ยวข้องให้นำไปสู่การแก้ปัญหา การไลฟ์ของเธอคือการร้องทุกข์และไม่ว่าใครจะเสียหน้าแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อประชาชนเดือดร้อน ทางการต้องยื่นมือไปช่วย ผู้คนที่เดือดร้อนต้องการอยู่ในสปอตไลท์ ต้องการความสนใจเพราะพวกเขาต้องการการแก้ปัญหา
Live ในความขัดแย้ง
ในการชุมนุมหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง หรือในเรื่องต่อต้านโครงการใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อชุมชน เราจะพบเจ้าของเพจต่าง ๆ ที่สนใจประเด็นนั้น ๆ หรือแม้แต่ในกลุ่มคนร่วมชุมนุมเองที่ถือโทรศัพท์เดินทั่วงานแล้วบรรยายสิ่งที่ได้พบหรือเห็นไปด้วย ยิ่งมีการชุมนุมมากครั้งก็ยิ่งมีผู้สื่อสารเช่นนี้ปรากฏตัว ในทางปฏิบัติคนเสพข่าวจำนวนมากอาจไม่ได้ติดตามการไลฟ์ของพวกเขาใกล้ชิด นอกเสียจากว่าสื่อใหญ่ ๆ ไม่ได้รายงานเรื่องนั้น ๆ และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลายคนสนใจ
แต่แม้ในกรณีที่สื่อใหญ่รายงาน การไลฟ์ของเพจต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ยังให้แง่มุมหลายอย่างที่แตกต่างออกไปได้เนื่องจากในการรายงานข่าวสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่กว้างนั้น ไม่มีใครสามารถทำได้ครอบคลุมทุกจุด สำหรับคนทำเพจ มันคือความต้องการให้เรื่องราวของตนเองหรือที่ตนเองสนใจได้รับการนำเสนอและเพื่อให้สังคม “มองเห็น” ได้จากทุกมุมและรอบด้าน จำนวนของคนทำเพจที่ติดตามเรื่องราวเฉพาะกิจเช่นนี้มีมากขึ้นทุกขณะ
การทำไลฟ์การชุมนุมในช่วงหลัง ๆ มีปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับสื่อไม่น้อย ล่าสุดนักข่าวของเพจ The Reporters กล่าวถึงอุปสรรคในการทำงานของเขาในระยะหลัง โดยเฉพาะการเกาะติดรายงานเหตุการณ์การชุมนุมที่ดินแดงถูกตั้งแง่จากเจ้าหน้าที่ผู้กล่าวหาเขาว่าทำไลฟ์เพื่อจะหาข่าวที่เป็นความเคลื่อนไหวของฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ความเห็นเช่นนี้เป็นไปในเชิงข่มขู่และมีอาการบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่มองประชาชนเป็นฝักฝ่าย
หลายครั้งพวกเขาถูกตำหนิว่ารายงานไม่เป็นมืออาชีพ บิดเบือน เป็นอุปสรรคการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือให้ข้อมูลไม่รอบด้าน ฯลฯ ในความเป็นจริง ข้อมูลที่รอบด้านจริง ๆ นั้นแทบจะไม่มี จะมีก็แต่ความพยายามจะรอบด้านเท่านั้น
ผู้ที่ทำให้เกิดการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ถูกตีตราว่าเข้าข้างผู้ชุมนุมทั้งที่โดยหลักแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ผู้คนคาดหมายได้จากเจ้าหน้าที่ในฐานะที่เป็นตัวแทนอำนาจรัฐว่าจะต้องปฏิบัติกับประชาชนภายใต้หลักกฎหมาย และปฏิบัติงานโดยพร้อมถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา ในขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการชุมนุมว่าใช้สันติวิธีหรือไม่ เจ้าหน้าที่ก็ควรต้องยอมให้การทำงานของตัวเองเป็นสิ่งที่ตรวจสอบได้เช่นกัน
เจ้าของเพจใหม่ ๆ หลายรายที่รายงานเรื่องการชุมนุม เช่น แอดมินเพจ “กะเทยแม่ลูกอ่อน” “สำนักข่าวราษฎร” และ ‘Live Real’ ต่างกล่าวถึงประเด็นหลักในการรายงานของตนเองว่า พวกเขาทำหน้าที่เป็น “พยาน” ในเหตุการณ์มากกว่าสิ่งอื่นใด และว่าการไลฟ์สด มันคือสิ่งที่บิดเบือนไม่ได้ รายงานของพวกเขาถือว่าเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว และควรเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ในการรับมือการชุมนุมที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีข้อกล่าวหาที่ฉกรรจ์กับเจ้าหน้าที่เรื่องการใช้กำลังรุนแรงเกินเหตุ นักกฎหมายหรือทนายความที่ทำคดีผู้ชุมนุมก็กล่าวถึงเจ้าหน้าที่ไว้หลายกรณีว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย อันที่จริงมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสิ่งเหล่านี้เพราะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้กลายเป็นเชื้อไฟและเงื่อนไขที่ทำให้การชุมนุมแปรโฉมหน้าอย่างเห็นได้ชัด การชุมนุมที่ดินแดงเป็นปฏิกิริยาตอบโต้วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่จากผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่รับไม่ได้กับสิ่งที่พวกเขาเห็นก่อนหน้านั้น
Live เปิดพื้นที่ใหม่โลกสื่อสารมวลชน
ผู้เขียนได้คุยกับผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นเยาวชนกลุ่มหนึ่ง ในกลุ่มของพวกเขาที่มีกันสิบกว่าคน เต็มไปด้วยคนที่ไม่เคยไปร่วมชุมนุมมาก่อน จะมีก็เพียงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้นที่เคยไปร่วมชุมนุม แต่พวกเขาติดตามข่าวสารการชุมนุมทุกวัน และสิ่งที่ได้เห็นซ้ำ ๆ กันก็คือกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน วันหนึ่งสมาชิกรายหนึ่งเอ่ยปากชักชวนคนอื่น ๆ ให้ไปดินแดงหลังจากที่ได้เห็นภาพผู้ชุมนุมถูกทำร้าย
เขาบอกว่ามันเป็นภาพที่ “รับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง” พวกเขาเริ่มรวมกลุ่มไปดินแดงโดยไม่ได้อยู่กับกลุ่มใด ๆ ที่ประกาศนัดหมายการชุมนุม การไปดินแดงสำหรับพวกเขาคือการสนับสนุนข้อเรียกร้องทางการเมือง บวกกับการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าการกระทำของพวกเขาจะถูกมองอย่างไรก็ตาม แต่มูลเหตุสำคัญของวิธีการแสดงออกอันนี้ คือการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้วิธีการของเจ้าหน้าที่นั่นเอง
ในขณะที่สื่ออิสระที่ติดตามภาพการชุมนุมที่ดินแดงก็เห็นว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการนำเสนอคือภาพที่ไม่มีการตัดตอนเพื่อเป็น “พยาน” ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองในแง่นี้เราจะพบว่า การชุมนุมที่ดินแดงคือสภาพของปฏิกิริยาต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ จากคนที่ทำงานด้านข้อมูล สื่ออิสระที่พยายามเปิดภาพการทำงานนี้ออกมา ก็ด้วยหมุดหมายใกล้เคียงกัน คือเพื่อให้มีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ หลายคนที่ผู้เขียนคุยด้วยเชื่อว่า เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา ในการสลายการชุมนุมหรือจับกุม ด้วยอุปกรณ์และกฎหมายที่ให้อำนาจไว้แล้ว โดยที่ไม่ต้องแสดงอาการก้าวร้าวหรือคุกคามทางกายภาพ พวกเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ควรรับมืออย่างผู้พิทักษ์กฎหมาย
กรณีการถ่ายทอดสดหรือไลฟ์การชุมนุมที่ดินแดง รวมไปถึงการสลายการชุมนุมมีนัยของการบันทึกสถานการณ์ การเป็นพยานและการเปิดพื้นที่ความขัดแย้งให้เป็นเรื่องที่สาธารณะได้มองเห็นและเข้าถึง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ การถูกตรวจสอบล้วนเป็นเรื่องปกติ และเป็นเช่นนี้ไม่ว่าในไทยหรือในต่างประเทศก็ตาม
แน่นอนว่าผู้ใช้สื่อแทบทุกรายมีจุดอ่อนของตัวเอง แม้แต่สื่อที่มากประสบการณ์แล้ว ก็ยังผิดพลาดได้ทั้งในการรายงานข่าวทั่วไปอย่าว่าแต่ในการทำไลฟ์ แต่ความอ่อนด้อยใด ๆ ของสื่อหน้าใหม่และสื่ออิสระล้วนเป็นสิ่งที่ขัดเกลาหรือเพิ่มเติมได้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและโซเชียลแพลทฟอร์มต่างถูกบีบให้พยายามมากขึ้น ที่จะไม่ปล่อยให้มีการนำเอาวิธีการไลฟ์ไปแสดงออกซึ่งความรุนแรง
แต่สังคมน่าจะยังมีเรื่องอีกมากให้ทำงานร่วมกัน ในเรื่องวิธีการใช้ช่องทางใหม่นี้ให้เป็นคุณมากกว่าจะเป็นพิษกับสังคม การไลฟ์มีฟังชั่นใหม่ ๆ เพิ่มจากเดิมและการไลฟ์อาจมีส่วนในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม เพิ่มเสียงให้กับผู้ที่เดือดร้อน แม้ว่าบางครั้ง การไลฟ์เหล่านั้นผู้ดำเนินการอาจจะพูดจาผิดหูไปบ้าง แต่สิ่งที่เราควรสนใจคือสาระสำคัญมากกว่า
อินเทอร์เน็ตเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนคนตัวเล็ก ๆ ได้แล้ว สภาพเช่นนี้จะไม่หวนกลับ การพยายามควบคุมด้วยกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ทำได้เฉพาะสื่อที่มีทุนจะกลายเป็นผลเสียต่อสื่อเอง รวมทั้งสังคมก็จะเสียโอกาส สิ่งที่ควรจะช่วยกันทำมากกว่าคือการติดอาวุธความคิด เพิ่มทักษะการผลิตงานที่มีคุณภาพและอย่างรับผิดชอบต่อสังคมให้กับประชาชนผู้ที่สนใจในเรื่องของการสื่อสารและการรับสาร เพื่อให้สาระที่จะเข้าสู่วงจรข้อมูลข่าวสารสาธารณะเป็นสิ่งที่ใช้อ้างอิงและใช้สนับสนุนความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งได้ แทนที่จะปล่อยให้คนทั่วไปทำได้เพียงออกความเห็นที่ไม่มีข้อมูลเป็นฐาน ทำให้เกิดการรีไซเคิลดราม่ากันต่อจนเป็นเขาวงกต