อาสาสมัครไม่มีวงเล็บ เคลื่อนที่ด้วย 'ความสัมพันธ์' - Decode
Reading Time: 2 minutes

ไม่นานมานี้ข่าวบริษัทด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่แห่งหนึ่งต้องปลดพนักงานไปกว่า 1,000 คน หรือกว่า 25% ของพนักงานที่มีทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย เพื่อเอาตัวรอดจากภาวะขาดทุนจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ด้วยกลไก คือ “กำไร” ซึ่งเป็นเครื่องชี้ความอยู่รอดในธุรกิจ

ต่างกับ “การท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร” หรือ Voluntourism เทรนด์การท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เก่าไม่ใหม่ แต่ไม่เคยหายไปมีแต่จะเติบโตขึ้นทุกที ทั้งยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเหมือนกับธุรกิจท่องเที่ยวโดยทั่วไป ต่างเพียงเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็น “ความสัมพันธ์” และ “การตอบโจทย์ทางจิตใจ”

คุณครูจำแลง

ธนพร บรรเลงใจ หรือ บีม เป็นคนหนึ่งที่เริ่มต้นการปิดเทอมแรกของการเป็นเฟรชชีในรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยเป้าหมายที่ต้องการเปิดโลกกว้างผ่านการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ต่างออกไปที่บีมรู้ตัวดี คือ การท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างที่หลายคนนิยมทำกันไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้เท่าใจหวัง

บีมเปรียบเทียบว่าการเดินทางไปพักผ่อนในสถานที่สวยงาม เหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้เธอได้นำความไม่สบายใจออกไปจากหัวใจได้ แต่การพักผ่อนแบบนั้นกลับทิ้งช่องว่างไว้กลางหัวใจหลังจากจบทริปโดยไม่รู้ตัว เธอจึงเริ่มหันมาสนใจการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครที่เป็นเทรนด์ที่มาแรงในช่วงเวลานั้น

หากเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่สนใจงานอาสาสมัคร เชื่อว่าเกือบร้อยทั้งร้อยต้องเคยได้ยิน โครงการ AIESEC หรือไอเซค ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปทำงานอาสาสมัครในต่างแดน ซึ่งมีจุดหมายกว่า 50 ประเทศทั่วโลก บีมก็เป็นคนหนึ่งที่ปักธงแน่วแน่หลังได้ทำความรู้จักว่าจะใช้โอกาสนี้เปิดโลกกว้าง

“ขั้นตอนของการตัดสินใจ มากกว่าการเลือกว่าเราต้องการเดินทางไปประเทศไหน คือการตัดสินใจเลือกโครงการอาสาสมัครที่สนใจ และเหมาะสมกับความถนัด ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน”

ด้วยความเหมาะสมทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย รวมถึงงานอาสาสมัครที่จะได้ไปทำ ในที่สุดแล้วบีมจึงตัดสินใจเลือก “เวียดนาม” เป็นหมุดหมายในการเดินทางครั้งนี้

หลังมีการพูดคุยกับนักศึกษาชาวเวียดนามซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการทั้งหมดแล้ว บีมตัดสินใจเข้าร่วมโครงการสอนภาษาอังกฤษในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ที่มีท่านเจ้าอาวาสของวัดในชุมชนเป็นหัวแรงหลักในการผลักดันโครงการ อีกทั้งเปิดวัดให้เป็นสถานที่สอนและอยู่อาศัยกับบรรดาอาสาสมัคร บีมจึงสวมบทบาทการเป็นเด็กวัดในต่างแดนไปโดยปริยาย

เกือบ 2 เดือนที่เสียงระฆังทำวัดเช้าเปรียบเหมือนสัญญาณการเริ่มต้นทำงานของเธอ เมื่อทำกิจวัตรส่วนตัวเรียบร้อย ก็จะมีบรรดาเด็กวัดรุ่นพี่ที่จะวิ่งแข่งกันมาอย่างกระตือรือร้นเพื่อชวนไปกินอาหารเช้า ก่อนที่จะเริ่มต้นสอนหนังสือประจำวัน โดยอาสาสมัครที่อยู่ในวัดแห่งนั้นก็ไม่ได้มีเพียงนักศึกษาไทย แต่ยังมีนักศึกษาจากหลายประเทศทั้งจากฝั่งเอเชีย ยุโรป และอื่น ๆ บีมถึงกับออกปากว่า บรรยากาศเหมือนละครในจินตนาการของเธอ

“เราก็จะเตรียมตัวสอนไปตามตำรา แต่ลักษณะไม่เหมือนการสอนในโรงเรียน แต่เป็นการจัดกิจกรรมที่ต้องสามารถใช้งานได้ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงลุงอายุ 60-70 ปี”

การได้อาศัยอยู่ในวัดแทบจะ 24 ชั่วโมงนี้เอง ทำให้เธอได้รับความไว้ใจและเชื่อถือว่าจะสามารถถ่ายทอดความรู้ที่มีให้ได้ ด้วยความที่ใกล้ชิดและได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนที่นั่น เธอจึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดอาคารของวัดถึงสามารถเปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนชั่วคราวที่รวบรวมคนมาได้ขนาดนี้ เพราะทุกคนมีความเชื่อมั่นในผู้นำ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสก็สวมบทบาทครูใหญ่ได้ดีทีเดียว

กิจกรรมเช่นนี้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปในทุกวัน ก่อนที่วันหยุดสุดสัปดาห์จะเป็นวันปล่อยผี ที่อาสาสมัครจะได้ไปพักผ่อนตามต้องการ ทั้งการไปสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน ไปจนถึงการเดินทางข้ามเมืองแล้วแต่การบริหารจัดการเวลา ซึ่งบีมก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเธอต้องท่องให้ขึ้นใจว่าเช้าวันจันทร์กำลังจะมาถึง เพราะหน้าที่การสอนถือเป็นความรับผิดชอบที่เธอจะทิ้งไม่ได้

ตลอดระยะเวลาการทำงานอาสาสมัครในต่างแดน บีมเล่าว่าเธอค้นพบความหมายให้กับชีวิตตนเองมากมายในช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ ด้วยพื้นฐานเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมอาสาสมัครอยู่เป็นทุน แต่การได้ไปท่องเที่ยวและทำงานท่ามกลางผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ นับเป็นความท้าทายที่สุดในชีวิต

“ทั้งได้เที่ยว ได้รับมิตรภาพ และได้ทำงานอาสาสมัคร มันมีอารมณ์ที่ผสมผสานมากจนไม่รู้จะหาคำจำกัดความยังไง”

ความประทับใจที่สัมผัสได้ผ่านน้ำเสียงขณะที่ได้ระลึกย้อนไปในช่วงเวลานั้น เป็นเครื่องยืนยันชั้นดี ถึงสาเหตุที่บีมตัดสินใจกลับมาเป็นผู้ประสานงานในการส่งนักศึกษาไปเป็นอาสาสมัครต่างแดน หลังสิ้นสุดการเปิดโลกต่างแดนในช่วงเวลาสั้น ๆ

บีมเล่าว่าจุดแข็งสำคัญที่ทำให้โครงการไอเซคเข้มแข็ง คือ เป็นองค์กรที่บริหารจัดการโดยนักศึกษา ถึงแม้ว่าเบื้องหลังจะมีกลุ่มทุนทางธุรกิจสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน แต่การตัดสินใจเด็ดขาดในการจัดการอาสาสมัคร และบริหารกิจการในพื้นที่จริงนั้นเป็นของสมาชิกในชมรม ซึ่งเป็นบรรดานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ

บีมยกตัวอย่างให้ฟังว่ามีอาสาสมัครต่างชาติหลายคนที่เดินทางมาประเทศไทย แต่ต้องถอดใจกลับประเทศด้วยเหตุผลที่ว่า มีคนไทยบางส่วนที่เจาะจงว่าต้องการอาสาสมัครจากชาติใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น อีกทั้งอาสาสมัครบางคนเองก็ขาดความรับผิดชอบต่อการทำงาน ให้ความสำคัญกับการเที่ยวมาก่อนงานอาสาสมัคร ซึ่งเป็นความยากที่การท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้

แม้จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมกิจกรรมของหลายคน คือ การได้เปิดโลกกว้างผ่านการท่องเที่ยวในต่างแดน แต่ผลพลอยได้ที่ตามมา คือการพัฒนาความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ได้มาอย่างไม่ทันตั้งตัว และมักจะเกิดขึ้นในการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครแทบทุกรูปแบบ

ด้วยผลตอบแทนของการท่องเที่ยวครั้งนี้ที่ไม่ใช่เพียงการได้พักผ่อนหย่อนใจ แต่กลับได้ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากกว่าที่คิดไว้

สิ่งนี้เองที่ทำให้บีมออกปากว่าหลังจากการท่องเที่ยวครั้งนั้นสิ้นสุด นอกจากความเหนื่อยล้าที่หายไป ช่องวางกลางหัวใจก็ไม่ได้ทิ้งรอยไว้อย่างที่แล้วมา

“ความสัมพันธ์” คือน้ำมันหล่อเลี้ยง

พงศ์ธวัช ศรีจำนอง หัวหน้าสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว มทร.รัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล เป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลานานนับปีในการศึกษาความคาดหวังและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครในประเทศไทย ทั้งในกิจกรรมล่องเรือเก็บขยะในลำคลอง การสร้างแนวกันไฟ การปลูกป่าชายเลนไปจนถึงกิจกรรมอาสาสร้างบ้านดิน

พงศ์ธวัช ชี้ว่าการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร และงานอาสาสมัครโดยทั่วไปมีข้อแตกต่างในการทำงานน้อยมาก แต่ผลลัพธ์ในความรู้สึกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“บางสถานที่คนที่จะไป ไปเองไม่ได้ ต้องมีหน่วยงานที่รวบรวมคนแล้วจัดกิจกรรม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แต่เป็นการจ่ายเงินโดยสมเหตุสมผล ไม่ได้คำนึงถึงกำไรเป็นหลัก แต่คิดถึงความรู้สึกของคนที่ไป ไปแล้วเขาได้รับอะไรจากคนในชุมชน และชุมชนได้อะไรจากเขา”

ย้อนกลับไปพงศ์ธวัธเล่าว่า เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในไทยปี พ.ศ. 2548 นับว่าเป็นจุดเขย่าแรก ๆ ที่ทำให้ความตื่นตัวของอาสาสมัครโดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาว ที่หลั่งไหลไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย จนพัฒนาเป็นกระบวนการ และเครือข่ายจิตอาสาที่ชัดเจนมากขึ้น รวบรวมอาสาสมัครนานาชาตินับหมื่นคน

ในขณะเดียวกันก็มีคนไทยบางส่วนที่ตัดสินใจหยุดพักการทำงานชั่วคราว เพื่อทำงานอาสาสมัครในต่างประเทศที่ได้รับผลจากภัยพิบัติครั้งนั้น ทั้งในอินเดีย ปากีสถาน และอื่น ๆ จนงอกงามเป็นค่านิยมใหม่ในการทำงานอาสาสมัครในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

จนท้ายที่สุดบรรดาอาสาสมัครเหล่านี้ ก็กลายเป็นนักท่องเที่ยวขาประจำที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นนั้น ๆ โดยไม่ได้ตั้งตัว  

ด้วยการท่องเที่ยวลักษณะนี้นำมาซึ่งการใช้จ่ายในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง และมีจุดมุ่งหมายในการทำงานอาสาสมัครก่อน ส่วนการท่องเที่ยวเปรียบเสมือนกำลังใจตอบแทนจากท้องถิ่น “ความสัมพันธ์” ของอาสาสมัครและคนในท้องถิ่นจึงกลายเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวลักษณะนี้เติบโตและยั่งยืนต่อไปได้ เพราะทุกคนต่างมาด้วยความตั้งใจ หรือเรื่องเล่าปากต่อปากของเหตุการณ์ประทับใจที่เกิดขึ้น

มีการคาดการณ์ว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครเดินทางทั่วโลกเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครสูงถึง 1.6 ล้านคน และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครสูงถึงราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

“เราไปเราได้ เราไปเขาได้”

พงศ์ธวัธ ยังตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งว่า หลายชุมชนมีความพยายามที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครให้เกิดขึ้นในชุมชน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องล่าถอยไป ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความผิดพลาดในการจัดลำดับความสำคัญที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้จ่ายในชุมชนให้มากที่สุด จนละเลยกิจกรรมอาสาสมัครที่เป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยวลักษณะดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้วจึงไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างที่คาดไว้ หลายโครงการจึงเลือกที่จะร่วมมือกับบรรดานักศึกษา ที่เป็นวัยหนุ่มสาวซึ่งมีต้นทุนทางเวลาและแรงกาย ที่สามารถทุ่มเทให้กับการจัดกิจกรรม

อย่าใส่วงเล็บให้กับคำว่า ‘อาสาสมัคร

เบญจมาพร เปลี่ยนสายสืบ หรือ พิม อาสาสมัครตัวยง ที่เลือกใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครอยู่เป็นประจำ เป็นอีกเสียงที่ยืนยันว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครยั่งยืนไปได้ คือ การมุ่งเน้นพัฒนากิจกรรม และตั้งเป้าหมายผลลัพธ์ให้ชัดเจน

ด้วยการทำงานอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง พิมได้รับการชักชวนให้รู้จักกับกิจกรรมเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ EEC Thailand หรือ Environmental Education Centre Thailand องค์กรที่ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งหลายคนจะรู้จักหากพูดว่าเป็นโครงการของดารานักแสดงอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรอบหลายปีที่ผ่านมา

แม้การได้ไปผักผ่อนท่ามกลางต้นไม้สีเขียว ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จะดูเป็นสิ่งล่อใจในการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร แต่พิมกลับบอกว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ และเติมเต็มให้ระยะเวลา 4 วัน 3 คืน ภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม

กิจกรรมดังกล่าวจะรวบรวมบรรดาเด็ก ๆ ที่มีความต้องการพิเศษจากหลากหลายโรงเรียนในต่างจังหวัด มาเข้าค่ายกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติ ผ่านกิจกรรมสันทนาการ ทั้งการทำความรู้จักช้างผ่านการสัมผัส การปั้นดินเหนียว วาดรูปช้าง และการร่วมกันอาบน้ำช้างซึ่งแม้แต่คนธรรมดายังร่วมกิจกรรมเหล่านี้ได้ยาก ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการทำบุญบนยอดเขา

“ได้มาเขาใหญ่ ได้มาป่า ได้มาอยู่กับช้างมันก็ดึงดูด แต่เด็กที่มีความต้องการพิเศษมากกว่าที่เด่นออกมา พอเรารู้ว่าเขาเป็นเด็กแบบนี้มันต้องทุ่มเทมาก เราไม่เคยเห็นการที่จะพาเด็กพิเศษมาอยู่ในป่า ไปทำกิจกรรมที่คนธรรมดายังยาก บางครั้งฝนตก เขาก็ตากฝน ไม่ได้ดูแลพิเศษเกินกว่าปกติ ไปดำน้ำก็ลงทั้งวิลแชร์”

ความประทับใจของการได้ไปร่วมเป็นอาสาสมัครครั้งนั้น ถูกถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงของพิมได้อย่างชัดเจน จนทำให้เธอเข้าร่วมกิจกรรมนี้แล้วกว่า 5 ครั้งในรอบเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีทีท่าว่าจะเบื่อ

“น้องบางคนจะมาซ้ำหลายครั้งแล้ว แต่ก็แค่ปีละครั้งซึ่งน้อยมาก เลยทำให้ผู้ใหญ่หรืออาสาหลาย ๆ คนรู้สึกว่ามันเป็นโอกาสหนึ่งที่เหมือนวันปีใหม่ที่มีปีละครั้งให้ได้มารวมกัน” พิมกล่าวทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

ท้ายที่สุดแล้วต่อให้การทำกิจกรรมอาสาสมัครครั้งนี้ จะมีคำว่า “การท่องเที่ยว” ขึ้นมานำหน้าอย่างไร แต่“อาสาสมัคร” ก็ยังเป็นหัวใจสำคัญของคนที่ต้องแสวงหาประสบการณ์ใหม่ให้กับชีวิต ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าและความหมาย

ไม่เช่นนั้นก็อย่าเรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครเลย