ขอรักโลก โดยไม่ต้องเป็นสายพกของได้ไหม?
นี่น่าจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจหลายคน ไม่เพียงกลุ่มคนหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มสนใจ ประเด็นสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แม้แต่กลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าเป็นสายกรีน ซึ่งยินดีจะเพิ่มอุปกรณ์ดำรงชีพในกระเป๋าคู่ใจ ตั้งแต่หลอดไปยันกล่องข้าวน้อย ๆ ยังตั้งคำถามว่า ฉันต้องพกอุปกรณ์เหล่านี้ไปตลอดชีวิตใช่หรือไม่
“ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรักโลกถึงจะทำสิ่งนี้ คุณสามารถเป็นคนปกติที่ต้องทำสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ”
นี่เป็นหัวใจสำคัญที่ พิชามญชุ์ รักรอด หรือ หมิว หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย ย้ำตลอดการพูดคุยกับ De/code ถึงแนวคิดที่ผู้มีอำนาจ ทั้งภาคส่วนธุรกิจ รวมถึงรัฐบาลกลางต้องยึดให้มั่น เพื่อที่จะสร้างรูปแบบการใช้ชีวิตให้ทุกคนใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ต้องใส่ความพยายาม
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
กลับไปที่จุดเริ่มต้น บทสนทนาครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากภาพยนตร์สารคดี The Story of Plastic ถูกหยิบยกมาเล่าต่อเป็นบทเรียนครั้งใหม่ภายใต้ปัญหาครั้งเก่าที่ยังไม่คืบหน้าไปไหนเสียที
ผู้อ่านสามารถย้อนติดตามบทความ “ยักษ์ใหญ่ทำอะไรได้มากกว่าเก็บขยะชายหาด” ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ได้
เมื่อเส้นทางวัฏจักรพลาสติกเดินทางข้ามช่วงจากภาคธุรกิจ ผ่านมาถึงผู้บริโภค นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ภาระความรับผิดชอบจะถูกเปลี่ยนมือในทางปฏิบัติ
อย่างเช่นที่ผู้เขียนกำลังจะตั้งคำถาม เมื่อสายตาเหลือบไปเห็นเจ้าแก้วใบใสที่ไม่กี่นาทีก่อนหน้าบรรจุเครื่องดื่มคู่ใจที่ช่วยต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของหนังตายามสาย ความคิดก็ถามดังขึ้นว่า “แล้วแก้วใบนี้จะกลับไปใช้ประโยชน์ได้อีกไหมนะ”
เมื่อสารคดีสื่อสารถึงปัญหาพลาสติกที่ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดของกระบวนการคัดแยกขยะ บางส่วนเป็นผลมาจากการไม่ตระหนักในการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพราะด้วยมุ่งหวังผลทางการค้าเพียงด้านเดียว จนนำไปสู่ความยุ่งยากในขั้นตอนของการรีไซเคิลอย่างที่เรารู้กัน
“ขยะมีค่า” กุศโลบายนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่
หากถูกตั้งคำถามว่าหนทางของการจัดการขยะพลาสติก ควรเริ่มต้นด้วยขั้นตอนใด เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยจะชี้ไปที่ “การคัดแยกขยะ”
อาจจะด้วยคนไทยเติบโตมากับรถซาเล้ง ที่คอยรับซื้อของเก่าไปตามตรอกซอกซอย หลายครอบครัวจึงส่งเสริมให้ลูกหลานเห็นคุณค่าของสิ่งที่ไม่ใช่แล้ว ผ่านค่าตอบแทนจากการขายสิ่งของเหล่านั้น
มองผิวเผินอาจนับเป็นเรื่องดี แต่หากกุศโลบายที่ว่าขยะมีค่า ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการขยะพลาสติก อีกความหมายหนึ่ง ก็คงไม่ต่างกับการผลักความรับผิดชอบให้มาอยู่ที่ผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว
“จะไม่สามารถแก้ปัญหาพลาสติกได้ ถ้าคิดเพียงว่าเป็นปัญหาขยะ” คำพูดนี้ถูกกล่าวโดยนักกฎหมายท่านหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีดังกล่าว เพื่อสื่อสารถึงต้นเหตุที่มากไปกว่าการจัดการขยะ เพื่อหวังว่าผู้ขับเคลื่อนด้านนโยบายจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด
ความเข้าใจใหม่ต่อผลิตภัณฑ์รักโลก
ไม่ว่าการแก้ไขปัญหาการจัดการพลาสติกจะเดินหน้ามาถูกทางแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนผ่านชั้นวางของในร้านค้าต่าง ๆ ในปัจจุบัน คือ คนทั่วไปสนใจและหันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ด้วยเชื่อว่า นี่เป็นหนทางหนึ่งของการแสดงความรักโลกที่จะทำได้
อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับพลาสติกชีวภาพ หรือ Biodegradable Plastic ซึ่งใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย โปรตีนจากถั่ว เป็นต้น ด้วยเชื่อว่าพวกมันจะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
“คำว่าย่อยสลายได้ คือมันต้องย่อยในระบบอุตสาหกรรม แก้วนี้ต้องเอาไปใส่ในความร้อนตามที่กำหนดและควบคุม ไม่ใช่ทิ้งใต้โคนต้นมังคุด แล้วย่อยได้เหมือนเปลือกกล้วย” หมิวเล่า
จากข้อมูลทั่วไปนั้น พลาสติกไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยในการย่อยสลายที่ต่างกันไป บ้างก็ต้องพึ่งแสง บ้างพึ่งความชื้น บ้างก็พึ่งน้ำ เป็นกลไกในการทำให้พวกมันสลายไปได้
ตามการรายงานของกรีนพีช ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าพลาสติกเหล่านี้สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้หมดจดอย่างสมบูรณ์ หรือท้ายสุดแล้วจะเป็นเพียงการแตกตัวที่ทิ้งร่องรอยไว้สร้างอันตรายต่อมนุษย์
หมิวชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์รักโลกเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าข้อจำกัดเหล่านี้จะต้องนำไปสู่การยกเลิกการใช้งาน แต่คือการที่ข้อมูลเหล่านี้ควรถูกสื่อสารออกไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม
“อย่างบางบริษัทโฆษณาว่าแก้วพลาสติกของเขาทำจากมันสำปะหลัง แต่จริง ๆ แล้ว แก้วพวกนี้กับแก้วจากปิโตรเคมีก็มีระยะเวลาในการย่อยสลายที่ไม่ได้ห่างไกลกัน สิ่งที่ต่างคือวัตถุดิบตั้งต้น”
การสร้างให้เกิด “Fault Solution” หรือ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนถือเป็นยาพิษชั้นดีของปัญหาพลาสติก อย่างที่เกิดขึ้นกับแก้ว Biodegradable ที่ถูกยกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะมาแทนที่แก้วพลาสติกอื่น ๆ ได้
หากการไม่ได้สื่อสารทั้งจากทางรัฐ หรือเอกชน เป็นหนึ่งในความตั้งใจ หมิวมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
ด้วยการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกวิธีจัดการได้อย่างถูกต้อง เช่น ในกรณีของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ หากมีความเข้าใจว่ายังคงจำเป็นต้องได้รับการกำจัดโดยใช้ความร้อน คนทั่วไปก็จะได้คัดแยกได้ถูกต้อง
เพื่อให้ความตั้งใจที่จะรักโลกไม่ถูกใช้เกลื่อนกลาดจนไม่เกิดประโยชน์
ถึงแม้ว่าจะสามารถจัดการคัดแยกเหมาะสมแล้ว หมิวก็ยังคงมองว่าการโหมสร้างกระแสผลิตภัณฑ์รักโลกก็ยังคงทิ้งมายาคติแบบใหม่ให้ติดใจกับความสะดวกสบายของการใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะอย่างไรเสียผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ย่อยสลายได้เอาไว้
ซึ่งความสะดวกสบายเหล่านี้เองที่นำมาสู่ “วัฒนธรรมทิ้งขว้าง” ที่ไม่เป็นผลดีนักต่อการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
มายาคติของการรีไซเคิล
ตอนหนึ่งของภาพยนตร์ (The Story of Plastic) ฉายภาพให้เห็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวอินเดีย จากเดิมที่นิยมอาหารปรุงสุกใหม่ ก็หันมาเน้นอาหารสำเร็จรูปแทน เช่นเดียวกับวิธีการจับจ่าย จากในอดีตที่มีวัฒนธรรมการพกพาภาชนะไปซื้อของ ตั้งแต่ข้าวสาร เกลือ สารพัดวัตถุดิบ มาตอนนี้ก็หันมาซื้อสินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์มาแล้ว
ดูแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรานัก
ทั้งหมดนี้เอง ทำให้เกิดการสร้างขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กระแส “การรีไซเคิล” จะถูกผลักดันกันเต็มกำลัง ด้วยเป้าหมายว่าจะกลายเป็นอาวุธในการจัดการขยะพลาสติกได้ “Reduce Reuse Recycle” จึงถูกใช้เป็นสโลแกนที่พบเห็นได้จนชินตาในทศวรรษนี้ไปโดยปริยาย
“การรีไซเคิล มันคือการดาวน์ไซเคิล อย่างขวดมันไม่สามารถรีไซเคิลไปเป็นขวดอีกได้ ต้องไปทำเป็นเส้นใย แล้วจากเสื้อผ้าจะเป็นอะไรก็เป็นขยะ นี่เป็นข้อจำกัดของมัน” หมิวแสดงความเห็น
หากใครดูสารคดีชิ้นนี้ต่อไปอีกนิด จะเห็นภาพชายคนหนึ่งอธิบายถึงขั้นตอนการรีไซเคิลที่เกิดขึ้น ด้วยประสบการณ์ที่สะสมมานานทำให้เขาสะท้อนปัญหาของกระบวนการนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่ความยุ่งยากของการคัดแยก ปัญหามลพิษระหว่างทาง ไปจนถึงความเชื่อผิด ๆ ที่สะสมกันมา
ชื่อของประเทศไทยปรากฏขึ้นในสารคดีชิ้นนี้เช่นกัน ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ไม่ใช่ในฐานะประเทศที่สามารถจัดการขยะพลาสติกได้ดี แต่เป็นพื้นที่ปลายทางของเศษขยะพลาสติกหลายล้านตันจากทั่วโลกที่ถูกเบนเข็มจากจีนแผ่นดินใหญ่ หลังพวกเขาออกประกาศด่วนห้ามการนำเข้าบรรดาขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
นับตั้งแต่ปี 2561 ไทยจึงมีปริมาณขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า จาก 69,500 ตัน ในปีก่อนที่จีนจะห้ามนำเข้าขยะ เป็นกว่า 552,912 ตัน และยังพบการลักลอบนำเข้าขยะอย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก
แม้จะมีการต่อสู้กันแล้วหลายยกระหว่างฟากฝั่งรัฐบาล กับผู้ประกอบการรีไซเคิลขยะและบรรดาเอ็นจีโอว่าไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายใบอนุญาตการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเนื่องจากขยะภายในมีปริมาณมากเพียงพอต่อการรีไซเคิลแล้ว
อีกทั้งขยะที่นำเข้ามาจำนวนมากก็อยู่ใน “สภาพย่ำแย่” หรือมีคุณภาพต่ำเกินกว่าจะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้
ทั้งหมดนี้ จึงกลายเป็นปัญหาดินพอกหางหมูของกระบวนการรีไซเคิลในไทยที่ยากเย็นไปกันใหญ่ โดยเฉพาะหากชาวซาเล้งซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่สำคัญ เริ่มแสดงออกถึงความเหนื่อยล้ามากขึ้นจากราคาขยะในประเทศที่ตกต่ำลงจากการนำเข้าขยะที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่หมิวมองว่า การพึ่งพิงรีไซเคิลมากจนเกินไป โดยขาดปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ทันท่วงที
“การที่เราจะบอกคนว่าการรีไซเคิลเป็นทางออก มันถือเป็นความเสี่ยง ในความย่ำแย่ของสิ่งแวดล้อม ถ้าผู้ผลิตทำสินค้าเหมือนเดิม ผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วเขียนว่า ขวดใบนี้รีไซเคิลได้ก็คือจบ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”
การที่รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้านโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับภาคธุรกิจ ก็เป็นประเด็นเร่งด่วนไม่ต่างกัน
“ตอนนี้กลายเป็นหน้าที่ผู้บริโภคว่า ซื้อมาแล้วฉันต้องแยกขยะ แต่จากการเก็บข้อมูล ทุกสิ่งที่ถูกระบุว่ารีไซเคิลมันไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ ถ้าไม่ได้รับการจัดการที่ดี ซึ่งการจัดการที่ดีมันต้องมาจากภาคผู้ผลิต ถ้าคุณผลิตมา 100 ขวด ก็ต้องตั้งรับให้ทั้งหมดกลับเข้ามา ไม่ใช่แค่เขียนข้างขวด”
Reduce Reuse Refill
เมื่อเราต่างคาดหวังการให้ยักษ์ขยับตัว ประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ หากจะช่วยกันกัดเล็กกัดน้อย ก็คงมีพิษสงไม่ต่างกับบรรดามดคันไฟ ที่สร้างความยุบยิบไม่สบายตัวให้ยักษ์ได้บ้าง
หมิวจึงแนะนำความสำคัญของการ Reduce คือ การลดใช้ ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่นำไปสู่การลดวัฒนธรรมการทิ้งขว้าง อย่างที่เกิดกับพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ที่ธุรกิจเดลิเวอรีได้รับความนิยมอย่างมาก
ความพยายามส่งเสริมค่านิยมลดการทิ้งขว้างนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงวัสดุที่ยากต่อการย่อยสลายเท่านั้น แม้แต่สิ่งที่มาจากธรรมชาติ การใช้เกินพอดีก็ล้วนแล้วนำมาซึ่งปัญหาแทบทั้งสิ้น
“ถ้าของรักโลกทั้งหลาย มันถูกผลิตหรือใช้ในปริมาณเกินความจำเป็น ใช้แล้วทิ้งเหมือนเดิม ก็ก่อให้เกิดปัญหาอื่นในอนาคต อย่างกาบหมากถ้ามีมากเกิน สุดท้ายต้องมาหาวิธีการจัดการ เราอาจจะทิ้งกาบหมากชิ้นหนึ่งใต้โคนต้นไม้ได้ แต่ถ้านึกถึงการทิ้ง 100 ชิ้นใต้ต้นเดิม มันก็ต้องใช้เวลานานในการจัดการ”
ยกตัวอย่างใกล้ตัวเข้ามาอีกนิด ทุกวันนี้เราต่างได้รับถุงผ้ามาเป็นของขวัญตามวาระต่าง ๆ เพราะส่วนใหญ่เริ่มเห็นประโยชน์ที่มีอยู่มาก แต่ก็ใช่ไม่มีโอกาสเลยที่วันหนึ่ง อาจมีคำจำกัดความของ Single Use Cloth Bag หรือถุงผ้าใช้ครั้งเดียวทิ้งก็เป็นได้
แนวคิดร้าน “เติมผลิตภัณฑ์” หรือ “บัลค์สโตร์” ก็อาจเป็นแผนธุรกิจหนึ่งที่ตอบโจทย์การลดใช้และไม่พึ่งพิงการรีไซเคิล จนหลงลืมแนวการเติม โดยร้านเหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้วในหลายประเทศชาติตะวันตก แต่เพิ่งปรากฏให้เห็นในไทยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งรีฟิลสเตชัน (Refill Station), เลสพลาสติกเอเบิล (Less) , แกลสโตโนมี (Grasstonomy) ซึ่งเริ่มขยับขยายไปในเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตและเชียงใหม่ จากเดิมที่กระจุกอยู่เพียงในกรุงเทพฯ
เมื่อปลายทางอย่างผู้บริโภคพยายามทำความเข้าใจ ทั้งเรื่องความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ ข้อจำกัดการรีไซเคิล ไปจนถึงการใช้ซ้ำแล้ว ฝั่งผู้มีอำนาจหลักอย่างรัฐ ก็ต้องทำหน้าที่แข็งขันทั้งการสนับสนุนข้อมูลที่เข้าใจง่ายและถูกต้อง วางกรอบนโยบายของบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงรับผิดชอบระบบการรีไซเคิลให้สมบูรณ์
ผู้เขียนเชื่อว่าหาก มด อย่าง ประชาชน จะคอยตอดเล็กตอดน้อย ในขณะที่ ยักษ์ คือทั้ง ผู้ประกอบการ และ รัฐบาล ทำหน้าที่เต็มความสามารถ สารคดี The Story of Plastic ในภาคต่อ ๆ ไป คงไม่มีชื่อประเทศไทยปรากฏได้อีก
และจะดีไปกว่านั้น ถ้าหากภาพยนตร์สารคดีชิ้นนี้จะไม่มีภาคต่ออีกเลย ถ้าทุกฝ่ายตระหนักและพร้อมจะแก้ปัญหาไปด้วยกัน ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าภาพยนตร์ชิ้นนี้ ฉายเมื่อไหร่ก็ทันสมัยเหมือนใหม่ดังเดิม