อาชีพคนเก็บขยะมักเป็นอาชีพที่ไม่ถูกเลือกในความฝันของใครหลายคน มีคนมากมายที่ทำงานนี้เพราะความจนผลักดันให้เขาต้องทำเพื่อความอยู่รอด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้มีแต่คนเก็บขวดหรือพลาสติกขาย เพราะขยะไม่ได้มีแค่ขวดหรือพลาสติก แต่มีทั้งเศษอาหารหรือเสื้อผ้า เลยทำให้เกิดอาชีพที่เรียกว่า คนเก็บเสื้อผ้าขาย
De/code เดินทางไปที่ชุมชนกองขยะหนองแขมในช่วงบ่าย อากาศร้อนอบอ้าว เราได้เจอกับ ลุงนพชัย กับ ป้าฉลวยในวัยอายุเลข 5 และหลานของพวกเขาที่เรียนอยู่ชั้นประถมกับมัธยม ลุงนพชัยและป้าฉลวยทำอาชีพซักเสื้อผ้าขาย ไม่ใช่เสื้อผ้าธรรมดาแต่เป็นเสื้อผ้าจากขยะที่หลายคนทิ้งแล้ว ซึ่งพวกเขากลับนำมาเลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัวทั้งในเวลาปกติและช่วงโควิดอันแสนยากลำบาก
“ถ้าไม่ไหวแล้วจริง ๆ ป้ากลับบ้านนอกนะ จะทำเรื่องกลับบ้านนอก ถ้าอยู่ที่นี่ป้าจะอดตาย
เสียงของคนจนเมืองแห่งความเหลื่อมล้ำ หากพวกเขารับรายจ่ายที่แสนแพงหรือสภาวะโควิดในตอนนี้ไม่ไหว ตอนนั้นการกลับบ้านเกิดอาจจะเป็นหนทางรอด หรือบ้านเกิดคือที่ตายของบุคคลผู้ถูกทอดทิ้งในเมืองแห่งความเหลื่อมล้ำกันแน่ ?
บ้านของลุงนพชัยและป้าฉลวยอยู่ที่ท้ายซอยของชุมชน เมื่อเราเข้าไป ลุงนพชัยได้บอกกับเราว่าคนติดโควิดอยู่ตรงข้ามบ้าน ในซอยนั้นผู้คนแทบจะไม่มี มีแต่เสียงหมาเห่ากับเสียงเด็กร้อง เพียงเท่านั้น
หลังจากพบกับลุงนพชัย ลุงได้เล่าถึงรายได้ในช่วงเวลาปกติที่จะได้รับเงินเป็นอาทิตย์ โดยลุงจะซักเสื้อผ้าอยู่ 6 วัน จากนั้นจะส่งเสื้อไปขายในวันเสาร์ เงินทั้งหมดที่ได้จากการขายเสื้อในวันนั้นก็จะนำมาใช้ดำรงชีวิตอยู่อีก 6 วันที่เหลือ แต่เมื่อไวรัสโควิด – 19 ระบาด ทำให้รายได้ลดลงเพราะตลาดที่ไปขายปิด ทำให้ไม่มีลูกค้า
“ที่เคยขายได้จากสามหมื่น มันก็จะลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือหมื่นนึง มาอยู่ที่ต้นทุนเรา เมื่อไปไม่ได้ ค่าแรงไม่มี ค่าน้ำยาซักไม่มี เราก็ต้องหยุด วันที่เราจะเริ่มต้นใหม่ ยังไม่รู้เลยว่าจะกลับมาเริ่มต้นยังไง”
ตอนนี้ ลุงนพชัยและครอบครัวเหลือเพียงเงินเก็บจากช่วงก่อนโควิด ตลาดที่เป็นแหล่งขายเสื้อผ้าปิดและยังไม่มีวี่แววว่าจะกลับมาเปิด ทำให้รายได้ในช่วงนี้แทบจะไม่มีเลย แต่ยังดีที่มีลูกค้ามาซื้อเสื้อผ้ากับลุงอยู่บ้าง แต่รายจ่ายที่ไม่สัมพันธ์กับรายรับทำให้หนทางเดียวที่จะอยู่รอด คือการต้องอดบ้าง
ภาระอีกหนึ่งอย่างของป้าฉลวยและลุงนพชัย คือค่าบ้าน บ้านที่พวกเขาอยู่เป็นโครงการบ้านมั่นคง ความจริงพวกเขาย้ายมาอยู่ก่อนที่จะมีโครงการบ้านมั่นคงเสียอีก แต่เมื่อมีโครงการบ้านมั่นคงมา พวกเขาเลยต้องจ่ายค่าบ้านด้วย
“เขายังไม่ลด ถ้าเราไม่ส่งไม่อะไร เขาก็คิดดอกแหละ แต่ป้าก็ไม่เคยติด พยายามไม่ติดนะ ป้าไม่เคยติดค่าบ้านค่าอะไร ถ้าปกติเสื้อผ้าไม่เป็นอย่างนี้ เสื้อผ้ามันจะแน่นกว่านี้นะ ถนนนี้ไม่แห้งเลย ป้าจะทำกับลุงสองคนเลี้ยงหลาน ส่งหลานเรียน แล้วก็ส่งให้ลูกเขาอยู่บ้านนอกกินบ้าง ตอนนี้เครียดเลย พูดตรง ๆ เครียดมาก” ป้าสลวยกล่าว
สถานะของคนที่โดน(ทิ้ง)
“ไม่เคยมีอะไรเลย ผมไม่เคยได้รับอะไรจากรัฐเลย”
ประโยคของลุงนพชัยพูดด้วยความรู้สึกสิ้นหวังนิด ๆ ลุงนพชัยยังได้บอกอีกว่า “ตลาดปิดโดยเราทำอะไรไม่ได้ แม้แต่ออกนอกบ้านก็ออกไม่ได้แล้ว เงินต้นทุนที่เราทำมาแล้วก็หมุนไปหมุนมา ประคับประคองส่งค่าน้ำค่าไฟ ระยะเวลามันก็ไปเรื่อย ๆ คนก็ติดเพิ่มขึ้น ๆ บ้านหลังนี้ก็ติดไม่รู้จะทำยังไง หน่วยงานก็บอกว่ารอ ๆ ไปก่อน แต่รัฐยังดีที่เขายังส่งเสบียง เป็นอาหารแห้งมาให้”
ในวันที่ไม่มีฉันอยู่
อาชีพที่ทำงานกับขยะ ก็มักจะโดนทอดทิ้งไม่ว่าจะสถานการณ์ในปัจจุบันหรือในอดีต ผู้คนหลายคนมักมองว่าอาชีพนี้ดูต่ำต้อย ทั้ง ๆ อาชีพพวกเขาโอบอุ้มขยะที่ล้นเมือง แต่คนก็ยังไม่เห็นความสำคัญของพวกเขา แล้วหากวันที่ไม่มีเขาอยู่ ขยะในกรุงเทพจะเยอะเพียงใด
ในวันที่ไม่มีอาชีพคนที่คอยเก็บขยะหรือนำของเหล่านี้ไปรีไซเคิล จะเกิดอะไรขึ้น ?
ทำไม คนถึงมองว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต่ำต้อย ?
คำถามเหล่านี้ติดในใจ หลังจากเราได้ไปฟัง Podcast ของช่องหนึ่ง ซึ่งมีประโยคที่ทำให้เรานึกคิด แล้วติดในใจมานาน
ทำไมแทบไม่มีเด็กบอกว่า อยากเป็นภารโรงหรือคนเก็บขยะบ้าง?
ประโยคนี้ติดในหัวเรามาแสนนาน จนเราได้ถามกับเขาถึงคำถามแรก ลุงนพชัยได้ตอบกลับมาว่า
“เราเป็นส่วนหนึ่งของคนที่คัดแยกขยะจากสิ่งที่เหลือใช้ และช่วยลดขยะได้เยอะในแต่ละวัน แล้วนำมารีไซเคิล”
อาชีพในประเทศนี้มีมากมาย แต่ทำไมคนเก็บขยะถึงเป็นเพียงอาชีพตัวเลือกสุดท้ายของการทำงาน ลุงนพชัยได้ตอบเราว่า
“อาชีพเก็บขยะ หรือ ของเก่า เป็นอาชีพที่ถูกสังคมมองว่า เป็นอาชีพต่ำสุด คำว่า ขยะ ประกอบด้วยสิ่งสกปรกหลายอย่างรวมกัน”
ทางรอดแทบไม่มีทางเลือก
ลุงนพชัยได้เล่าถึงสถานการณ์ในตอนนี้ว่า “พอตลาดปิด ผมไม่มีเป้าหมายเลยนะ มันไม่มีคนเดิน รอบนอกก็โดนหมด ลูกค้าต่างก็อยู่ต่างจังหวัด นครปฐม สมุทรสาคร มีสองเจ้าที่มารับเสื้อจากลุงไป มีสมุทรปราการ พระประแดง ส่วนมากแล้วเป็นมหาชัย กระทุ่มแบน นครปฐม”
ตลาดเป็นแหล่งที่ใครหลายคนไปซื้อและขายของ รวมถึงลุงนพชัยและป้าฉลวยด้วย ทั้งสองใช้มันเป็นสถานที่ขายเสื้อผ้าที่ได้จากกองขยะ เมื่อสถานที่ขายปิด ทั้งสองก็ไม่รู้จะขายที่ไหน เลยทำให้รายได้ของทั้งสองคนค่อยน้อย ๆ ลง จนอาจไม่เหลือเลย
“ป้ามีลูกค้าประจำ ที่เหลือป้าจะไม่แยกประเภทนะ วัยรุ่นก็ไปแต่วัยรุ่น ยืดก็ไปแต่ยืด เชิ้ตก็ไปแต่เชิ้ต กางเกงยีนส์ไม่มียี่ห้อ ธรรมดาป้าส่งตัวล่ะ 30 ถ้ายี่ห้อส่งตัวล่ะ 50 ป้าไปซื้อมา 10 บาท รองเท้าป้าก็ไปซื้อมา 10 บาท ป้าก็ไปส่ง 30 ส่งเขาก็เลือกนะ ไม่ใช่ว่าเขาจะเอาหมด เขาคัด แต่เขาเอาเยอะพอสมควร ประมาณ 1 ตัน แต่ตอนนี้ป้าส่งไม่ได้ไง มีโควิด” ป้าฉลวยกล่าว
ป้าฉลวยได้เชิญเราเข้าไปในบ้าน หลังจากนั้น ป้าได้เล่าความลำบากที่พบเจอในช่วงโควิด
“ลำบากสุด ๆ เลยบ้านก็ชั้นเดียว แออัดอย่างนี้แหละ มันก็น่าเป็นโควิดอยู่หรอก แต่มันทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าเราขายของอย่างนี้ มันจะสะอาดสะอ้านเป็นไปไม่ได้ ข้างหลังจะเป็นห้องครัวที่ไม่เหมือนห้องครัว เมื่อก่อนป้าคุ้ยขยะเลี้ยงลูกหลาน ไม่มีเงินมีทองจะให้ขโมยหรอก”
ป้าฉลวย
หวนคืนสู่บ้านเกิด
เมื่อสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงปากท้องไม่มีอยู่ ก็อาจต้องกลับไปที่บ้านเกิด ถึงแม้จะไม่อยากกลับ แต่เมื่อความอดตายคืบคลานเข้ามา ก็ต้องกลับ เพื่อหนทางการอยู่รอด
แล้วด้วยความสงสัย หากกลับไปที่บ้านเกิดที่จังหวัดศรีสะเกษ จะมีทำอาชีพอะไรหรือทำอาชีพเดิม ป้าฉลวยได้ตอบกลับด้วยประโยคสั้นๆว่า “ไม่มี”
สิ่งที่อยากได้รับตอนนี้?
“ป้าก็อยากให้มาตรวจโควิดนะ อยากให้เข้าถึงชุมชน”
ป้าฉลวยยังได้พูดเพิ่มต่อจากประโยคเมื่อกี้อีกว่า “ป้าก็อยู่กลุ่มเสี่ยง เพราะว่ามันอยู่ใกล้บ้าน บ้านลงทะเบียนฉีดวัคซีนนะ ลงทะเบียนในชุมชนนะ ลงทะเบียนมาประมาณเดือนกว่า ๆ ก็ยังไม่มีวี่แววที่จะได้ฉีด เข้ามาคนไหนจะฉีดวัคซีนในนามชุมชน ถามความต้องการว่า เราอยากฉีดมั้ย บางคนก็ว่าฉีดแล้วตาย เราก็ไม่กลัวหรอก ถ้าวัคซีนมันคุ้มครองเราได้ สามารถต้านไวรัสได้ ป้าก็ต้องการ ป้าก็ต้องเสี่ยง”
วัคซีนที่ป้าฉลวยรอมาแสนนาน แต่ก็ยังไม่ได้ฉีด ถึงวัคซีนนั้นจะเสี่ยงมากแค่ไหน ป้าฉลวยก็ต้องฉีด เพราะเธอต้องเสี่ยงมากมาย และมันเป็นทางเลือกเดียวของเธอที่จะป้องกันจากไวรัสโควิด – 19ได้ (ถึงจะไม่มาก) แต่เธอก็ต้องเสี่ยงที่จะฉีดเพื่อตัวเธอเอง และครอบครัว
เธอยังพูดเชิงตัดพ้ออีกว่า “บางวันนะ ลูกโทรมาป้ายังพูดประชดลูกเลย ตายโควิดก็ดีเหมือนกัน ไม่มีญาติ ไม่เปลืองเงิน ไม่มีเงินที่จะซื้อให้เขากินดี ญาติไม่ต้องลำบากดั้นด้นมาหาแม่”
ในตอนนี้สถานการณ์โควิดก็หนักขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนมากมายที่ทั้งติดโควิด หรือไม่ติดโควิดต่างก็ลำบาก ไม่ว่าจะอาชีพไหน ในตอนนี้ก็ถูกทอดทิ้งหมดแต่อาชีพที่ความเสี่ยงสูง เช่น คนเก็บขยะ กลับไม่ถูกได้รับความช่วยเหลือ หากเป็นเช่นนี้ เมื่อทั้งคนเก็บขยะ เก็บเสื้อผ้า เก็บพลาสติก และอื่น ๆ ที่มาจากขยะค่อย ๆ หมดไป ขยะในตอนนั้นจะมากเพียงใด แล้วต้องใช้สิ่งใดการแก้ไขในสถานการณ์ที่ไม่มีคนกลุ่มนี้อยู่
พวกเขาจะต้องถูกทอดทิ้งถึงเมื่อไหร่