สนามสอบ : โต๊ะคอมพิวเตอร์ ในห้องพักขนาด 50 ตารางเมตร ประตูห้องสอบจะเปิดเวลา 10 นาฬิกา
*หมายเหตุ – ขอให้ผู้เข้าสอบเตรียมตั้งกล้องทั้ง 3 ทิศให้พร้อมและห้ามมีบุคคลอื่นอยู่ในพื้นที่สอบทุกกรณี เพื่อป้องกันการทุจริตในการสอบ หากผู้เข้าสอบท่านใดไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่กำหนด ทางเราจะขอทำการตัดสิทธิ์ในการสอบครั้งนี้เพราะถือว่าขาดคุณสมบัติ
ไม่น่าเชื่อว่าแม้เวลาจะผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ถึงขนาดที่การเรียนการสอนออนไลน์กลายมาเป็น new normal ของการศึกษาไทยแต่ ‘ปัญหาเรื่องการลอกข้อสอบ’ ก็ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตกสักที การเปลี่ยนบริบทใหม่ของผู้เรียน จากการเรียนในห้องมาเป็นการเรียนด้วยตัวเอง ไร้การจับผิดของครูอาจารย์ ได้เปิดแผลของระบบการศึกษาไทย จะเรียกว่าเปิดก็คงไม่ถูก ต้องเรียกว่าฉีกแผลเก่าออกมาให้เห็นกันจะๆ
ตั้งแต่มหกรรมการลอกข้อสอบของนักศึกษา ไปจนถึงการพยายามออกแบบระบบสุดล้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กลอกข้อสอบของเหล่าอาจารย์ คือเครื่องยืนยันว่าเราไม่เคยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (มาอย่างเนิ่นนาน) ในระบบการศึกษาไทยได้เลย เราล้อมคอกและกั้นเขต แต่ไม่เคยย้อนกลับไปถามเลยว่าทำไมผู้เรียนถึงลอกข้อสอบ ทำไมโรงเรียนต้องหอมไปด้วยกลิ่นผักชีทุกครั้งที่มีการตรวจคุณภาพโรงเรียน และทำไมระบบการศึกษาที่ควรจะเป็นของเรา แต่เรากลับไม่เคยรู้สึกถึงการได้เป็นเจ้าของนั้นสักวินาทีเดียว
การศึกษาไทยในวันนี้จึงเรียกได้ว่ารับศึกหนัก ทั้งโจทย์เก่าที่ยังไม่ได้แก้ และโจทย์ใหม่อย่างการเรียนออนไลน์ก็กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Decode จึงชวน ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มาร่วมถอดรหัสการศึกษาไทยและกลับมาตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วหัวใจของการเรียนการสอนภาคปกติใหม่(New Normal)ในวันนี้คืออะไร เพื่อที่จะไปสู่คำตอบในการออกแบบระบบการศึกษาไทยให้ตอบโจทย์กับยุคสมัยที่ควรจะเป็น
ติ๊งติ๊งติ๊งหน่อง! ผู้เข้าสอบทุกท่าน เริ่มทำข้อสอบได้
ก่อนจะเข้าเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยในวันนี้ ขอถามอาจารย์สักนิดว่าหลังจากย้ายมาสอนออนไลน์ อาจารย์เจอปัญหาเด็กลอกข้อสอบบ้างไหม
ผมไม่ได้เดือดร้อนเรื่องนี้มากเพราะวิชาของผมส่วนใหญ่เป็นวิชาที่ต้องทำโปรเจกต์ ซึ่งมีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะอยู่แล้ว ทุกสัปดาห์ต้องมีการมาเจอหน้ากันเพื่ออัปเดตงานให้เราฟัง วิชาผมเน้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสื่อสารถกเถียงกัน ฉะนั้นจึงเอื้อให้เป็นการประเมินผลแบบที่ไม่ต้องใช้การสอบแต่ก็มีเพื่อนอาจารย์หลายคนเหมือนกันที่กังวลในเรื่องนี้
จริงๆ แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยคุยกันเสมอว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุด สิ่งที่อาจารย์ทุกคนกลุ้มใจกันมากคือเรื่องการวัดผล เพราะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนมากคุ้นกับการวัดผลที่เป็นการสอบทางการ (testing) ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบปรนัยหรืออัตนัย ซึ่งในเทอมนี้เป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์อย่างฉุกเฉิน เหล่าอาจารย์ต่างๆ ปรับตัวไม่ทัน เมื่อเขาปรับไม่ทันจะให้เปลี่ยนดีไซน์การสอนเลยทันทีก็คงไม่ได้ ฉะนั้นจึงเลี่ยงการสอบไม่ได้ สุดท้ายทุกคนก็เลยมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย ความเชื่อเดิม วิธีการสอนหรือวิธีการวัดผลแบบเดิม แน่นอนว่าถ้ามาแบบเดิมทั้งหมด ปัญหาเก่าอย่างการลอกข้อสอบที่มีอยู่ก็ตามมาในแพลตฟอร์มนี้ด้วย
แล้ววิธีการที่เหมาะสมสำหรับการสอนออนไลน์คือวิธีการแบบไหน
สิ่งที่จำเป็นสำหรับการสอนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ หนึ่งคือเราต้องไว้ใจผู้เรียนว่าผู้เรียนจะนำตัวเองในการเรียนรู้ได้ สองในโลกของการเรียนรูปแบบนี้เราจะไม่เน้นการประเมินผลแบบการให้เกรด (evaluation) แต่จะเน้นไปทางการประเมินผลเพื่อให้ฟีดแบก (assessment) ซึ่งการเรียนการสอนที่ผ่านมาของเราอยู่บนพื้นฐานของความไม่ไว้ใจ
ครูอาจารย์หลายท่านไม่ไว้ใจว่าถ้าสอบบนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วเด็กจะไม่ลอกกัน การสอบรอบนี้เราจะเห็นเลยว่ามีหลายวิธีการมาก ทั้งให้เด็กเขียนข้อสอบด้วยลายมือ ถ่ายรูป แล้วนำทุกรูปมาประกอบรวมกันเป็นไฟล์ หรือ ให้เด็กตั้งกล้องรอบตัวเลยเพื่อให้ครูจับตาดูตลอดเวลา ซึ่งเราเจออะไรแบบนี้เยอะมาก นี่คือตัวอย่างของการที่อาจารย์ไม่ได้ถูกเตรียมความพร้อมให้เข้าใจว่าการเรียนการสอนออนไลน์คืออะไร
จากปรากฏการณ์การย้ายมาสอนออนไลน์แบบฉุกเฉินสะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้าง
การเปลี่ยนมาสู่โลกการสอนออนไลน์แบบฉุกเฉินได้เปิดปัญหาการศึกษาไทยขึ้นมาเยอะมาก เราเห็นเลยว่าจริงๆ แล้วมันมีกระบวนทัศน์ทางการศึกษาที่ยังไม่ถูกตรวจสอบเต็มไปหมด ผมไม่อยากให้เรื่องนี้มันหายไป เพราะเดี๋ยวมันจะกลายเป็นว่าทุกคนก็กระโจนเข้าไปหาแพลตฟอร์มใหม่กันหมด แต่ปัญหาเดิมยังไม่ถูกแก้ สุดท้ายมันก็จะไปซ้ำรอยเดิม
เรื่องใหญ่ในตอนนี้คือเราจำเป็นต้องกลับมาถามตัวเองก่อนว่าเป้าหมายวิชาคืออะไร บริบทของผู้เรียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว ประสบการณ์แบบไหนที่มันจับได้บ้าง ชิ้นงานแบบไหนที่ควรจะต้องมอบหมาย การวัดผลควรเป็นอย่างไร นี่ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับมหาวิทยาลัยเลยนะ เราต้องยอมรับว่าจากนี้ไปมันจะมีความสุ่มเสี่ยงที่ต้องเปิดๆ ปิดๆ ถ้าสมมติว่าปีการศึกษาหน้าเราต้องจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ต่อไป ช่วงเวลาปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมอาจารย์ให้พร้อม หัวใจของเรื่องนี้ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คือการออกแบบการเรียนการสอนใหม่ ออกแบบคอร์สใหม่ ด้วยเป้าหมายเดิม แล้วค่อยให้เทคโนโลยีตามมาหลังสุด
เคยมีคำกล่าวที่ว่า “ปัญหาเรื่องลอกข้อสอบของเด็กไทยเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาการศึกษาไทย” ถ้าอย่างนั้นปัญหาเดิมที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งอันมีชื่อว่าระบบการศึกษาไทยคืออะไรกันแน่
ทุกวันนี้ถามว่าคนเรียน เรียนเพื่ออะไร เด็กจำนวนหนึ่งเรียนเพื่อจะได้เกียรตินิยม เรียนเพื่อเกรดดีๆ เทอมนี้ไม่อยากจะติดโปรแล้ว ยังไงก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้เขาผ่านให้ได้ เพราะฉะนั้นคุณค่าของการเรียนมันไปอยู่ที่อย่างอื่นมันไม่ได้อยู่ที่ตัวเขา เขาเลยไม่จำกัดวิธีการในการบรรลุเป้าหมาย
ตอนนี้ความสำเร็จในการเรียนกลายเป็นเรื่องของแรงจูงใจภายนอกทั้งหมด ไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงจูงใจภายใน ฉันอยากเป็นคนที่รู้เรื่องนี้ ฉันภูมิใจว่าฉันเรียนวิชาที่อาจารย์โหดที่สุดและคว้า A มาด้วยตัวเอง ความภูมิใจพวกนี้มันไม่ถูกติดตั้ง เพราะฉะนั้นพอคนให้ความสำคัญกับเรื่องปัจจัยภายนอกมากกว่าข้างในตัวเอง มันก็เลยทำให้ท่าทีของสังคมเทไปที่เรื่องพวกนี้ทั้งหมด
เราจะเห็นว่าพอช่วงเทศกาลออกเกรด ทุกคนจะเอาใบคะแนนประจำภาคมาโชว์กัน ซึ่งสำหรับผมมองว่ามันล้มเหลว ถ้าความสำเร็จในการเรียนของคุณทั้งเทอมคือการบอกว่าคุณได้เกรด 3.75 แล้วคุณภูมิใจ คุณไม่ใช่ตัวจริงในเรื่องการเรียน แต่ถ้าความสำเร็จในการเรียนของคุณเทอมนี้คือคุณทำเปเปอร์ที่คุณอยากทำ แล้วคุณได้รู้เรื่องนี้อย่างจริงๆ ไม่มีใครทำเรื่องนี้ได้เหมือนคุณ อย่างนี้สิความน่าภาคภูมิใจ
แต่เซนส์ของการภาคภูมิใจในความเป็นผู้เรียนของนิสิตนักศึกษาของเรามันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันไปติดกับคุณค่าภายนอกหมด เพราะเราไปให้ค่าในเกียรตินิยมและใบปริญญา มหาวิทยาลัยที่ดังกว่า งานที่ดีกว่า ทั้งหมดนี้คือค่านิยมสังคมหมดเลย ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นโครงสร้างที่มาครอบผู้เรียน
ดูเหมือนว่าเราจะเน้นไปที่เรื่อง ‘การให้ผู้เรียนเห็นระหว่างทางสำคัญมากกว่าผลลัพธ์’ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ที่ในเวลานี้แสดงผลอยู่ในรูปเกรดหรือคะแนน สามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้เลย ฉะนั้นมันอาจจะไม่ได้ปรับแค่ตัวผู้เรียนแต่ถึงเวลาที่ต้องยกเครื่องระบบการศึกษาไทยหรือเปล่า
ถามว่าการศึกษามีหน้าที่อะไร ถ้าการศึกษามีหน้าที่ในการพัฒนามนุษย์ คุณก็จะจัดการศึกษาอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าตอนนี้การศึกษากลายเป็นสิ่งที่คนใช้เป็นช่องทางในการเลื่อนชนชั้นทางสังคม การศึกษาก็จะถูกจัดอีกแบบหนึ่ง ที่ผ่านมา กระบวนทัศน์ทางการศึกษาของโรงเรียนในเมืองไทยคือการเลื่อนชั้นทางสังคม โรงเรียนบ้านเราเป็นแค่เครื่องมือรับใช้โครงสร้างนี้ ระบบการศึกษาที่ผ่านมาจึงมองไม่เห็นระหว่างทาง มันมองแค่ปลายทางอย่างเดียว ซึ่งถ้ามันไม่ถูกออกแบบใหม่ มันก็พังไง
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องแนวคิดในการประเมินผลโรงเรียน ที่ไทยเรามีแนวคิดการประเมินผลโรงเรียนในรูปแบบเกณฑ์การให้คะแนน ผ่าน ดี ดีมาก ซึ่งการตีค่ากันโดยคะแนนเนี่ยมันแนวคิดเรื่องการประเมินแบบเดิม แล้วถ้าเราถามต่อไปว่าคะแนนเหล่านี้ส่งผลต่อโรงเรียนยังไง ก็ง่ายๆ เลย ถ้าผอ. ไม่สามารถงัดคะแนนขึ้นมาได้ หรือ ป้องกันไม่ให้คะแนนหล่นลงไปได้ มันก็จะส่งผลกระทบต่องานของโรงเรียน เพราะงั้นกระบวนทัศน์ในการประเมินโรงเรียนจึงส่งผลต่อการออกแบบการเรียนการสอนในระดับชั้นเรียน ซึ่งจะไปกระทบกับตัวผู้เรียนอีกทีนึง นี่เลยเป็นโจทย์ว่าทำไมเราถึงต้องรื้อทั้งระบบ
ซึ่งตอนนี้มันเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านของแนวคิดทางการศึกษา ตลอด 40 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนไปเยอะมากนะ เช่น คนยุคผม เมื่อก่อนเด็กเก่งๆ ต้องเรียนหมอ วิศวะ กันทั้งนั้นแต่มายุคนี้อาชีพพวกนี้ไม่ได้เป็นอาชีพยอดนิยมของคนรุ่นใหม่อีกต่อไปแล้ว พวกเขาเองก็ไม่ได้สืบทอดค่านิยมความคิดแบบนี้ เพราะเราต้องอย่าลืมว่าค่านิยมทุกอย่างมันเกิดขึ้นโดยมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องเปลี่ยนโดยมนุษย์ อยู่ที่ว่าสังคมกำลังถูกชี้นำว่าให้คุณค่ากับเรื่องอะไร
ห้องเรียนคือสถานที่ที่จะช่วยสร้างค่านิยมพวกนี้แหละ ถ้าครูยังคงปักหมุดด้วยความภาคภูมิใจว่าใครได้ A วิชาฉันเก่งมาก หรือ ครูยังคงมองผู้เรียนด้วยสายตาระแวงระวัง ข้อสอบฉันจะต้องมีเทคนิควิธีการออกที่เหนือชั้นเพื่อป้องกันการลอก แสดงว่าคุณก็เริ่มจากการที่คุณไม่เชื่อใจผู้เรียน ผู้เรียนก็จะรู้ว่าวิชานี้อาจารย์ไม่ไว้ใจเรา เราต้องลองของอาจารย์ มันก็ซ้ำเติมค่านิยมเดิมและส่งต่อวัฒนธรรมที่ไม่ไว้วางใจกัน เพราะฉะนั้นอยู่ที่อาจารย์ผู้สอนว่าคุณปักธงอะไรไว้ในห้องเรียนของตัวเอง คุณก็สร้างค่านิยมแบบนั้นให้แก่ผู้เรียน
เท่าที่ฟังจากที่อาจารย์ว่ามาระบบการศึกษาไทยมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องหลายตัวแปรมาก ไม่ว่าจะเป็น ผู้เรียน ครูอาจารย์ ไปจนถึงสถานศึกษา แล้วถ้าวันนี้เราอยากแก้ปัญหาที่ว่ามาข้างต้น เราควรจะต้องเริ่มแก้ปัญหานี้จากตรงไหนดี
คำถามคุณต้องมองหลายระดับ ต้องมาดูว่าโจทย์ของเรามองในระดับไหน ถ้าเรามองระดับห้องเรียน ไม่ว่าจะโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ก็ต้องเริ่มต้นเปลี่ยนที่ตัวครู แต่อยู่ๆ คุณจะรอการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลไม่ได้ มันต้องมีแรงจูงใจ องค์กรต้องเอาด้วย มันเลยต้องการสิ่งที่เรียกว่าความเป็นผู้นำของโรงเรียน (school’s leadership) ทั้งระดับคุณครูและผอ. ทุกคนต้องเอาด้วยกัน หลังจากนั้น ผอ.ก็ต้องไปต่อรองกับหน่วยงานต้นสังกัดขึ้นไปอีก ซึ่งมันต้องทำไปพร้อมกัน bottom up ก็ต้องทำ top down ก็ต้องทำ ข้างบนก็ต้องไม่กดลงมาจนเกินไป ปล่อยให้มันมีอิสระเกิดขึ้นได้บ้าง
อย่างเรื่องการเรียนการสอนที่จะจัดขึ้นในช่วงโควิด ทางกระทรวงก็ต้องชัดเจนในเรื่องนี้ว่าจะเอายังไง พ่อแม่เริ่มกังวลว่าถ้าเรียนแบบนี้ ตอนสอบโอเน็ตลูกจะทำข้อสอบได้หรือเปล่า โรงเรียนก็กังวลต่อ เพราะตอนนี้มันไม่มีการคุยเสียด้วยซ้ำว่าปีนี้โอเน็ตจะสอบจริงๆ หรือเปล่า คุณต้องคิดได้แล้วว่าถ้าเรียนทางออนไลน์แบบนี้คุณจะจัดสอบยังไง ถ้าโจทย์ปลายทางมันไม่ชัด คนที่อยู่ต้นทางเขาก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เขาทำมันไปได้หรือเปล่า
การเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในห้องเรียนก็แค่บางห้องที่ครูเต็มใจอยากให้เปลี่ยน แต่ไม่สามารถเปลี่ยนทั้งโรงเรียนได้
เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราอยากเปลี่ยนทั้งระบบการศึกษา มันจำเป็นต้องมีสัญญาณในเชิงนโยบายมาสนับสนุน โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเห็นภาพเดียวกัน เพราะเหตุนี้แหละการออกแบบนโยบายทางการศึกษาจึงสำคัญ แต่ปัญหาก็คือว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่ออกแบบนโยบายการศึกษาของบ้านเรา ไม่มีการทำงานเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หรือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ทั้งคู่ยังเป็นองค์กรอิสระอยู่เลย โจทย์ใหญ่สำหรับการออกแบบระบบการศึกษาใหม่คือคุณจะต้องพาหน่วยงานเหล่านี้กลับมาเชื่อมโยงกันให้ได้
ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าประเทศไทยมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องระบบการศึกษาหลายครั้ง เรามีการปฏิรูปการศึกษานับครั้งไม่ถ้วน แต่ทำไมเราถึงยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่สำเร็จสักที
ต้องเข้าใจก่อนว่าการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่การทำงานครั้งเดียวจบ มันเป็นการทำงานในระยะยาว แต่ปัญหาก็คือเราชอบมีคนคิดว่าตัวเองจะเป็นฮีโร่มาปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จภายใน 5 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย คุณเป็นแค่คนทำงานคนหนึ่งที่มาช่วยทำให้เงื่อนไขการทำงานมันดีขึ้น เพื่อให้คนที่มารับไม้ต่อจากคุณ เขาไปต่อได้ คุณรู้ไหมว่าเรามี footprint ทางการศึกษาเยอะมาก มีรอยเหยียบย้ำเชิงนโยบายเต็มไปหมด แต่ handprint ที่ดีกลับน้อยมาก เพราะทุกคนคิดจะแต่มาฝากงานที่ดีไว้ แล้วก็เหลือทิ้งโครงการประหลาดๆ ไว้กับโรงเรียน สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นเลย
ยังไม่นับรวมว่าประเทศเราเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อยมาก จนจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นรัฐมนตรีมากี่สมัยบ้าง ตลอด 20 ปีมานี้ เรามีรัฐมนตรีไม่ต่ำกว่า 22 คน นโยบายการศึกษาของเราไม่เคยนิ่งเลย ซึ่งพอมันไม่นิ่งก็ทำให้โรงเรียนต้องเป็นฝ่ายตั้งรับตลอดเวลา เราขาดการทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้ยาก ถ้าเทียบกับประเทศอื่นที่เขามีเป้าหมายชัด มีการทบทวนเป็นระยะๆ และมี board of education ระดับชาติที่จะคอยทบทวนนโยบายทางการศึกษาอีก
ประเทศเราเองก็มีความพยายามจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเรื่องการศึกษา ซึ่งมันก็เกิดคำถามตามมาอีกว่าแล้วสมาชิกของคณะกรรมการมาจากไหน เพราะถ้าคุณจะเป็นคนที่มีส่วนในการกำกับทิศทางการศึกษา คุณต้องเป็นตัวแทนที่รู้จักหน้างานมากที่สุด ไม่ใช่เป็นการแต่งตั้งแล้วเอาพวกเดียวกันมาทำงาน นอกจากนี้คุณจำเป็นต้องรับฟังเสียงจากสาธารณะ เพราะกระบวนการทางการศึกษาคือกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม ต้องเปิดโอกาสให้สังคมได้ถกเถียงกันเรื่องนี้ เพราะเมื่อถึงวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับการศึกษา สังคมจะไม่ได้เป็นฝ่ายตั้งรับและจ้องจับผิดอย่างเดียว
เหมือนอย่างกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการจัดสอนออนไลน์ผ่านโทรทัศน์และแอปพลิเคชัน DLTV แล้วปรากฏว่ามีอาจารย์สอนเนื้อหาผิด โอ้โห สังคมถล่มอย่างเดียวเลย มันแบ่งเขาแบ่งเรา ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้อง กลายเป็นว่ากระทรวงศึกษาธิการกับประชาชนต้องชนกันเป็นระยะๆ สังคมก็คอยด่ากระทรวง กระทรวงถึงยอมเปลี่ยน ซึ่งมันไม่ใช่ งานการศึกษาไม่ใช่การแบ่งว่าฉันเป็นคนตัดสินใจเพราะฉันเป็นอำนาจรัฐ ส่วนเธอเป็นเสียงสาธารณะ ฉันจะฟังเธอก็ต่อเมื่อฉันโดนเธอถล่มทับ ความคิดแบบนี้มันไม่ใช่เลย ผมคิดว่าตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการเล่นบทเป็นเจ้าของการศึกษามากเกินไป ไม่ฟังใคร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้
แสดงว่าคำตอบของเรื่องนี้อาจจะเป็นคำว่ากระจายอำนาจ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องคืนระบบการศึกษาให้แก่ประชาชนทุกคน
การตัดสินใจใดใดเรื่องการศึกษาต้องอยู่ใกล้เด็กที่สุดเสมอ แต่ที่ผ่านมาอำนาจเกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณ ถ้าเกิดเรามอบอำนาจการตัดสินใจให้กับโรงเรียน มันมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน ซึ่งเราไม่ไว้ใจให้โรงเรียนจัดการดูแลตรงนี้ เขตพื้นที่การศึกษาก็จับจ้องเพราะเขาก็กลัวโดนสตง. ตรวจ พอมันทำการศึกษาบนฐานความไม่ไว้วางใจ ความหลากหลายมันจะไม่เกิด มันจะไปด้วยรูปแบบเดิมๆ สุดท้ายก็มีแต่ระบบจับผิด
พอคุณตั้งคำถามเรื่องนี้มันก็วกกลับมาที่โจทย์ไง ทำไมเด็กถึงลอกข้อสอบก็เพราะครูไม่เชื่อใจเด็ก ทำไมโรงเรียนต้องปลอมรายงานหลอกต้นสังกัดเวลามีการตรวจโรงเรียน ก็เพราะว่าต้นสังกัดไม่เคยเชื่อใจเขา เขาก็ต้องเล่นหน้าฉากหลังฉาก ทำงานจริงแบบหนึ่ง ตอบโจทย์ตัวชี้วัดแบบหนึ่ง มันก็เป็นการศึกษาที่โกหกกันไปกันมา
ฉะนั้นช่วงเวลานี้เป็นโอกาสในการคืนความเป็นเจ้าของการศึกษาให้กับบ้าน โรงเรียน และ ชุมชน มีแนวปฏิบัติที่ดีเกิดขึ้นเยอะมาก เช่น โรงเรียนในต่างจังหวัดที่ต้องอยู่กับความจำกัด เขามีวิธีที่หลากหลายมากเลยนะ ผมมีลูกศิษย์ที่เรียนจบราชภัฏอุดรฯ เขาขับรถไปตามหมู่บ้านเลย เอาซองความรู้ไปแจกตามชุมชน แล้วเขาก็จะมีจุดหนึ่งในหมู่บ้านที่ให้เด็กมารวมตัวกัน ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านก็ไปพาเด็กมา แบ่งการเรียนเป็นรอบๆ ครูก็จะอธิบายให้ฟังว่าในซองกิจกรรมมีอะไรบ้าง อันนี้คือความร่วมมือกับชุมชน ซึ่งมันสร้างความเป็นเจ้าของการศึกษาร่วมกัน เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ ถ้าเราเอาเด็กเป็นตัวตั้งของการคิดมันต้องทำแบบนี้แหละ
ท่ามกลางวิกฤตมันมีโอกาสแบบนี้อยู่ โอกาสที่จะคืนความเป็นเจ้าของการศึกษาให้กับบ้านและชุมชน ให้ครูเป็นอิสระในการออกแบบการสอนได้ด้วยตัวเองและให้โรงเรียนเป็นอิสระในการกำกับทิศทางอีกครั้ง