“333 นักวิชาการ – สื่อ จี้ รัฐบาลเปิดแผนจัดหาจัดสรรวัคซีนโควิดทุกชนิด ต่อสาธารณะ!”
“กรมการแพทย์เผย ผู้ป่วยโควิด – 19 โทรประสานหาเตียงเพิ่มขึ้น 5 เท่า จับมือเอกชนเร่งแก้ระบบ”
“กลุ่มสาธารณสุข เรียกร้องทูตสหรัฐฯ ตรวจสอบการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่บริจาค”
“หมอพร้อม ไม่รับจองวัคซีนโควิด โอนระบบให้ รพ. จุดฉีดดำเนินการแทน”
พาดหัวข่าวจากสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ ตลอดครึ่งปี 2564 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นปัญหาของภาครัฐในการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูล โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเปิด (Open data) ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ฐานข้อมูลมหาศาลของภาครัฐ ทั้งเรื่องความโปร่งใสและความไม่เท่าทันกับสถานการณ์ฉุกเฉินของโควิดระลอกสาม
การจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นในหน้างานดูย้อนแย้งกับนโยบายที่ผู้นำรัฐบาลชูธงการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโลยีดิจิทัล ยังไม่นับว่ารัฐไทยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่มีประกาศเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) ออกมาอย่างชัดเจนเมื่อกลางปี 2563 ระหว่างนโยบายและแผนการปฏิบัติงานที่สวนทางเหล่านี้ เราจะใช้ทรัพยากร Open data ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร คนวงในสายงาน Data Scientist มีคำตอบ
โควิดดิสรัป โลกคู่ขนานของความโปร่งใสและการจัดการ Big data
เมื่อตั้งคำถามว่า “เราจะถอดบทเรียนจากการบริหารจัดการของรัฐบาลในเรื่องของ Open Data ในวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาได้อย่างไร” จรัล งามวิโรจน์เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big data ที่บรรยายให้กับหลายหน่วยงานของไทยทั้งภาครัฐและเอกชนได้ตอบอย่างเรียบง่ายว่า
“เราต้องหาว่า อะไรคือการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วยสปีดที่จะทำงานกับโควิดได้”
ด้วยประสบการณ์การทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลชั้นนำในอเมริกา จรัลมุ่งไปที่หัวใจสำคัญที่รัฐต้องตอบคำถาม นั่นคือเรื่องของความเร็วที่รัฐสามารถทำงานข้ามกระทรวง และบริหารจัดการด้านข้อมูลต่าง ๆ ให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในการแพร่ระบาดของโควิด เขาย้ำว่ากระบวนการทำงานของรัฐต้องอยู่ในระดับ Transformation ไม่ใช่การทำงานที่เชื่องช้ากว่าโควิด ในขณะเดียวกันความเร็วที่เกิดขึ้นนั้นต้องควบคู่ไปกับเรื่องของความโปร่งใสในการบริหารจัดการ Open data
“การจะทำ Open data มันเริ่มจาก Mindset ของภาครัฐที่ต้องมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งมี mandate ว่า Open data ต้องเป็น Open data by default หมายความว่าต้องเตรียมการทำเรื่องนี้ตลอดเวลา นี่คืออุดมคติที่จะทำให้ความโปร่งใสของรัฐเกิดขึ้นได้”
นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลผู้มากประสบการณ์เสนอว่าต้องจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลเปิด โดยอาจเริ่มต้นจากเรื่องสำคัญที่สุด เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง จัดงบประมาณ ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนต้องการติดตามมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการจัดซื้อวัคซีนต่าง ๆ ข้อมูลเปิดเหล่านี้ควรอยู่ในมาตรฐานของการจัดซื้อจัดจ้าง (Open procurement template) ของนานาชาติ ข้อมูลเหล่านี้เมื่อเปิดเผยได้ ย่อมทำให้ประชาชนสามารถเข้าไปติดตามตรวจสอบ ทำให้ระบบเกิดความโปร่งใส ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่รัฐควรให้ความสำคัญคือ ข้อมูลเปิดด้านสาธารณสุขต่าง ๆ โดยทำในรูปแบบพื้นฐานสถิติแบบเรียลไทม์ ข้อมูลเปิดเหล่านี้คือเรื่องเร่งด่วนที่รัฐควรบริหารจัดการเป็นลำดับแรก
แม้ว่ารัฐบาลจะมีหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและการบริหารจัดการข้อมูล และที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างมีความพยายามผลักดันเรื่อง Open data แต่ท้ายที่สุดแล้วสัมฤทธิผลจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง อาจต้องเป็นอาณัติที่มาจากผู้นำรัฐบาล จรัลได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงอุปสรรคที่ผ่านมาและแนวทางในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ว่า
“ผมคิดว่าสุดท้ายเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรี ต้องบอกว่าเรื่องนี้สำคัญ ทุกหน่วยงานต้องทำ Open data แต่ต้องบอกว่าในทางเทคนิคมีความซับซ้อนอยู่ ที่ผ่านมาเราวัด Output อย่างเดียว กลายเป็นว่าก็ทำกันไป สแกนเอกสารเก็บเป็น pdf ซึ่งสุดท้ายอ่านไม่ได้ จึงต้องมีการบริหารจัดการในเรื่องการเก็บ Data ที่เหมาะสม นำไปใช้ได้จริง ต้องมีการ Training มีการสร้าง Data literacy การสร้างความเข้าใจเรื่องของ Data citizen
“นอกจากนี้ต้องมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมี Mission เดียวกัน เช่น ทำเรื่องเงินเข้าเงินออกของรัฐบาลให้ชัดเจน ทำเรื่องเดียวก่อนในทุก ๆ หน่วยงาน ผมว่าจะช่วยเรื่องอื่น ๆ ได้อีกมากเลย เพราะตอนนี้เรื่องของคอร์รัปชัน เป็นเรื่องของเงินเข้าเงินออกที่เข้าไปในรัฐทั้งนั้น”
รัฐต้องทำหน้าที่เป็น Facilitator เปิดโอกาสให้เอกชนและสตาร์ทอัพ
ในความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมสังคมในช่วงโควิดระบาดระลอกสาม มีปรากฎการณ์ความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เกิดจากภาคเอกชนและสตาร์ทอัพพยายามใช้นวัตกรรมที่ยืนอยู่บนฐานของข้อมูลเปิดเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น แอปพลิเคชันสัญชาติไทยอย่าง QueQ ที่สามารถใช้ในการจัดระบบคิว ในการการรอบริการด้านการแพทย์ต่าง ๆ เช่น การฉีดวัคซีนหรือการตรวจเชิงรุก
ซึ่งแอปนี้ช่วยให้ลดการแพร่เชื้อจากความหนาแน่นระหว่างรอคิวได้เป็นอย่างดี นักพัฒนาซอฟท์แวร์ สตาร์ทอัพ และเอกชนต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและข้อมูลเปิด ควรจะได้เข้ามาทำงานร่วมกับภาครัฐมากขึ้น เหตุใดเราจึงไม่เห็นปรากฎการณ์ Collaborate เหล่านั้น
“ต้องเข้าใจธรรมชาติของกลุ่มนี้ อันแรกคือสตาร์ทอัพสายป่านไม่ยาว เพราะฉะนั้นการทำงานต้องเร็ว ขั้นตอนต้องน้อย เอกสารน้อย ทำงานแล้วได้ค่าตอบแทนรวดเร็ว เพราะฉะนั้นภาครัฐจึงต้องปรับตัวมากว่าถ้าต้องทำงานกับเอกชนหรือสตาร์ทอัพ ขั้นตอนและเอกสารต้องลดลง
“เพราะถ้าสตาร์ทอัพต้องเลือกสองเจ้าระหว่างเอกชนกับรัฐบาล งบเท่ากัน แต่เจ้าหนึ่งโอเวอร์เฮดเยอะกว่า เขาคงไม่ทำกับรัฐบาล ดังนั้นรัฐต้องทำหน้าที่เป็น facilitator หมายความว่าขั้นตอนน้อย กระชับ ตรวจสอบได้ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนเยอะ
“สุดท้ายจะวนกลับไปที่ Open data คือการเปิดเผยได้ เช่น คุณมีสตาร์ทอัพกี่เจ้า ด้วยราคาเท่าไหร่ มีคุณสมบัติอะไร ทุกอย่างเป็น transaction ที่วิ่งเข้าวิ่งออก ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ประชาชนควรต้องมีสิทธิรู้”
จรัลชี้ให้เห็นภาพรวมของอุปสรรคที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ภาคเอกชนและสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางไม่สามารถเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐได้ ทั้ง ๆ ที่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระดมสรรพกำลังเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาบ้านเมือง
สิ่งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญของข้อมูลเปิดที่ช่วยให้มีการตรวจสอบที่เปิดเผย ลดขั้นตอนที่อุ้ยอ้ายต่าง ๆ ของระบบราชการ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคืออุปสรรคใหญ่ในการบริหารจัดการ ทั้งในการทำงานข้ามหน่วยงานของภาครัฐเอง รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในภาคเอกชน
Open Data กรณีศึกษาจากต่างประเทศ ยิ่งปิด ยิ่งเป็นปัญหา
“เหมือนกับว่าเรากำลังดีลกับ Legacy system เรามีกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. , พ.ร.ก. กฎกระทรวงต่าง ๆ นานา ที่ผูกคอเราอยู่ พูดง่าย ๆ ว่าการทำสิ่งต่างๆ เป็นการทำเพียงเพื่อไม่ให้มีความผิด จึงเหมือนว่าในภาครัฐถูกตรงนี้กำหนดมาแล้วซึมเป็น mindset ของคนที่ทำงาน สิ่งนี้กลายเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง”
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ซึ่งเชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์เพื่อวงการเทคโนโลยีในโลกธุรกิจ เธอมีมุมมองว่าในภาวะวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น การประสานความร่วมมือและการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยยกกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร
“เราดูกรณีศึกษาจากไต้หวัน จากการทำงานของคุณออเดรย์ ถัง (Audrey Tang) รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ที่ได้เคยมาพูดที่งานของเทคซอส แล้วมีโอกาสได้พูดคุยกับเขา เธอบอกว่า ‘นวัตกรรมที่ดีที่สุด คือนวัตกรรมที่เกิดจาก collaboration’
“คือไม่ได้เกิดจากภาคเอกชนอย่างเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือของทั้งสองฝั่ง ภาครัฐมี Data เยอะ แต่ในขณะเดียวกันต้องเปิดใจให้ภาคเอกชนมาพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อดึงข้อมูลไปต่อยอด เพราะสุดท้ายแล้วหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง คงจะไม่สามารถทำงานเพื่อรับ Crisis ได้ทัน แต่เกิดจากการร่วมมือกัน อันนี้เลยอยากชี้ให้เห็นคีย์สำคัญคือเรื่อง collaboration และเรื่องของ open data ที่เปิดให้ภาคเอกชนที่มีนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดได้จริง”
อรนุชมีความเห็นว่ารัฐควรเรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้น หากเปรียบประเทศไทยเป็นบริษัท วิกฤตการณ์โควิดเป็นทั้ง Crisis และ Disruption หากรัฐบาลชะล่าใจว่าสามารถบริหารจัดการได้ อาจทำให้ไม่มีการความเตรียมพร้อมอยู่ตลอด
นอกจากนั้นไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ซึ่งจะเป็นกับดักที่ทำให้เราไม่ก้าวไปข้างหน้า ท้ายที่สุดคือเรื่องของ collaboration ที่รัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหา รับฟังเสียงประชาชน และต้องสื่อสารให้ชัดเจน
“ประเทศอย่างไต้หวันหรือเอสโทเนีย หรือประเทศที่เก่งเรื่องการจัดการในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เขาไม่ได้ก้าวหน้ามากไปกว่าเรา แต่เขามีการจัดการที่พร้อม และทำให้ประชาชนไว้วางใจได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของ transparency ยิ่งคุณปิดบังเท่าไหร่ สิ่งนี้จะเป็นปัญหา
“ไม่ว่าจะเป็นไต้หวันหรือแอสโทเนีย มันเริ่มจากการสร้างความเชื่อใจ มีการสื่อสารที่ชัดเจน จะทำให้เรารู้สึกว่าเต็มใจที่จะ collaborate ร่วมกัน แล้ว execution เรื่องของ data การพัฒนาแอปพลิเคชัน จะค่อย ๆ ตามมา คนไทยไม่ได้ด้อยในเชิงทักษะเลย มี developer เก่ง ๆ เยอะมาก แต่คีย์สำคัญคือเราจะสร้างให้เกิดความร่วมมือกันได้ยังไง มันต้องสร้างความเชื่อใจให้กันและกัน ซึ่งไม่ใช่แค่เอกชนเชื่อใจรัฐ รัฐก็ต้องเชื่อใจเอกชนด้วยว่ามีคนเก่งอยู่ตรงนั้นและทำงานด้วยกันได้”
“ไม่เปิด ย่อมมีปัญหา” ปลดล็อกการเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชน
รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับหลักการของ “ธรรมาภิบาลข้อมูล” (Data governance) ที่จะทำให้การจัดการกับข้อมูลเปิดมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ในประเด็นนี้ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เน้นว่าเมื่อรัฐบาลยืนอยู่บนหลักการของธรรมาภิบาลข้อมูลแล้ว สิ่งที่จะได้จากประชาชนคือความไว้วางใจ ซึ่งเป็นหัวใจของการทำ Open data ภายใต้ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยอดีตผู้อำนวยการ สพร. ได้อ้างถึงกฎหมายด้านข้อมูลข่าวสารหลายฉบับ ที่ระบุเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูลของภาครัฐไว้อย่างชัดเจน
“เรามี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาจะ 25 ปีแล้ว เรายังมี พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 หรือ รัฐบาลดิจิทัล ที่ย้ำความสำคัญว่า ภาครัฐต้องทำข้อมูลเป็นดิจิทัล มีมาตรา 8 ที่ให้รัฐทำข้อมูลให้มีธรรมาภิบาล หลักการของการทำข้อมูลให้มีธรรมาภิบาล คือต้องกำหนดความรับผิดชอบผู้ที่อนุมัติชุดข้อมูลนั้น ไม่ใช่คนนั้นพูดที คนนี้พูดที ทำให้ประชาชนไม่เชื่อ หลักของ Data governance คือทำให้เกิด accountability ซึ่งพอไม่มีตรงนี้จึงทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือข้อมูลของภาครัฐ”
ดร.ศักดิ์ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น กรณีข้อมูลจำนวนคนป่วยใหม่ที่กระจัดกระจายทั่วประเทศ ข้อมูลเหล่านี้ต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัด ซึ่งเป็นหลักการของ data governance อย่างไรก็ตาม อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้ธรรมาภิบาลข้อมูลยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ คือแม้ว่ากฏหมายจะเกิดได้ประมาณสองปีแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจให้ภาครัฐว่าธรรมาภิบาลข้อมูลคืออะไร หลายหน่วยงานมีการลงมือทำแล้ว แต่อีกหลายน้อยหน่วยงานยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะปลดล็อกในเรื่องการทำข้อมูลเปิดของหน่วยงานราชการ อดีตผู้อำนวยการ สพร. มีมุมมองว่าเป็นเรื่องของกรอบวิธีคิด รวมทั้งกฎหมายยังมีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้การบริหารจัดการเรื่องข้อมูลเปิดไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร โดยใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ มีเนื้อหาบางส่วนที่ให้สิทธิหน่วยงานภาคงานรัฐ ใช้วิจารณญาณว่าควรเปิดเผยข้อมูลนั้น ๆ หรือไม่ ตามที่ ดร.ศักดิ์ ได้วิเคราะห์ในเรื่องนี้ว่า
“มีข้อหนึ่งที่บอกว่า รัฐไม่จำเป็นต้องเปิดทุกเรื่องก็ได้ ถ้าวิเคราะห์ดูแล้วอาจทำให้สังคมมีความวิตกเกินไป เพราะฉะนั้นเราจะมีเส้นแบ่งตรงไหนระหว่างข้อมูลที่จำเป็นกับข้อมูลที่ไปสร้างความตื่นตระหนกให้สังคม อันนี้ผมเห็นด้วยเพราะข้อมูลเปิดบางอย่างอาจจะเปิดไม่ได้ เช่นกรณีของกกต. ที่พรรคไหนได้คะแนนเท่าไหร่ ซึ่งในระดับหน่วยเลือกตั้งย่อยเปิดไม่ได้ เพราะอาจสร้างความเสียหายในชุมชนนั้นได้ อันนี้มันคือกรณีเอ็กซ์ตรีม
“แต่ในกรณีทั่วไป รัฐอาจจะคิดว่าไม่เปิดดีกว่า เปิดแล้วจะถูกด่า Mindset คือ ‘ไม่เปิด ไม่มีปัญหา’ เปิดอาจจะมีปัญหา แต่ในกรณีฉุกเฉินอย่างสถานการณ์โควิดมันไม่ใช่ ถ้าคุณไม่เปิดข้อมูลตรงนี้แล้วประชาชนจะทำยังไง เพราะฉะนั้นในกรณีฉุกเฉิน แม้ว่าเรื่องข้อมูลจะเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่การไม่เปิดอาจจะมีผลร้ายมากกว่า”
หัวใจของเรื่องข้อมูลประเทศใดก็ตาม ไม่ได้อยู่ที่ผู้นำประเทศหรือประชาชนที่แยกขาดจากกัน ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีล้ำสมัยที่ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเปิดที่โปร่งใส แต่หัวใจของประเทศคือความเชื่อใจที่มีให้กัน เราได้ก้าวเข้าสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาหลายปีแล้ว แต่เราได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นมนุษย์กันหรือยัง เรื่องนี้คงพอจะเป็นคำตอบสำหรับการใช้ทรัพยากรด้านข้อมูลเปิดให้ตอบโจทย์กับประชาชนได้มากที่สุด ตามที่ ดร.ศักดิ์ได้ฝากไว้ให้รัฐบาลได้คิดว่า
“ทุกอย่างเตรียมไว้ให้คุณหมดแล้ว ขึ้นอยู่ว่าคุณจะทำหรือไม่ทำแค่นั้นเอง ไม่มีอุปสรรคแล้ว กฎหมายก็บังคับทำ ประชาชนก็ต้องการข้อมูล คุณต้องลุกขึ้นมาหากลไกในการที่จะให้ข้อมูลเปิดกับประชาชน ลองคิดว่าตัวเองเป็นประชาชน แล้วในช่วงโควิดเราอยากรู้เรื่องอะไร ถอดหมวกออกเราก็คือประชาชนคนหนึ่ง รัฐบาลต้องมี empathy เพราะเขาเองคือประชาชนคนหนึ่ง สมมติครอบครัวคุณเกิดติดโควิด คุณก็ไม่ต่างจากประชาชนคนหนึ่งเลย แล้วคุณต้องการรู้ข้อมูลอะไร เรื่องนี้มันจึงน่าจะทำให้คนที่ยังไม่ได้เปลี่ยน mindset หรือคนที่ไม่มี empathy ควรต้องมีได้แล้ว”