สำนึกความเป็น“ชาติ”ที่ก้าวหน้า ในรัฐที่ถอยหลัง - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ชาติ” คำ ๆ นี้ดูเหมือนเป็นสิ่งติดตัวคนเรามาตั้งแต่เกิด ในสูติบัตรก็กำหนดให้ทารกน้อยต้องมีสัญชาติและเชื้อชาติ ครั้นเริ่มโตขึ้นมาอยู่ในวัยเรียน ทุกเช้าต้องยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมร้องเพลงออกมาสุดเสียง ดังท่อนหนึ่งว่า “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” พอเข้าสู่ห้องเรียน ครูผู้สอนก็จะบังคับให้ต้องท่องคำว่า “ชาติ” ในฐานะ 1 ใน 3 สถาบันหลักของประเทศร่วมกับศาสนาและพระมหากษัตริย์

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด รัฐไทยก็มักจะออกนโยบายหรือคำขวัญที่มีคำว่า “ชาติ” เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ อาทิ “เสียสละเพื่อชาติ” “ส่งเสริมความรักชาติ” แม้กระทั่งนโยบายสาธารณสุขก็ยัง “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” และรณรงค์การฉีดวัคซีนก็ถือเป็น “วาระแห่งชาติ”

ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ราว 7 ปีจนถึงไม่นานมานี้ ก็จะเจอคำที่คณะรัฐประหารใช้เรียกตนเองว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” และการตั้งชื่อรายการชวนฝันฟุ้งว่า “คืนความสุขให้คนในชาติ”

รวมถึงคำที่หลายคนอยากได้ยินคือ “ลาออกเพื่อชาติ” ก็ถือเป็นการทำเพื่อชาติเหมือนกัน

แต่เคยสงสัยกันไหม คำว่า “ชาติ” ที่อยู่กับเราตั้งแต่เกิดจนตายมีความหมายว่าอย่างไร นอกจากความหมายตามที่รัฐกำหนดไว้ตายตัวในตำราเรียน

เพื่อถอดรหัสให้กระจ่างในชาตินี้โดยไม่ต้องรอถึงชาติหน้า De/code จึงชวน ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยและสหรัฐอเมริกา มาสนทนาว่าด้วยเรื่องราวของ “ชาติ” รวมถึงการปะทะกันทางความคิดเรื่องชาติระหว่างชาติแบบเก่าที่ยังคงออฟไลน์ (offline) กับชาติแบบใหม่ที่ออนไลน์ (online) รุดหน้าตามเทคโนโลยีไปทุกขณะ

จากนิยามถึงกระบวนการสร้างความเป็น “ชาติ”

“ชาติและชาตินิยมเป็นแนวคิดที่มีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก ผูกพันกับความรู้สึกที่รุนแรงมาก คนต้องเชื่อมัน ยอมมัน ยินดีกับมัน”

อาจารย์ธเนศเกริ่นนิยามของชาติให้ฟังก่อนลงรายละเอียด ซึ่งจะสังเกตได้ว่าความรู้สึกเรื่องชาตินิยม (nationalism) มาคู่กับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ดังที่อาจารย์ธเนศได้ยกแนวคิดของเบน แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) เรื่อง “ชุมชนจินตกรรม” (Imagined Communities) มาอธิบายเรื่องนี้ด้วยว่า

“ชาตินิยมคือความรู้สึกทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนหนึ่ง ๆ ซึ่งมันใหญ่มาก ๆ ทำให้เกิดเป็นรัฐชาติและมีอำนาจอธิปไตย แล้วคนทั้งหมดไม่เคยเจอกันเลย แต่จินตนาการได้ว่าคนที่อยู่ทางเหนือหรือทางใต้ เขาเชื่อมกับเราและเราก็เชื่อมกับเขาไปสู่ความเป็นชาติ เมื่อมองในแง่นี้มันจึงเป็นจินตกรรมร่วม”

แล้วกระบวนการสร้างชาติมีความเป็นมาอย่างไร อาจารย์ธเนศอธิบายว่ากระบวนการนี้เริ่มขึ้นที่ละตินอเมริกาในศตวรรษที่ 18 โดยมีระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบอาณานิคมยุโรปเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งแต่ละประเทศได้ทำการค้าและการผลิตภายใต้ระบบทุนนิยมโลกที่มีวิทยาการก้าวหน้า การศึกษายุคแรกมักเริ่มมองแต่ยุโรป จึงมีนักวิชาการบางคนอธิบายว่าชาตินิยมเกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม เพราะระบบนี้ทำให้ผู้คนติดต่อออกไปในวงกว้างรวดเร็วขึ้น แต่เป็นเป็นคนแรก ๆ ที่เสนอแย้งว่า ความเป็นชาติเชื่อมโยงกับความคิดจินตกรรมที่กำเนิดมาจาก “ระบบการพิมพ์ทุนนิยม” มากกว่าเรื่องอุตสาหกรรม การปฏิวัติของแต่ละประเทศก็เกิดจากความคิดชาตินิยมที่เริ่มมองเห็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของความเป็นชาติ

สิ่งสำคัญที่ทำให้ชาติซึ่งถูกนิยามขึ้นมาในทางวัฒนธรรมเสมือนเป็นสิ่งจับต้องและรู้สึกร่วมได้ ก็คือการผลิตซ้ำผ่านระบบการศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อมวลชน อันถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็นชาติ

“ถ้าทุกประเทศไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีสื่อ ไม่มีมีเดียนะ ความรู้สึกเรื่องชาติจะหายไปครึ่งหนึ่งเชื่อไหม”

รักชาติ/ชังชาติ กับความคิดที่ยังออฟไลน์ของรัฐและอนุรักษนิยมไทย

สมรภูมิทางการเมืองบนโลกออนไลน์ขณะนี้ มักจะเห็นคนที่อ้างว่า “รักชาติ” แปะป้ายคนที่เห็นต่างจากรัฐว่าเป็นพวก “ชังชาติ” อยู่เนือง ๆ ข้อสงสัยจึงมีอยู่ว่าต้องรักชาติแบบไหนถึงจะไม่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติ และข้อกล่าวหานี้เพิ่งเกิดขึ้นหรือมีมานานแล้ว

เมื่อกล่าวถึงกระบวนการสร้างความเป็นชาติไทย (หรือชาติสยามในอดีต) อาจารย์ธเนศมองว่าเป็นแนวคิดเดียวกับชุมชนจินตกรรม ซึ่งจุดเริ่มต้นการขยายตัวของแนวคิดชาตินิยมไทยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยการเชิดชูอุดมการณ์ 3 สถาบันหลักขึ้นมา คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการพิมพ์แบบทุนนิยม (print capitalism) ที่รับมาจากยุโรปซึ่งเป็นต้นทางของแนวคิดเรื่องรัฐชาติ ทำให้แนวคิดชาตินิยมไทยแพร่หลายออกเป็นวงกว้างได้

หลักฐานสำคัญที่บ่งบอกแนวคิดชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 ได้ชัดเจนคือ พระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” (พ.ศ. 2450) ดังความตอนหนึ่งว่า

“ชาติไทยเราไม่ใช่ชาติใหม่และไม่ใช่ชาติที่เป็นคนป่า… ชาติไทยเราได้เจริญรุ่งเรืองมามากแล้ว… คนไทยโบราณมีแต่คิดและอุตสาหะทำสถานที่ใหญ่โตงดงามขึ้นไว้ให้มั่นคง คนไทยสมัยนี้มีแต่จะรื้อถอนของเก่าหรือทิ้งให้โทรม เพราะมัวหลงนิยมในของใหม่ไปตามแบบของชาวต่างประเทศ ไม่รู้จักเลือกสรรว่าสิ่งไรจะเหมาะจะควรใช้ในเมืองเรา สักแต่ว่าเขาใช้ก็ใช้บ้าง มีแต่ตามอย่างไปประดุจทารกฉะนั้น”

“คุณคิดว่าเขาเขียนตอนโน้น แล้วมาอ่านตอนนี้มันยังใช้ได้ไหม” อาจารย์ธเนศถามต่อทันทีหลังอ่านเที่ยวเมืองพระร่วงในท่อนข้างต้นจนจบ

ถ้าจะลองหาข้อความทำนองนี้ในปัจจุบันมาเปรียบเทียบ อาจยกตัวอย่างโพสต์เฟซบุ๊กของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ความตอนหนึ่งว่า

“สิ่งที่ผมมั่นใจคือ คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีมุมมองทางการเมืองแบบไหน แต่ทุกคนรักชาติ รักวัฒนธรรม รักรากเหง้า และคุณค่าของความเป็นไทย แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็รู้ว่า ทุกคนต้องการอนาคตที่ดีสำหรับประชาชน และประเทศ เราต้องหาหนทางแก้ไขที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น… โดยไม่ทำลายอดีตที่มีคุณค่าของเรา…”

แนวคิดชาตินิยม 2 ช่วงเวลา 2 ระบอบการปกครอง ตามที่ได้ยกมาเปรียบเทียบ มีจุดร่วมตรงที่แม้จะอยากเจริญก้าวหน้าขนาดไหนแต่ก็ต้องไม่ลืมรากเหง้าความเป็นชาติไทยในอดีต นี่คือความ “รักชาติ” ตามแนวคิดของชนชั้นนำไทย แต่ถ้ามองในแง่ของความ “ชังชาติ” ก่อนที่เป็นการจะแปะป้ายคนไทยกันเองอย่างในปัจจุบัน อาจารย์ธเนศอธิบายว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมารัฐไทยสร้างศัตรูของชาติทุกเมื่อ

“ชาติฝ่ายขวาแบบไทย ต้องเอาใครมาเป็นเหยื่อ เป็นเป้าการเมือง เป็นแพะรับบาปอยู่เสมอ ต้องสร้างความรู้สึกให้คนในชาติกลัวว่าจะสูญเสียชาติไป”

ตัวอย่างศัตรูแห่งชาติในอดีตมักเป็นชาวต่างชาติ (คนอื่นที่ไม่ใช่ไทย) เช่น ชาวจีนในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากนั้นก็จะพบกรณีที่แปะป้ายคนไทยให้เป็นต่างชาติเพื่อลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่ากันกับคนไทย คือ เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ 2519 นอกจากนักศึกษาจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ยังถูกบิดเบือนสัญชาติให้กลายเป็นญวนหรือลาว กลายเป็นใบอนุญาตฆ่าได้อย่างไม่ต้องรับผิดเพราะไม่ใช่คนไทย

นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งที่เป็นเรื่องของชาติพันธุ์และศาสนา ในกรณีของหะยีสุหลง ผู้นำและปัญญาชนของชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยรัฐไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2497

“เขามีความเป็นมุสลิม เราพยายามทำให้เขาเป็นไทย เขาถึงไม่ยอมไง คนไทยมองว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพราะฉะนั้นมันเลยเกิดความขัดแย้งกัน”

ภาวะที่ชนชั้นนำไทยในปัจจุบันไม่ยอมปรับตัวตามบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ยังคงแนวคิดชาตินิยมแบบในอดีตร้อยกว่าปีที่แล้ว อาจารย์ธเนศมองว่าเป็นปัญหาสำคัญ การที่ประชาชนขั้วความคิดอนุรักษนิยมแปะป้ายอีกฝ่ายก็เป็นผลมาจากการเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมโดยชนชั้นนำ

“พอชนชั้นนำปัจจุบันไม่ปรับตัว ก็เลยปะทะกันทางความคิดกับคนรุ่นใหม่ รัฐบาลก็สนับสนุนความคิดชาตินิยมแบบเก่า ปัญหาจึงไม่จบ”

“ชาติออนไลน์” ไร้เส้นเขตแดน ปลดแอกการจองจำความคิด

ในขณะที่สำนึกชาตินิยมของรัฐไทยและคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์สายอนุรักษนิยมโดยส่วนใหญ่ยังคงเป็น “ชาติออฟไลน์” อันหมายถึงสำนึกชาตินิยมที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เน้นการรักชาติที่ยึดติดกับชาติพันธุ์ไทยและเส้นเขตแดนที่บรรพบุรุษทำสงครามปกปักรักษาไว้มานานหลายร้อยปี ไม่พัฒนาความคิดให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์ สำนึกชาตินิยมของคนรุ่นใหม่/คนหัวก้าวหน้าไปไกลกว่านั้นในโลกอินเทอร์เน็ต ชาติของพวกเขาเป็น “ชาติออนไลน์” ซึ่งสำนึกชาตินิยมแบบเก่าไม่มีทางจะล้อมรอบเส้นเขตแดนทางความรู้ได้

“ความคิดเรื่องชาติเป็นความคิดสมัยใหม่ มันไม่ได้เกิดมาจากสุญญากาศ มันเกิดขึ้นในบริบทหนึ่งซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป สำนึกชาตินิยมภายในมันย่อมผันแปรและปะทะกับภายนอกได้ ยิ่งคนยุคนี้เกิดในยุคโซเชียลมีเดีย ความคิดยิ่งห่างกันเยอะกับคนรุ่นเก่า”

อาจาย์ธเนศชี้ให้เห็นถึงภาวะที่สำนึกชาตินิยมของผู้คน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาที่ผ่านไป ในยุคที่ชาตินิยมก่อตัวช่วงแรก ๆ ที่ยุโรปประมาณศตวรรษที่ 18-19 หรือก่อตัวในไทยสมัยรัชกาลที่ 6 การเผยแพร่ความคิดชาตินิยมยังกระทำผ่านการแจกจ่ายเอกสารแก่ประชากร เพียงแค่นี้ก็ยังทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทางความคิด จนนำไปสู่การปฏิวัติในหลายประเทศ นำมาซึ่งความคิดแบบใหม่ ๆ ตามมา

แต่ในปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารมีทั้งความเร็ว ความถี่ และจำนวนมากขึ้น จึงไม่แปลกใจเลยที่คนรุ่นใหม่จะเริ่มมีความคิดก้าวหน้า ออกจากกรอบชาตินิยมแบบเดิม ๆ และท่องไปในโลกกว้างมากขึ้น

“คนรุ่นผมปกติใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี เพื่อทำความเข้าใจว่าชาติคืออะไร กว่าจะรู้จริงๆ ก็ใช้เวลาในมหาวิทยาลัย 3-4 ปีเป็นอย่างน้อย แต่คนรุ่นนี้เขาแค่เซิร์ช Google ก็เจอแล้ว ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ของเราใช้เวลา 4 ปี ของคนรุ่นนี้ใช้เวลา 4 วันหรือน้อยกว่า”

เมื่อโลกทางความคิดเปิดกว้าง การนิยามอัตลักษณ์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องผูกกับชาตินิยมไทยอีกต่อไป สามารถให้คุณค่ากับสิ่งที่เป็นหลักการประชาธิปไตย ซึ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้ไม่ได้เพียงเรียกร้องการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยในไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดความร่วมมือข้ามชาติด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ “พันธมิตรชานม” (Milk Tea Alliance) ที่เกิดการรวมตัวของพลเมืองเน็ต (netizens) ชาวฮ่องกง ไต้หวัน และไทย เพื่อตอบโต้ทางการเมืองกับชาวจีนในโลกออนไลน์

ด้านสาธารณสุขและการจัดการโรคระบาดเองก็มีมิติของชาตินิยมมาเจือปน นอกจากเรื่องแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิในระบบสาธารณสุขไทยอย่างถึงพร้อมแล้ว ก็ยังมีเรื่องวัคซีนที่กลายเป็นชนวนครั้งใหญ่ของการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกในขณะนี้ ถ้าโลกยังอยู่ยุคอะนาล็อก (analog) แนวคิดชาตินิยมแบบออฟไลน์ของชนชั้นนำไทยคงทำให้ประชาชนยอมรับอย่างสนิทใจได้ไม่ยากว่า วัคซีน Sinovac ของมหามิตรจีนมีประสิทธิภาพดีเลิศกว่ายี่ห้ออื่น ๆ และการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้เป็นวาระแห่งชาติในแบบที่ให้ประชาชนทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียวก็คงเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย แต่โลกทุกวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว อิทธิพลของอินเทอร์เน็ตทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่า การทำเพื่อชาตินั้นไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังผู้นำของชาติอย่างเชื่อง ๆ เสมอไป เราสามารถเรียกร้องสิ่งที่ดีกว่าเพื่อทำให้ชาติดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้

สำหรับอาจารย์ธเนศแล้ว สำนึกชาตินิยมแบบออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ระเบิดขึ้นมา เพราะถูกรัฐไทยกดทับทางความคิดมานาน คนรุ่นใหม่จึงไม่เห็นความสำคัญของชาตินิยมไทยแบบเก่า ๆ อีกต่อไป กระแสการอยากย้ายประเทศจึงเกิดขึ้นตามมา เพราะไม่ได้ยึดติดอีกต่อไปแล้วว่าเกิดมาต้องอยู่บนผืนแผ่นดินไทยทั้งชาติ และต้องเป็นคนไทยเต็มขั้นตราบสิ้นลมหายใจ

“รัฐบาลพยายามทำให้เด็กเชื่อ แต่เด็กไม่ยอมเชื่อเพราะโลกออนไลน์แสดงให้เขาเห็นว่ามีอนาคตรออยู่ พวกเขาทำงานที่ไหนก็ได้ที่มีรายได้ที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำมามันสอบตก

อเมริกาสร้างชาติจากล่างขึ้นบน ตรงข้ามกับชาตินิยมแบบไทย ๆ

นับตั้งแต่ประกาศอิสรภาพปลดแอกออกจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1776 สหรัฐอเมริกาก็เริ่มปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมักถูกยกให้เป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตยเสมอมา ทีนี้ ไทยเองก็มักอ้างเสมอว่าเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าจะลองมองเปรียบเทียบกันในแนวคิดชาตินิยม สำหรับอาจารย์ธเนศแล้ว 2 ประเทศ มีแนวคิดตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

“โดยทฤษฎี อเมริกาเน้นความเท่าเทียมมาก แต่ในทางปฏิบัติก็มีจนและรวยเป็นปกติ แต่สิ่งสำคัญคือชาตินิยมอเมริกามันเปลี่ยนจากข้างล่าง คนอเมริกันจึงมีความรู้สึกร่วมกันต่อเรื่องเสรีภาพและชาติ”

การสร้างชาติอเมริกาเป็นไปแบบด้านกว้างหรือแนวนอน ผูกพันกับประชาชนทั่วไปมากกว่าชนชั้นนำ ด้วยเหตุนี้เอง ถึงจะมีประชากรหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ก็สามารถร้อยรัดความเป็นอเมริกันชนไว้ได้ นอกจากนี้ ทางด้านศาสนา แม้อเมริกาไม่ได้มีศาสนาประจำชาติบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีศาสนาที่มีคนนับถือจำนวนมากอย่างคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เน้นคำสอนที่สร้างความเสมอภาคให้คนอเมริกัน ซึ่งเชื่อมโยงกับจริยธรรม (ethics) แบบอเมริกาคือการส่งเสริมการทำงาน

ตัดภาพกลับมาที่ไทย แนวคิดชาตินิยมเป็นแบบแนวตั้งจากบนลงล่าง จากประมุขสูงสุดลงสู่ไพร่และทาส ใช้ชาติพันธุ์ไทยเป็นตัวกำหนด แม้คนในรัฐจะมีชาติพันธุ์อื่นก็ต้องกลายสภาพเป็นคนไทยผ่านกลไก การสร้างความทรงจำร่วมของชนชั้นนำและปัญญาชนรับใช้รัฐ เช่น ระบบการศึกษา งานเขียน นิยาย ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ฯลฯ รากฐานการสร้างชาติแบบนี้ส่งผลให้คนไทยต้องสยบยอมอยู่ใต้อำนาจจากข้างบน ส่วนเยาวชนที่อยู่ในวัยแสวงหาก็ต้องเรียบร้อยที่สุดอย่าออกนอกลู่นอกทาง

“เด็กไทยต้องเป็นเด็กดี เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ อยู่ใต้โอวาท เชื่อถือผู้ใหญ่ อย่าไปทำอะไรมาก ส่วนเด็กอเมริกันจะถูกส่งเสริมให้ทำงาน มีรายได้ มีเงินเก็บ คนรุ่นใหม่ที่อยากออกนอกประเทศคงเห็นว่า อยู่แบบนี้ตายได้ ไม่มีทางทำอะไรได้”

ชาตินิยมจากบนลงล่างแบบไทยนี้ ประชาชนจึงถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็ย้อนแย้งกับชื่อระบอบการปกครองที่ใช้อยู่

รัฐบาลประชาธิปไตยคือทางออกของความขัดแย้งเรื่องชาตินิยม

ปัญหาชาตินิยมในไทย อาจารย์ธเนศมองว่ารัฐไทยคือตัวการสำคัญของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะมัวแต่ยึดติดกรอบความคิดเก่า ๆ ที่เชื่อว่าชาติไทยเกิดขึ้นมานานหลายร้อยปี ทั้งที่ในความเป็นจริง การสร้างชาติทุกชาติบนโลกนี้เกิดการ reconstruction มามากมาย บางทีภายในรัฐขัดแย้งกันเองก็รบกันแล้วรวมกันอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว หรือเดินทางเป็นเส้นตรงจากสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี มาถึงรัตนโกสินทร์ ตามที่เข้าใจกันในประวัติศาสตร์กระแสหลัก

เพื่อสร้างความประนีประนอมให้ความคิดเรื่องชาติที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ โดยจำกัดการปะทะกันให้อยู่ขอบเขตของการถกเถียงบนพื้นฐานข้อมูลและเหตุผล รัฐคือกลไกสำคัญที่จะเอื้อให้เกิดสิ่งนี้ และแน่นอนว่ารัฐเผด็จการไม่สามารถกระทำได้

“รัฐต้องมีวิสัยทัศน์ ทำให้คนเข้าใจว่ามันอยู่ด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลแบบเดิมมันใช้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนจุดยืน รัฐบาลต้องเป็นประชาธิปไตย” ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย