Norwegian Wood หรือชื่อภาษาไทยว่า ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย นวนิยายลำดับที่ 5 (ถัดจาก ไตรภาคมุสิก 3 เล่มแรก และแดนฟันปลายขอบฟ้าในเล่มถัดมา) ของนักเขียนชาวญี่ปุ่นนามว่า ‘ฮูรูกิ มูราคามิ’ นักอ่านตัวยงของมูราคามิต่างแซ่ซ้องกันว่า หากจะเริ่มอ่านงานของเขา Norwegian Wood คือเล่มที่น่าหยิบขึ้นมาอ่าน เพราะอ่านง่าย สมจริงไม่หลุดโลก หรือคลุมเครือเท่าเล่มอื่น ๆ
Norwegian Wood คือนิยายว่าด้วยความรักของหนุ่มสาว ในวัยมหาวิทยาลัย ตัวเอกผู้ดำเนินเรื่องโทรุ วาตานาเบะ ไปมีความสัมพันธ์กับสาว 2 คน ที่ชื่อว่า มิโดริและนาโอโกะ คลับคล้ายคลับคลาจะกลายเป็นนิยายรักสามเส้า
แต่ไม่อาจใกล้เคียงกับคำว่ารักสามเส้าได้เลย และไม่เฉียดเข้าใกล้นิยายรักน้ำเน่าเสียด้วย ภายใต้เรื่องราวความรักที่ซ่อนอยู่ กับอบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งความตายของชีวิต และความเจ็บปวดจากการแตกสลายของความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่มีความหมายมากกว่าแค่คำว่า ‘ความรักของหนุ่มสาว’
หากอ่าน Norwegian Wood จบลง พลาดไม่ได้เลยที่จะย้อนกลับไปฟังเพลง Norwegian Wood ของ The Beatles เพราะเพลงนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มเรื่องของนิยายเล่มนี้
ความรู้สึกหลังอ่าน Norwegian Wood จบลง ไม่ได้เศร้าจนน้ำตาร่วงหล่น แต่ตราตรึงความรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร ที่พร้อมกลับคืนสู่ชีวิตธรรมดาแสนสามัญอีกครั้งหนึ่ง “ประหนึ่งว่าใช้ชีวิตอยู่โดดเดี่ยว ในซากปรักหักพังที่เก็บกวาดดูแลไว้เป็นอย่างดี”
ด้วยรัก
“การรักใครสักคนเป็นเรื่องวิเศษ และหากความรักนั้นเกิดจากความจริงใจ จะไม่มีผู้ใดหลงอยู่ในเขาวงกต”
แม้ความรักจะเป็นเรื่องวิเศษ และเกิดจากความรู้สึกบริสุทธิ์เพียงใด แต่หลายครั้งความรักมักเกิดในช่วงเวลากับบุคคลที่ยากเกินไขว่คว้า อาจถูกที่ผิดเวลาหรือผิดที่ผิดเวลาได้เสมอ หากเลือกได้เราคงอยากรัก คนที่ทำให้หัวใจไม่แหลกสลาย แต่จะทำอย่างไรได้ละ หลาย ๆ ครั้ง ชีวิตมักโยนใครสักคนมาให้เรารัก อย่างมิอาจมีเงื่อนไข
วาตานาเบะก็เช่นกัน เขาเป็นผู้ชายธรรมดาสามัญแบบฉบับตัวละครเอกของ มูราคามิในทุกเรื่อง พลางให้คิดไปเองว่า ตัวเอกในหนังสือทุกเล่มของเขาก็คือตัวมูราคามิเอง
วาตานาเบะใน Norwegian Wood ได้เกิดความรักกับนาโอโกะ หญิงสาวที่เคยเป็นแฟนของเพื่อนสนิทของเขา แต่เพื่อนคนนี้กลับไม่สามารถรักกับนาโอโกะได้ต่อไป เพราะเขานั้นมีอายุ 17 ไปชั่วนิรันดร์
-Only the Dead stay seventeen forever-
ในยามแรกรัก “เราต้องการกันและกันล้ำหน้ากว่าที่เราตระหนักรู้” วาตานาเบะใช้เวลาช่วงบ่ายวันอาทิตย์เดินเล่นกับนาโอโกะในกรุงโตเกียว ความรู้สึกค่อย ๆ เริ่มก่อตัว กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็พบว่าความรักเลยไปไกล จนมิอาจถอนตัวจากบ่อแห่งความรักนี้ได้เสียแล้ว
“บ่อลึกจนน่าสะพรึงกลัว ลึกเกินกว่าจะหยั่งได้ ภายในประจุด้วยความมืดมิด ประหนึ่งว่าความมืดทั้งมวลในโลกจะไหลบ่าลงไปชุมนุมกันเข้มข้นที่ก้นบ่อ” ความสัมพันธ์ระหว่าง วาตานาเบะกับนาโอโกะ คงไม่ต่างอะไรจากบ่อลึกนี้ หากใครเพลี่ยงพล้ำ “ตกลงไปในบ่อจะตายเชื่องช้า ตายทีละน้อย โดดเดี่ยวเดียวดาย”
แต่แล้วกลับมีมิโดริ เข้ามาเติมเต็มความสดใสในชีวิตให้กับวาตานาเบะ ในช่วงเวลาที่นาโอโกะ ไม่อาจให้คำตอบในความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับวาตานาเบะได้
หากเป็นเช่นนี้วาตานาเบะ จะเป็นผิดไหม? เมื่อยังมิอาจจบความสัมพันธ์กับอีกคนลง แต่กลับลากใครอีกคนเข้ามาในความสัมพันธ์ จนสุดท้ายเป็นตัวเองที่ต้องรู้สึกลำบากใจ
แต่อย่างที่ เรโกะ อีกหนึ่งตัวละครสำคัญในเรื่องได้กล่าวไว้ หากความรักนั้นก่อเกิดจากความจริงใจ จะไม่มีผู้ใดหลงอยู่ในเขาวงกต
แต่เขาวงกตแห่งความสัมพันธ์ที่เราสร้างขึ้น จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เรารู้จักเส้นทางวกวนนั้นเป็นอย่างดี เราจะเชื่อใจตัวเองได้จริง ๆ หรือว่าเขาวงกตที่สร้างขึ้น จะไม่มีใครต้องติดอยู่อย่างเดียวดาย จนหัวใจแหลกสลายไม่มีชิ้นดี
หัวใจสลาย
นิยามหัวใจสลายของ Norwegian Wood ไม่ใช่การสลายของความสัมพันธ์รักสามเส้าแต่อย่างใด แต่มันคือการสลายจากเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคน ไม่อาจตัดสิน ไม่อาจบอกถูกผิด เพราะ “เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์เว้าแหว่งอาศัยอยู่ในโลกบูดเบี้ยว”
ใช่ ! เราต่างเว้าแหว่งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราต่างมีเรื่องราว มีความรู้สึกที่ต้องก้าวผ่าน แต่สิ่งสำคัญคือเรามิอาจไปตัดสินความเว้าแหว่งของผู้ใด ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอ่อนแอ เพราะตัวเราเองก็ “มีความบกพร่อง เว้าแหว่งเกินกว่าที่คุณจะทราบได้”
ตัวละครทุกตัวใน Norwegian Wood ก็เช่นกัน ทุกคนต่างพานพบการแตกสลายทางความรู้สึก ทำให้ตัวตนที่เคยสมบูรณ์ เว้าแหว่งขาดหายไป บางคนก้าวข้ามได้ บางคนก้าวข้ามไม่ได้
วาตานาเบะ กับการก้าวข้ามความตายของเพื่อนสนิท “ในค่ำคืนที่คิซึกิเสียชีวิต ผมไม่เหลือความคิดแจ่มชัด ไม่อาจแยกแยะชีวิตกับความตายให้แยกกันอยู่อย่างหมดจดอีกต่อไป ความตายมิใช่ภาคตรงข้ามของชีวิต หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความตายดำรงอยู่ที่นี่ นับตั้งแต่การตายของเด็กหนุ่มอายุ 17 ปี”
นาโอโกะ กับการก้าวข้ามอาการทางจิตใจของเธอ “หากฉันทิ้งรอยแผลไว้ในใจคุณ ก็ไม่เพียงแต่เกิดแผลในใจคุณเพียงคนเดียว ฉันเองก็ได้รอยแผลนั้นติดตัวเช่นกัน…ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด คนเราก็เจ็บปวดได้เสมอเมื่อถึงคราวที่ต้องเจ็บปวด”
เรโกะ กับการก้าวข้ามมีชีวิตต่อไป แม้ในวันที่ไม่สามารถอยู่ในจุดเดิม ทำในสิ่งที่ตนรักได้ “ฉันรู้สึกเหมือนกับว่ามีใครสักคนยื่นมือคว้าดึงฉันให้ขึ้นจากหล่มความเหน็บหนาว ช่วงแสนสุขยาวนาน จากนั้นก็ขาดผึง ชีวิตแตกสลาย ปี้ป่นไม่มีชิ้นดี…แต่ในโลกขาดวิ่นรอบข้าง แท้จริงแล้ว ชีวิตบางคราวก็สวยงามเข้าท่าอยู่บ้างเหมือนกัน”
มิโดริ กับการโหยหาความรัก เพื่อมาเติมเต็มสิ่งที่เธอขาดหายไปทั้งชีวิต “…ได้โปรดคุณกำลังทำให้ฉันร้องไห้ อย่าได้กังวลไปเลย ฉันทราบว่าคุณหลงรักคนอื่นอยู่ ฉันไม่ได้คาดหวังอะไรจากคุณ แต่อย่างน้อยคุณควรกอดฉันแน่น ๆ สักครั้ง…ฉันไม่สนใจว่าคุณจะทำอะไรกับฉัน แต่ฉันไม่อยากให้คุณทำร้ายฉันให้เจ็บปวด ฉันพานพบความเจ็บปวดมามากเกินพอแล้วในชีวิตนี้ มากเกินพอที่ชีวิตที่เหลือ ฉันต้องการความสุข”
เราทุกคนต่างเจ็บปวดอยู่ในโลกที่ขาดวิ่นเว้าแหว่ง จนต้องการการเติมเต็มจากใครสักคน แม้การเข้ามาเติมเต็มอาจหมายถึงการเข้ามาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อมิอาจคาดหวัง ความเป็นนิรันดร์จากใครสักคนได้
แม้ในยามที่เสียใครสักคนไป “ความเจ็บปวดและความเหงาแหลมคมพอจะบาดจนรู้สึกได้” แต่ดั่งที่นาโอโกะว่าไว้ ในวันที่หัวใจสลาย
ความตาย
“เราดำเนินชีวิตต่อไป สูดความตายเข้าไปในปอดเหมือนฝุ่นละเอียด อยู่ทุกลมหายใจ”
ใน Norwegian Wood มีใครสักคนตาย ขณะที่มีอีกหลายคน แบกรับความตายของคนที่สูญเสีย การตายจึงอาจไม่ใช่การจบสิ้นสุดลงของทุกสิ่งอย่าง ก็ในเมื่อมันยังทิ้งร่องรอยบาดแผลให้คนที่ยังอยู่เจ็บปวดต่อไป
เพราะความเจ็บปวดมันมากเกินกว่าจะแบกรับไหว ความตายอาจคือการปลดเปลื้องพันธนาการแห่งความเจ็บปวด แต่ก็ความตายนั้นมิใช่หรือ ที่โยกย้ายพันธนาการแห่งความเจ็บปวด จากอีกคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง
หาก “คนที่เจ็บปวด มักเข้าใจคนเจ็บปวด” เช่นนั้นแล้ว ผมก็มิอาจเข้าใจคนที่ตายจากไปแล้วได้เลย เพราะในขณะที่เขียนอยู่ ผมยังมิเคยได้สัมผัสลิ้มรสกับความตาย มิอาจตัดสินได้ว่าทำไมกัน คนหนึ่งคนถึงเลือกความตาย หาใช่การมีชีวิตอยู่ แต่ได้โปรดอย่าตัดสินความตายของใคร และหากเลือกได้โปรดปลดเปลื้องพันธนาการแห่งความเจ็บปวด ไปพร้อมกับความตายของใครคนนั้น อย่าได้แบกมันไว้อีกเลย
ตัวละครใน Norwegian Wood เองต่างพบเจอความตายของคนใกล้ชิด มิโดริ พบกับความตายของพ่อแม่เธอ ตั้งแต่เธอยังเรียนมหาวิทยาลัย ความตายที่เปลี่ยนให้เธอ กลายเป็นคนที่มองดูภายนอกแข็งแกร่ง ร่าเริง แต่ลึก ๆ แล้วข้างใน เธอกับต้องการใครสักคนมาปลอบประโลมใจ จากความสูญเสีย ที่ทำให้ตัวเธอนั้นโดดเดี่ยวเดียวดาย
วาตานาเบะและนาโอโกะ ต่างพบเจอความตายจากคนคนเดียวกันคือ คิซึกิ สำหรับคนหนึ่งคือเพื่อนที่สนิทเพียงคนเดียวในชีวิต สำหรับอีกคนคือคนรักที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ดั่งที่กล่าวไปในตอนต้น ความตายของคิซึกิ ฝากบาดแผลไว้ให้คนทั้งคู่ แต่ทั้งสองต่างมีวิธีรักษาบาดแผลแห่งความเจ็บปวดแตกต่างกันออกไป แต่แล้ววันหนึ่งความเจ็บปวดก็วนกลับมาหากันและกัน
“ความตายดับอะไรบางสิ่งไป ยังความเศร้าเสียใจ และเจ็บปวดชอกช้ำยิ่งนัก”
หากความตายคือบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ในตอนท้าย คนที่จะเข้าใจความหมายของความตาย ในแบบฉบับของ Norwegian Wood คงเป็นคนที่ได้อ่านมันตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งความรัก ความตาย และหัวใจสลาย ทุกอารมณ์ความรู้สึกต่างมีเหตุผลและมีคุณค่าทัดเทียมกัน ความรักมิได้ยิ่งใหญ่มากเกินกว่าการที่สักวันหัวใจสลาย และการที่หัวใจสลายไม่ได้เท่ากับความตายเสมอไป เพราะเราเกิดขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง รักนั้นอาจแตกสลาย แต่แล้วสักวันจะเกิดขึ้นใหม่ จนกว่าเราจะพบเจอความรัก ที่ทำให้หัวใจไม่แตกสลาย
“ลาก่อน” เธอหันมากระซิบ
ผมสดับเสียงฝน ปิดหนังสือหน้าสุดท้ายลง เปิดหน้าต่างรับกลิ่นอายของสายฝน และละอองน้ำตามแรงลมกรรโชก แม้เปียกปอน แต่ผมไม่ผลักไสความเปียกปอนนั้น ในคราวที่อ่านจบลงแม้ “เธอไม่เคยรักผมเลย”
หนังสือ: Norwegian Wood
ผู้เขียน: Haruki Murakami
ผู้แปล: นพดล เวชสวัสดิ์
สำนักพิมพ์: กำมะหยี่
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี