ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุมหรือในบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใด ๆ
ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ
ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมืองซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นถ้อยความบางส่วนในคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็น“คำสั่งที่เพิ่งสร้าง” เพิ่มเติมจากพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกมีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรหลายรูปถูกตั้งข้อหาว่าเข้าข่ายยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไปตาม ๆ กัน อาทิสามเณรสหรัฐ สุขคําหล้า (โฟล์ค) ที่ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎร หรือพระมหาสมปองแสดงความคิดเห็นการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาผ่านสื่อ
คนในสังคมจึงตั้งคำถามต่อเหตุการณที่เกิดขึ้นว่า ทำไมมีเพียงพระภิกษุสามเณรที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐถูกตั้งข้อหาด้วยคำสั่งนี้
De/code ชวน ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาที่วิพากษ์แนวคิด “พุทธไทย” มาเป็นเวลาหลายปี มาร่วมสนทนาและถอดรหัสให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนจักร (มหาเถรสมาคม) ที่มีอุดมการณ์หลักร่วมกัน จนนำมาสู่การตีความคำว่า “การเมือง” ตามคำสั่งข้างต้น เพื่อสร้างระเบียบและความเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่พระภิกษุสามเณร ภายใต้ร่มเงาที่แผ่ปกคลุมมากกว่าหลักพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎก
“พุทธราชาชาตินิยม” อุดมการณ์ก่อกำเนิด “พุทธไทย” ในปัจจุบัน
หากจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐไทยในปัจจุบันได้ ต้องย้อนกลับไปยังอดีตเพื่อหาจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ดังกล่าวผ่านอุดมการณ์ “พุทธราชาชาตินิยม”ซึ่งอาจารย์สุรพศปรับมาจากแนวคิดเรื่อง “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” ของศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูลที่ใช้ในความหมายของการเขียนประวัติศาสตร์ที่มีพระมหากษัตริย์หรือชนชั้นนำเป็นศูนย์รวมความสามัคคีและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ
“ทีนี้ ผมเติมคำว่า ‘พุทธ’ เข้าไปเพราะในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่ากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะเวลาเราพูดถึงอุดมการณ์ ‘พุทธราชาชาตินิยม’ ก็คืออุดมการณ์ที่ถือว่ารัฐมีกษัตริย์ที่ปกครองโดยธรรม”
การสืบสาวหาจุดกำเนิดของอุดมการณ์ “พุทธราชาชาตินิยม” สามารถย้อนกลับไปได้ถึงสมัยปฏิรูปศาสนา ภายใต้การนำของเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ในขณะที่ทรงผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุอยู่ พระองค์ทรงมองว่าพระส่วนใหญ่ในเวลานั้นยังยึดถือความเชื่อปรัมปราตามคำสอนของครูบาอาจารย์ ไม่ถือหลักพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎก จึงทรงตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้นมา โดยพระสงฆ์ในนิกายนี้จะยึดถือตามหลักพระไตรปิฎก ส่วนพระสงฆ์ที่ยึดถือความเชื่อปรัมปราแบบเดิมจะถูกเรียกว่า “มหานิกาย” อาจารย์สุรพศมองว่าการแยกนิกายเช่นนี้ยังนำไปสู่ปัญหาการแบ่งแยกพุทธแท้ – พุทธเทียมที่เห็นกันในปัจจุบันและเป็นยุคเริ่มต้นของแนวคิดที่ไม่แยกศาสนาออกจากรัฐ
“ความคิดของรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 จะมองว่าพุทธศาสนาเหนือกว่าศาสนาอื่นๆ และความเป็นพุทธแท้ก็เป็นแก่นคำสอนในพระไตรปิฎก มีความเป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วในที่สุดก็ผนวกพุทธศาสนาเข้ากับอุดมการณ์ความมั่นคงของรัฐ คืออุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
อุดมการณ์ “พุทธราชาชาตินิยม” กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ของอุดมการณ์รัฐ ทำให้รัฐไทยไม่ต่างจากรัฐศาสนาที่ชนชั้นนำต้องพึ่งพิงศาสนาเพื่อส่งเสริมสถานะความศักดิ์สิทธิ์และบารมีทางการเมืองแก่ตน ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเช่นนี้ ส่งผลให้เมื่อถึงคราวปฏิวัติสยาม 2475 กระบวนการทำให้เป็นรัฐโลกวิสัย (Secularization) จึงไม่เกิดขึ้นไปพร้อมกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยเพราะมีแต่ความทรงจำเรื่อง “พุทธราชาชาตินิยม” จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้นที่ตกทอดมา ส่วนความคิดเรื่อง “โลกวิสัย” (Secularism) ว่าด้วยการแยกศาสนาออกจากรัฐนั้นไม่ปรากฏ
“เราพยายามจะเอาหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยมาใช้ แต่ไม่สามารถเติบโตได้ เพราะความเป็นรัฐศาสนาภายใต้อุดมการณ์พุทธราชาชาตินิยมถูกทำให้เข้มแข็งขึ้นผ่านการทำรัฐประหารครั้งต่าง ๆ ที่เพิ่มอำนาจเชิงโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ และกระชับอำนาจของศาสนจักรมากขึ้นเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมกระชับอำนาจทั้งทางการเมืองและทางศาสนา”
พุทธผสมพราหมณ์ ไม่แท้ ไม่เทียม
การแบ่งแยกพุทธแท้ – พุทธเทียมในสังคมไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระบวนการทำให้เป็นรัฐ (พุทธ) ศาสนา ซึ่ง “พุทธแท้” อันถือเป็นศาสนาหลักประจำชาตินั้น คือพุทธเถรวาท นอกเหนือจากนิกายนี้หรือหากมีวัตรปฏิบัติที่ประหลาดออกไปก็จะถูกผลักไสให้เป็น “พุทธเทียม” ไปโดยปริยาย
“พุทธแท้มันจึงเป็นมายาคติมาก มันไม่ได้มีพุทธเพียว ๆ อยู่จริง เพราะความเชื่อของชาวบ้านทั่วไปมีพุทธผสมพราหมณ์เกลื่อนไปหมด หรือในวัดก็จะมีทั้งเสี่ยงเซียมซี ศาลเจ้า ปะปนกันไป”
แม้พุทธเถรวาทเป็นศาสนาหลักที่รัฐส่งเสริมให้ประชาชนนับถือ แต่ในพื้นที่ทางการเมือง รัฐก็ยังต้องพึ่งพิงคติของศาสนาพราหมณ์เพื่อเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ กรณีการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน” เป็นตัวอย่างที่ใช้อธิบายประเด็นนี้ได้ชัดเจนที่สุด เริ่มจากชื่อภาษาบาลีแปลว่า สถานที่ประกอบความดี หรือสภาเป็นที่ประชุมของคนดี ถ้าดูจากรูปทรงภายนอกจะเห็นว่าอาคารแห่งนี้มีมณฑปหรือเจดีย์ทองอยู่บนยอดคล้ายเขาพระสุเมรุ สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องศูนย์กลางจักรวาลตามคติพุทธผสมพราหมณ์
แนวคิดเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ตกทอดมา ซึ่งใช้คติพราหมณ์เสริมสถานะบารมีอันศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้ปกครองควบคู่กับแนวคิดเรื่องทศพิธราชธรรมตามคติพุทธเถรวาททำให้เห็นว่าแม้กาลเวลาจะผ่านมานานนับศตวรรษ แต่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย (?) ยังยึดถือความเชื่อเก่าอยู่ การออกแบบสัปปายะสภาสถานจึงไม่ได้แสดงออกถึงเสรีภาพตามที่ควรจะเป็น แต่ตกอยู่ภายใต้การผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของฝ่ายอนุรักษนิยม
เสรีภาพอันจำกัดจำเขี่ยข้างต้น อาจารย์สุรพศมองว่าทำให้เกิดปัญหาสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถอภิปรายประเด็นปัญหาสาธารณะได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อของกลุ่มคณะราษฎรในช่วงที่ผ่านมา และ 2) ไม่มีเสรีภาพทางศาสนา พระภิกษุสามเณรต้องปฏิบัติตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม การตีความพุทธศาสนาจึงต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์หลักของชาติเท่านั้น
“เราเชื่อว่าเรามีเสรีภาพทางศาสนา พระส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าตัวเองมี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้อำนาจศาสนจักรของรัฐ คือมหาเถรสมาคม พระเณรไม่มีเสรีภาพทางศาสนา ถ้ามีเสรีภาพทางศาสนามันต้องเลือกได้ ว่าจะตีความพุทธธรรมสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือจะตีความพุทธธรรมสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แต่ปรากฏว่าพระเณรไม่มีเสรีภาพตรงนี้”
มหาเถรสมาคมกับสภาวะ “เหนือการเมือง”
ในฐานะศาสนจักรของรัฐไทย มหาเถรสมาคมมีหน้าที่ปกครองพระภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักร รักษาพระธรรมวินัย รักษาความบริสุทธิ์ และความถูกต้องของพุทธศาสนา โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ “เป็นไม้เป็นมือ” หรือเป็นกลไกของมหาเถรสมาคมกำกับควบคุมพระภิกษุสามเณรอีกที อาจารย์สุรพศชี้ให้เห็นถึงลักษณะผูกขาดอำนาจการปกครองของศาสนจักรดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
“อำนาจของมหาเถรสมาคมคล้ายกับอำนาจของคสช. ที่ไม่ได้มาจากวิถีทางประชาธิปไตยเพราะเขามาจากรัฐประหาร แต่เขาบอกว่ามีหน้าที่ต้องปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ถามว่าในท้ายที่สุดมันเป็นประชาธิปไตยได้มั้ย มันก็อย่างที่เราเห็น… ทีนี้ อำนาจมหาเถรสมาคมตามกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์อ้างว่ามีหน้าที่รักษาความถูกต้องของพระธรรมวินัย แต่ว่ามหาเถรสมาคมไม่ได้มาจากพระธรรมวินัย ไม่มีหลักการหรือบทบัญญัติของพระธรรมวินัยข้อไหนรองรับว่าให้มีองค์กรสงฆ์ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 รูปเศษ มีอำนาจผูกขาดปกครองพระสงฆ์ได้เป็นแสน ๆ ”
ถ้ายึดตามพระธรรมวินัย พระสงฆ์จะปกครองกันเองเป็นกลุ่ม วัด หรือสำนัก ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎก มีลักษณะการกระจายอำนาจค่อนข้างมาก แต่พอแต่งตั้งมหาเถรสมาคมในสมัยรัชกาลที่ 5 อำนาจก็รวมศูนย์มากขึ้น หน้าที่ของมหาเถรสมาคมในช่วงเวลานั้นคือการประชุมปรึกษาหารือแล้วลงมติ จากนั้นก็นำมติขึ้นถวายให้กษัตริย์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย “แปลว่ามติของมหาเถรสมาคมไม่ได้จบที่มหาเถรสมาคม”
ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายให้มหาเถรสมาคมมีมติอะไรต่าง ๆ ที่เป็นอิสระได้จนกระทั่งในยุคคสช. ได้แก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่บังคับใช้มายาวนาน นำมาสู่พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 สาระสำคัญคือ จากเดิมที่กรรมการมหาเถรสมาคมมีที่มาจากพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “สมเด็จพระราชาคณะ” ทุกรูป และจากพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “พระราชาคณะ” จำนวน 12 รูป โดยสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แต่งตั้ง เปลี่ยนมาเป็น “… พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม” (ตามมาตรา 5 ตรี) โดยสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และมีกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป [1]
อำนาจของมหาเถรสมาคมไม่ได้จำกัดขอบเขตเพียงพื้นที่ทางศาสนา แต่ยังปรากฏในพื้นที่ทางการเมืองด้วย อาจารย์สุรพศชี้ให้เห็นประเด็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แนบสนิทกับรัฐ อันส่งผลให้การตีความคำว่า “การเมือง” ต้องให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกับอุดมการณ์รัฐ และในขณะเดียวกันก็ถือว่าสถาบันศาสนาต้องอยู่ “เหนือการเมือง” เพราะเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดังนั้น “การเมือง” ในความหมายของมหาเถรสมาคมจะต้องไม่มาเกี่ยวข้องกับการเมืองตามกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง การชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือกระทั่งการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่ถ้านิยาม “การเมือง” ในความหมายทั่วไป การทำหน้าที่ตามคำสั่งหรือกฎต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคมก็เป็นการทำหน้าที่ทางการเมืองในด้านกลับ
“พอนิยามแบบนี้ ก็ทำให้เกิดสองมาตรฐานในทางการเมือง ถ้าสนับสนุนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็ไม่ใช่การเมืองคล้ายกับทหารที่บอกว่าการทำรัฐประหารเป็นเรื่องบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง พรรคการเมือง เป็นเรื่องในสภา เป็นเรื่องการชุมนุมของประชาชน”
De/code ได้สนทนาเพิ่มเติมกับพระภิกษุ 2 รูป ต่อการตีความเรื่องการเมืองตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม พระเมฆ (นามสมมติ)ให้ความเห็นว่า “ถ้าจะบอกว่าวงการพระสงฆ์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลยก็คงไม่ใช่ เพราะยังคงมีลำดับชั้นสมณศักดิ์กันอยู่ วัดเองก็มีลำดับชั้นลดหลั่นลงไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเป็นการเมืองในตัวเอง ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรกเริ่มพุทธศาสนา ถ้ามองมาเฉพาะวัดก็ยังมีการเมืองภายในเลย บิณฑบาตยังทับเส้นทางเดียวกันไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป”
ส่วนพระภิกษุอีกรูป พระจิตร (นามสมมติ)ให้ความเห็นว่า “การมีกฎระเบียบควบคุมพระสงฆ์และสามเณรยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความเป็นระเบียบ ไม่ให้เกิดการนอกลู่นอกทางไป แต่ต้องกลับมาทบทวนกฎบางข้อกันเสียใหม่ เช่น การห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เราจะออกกฎข้อนี้ได้อย่างไรเมื่อยังส่งเสริมให้พระสงฆ์เทศนาสนับสนุนรัฐบาลอยู่ แต่พอพูดการเมืองอีกแง่ไปในแนวทางวิจารณ์กลับโดนห้าม คงต้องมาทบทวนกันใหม่ เพื่อให้กฎมีมาตรฐานเหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง”
รัฐโลกวิสัยทางคู่ขนานที่ยังไม่บรรจบกับรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตย
“เมื่อพระสงฆ์สอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลในธรรม มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบการงานอาชีพที่สุจริตอยู่กันดีมีความสงบสุข อันเป็นการทำตามหน้าที่ของตน ก็เป็นการช่วยให้รัฐบรรลุจุดหมายของรัฐในการที่จะจัดการบ้านเมืองให้ประชาชนอยู่กันดี มีความสงบสุข”[2]
ข้อความข้างต้นมาจากหนังสือ “ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี” ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สมณศักดิ์ในขณะนั้น ปัจจุบันคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งอาจารย์สุรพศถือว่าท่านเป็นตัวแทนแนวคิด “พุทธราชาชาตินิยม” ในปัจจุบัน เพราะเสนอแนวคิด “พุทธราชาชาตินิยม” และมีข้อโต้แย้งการแยกศาสนากับรัฐไว้อย่างเป็นระบบมากที่สุด ท่านมองว่าพระสงฆ์กับรัฐสามารถ “สมประโยชน์” กันได้ใน 2 ความหมาย โดยความหมายแรกก็ตามข้อความข้างต้นที่พระสงฆ์กับรัฐมีจุดหมายร่วมกัน มุ่งให้ประชาชนมีธรรมและอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ส่วนความหมายที่สอง คือฝ่าย “เจ้ารัฐ” อุปถัมภ์บำรุงสงฆ์ด้วยลาภยศ และพระสงฆ์ตอบแทนด้วยการสอนให้ประชาชนสนองความปรารถนาส่วนตัวของ “เจ้ารัฐ”
กล่าวได้ว่าแนวคิดของท่านก็ยังคงมองเห็นความจำเป็นของการเป็นรัฐศาสนาอยู่ เพราะเห็นถึงข้อดีในการสมประโยชน์กันตามความหมายแรกซึ่งเป็น “หลัก”แต่การสมประโยชน์ตามความหมายที่สองเป็นส่วน “แอบอิงพิงหลัก” จะฉวยโอกาสจากหลักหรือจะเป็นส่วนค้ำยันหลักนั้น ก็อยู่ที่เจตนาของผู้ทำ และท่าทีของผู้มอง
ครั้นกลับมายังข้อเสนอของอาจารย์สุรพศเรื่อง “รัฐโลกวิสัย” (Secular State) ที่มุ่งแยกรัฐออกจากศาสนาอันเป็นหลักการเดียวกับรัฐเสรีประชาธิปไตย กล่าวคือ เสรีนิยมเป็นหลักการทางโลก ส่วนโลกวิสัยเป็นหลักการทางปรัชญาศีลธรรม
“เราสามารถมีศีลธรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนา แล้วศีลธรรมแบบโลกวิสัยที่เรียกว่า ‘Secular ethics’ หมายถึงการกระทำใด ๆ ของเราต้องอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของมนุษย์ เพราะฉะนั้นศีลธรรมแบบโลกวิสัยมันจึงเป็นสากล”
ความแตกต่างระหว่างรัฐศาสนากับรัฐโลกวิสัยในทางการเมืองคือ รัฐแบบแรก ศาสนาจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองในฐานะผู้ถืออำนาจทางการเมืองผ่านศาสนจักร อุดมการณ์รัฐก็เป็นอุดมการณ์ศาสนา ดังในอดีตทางฝั่งยุโรปจะมีศาลศาสนา ไต่สวนศรัทธาลงโทษพวกนอกรีต ส่วนรัฐแบบหลัง ศาสนาสามารถแสดงบทบาททางการเมืองบนพื้นที่สาธารณะ โดยสอดคล้องกับหลักสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่จะไม่ใช่ผู้ถืออำนาจรัฐหรือครอบงำความคิดคนผ่านการชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเพื่ออภิสิทธิ์ของตัวเอง
ส่วนข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรม อาจารย์สุรพศมองว่าข้อเสนอของกลุ่มคณะราษฎรมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่แนวทางรัฐโลกวิสัย เพียงแต่ทางสภาต้องรับเรื่องนี้เข้าไปขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
ข้อเสนอเรื่องรัฐโลกวิสัยตามกล่าว ไม่ใช่การยกเลิกหรือล้มล้างศาสนา ไม่ใช่การลดทอนแนวคิดทางศาสนาให้ด้อยค่าลงไป เพียงต้องการสร้างข้อถกเถียงขึ้นในสังคมด้วยความมุ่งหวังว่า
หากสามารถปฏิรูปศาสนาให้ดำเนินไปในเส้นทางเดียวกับแนวคิดเสรีประชาธิปไตย อันเป็นหลักการที่มักถูกอ้างเสมอว่าอยู่ในระบอบการปกครองของไทย
หากเปิดใจกว้างร่วมกันถกเถียงอย่างมีวิจารณญาณถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและทัศนะของผู้คนที่มองมายังศาสนาในปัจจุบันอาจจะช่วยพลิกฟื้นจากวิกฤตศรัทธาก่อนสายเกินแก้
[1]ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน iLaw. (2561). สนช. แก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2 ครั้ง เพิ่มพระราชอำนาจตั้งสมเด็จพระสังฆราช และกรรมการมหาเถรสมาคม.สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564, จาก https://ilaw.or.th/node/4873
[2]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี (กรุงเทพฯ: วัดญาณเวศกวัน, 2554), หน้า 31.