ย้ายขั้วการเมือง เรื่องเล่าของ ‘เนาวรัตน์-ธัชพงศ์’ เมื่อเราในวันนี้เป็นคนละคนกับเมื่อวาน - Decode
Reading Time: 3 minutes

‘คนเราสามารถเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองได้หรือ’

มันง่ายดายเหมือนเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัว หรือยากเหมือนเปลี่ยนยี่ห้อบุหรี่ มันซับซ้อนค่อย ๆ ซึมแทรกมาเหมือนความรัก หรือเรียบง่ายโจ่งแจ้งเหมือนความเกลียดชัง ท่ามกลางพลวัตรและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยแบบที่เราไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

De/code ชวนผู้อ่านสำรวจร่องรอยความคิดและประสบการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เราจะพาคุณพิจารณารายละเอียดของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต และในประเทศ ผ่านมุมมองของคน 2 คน ที่อาจเดินสวนกันบ้างบนถนนทางความคิดที่หมุนพลิกไปมาของพวกเขา ทั้งคู่มีจุดยืนและความคิดทางการเมืองเปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้นได้อย่างน่าประหลาดใจ เมื่อบทสนทนานี้จบลง อาจจะทำให้เราเข้าใจพวกเขา และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในตัวเราได้ง่ายขึ้น

เพราะเราต่างเติบโต ย้อนแย้ง และเห็นต่างกับตัวเองได้เสมอ

ขอแนะนำให้รู้จักอีกครั้ง กับ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นักการเมืองและศิลปินแห่งชาติเจ้าของฉายากวีรัตนโกสินทร์ ที่ร่วมเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ 14 ตุลา ก่อนจะมารับตำแหน่งในคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ และกลายมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชาในที่สุด

และ ธัชพงศ์ แกดำ นักกิจกรรมภายใต้การเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่มีบทบาทช่วงวิกฤตการณ์ 2556 ควบคู่ฝั่งฝ่ายเดียวกันกับกลุ่มการเมืองเสื้อเหลืองพันธมิตร  และกลายมาเป็นการเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อราษฎร ที่ตั้งคำถามกับการมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์และเสนอทางออกของยุคสมัยได้อย่างไม่มีใครคาดคิด

14 ตุลา คือ จุดเริ่มต้นตลอดกาลของเนาวรัตน์ น้ำเสียงหนักแน่นของเขาชวนเราวิพากษ์ถึงบริบทสังคมก่อนหน้าเหตุการณ์การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เราได้ยินคำว่า ‘เผด็จอำนาจ’ ‘สังคมมึนชา’ จากปากของศิลปินแห่งชาติอยู่เป็นระยะ สังคมก่อนหน้ายุคสมัย 14 ตุลา คือสังคมที่เต็มไปด้วยสายลมแสงแดด สังคมที่นึกไม่ออกว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร ตัวของเนาวรัตน์ก็เช่นกัน…นี่คือจุดแรกที่ทำให้เขาเกิดความ ‘ตื่นตัวทางการเมือง’ ซึ่งเนาวรัตน์ได้ชี้ให้เราเห็นว่า “ตื่นตัว ต้องตื่นรู้ ไม่ตื่นหลง” ต้องระมัดระวัง ว่าสังคมปัจจุบันนี้กำลัง ‘ตื่นตัว’ ‘ตื่นรู้’ หรือ ‘ตื่นหลง’ อยู่กันแน่

และเหตุการณ์นี้ ได้เปลี่ยนแปลงชีวิต ความคิด ตัวตนของเนาวรัตน์ไปตลอดกาล

เมื่อบทสนทนามาถึงตรงนี้จึงพบว่า การเปลี่ยนแปลงบางครั้งเกิดขึ้นในเวลาที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่มีใครบอกได้ว่าคือตอนไหน เมื่อไหร่  ความปุบปับฉับพลันนั้นบีบให้เราต้องตัดสินใจว่าเราคือใคร และกำลังจะกลายเป็นอะไร

การเกิดของเนาวรัตน์นั้นได้มีขึ้นถึง 3 ครั้ง เกิดจากพ่อแม่ เกิดจากพุทธศาสนา และเกิดจากการเมือง การเมืองที่เนาวรัตน์ตั้งใจแน่วแน่ที่จะเข้ามาในบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อขับเคลื่อนประเด็นเรื่องศิลปะวัฒนธรรมให้กับประเทศ ไม่ได้เข้ามาเพื่อรับใช้ใครคนใดคนหนึ่ง เส้นทางความคิดยังคงเติบโตต่อไป

เช่นเดียวกันกับที่รัฐประหารในปี 2549 หย่อนเมล็ดพันธุ์บางอย่างลงในตัวธัชพงศ์

การมาพบเจอเพื่อนฝูงในขบวนนักกิจกรรมวันนั้น ได้ชักพาให้ธัชพงศ์ออกจากบ้านนานกว่าที่ตั้งใจ จากการดูแลรักษาความปลอดภัย ไล่เรื่อยไปสู่การปิดสนามบินและตุลาการภิวัฒน์ นี่ไม่ใช่เส้นทางที่ธัชพงศ์จะได้ร่วมออกแบบด้วยตัวเองทั้งหมดในเวลานั้น “ทำไมม็อบของชาวบ้านถึงไม่มีใครสนใจ อย่างม็อบชาวนา หรือม็อบเคลียร์หนี้ให้เกษตรกร แทบไม่มีนักข่าวคนไหนมาทำข่าว ไม่เหมือนม็อบการเมือง” เป็นหนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุย ปรากฎการณ์หลายอย่างที่ปะทุขึ้นระหว่างคามเคลื่อนไหวที่สร้างคำถามและตัวตนของเขาไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะในการรัฐประหารปี 2557 จุดที่ธัชพงศ์แน่ใจ ว่ามันไม่ถูกต้อง

ความคิด ชีวิต การเคลื่อนไหวจากวันนั้น จึงไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกเลย

การเปลี่ยนแปลงบางครั้งเกิดขึ้นในเวลาที่เราไม่ทันได้รู้ตัว ไม่มีใครบอกได้ว่าจุดเริ่มต้นของมันคือตอนไหน เมื่อไหร่  เหมือนการเติบโตผลิใบของไม้ใหญ่ กว่าเรามองเห็นตัวตนอีกทีก็พบว่าเราต่างไม่ใช่คนเดิม ไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกเลย

จากจุดเริ่มต้นที่แตกต่าง ไปถึงจุดเปลี่ยนผ่านของแต่ละคน เราค้นพบว่ามีหลายสิ่งที่น่าสนใจระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่อยากชวนผู้อ่านสำรวจไปด้วยกัน

อะไรที่ทำให้คนเราเปลี่ยนไป

การเติบโตจากยุคสายลมแสงแดดของเนาวรัตน์ทำให้เขาตั้งคำถามและตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าอะไรคือสิ่งที่มีความหมายกับชีวิต การเขียนกลอนช่วยให้เราค้นเจอความรู้สึก ช่วยให้เรา ‘ดิ่งลึก’ ไปกับมัน ไม่ใช่เพียงฉวยเอาปรากฎการณ์เหมือนยุคสมัยนี้ ถ้ามีอะไรสักอย่างที่ทำให้เราเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ก็คงเป็นประสบการณ์ ครั้งหนึ่งทุนนิยมเคยเป็นศัตรูร้าย แต่เมื่อผ่านประสบการณ์จึงรู้ว่าทุนนิยมสามานย์แบบที่สังคมรับใช้ทุนต่างหาก ไม่ใช่ทุนสัมมาที่เอาทุน มารับใช้สังคม

เช กูวารา ,จิตร ภูมิศักดิ์ ,เหมา เจ๋อ ตุง คือ สามรายชื่อเมื่อถามธัชพงศ์ ว่าอะไรที่ทำให้คนเราเปลี่ยนแปลง “หนังสือ มันคือการอ่านหนังสือเลยจริง ๆ” ธัชพงศ์ยืนยัน “อ่านจบแล้วตอนนั้นร้อนวิชาด้วย กลับไปปฏิวัติรุ่นพี่ที่ซุ้มรามเลย แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็โดนรุ่นน้องปฏิวัติซ้อนอีกที” ธัชพงศ์หัวเราะลั่นเมื่อเล่าให้เราฟัง

สิ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนไปคือประสบการณ์ที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในชีวิต ครั้งหน้าที่จะเลือกหยิบหนังสือ หรือเริ่มต้นบทสนทนา เราอาจต้องพิจารณาและตระหนักว่านี่เอง คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราต่างไปจากเมื่อวาน

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะพูดอะไรกับตัวเอง

เนาวรัตน์ไม่คิดจะบอกกล่าวหรือตักเตือนอะไรตัวเองในอดีต เพราะประสบการณ์เหล่านั้นคือตัวตนของเขาในวันนี้ แต่ย้ำเตือนให้เราต้องตระหนักรู้จริง ๆ ว่ากำลังทำอะไร ต้องรู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง

“เราไร้เดียงสาทางการเมืองมากในเวลานั้น” ธัชพงศ์ยอมรับกับ De/code ตรง ๆ ถ้าย้อนกลับไปได้ ก็อยากจะบอกให้ตัวเองอ่านหนังสือให้มันเร็วกว่านี้ เตือนตัวเองเรื่องวิธีการ

ต่อให้เราแน่ใจว่าเจตนาเราดี แต่วิธีการก็ต้องถูกต้องด้วย

สิ่งที่เห็นในคำถามข้อนี้จากทั้งสอง คือการโอบรับตัวตนของเราในอดีตสุดอ้อมแขน ให้บทเรียนที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่ง เป็นมิตรคนหนึ่งของเรา เราอาจจะเข้าใจการเปลี่ยนผ่านแนวคิดทางการเมืองของตัวเอง และให้อภัยกับอีกชุดความคิดของเราได้ง่ายขึ้น

ชอบความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองมากที่สุด

เนาวรัตน์ชอบจังหวะชีวิตที่ได้เปลี่ยนผ่านเข้าไปในพุทธรรมมากที่สุด ชอบการมีสติ วิเคราะห์เห็นความจริงที่อยู่หลังไปจากคำพูด ทุกวันนี้ข่าวสารข้อมูลต่างๆรวดเร็วมาก เราต้องตั้งรับให้ดี “อย่างกลุ่มย้ายประเทศ เราต้องกลับมาตั้งคำถามกันว่าทำแบบนั้นเพราะอะไร ทำด้วยความเกลียด ความไม่พอใจ ไม่อยากแก้ไขอะไรแล้วรึเปล่า จะเอาเสรีเข้าว่าแบบนี้จริงๆหรือ แล้วแบบนี้จะต่างอะไรกับคนทิ้งชาติ”

การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็คือการเข้ามาทำงานการเมือง ซึ่งไม่ได้เข้ามาเพื่อทำงานรับใช้ใคร หากเราพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ามีเหตุผลอยู่ว่าทำไมปี 59-61 ไม่ควรเลือกตั้ง เพิ่งเลือกเข้ามาได้ตอนปี 62 ก็มาเจอโควิดอีก เจอการไล่รัฐบาลอีก เราไม่ได้ตั้งตัวกันเลย อยากให้มองมุมนี้ด้วย

อย่างตอนผมโหวตรับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของ ILAW ก็เพราะเชื่อว่าเส้นทางประชาธิปไตยต้องไปแบบนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรแก้อยู่แล้ว ต้องให้สิทธิเขาผ่านเข้ามาก่อน เข้ามาแล้วจะได้แก้ไม่แก้ก็อีกเรื่อง แต่บางที เราก็ไม่ทันเล่ห์กลของสภาเหมือนกัน ถ้าถามว่า ควรแก้เป็นแบบไหน ก็มีแต่มติของประชาชนเท่านั้นที่จะบอกเราได้

ในคำถามเดียวกัน ธัชพงศ์ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น จริงจังกว่าที่ผ่านมา “กล้ายอมรับความผิดพลาด รับผิดชอบ ยอมรับว่าสิ่งที่เราเคยทำเป็นการปูทางให้เกิดรัฐประหารปี 57 จริง ๆ ทุกวันนี้ที่ออกมาเคลื่อนไหว ก็เพราะอยากรับผิดชอบเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย— เราเคยมั่นใจจริง ๆ ว่ามันจะไม่มีรัฐประหารอีก…”

แล้วอะไรคือสิ่งที่ยังเป็นตัวตนเราเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง

เนาวรัตน์ตอบคำถามนี้แทบจะในทันที
“บทกวี บทกวีคือพลังที่กระทบใจคน กระทบสังคม บทกวีเป็นเพชรพลอยของถ้อยคำที่เจียรไนจากความนึกคิด ไม่เคยมีวันไหน ที่ไม่สะท้อนตัวเอง ที่ไม่เขียนบทกวี”

“สำหรับผมคือหลักการ แม้แต่ตอนรัฐประหารผมไม่ได้รู้สึกยินดีเลยที่มันเกิดขึ้น เราไม่ได้แสดงออกไปตามอามรณ์ พวกพ้อง หรือความรู้สึก ผมแน่ใจว่าหลักการมันอยู่กับเรามาตลอด” ธัชพงศ์ตอบคำถาม แทบจะใช้เวลาพอๆกัน

ฝากอะไรถึงคนที่คิดว่าตัวเองจะไม่เปลี่ยน

คนเราต่างต้องเปลี่ยน ไม่มีอะไรสถิตอยู่กับที่ คนเราเปลี่ยนตามสิ่งที่เข้ามากระทบ การยึดมั่นว่าตัวเองจะไม่เปลี่ยนต่างหากคือความทุกข์ มุ่งมั่นได้ แต่อย่ายึดมั่น เนาวรัตน์กล่าว

ฝากอะไรถึงคนที่กังวล เมื่อรู้ว่าเรากำลังเปลี่ยนไปจากเดิม

ทั้งธัชพงศ์และเนาวรัตน์ยืนยันคล้ายกัน คือขอให้หนักแน่น ไม่ต้องกลัวว่า ใครจะมาครหา
ถ้าเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องหวั่นเกรงอะไร สิ่งนี้จะเป็นตัวพิสูจน์คุณค่าของเราเอง
“น่ากลัวคือ เราคิดถูกรึเปล่า” เนาวรัตน์ทิ้งทายไว้ให้กับเรา

คิดว่าประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน

เนาวรัตน์: น่ากลัวว่า เราจะตกเป็นเครื่องมือของประเทศอื่น อ่อนแอ และไม่รู้จักตัวเองว่าเรามีดีอะไรบ้าง เราต้องระวังการครอบงำของต่างชาติและทุนสามานย์ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องระวัง เพราะความดีที่แท้จริงของคนไทยไม่ใช่มีแต่ในอดีตเท่านั้น มันคือความงามของต้นฉบับ อย่างเพลงโคราช ทุกวันนี้แทบไม่เป็นที่รู้จัก เราต้องลึกซึ้งกับรากเหง้าของตัวเราเอง เราต้องเข้าใจปัจจุบัน เท่าทันอนาคต

ธัชพงศ์: ประเทศไทยได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ คนแบบเราทำแทบตายก็ไม่มีทางรวยขึ้น เราหวังให้คนมีที่ มีบ้าน มีความหวัง เราหวังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ไปติดต่อราชการแล้วไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เราโตมาจากเด็กที่ถูกห้ามเข้าห้าง เรารู้ว่ามันเป็นยังไง เรารู้แล้วว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไป อย่างน้อยวัฒนธรรมการเชิดชูอำนาจนิยมก็ได้เปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ

มันกำลังดีขึ้น คนหนุ่มสาวเปลี่ยนไปแล้ว เมล็ดพันธ์แห่งการปฏิวัติถูกหว่านไปแล้ว เราย้อนกลับไม่ได้ นี่คือการก้าวไปข้างหน้า การปฏิวัติเชิงวัฒนธรรมเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ

‘คนเราสามารถเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองได้หรือไม่’

คือคำถามที่เราเริ่มต้นและชวนมองหาคำตอบผ่านการรับรู้ประสบการณ์จากคนสองคนที่พบเจอการเปลี่ยนผ่านตัวตนของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง การเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัยที่มีชุดความคิดใหม่ปะทะกับชุดความคิดเดิม แต่การเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราเพียงมิติเดียวเหมือนรสนิยมในการดูหนังในค่ำวันศุกร์ หรือกาแฟแก้วโปรดในบ่ายวันอาทิตย์ แต่เมื่อเราเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง กรอบความคิดและมุมมองชีวิตที่เราใช้ตัดสินและวิพากษ์ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในทุก ๆ วัน ได้เปลี่ยนไปแล้วเช่นกันตลอดกาล

คำถามสำคัญ จึงไม่ใช่เราสามารถเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองได้หรือไม่ แต่คือเรากำลังจะกลายเป็นคนแบบไหน ในยุคสมัยที่กำลังสร้างฉันทามติร่วมกันขึ้นมาใหม่ต่างหาก

คุณกำลังเปลี่ยนไปเป็นผู้ใหญ่แบบที่เคยเกลียดรึเปล่าล่ะ ?