เริงระบำบนน้ำเดือด รักและเซ็กส์ในพรมแดนของแอปหาคู่ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เราไม่จำเป็นต้องกำหนดความเป็นมนุษย์จากมาตรฐานของอุดมคติเพียงอย่างเดียวที่เราเชื่อ เพราะความหลากหลายของความรักและกามารมณ์เป็นเสน่ห์ของมนุษยชาติ ซึ่งเราน่าจะเรียนรู้ศักยภาพที่มนุษย์สามารถหาประสบการณ์ทางเซ็กส์และความรักได้หลากหลายรูปแบบ ถ้ากิจกรรมที่เขาเลือกทำเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น”

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และเจ้าของงานเขียน พศในเขาวงกต : แนวคิดทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภค แสดงมุมมองต่อรูปแบบความรักและเซ็กส์ของผู้คนในยุคความเร็วแบบไร้พรมแดนบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปริมาณการลงทะเบียนและใช้เวลากับแอปพลิเคชันหาคู่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

บทความ ชื่อ “The future of dating is fluid” ที่เก็บข้อมูลโดยแอปชื่อดังอย่าง Tinder รวบรวมจากโปรไฟล์ของผู้ใช้งานตั้งแต่มกราคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 ได้ข้อสรุปว่า เป็นปีที่ธุรกิจดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา และมันกำลังจะกลายเป็นศตวรรษใหม่ของการเดทโดยสมบูรณ์” น่าสนใจว่าปรากฎการณ์นี้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบความรัก ความสัมพันธ์ เซ็กส์ และระเบียบสังคมของเราไปอย่างไร ทั้งในฐานะ Social being และปัจเจกบุคคล

เด็กสมัยนี้ความสัมพันธ์สมัยใหม่ในโลกของ Speed

ซีอิ๊วชี้ให้ดูสัญลักษณ์ในการทักทายบนเกย์แอปพลิเคชั่นหาคู่แบรนด์ดังแล้วบอกว่า “ถ้ากดเปลวเพลิงแปลว่า “You’re hot” กดสีฟ้าคือทักทายแบบเป็นมิตร สีม่วงรูปปิศาจนี่คือไม่ชอบ ถ้าชอบก็ส่งรูปให้ดู เราตั้งเวลาได้คือให้ดูสิบวินาทีเดี๋ยวรูปหลุด มันเป็นระบบที่ค่อนข้างปลอดภัย แล้วข้างบนเป็นสัญลักษณ์รูปตา เราจะรู้ว่าใครเข้ามาดูเราบ้าง หนูชอบแอปนี้ เพราะสามารถส่ง Google Maps นู้นนี่ได้หมดเลย”

ซีอิ๊ววัย 27 นิยามตัวเองว่าเป็นเกย์สาว ชอบแต่งตัว ชอบแฟชั่น มีจริตผู้หญิง ตั้งแต่ไปทำงานในต่างประเทศย่านเอเชียตะวันออกได้ปีกว่า เธอบอกว่าที่นี่ค่อนข้างเปิดกว้างในการแสดงออกเรื่องเซ็กส์ จากประสบการณ์ในการใช้งานแอปหาคู่ประมาณ 7-8 แอป ที่โหลดไว้ในมือถือ ทั้งแอประดับเวิลด์ไวด์และแอปเฉพาะภูมิภาค ซีอิ๊วได้เรียนรู้และทดลองประสบการณ์ทางเพศได้ตรงกับสิ่งที่เธอต้องการ “ที่นี่รสนิยมทางเพศเปิดกว้างมากกว่าที่เราเคยอยู่ในไทย อย่างพวกกลุ่ม BDSM เขาจะมีคลับเฉพาะที่มีรูปแบบการมัดต่าง ๆ ได้เลยในคลับ หรือกลุ่ม Fetish ที่ชอบถุงเท้าหรืออื่น ๆ เขาเปิดกว้าง ในขณะที่คนไทยจะพูดว่าชอบถุงเท้า โรคจิต ที่นี่ไม่จ้า”

ในขณะที่ ธีร์ มีทัศนะต่อความรักความสัมพันธ์ของ Gen Z ว่า “คนยุคใหม่ การเป็น Friend with benefits คือตอบโจทย์ที่สุดแล้ว อันนี้มุมมองธีร์นะ แม้กระทั่งชายจริงหญิงแท้ก็ไม่ได้อยากมีลูกกันแล้ว คือความสำเร็จของครอบครัวยุคใหม่ภาพมันต่างไปแล้ว” ตอนนี้ธีร์อายุ 24 แต่เขาบอกว่าได้เริ่มใช้แอปพลิเคชั่นหาคู่มาตั้งแต่วัยมัธยม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ได้ทุนแลกเปลี่ยนไปเรียนในอเมริกา แอปเหล่านั้นได้เปิดมุมมองรูปแบบความสัมพันธ์ของธีร์ให้กว้างขึ้น รวมทั้งค้นพบความเป็นเพศที่เลื่อนไหลไปมา (gender- fluid) เพราะธีร์เคยเดทกับผู้หญิงในช่วงวัยรุ่น ก่อนจะรู้ใจตัวเองว่าเป็นเกย์และพอใจกับความรักความสัมพันธ์แบบใด แอปหาคู่หลากหลายรูปแบบเป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้เส้นทางการเรียนรู้ของเขาชัดเจนขึ้น และมองว่าแอปหาคู่เป็นได้ทั้งเครื่องมือสำหรับมองหาความสัมพันธ์ระยะยาว (Long term Relationship-LTR) หรืออาจจะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีข้อผูกมัด (No-String Attached-NSA)

พรหมลิขิตก็สู้ Friend with benefit ไม่ได้ ?

ดร.นฤพนธ์ อธิบายถึงแนวคิดของคนในเจนเนอเรชั่นนี้ว่า อุดมการณ์ของพวกเขาต่อรูปแบบความรักและเซ็กส์ไม่ได้ยึดมั่นในจุดยืนเดียว เพราะเทคโนโลยีทำให้ความสัมพันธ์ของคนบนโซเชียลมีเดียต้องมีหลายจุดยืน เจ้าของงานเขียน “เพศในเขาวงกต” ชี้ให้เห็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ด้วยความเร็ว(Speed) ทั้งเรื่องความรักและเซ็กส์ ทำให้ต้องสร้างอัตลักษณ์ใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดีและไม่น่าเบื่อ

“เทคนิคของสื่อโซเชียลมีเดีย สื่อสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชั่นทั้งหลาย ทำให้คนต้องสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง เปลี่ยนไปตลอดเวลาและมีอัตลักษณ์หลายแบบ ไม่ว่าจะนิยามตัวเองผ่านรสนิยมบางอย่าง เช่น เรื่องรูปร่างหน้าตา การใช้สิ่งของ ใช้วัฒนธรรมบริโภคมาเป็นเครื่องหมายในการบ่งบอกว่าตนเป็นใคร มีไลฟ์สไตล์ในแบบที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ และเป็นเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ เพราะฉะนั้นการมีข้อผูกมัดแบบแบบระยะยาว ไม่ใช่โจทย์ใหญ่ของคน Gen นี้ มายด์เซ็ตของเขาไม่เหมือนคนรุ่นก่อน ซึ่งตรงนี้อาจจะอธิบายภาพรวมของคนยุคนี้ในทุกเพศ เพราะฉะนั้นอาจพูดได้ว่า Erotic Society ของคน Gen นี้ ขับเคลื่อนไปได้ด้วยการเปลี่ยน image ไปมาตลอด เหมือนกับการเต้นอยู่บนเรื่องราวที่มันไม่หยุดนิ่ง เหมือนน้ำที่เดือดอยู่ตลอดเวลา”

ลูกแก้ว-โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียนและแอคติวิสต์ที่พูดถึงสังคมผ่านมิติเรื่องเพศ ให้ความเห็นในเรื่องนี้เพิ่มเติม ในประเด็นของการขาดพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยกันทั้งเรื่องความรักและเซ็กส์ เหตุเพราะสังคมมักมีมาตรฐานชุดหนึ่งมาใช้ตัดสินและควบคุมพฤติกรรมในเรื่องนี้

“สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือว่า มันไม่แปลกที่ช่วงหนึ่งเราเคยชอบอะไรแล้วจะเปลี่ยนเป็นไม่ชอบ หรือมีรสนิยมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไปมา แต่ใดๆ ก็ตาม สังคมจะต้องเปิดกว้างมากพอที่จะไม่ตัดสิน ถ้าสังคมเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเปิดกว้างมากพอ จะไม่มีสิ่งที่ชอบพูดกันว่า “ผู้หญิงใช้แอปหาคู่มีแต่เสีย” วิธีคิดแบบนี้เป็นการตัดสิน และถูกผลิตซ้ำไปเรื่อย ๆ ในหนังสือ ในภาพยนตร์ หรือในอินเตอร์เน็ตก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้มันส่งผลกระทบต่อวิธีคิดของคน ถึงที่สุดแล้วในระยะยาวสังคมต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะได้เรียนรู้รสนิยมตัวเอง ได้มีเซ็กส์อย่างปลอดภัย คือแทนที่จะไปสั่งห้ามว่าอย่าทำอย่างนี้นะ เดี๋ยวดูเป็นคนเจ้าชู้ ควรจะสอนว่าทดลองได้แต่อย่าไปละเมิดใคร คือมี Consent และต้องมีเซ็กส์แบบปลอดภัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อ ป้องกันการท้องไม่พร้อม”

Love, Sexual Consent and Responsibility

“โลกของอินเตอร์เน็ตทำให้เราเจอใครก็ได้ แช็ตตอนไหนก็ได้ คือ Range ของการหาคู่ตอนนี้มันไม่ใช่แค่คนในสังคมเดียวกัน มันคือทุกๆ คนที่มีวัตถุประสงค์ในความสัมพันธ์แบบเดียวกัน แอปหาคู่จึงเป็นประโยชน์มากสำหรับคนรุ่นธีร์ที่ชีวิตอยู่กับโลกอินเทอร์เน็ต เพราะว่าในชีวิตจริงมันเลือกไม่ได้ แต่ในแอปเราสามารถเช็ค ID ของคู่ที่เราอยากเจอได้ แล้วในขณะเดียวกันยังช่วยแยกเราออกจากคนที่เขาไม่ได้ต้องการเราเหมือนกัน มันทำให้เราไม่ต้องเสียเวลามาทำความรู้จักกัน แล้วสุดท้ายมันไม่แมทช์”

ความเห็นของธีร์ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความเร็วและการทดลองสิ่งใหม่ๆ “เหมือนอยู่บนน้ำเดือด” ตามที่นักวิชาการด้านทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภคได้อธิบายไว้ โดยพฤติกรรมและทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเรื่องเชิงปัจเจกเกินกว่าจะตัดสินโดยมาตรฐานชุดเดียวว่าดีหรือแย่ แต่ดูเหมือนว่าแอปชื่อดังอย่าง Tinder จะมองเรื่องนี้ในแง่บวก โดยได้สรุปไว้ในบทความ “The future of dating is fluid” เกี่ยวกับศตวรรษใหม่ของรักออนไลน์ว่ามีแนวโน้มที่จะทำให้การนัดเดตมีความซื่อสัตย์และจริงใจมากขึ้น มีการคุยเรื่องขอบเขตของความสัมพันธ์อย่างชัดเจน ผู้คนจะเปิดใจกว้างในความสัมพันธ์ และการนัดเดตในโลกดิจิทัลจะเป็นส่วนหนึ่งของ New Normal

“จากประสบการณ์ที่เห็นจริง ๆ ในสังคมตอนนี้ และเท่าที่ได้คุยกับน้องๆ ที่อยากรู้ความต้องการทางเพศตัวเองให้ดีที่สุด อยากจะมีการทดลองทางเพศที่หลากหลาย กลายเป็นว่าทุกคนในแวดวงนี้คือคนที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว เขาจะไม่นอกใจคู่ของตัวเอง แต่ยืนอยู่บนพื้นฐานของ Consent และการคุยกันอย่างตรงไปตรงมาของตัวเองและคู่”

สิ่งสวยงามเหล่านี้มีจริงหรือไม่ จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องเข้าใจในเรื่องของความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual Consent) ซึ่งเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานของความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทุกเพศสภาพ และควรคำนึงถึงในความสัมพันธ์ทุกแพลตฟอร์ม ลูกแก้วได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า

“ถ้าพูดโดยพื้นฐานแล้ว Sexual Consent ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก คอนเซนต์เป็นเรื่องที่เรามีอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แค่คิดว่า “อย่าไปบังคับใครให้เขาทำอะไรในสิ่งที่ไม่อยากทำ” หรืออย่าไปคิดแทนว่าถ้าเขาทำอย่างนั้น ต้องแปลว่าเขาอยากทำอะไร เช่น ผู้หญิงแต่งตัวเซ็กซี่แสดงว่าเขาอยากมีเซ็กส์กับคุณ ดังนั้น Sexual Consent เป็นอะไรที่เรียบง่ายมาก แค่เราต้องคุยและสื่อสารกัน มันไม่ได้ยากเกินความเข้าใจ มนุษย์เราซับซ้อนแล้วทำอะไรที่ยากกว่านี้ตั้งเยอะแยะ แค่ความต้องการของอีกคนที่ไม่ไปละเมิดกันมันไม่ได้ยากขนาดนั้น”

เช่นเดียวกับ ดร.นฤพนธ์ ที่มีความเห็นว่าผู้คนเข้ามาอยู่ในสังคมสปีดด้วยแบ็คกราวด์ที่ไม่เท่ากัน สิ่งสำคัญคือการที่สังคมต้องเข้าใจว่าคนกลุ่มไหนควรเรียนรู้ทักษะและความรับผิดชอบในตัวเองมากที่สุด รวมทั้งการรู้เท่าทันเทคโนโลยี เช่น เยาวชนซึ่งไม่มีความพร้อมในการเข้าไปอยู่ในโลกที่สปีดรวดเร็วรุนแรง อาจมีการถูกเอาเปรียบหรือถูกชักจูงให้เป็นเหยื่อของอะไรบางอย่าง แต่การมองเรื่องนี้จะเปิดกว้างมากกว่า หากไม่ตัดสินในเชิงศีลธรรม แต่เป็นการเรียนรู้บทเรียนจากสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยสปีด หากอยู่ในโลกของความเร่งเร็วบนสังคมออนไลน์แต่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ย่อมไม่ได้สร้างปัญหาให้สังคม

“สังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งทางตรงที่เป็นเรื่องส่วนตัวและเชิงสังคม เพราะฉะนั้นในการที่สังคมเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยน Judgment ด้วย ในการตัดสินสังคมที่มีสปีดแบบโซเชียลมีเดีย ศีลธรรมที่แยกขั้วขาวดำอาจจะใช้ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการยกเรื่องนี้มาพูดบนโต๊ะให้เป็นเรื่องปกติ เพราะถ้ามันเป็นเรื่องปกติ การถกเถียงเรื่องความรับผิดชอบจะตามมาเอง”