Walking ยินดีที่ช้าลง - Decode
Reading Time: 2 minutes

โควิดจะอยู่กับเราอีกนานและการทำงานที่บ้านก็ยิ่งทำให้เรานั่งทำงานได้นานขึ้น จนนานวันร่างกายเริ่มไม่ลงรอยกับนาฬิกา ด้วยรูปธรรมของการกิน นอน พักผ่อนไม่เป็นเวลา นับว่ายังดีที่ความขัดแย้งนี้จบลงที่กรดไหลย้อนและกระเพาะอักเสบไม่บาดเจ็บมากไปกว่านั้น ฉันเองก็เริ่มเข้าใจโลกในทุกชั่วโมงมันอาจออกแบบมาให้เรานั่งบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และความจริงจึงเป็นอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการให้เรานั่งทำงาน ดูจากตารางจัดอันดับ Cities with the Best Work-Life Balance ปี 2021 ประเทศไทยติด 5 อันดับยอดแย่ของเมืองที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและไร้สมดุลที่สุดในโลก แล้วถ้าไม่แปลงเวลาที่มีให้เป็น “เงิน” เราก็จะอดตายด้วยกฎธรรมชาติของทุนนิยมที่ปรารถนาให้เราบริโภคให้มากที่สุดและเวลาที่เหลือจากการบริโภคก็(นั่ง)กดไลก์ไถฟีดโซเชียลมีเดียกันไป ดีไม่ดีอาจเปลี่ยน Like ไปเป็น Buy

เลยกลายเป็นความตั้งใจไม่บังเอิญที่เลือกอ่านเล่มนี้ เพื่อครุ่นคิดและจัดการเวลา อนุญาตให้ตัวเองเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยการออกเดิน หนำซ้ำยังถูกจริตกับผู้เขียน Erling Kagge ที่ค่อนไปทางจริงจัง คลั่งไคล้ และครุ่นคิด ตั้งคำถามกับการเดิน ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างความสัมพันธ์ ไปจนถึงระบอบการเมือง สังคม และวิวัฒนาการของมนุษย์  น่าจะเป็นความบังเอิญอย่างเดียวที่เกิดขึ้นระหว่างฉันกับ Kagge

ก็คงเหมือนกับ Kagge มองเห็น ความเงียบเป็นเงาที่ซ่อนอยู่ในรูปกายของการเดิน ด้วยความบังเอิญ

ใครก็ตามที่เคยอ่านอีกเล่มที่ชื่อ Silence ของ Kagge มาแล้วจะยิ่งเข้าใจเนื้อหาWalking เล่มนี้ได้ลึกซึ้งขึ้น เพราะเรื่องราวเชื่อมโยง ย้อนแย้ง และแทรกไว้ด้วยอารมณ์ตลกร้ายเหมาะกับการอ่านแบบละเมียดไม่รีบเร่ง ทำนองเดียวกับการสกัด ดริป และจิบกาแฟทีละแก้วนั่นแหละ มีไม่กี่ครั้งที่ฉันจะทำเรื่องรื่นรมย์ให้กลายเป็นเรื่องจริงจังในชีวิต เหมือนกับตอนนี้ที่ดำดิ่งในเงาของการเดินขึ้นเขาในวัยกลางคน เพื่อหวังว่าจะเรียนรู้การเดินลงเขาให้เจ็บปวดน้อยที่สุด

น่าเสียดายที่สภาพบังคับของสังคมในทุกสองสามชั่วโมงของเรากลายเป็นชั่วโมงเร่งด่วนได้ตลอดเวลาแม้จะwork from homeก็ตามที ทำให้ความเงียบและการเดินกลายเป็นของมีค่าและเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มีประสบการณ์กับมันน้อยลงเรื่อย ๆ  หรือไม่ก็ถูกตัดตอนประสบการณ์กับการเดินเหลือแค่ เดินหนีปัญหา และบางปัญหาก็ค่อย ๆ จางไป ประสบการณ์ของ Kagge บอกกับฉันอย่างนั้น “มันหายไปเมื่อผมเดิน มันหายไปภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือบางทีก็ไม่กี่วัน เป็นไปได้ว่าปัญหาพวกนั้นไม่ได้หนักหนาอย่างที่ผมคิด แต่บางปัญหาก็กลับมาใหม่เมื่อผมกลับถึงบ้าน แต่ก็ยังดีที่มันดูเบาบางลงไปบ้างหลังจากที่ผมออกไปเดิน” นับจากนั้น Kagge ออกเดินไปทุกที่ในออสโลที่อาศัยอยู่ทุกวี่วัน

เขาเริ่มออกเดินในระยะทางที่ไกลขึ้น ยาวนานขึ้น บ่อยครั้งขึ้น ตั้งแต่เดินข้ามเทือกเขาแอลป์ในเขตสวิตเซอร์แลนด์ เรื่อยไปถึงการออกเดินหนาวสั่นอยู่บนสันเขาเพื่อมุ่งสู่ ฮิล-ลารี สเต็ป 9,840 ฟุตระหว่างทิเบตและเขตเนปาลเพื่อมองไปยังหิมาลัยที่อยู่ตรงหน้า “มันไม่มีอะไรมีความหมายไปกว่าชีวิตของผม ณ ที่ตรงนั้น วินาทีนั้นอีกแล้ว วินาทีสั้น ๆ กลับขยายตัวยืดยาวราวนิรันดร์ ” ฉันพอจะรับรู้ถึงแรงสั่นไหวจากโลกภายในของ Kagge ผ่านประสบการณ์การเดินไกลที่น้อยคนจะบอกลางานประจำแล้วออกไปเดินบนสันเขาทิเบต และเป็นอีกครั้งที่ครุ่นคิดถึงบทกวีของเขา ยัวร์ พาธ ฮอเก เป็นอีกคนหนึ่งที่มองเห็นโลกที่เปลี่ยนไปจากเส้นทางที่เลือกเดิน

เส้นทางของเธออยู่ตรงนี้

เธอเท่านั้นที่เดินไป

และไม่อาจหันหลังกลับ

…………..

การเดินทางไกลสำหรับฉันมันมีราคาที่ต้องจ่ายและอาจใช้เวลาทั้งชีวิต เพื่อครอบครองอำนาจอธิปไตยเล็ก ๆ ที่ฉันมีกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในเส้นทางที่เลือกเอง เดินเอง รู้เอง ฉันจึงเริ่มจากสร้างแผนที่การเดินของฉันอย่างเป็นระบบขึ้นหลังจากอ่านประสบการณ์เดินของ Kagge ฉันใช้เวลาในช่วงหัวค่ำและสุดสัปดาห์ในการออกเดินไปในทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทางตะวันออกเฉียงใต้ ลากเส้นจากที่พักอาศัยของฉันเองแล้วออกเดินจากจุดนั้นไปในรัศมี 1-7 ไมล์ในสามทิศทาง  เริ่มจากระยะทาง 8.8 กิโลเมตร จากบ้านถึงที่ทำงาน ก็ค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างในแผนที่ทำมือ

แม้จะเป็นเส้นทางเดิม ๆ ที่คุ้นเคย ต่างกันแค่วิธีการเดินทางจากขับรถเป็นการเดินก็เท่านั้นเอง แต่แปลกที่สังเกตตัวเองในก้าวแรกที่ออกเดินกลับรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” และใช้ความคิดมากกว่านั่งซะอีก พอเร่งฝีเท้าก้าวเร็วขึ้น กลับเปลี่ยน “ความคิด” เป็นความรู้จักสถานที่ผ่านร่างกายส่วนอื่นที่ไม่ใช่แค่ตาเห็น กลายเป็นว่า ตลอดทางที่เดินบนทางเท้าที่มีบ้างไม่มีบ้างในกรุงเทพฯ “เสียง” เป็นมลพิษมากกว่าความสว่างและทางเท้า ยิ่งไปกว่านั้น ฝูงจิ๊งหรีดต่างร้องตะเบ็งเซ็งแซ่พร้อมกันยังยอมแพ้ต่อเสียงรถบนถนนประชาชื่น ในอัตราเร่ง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนเริ่มสังเกตเห็นร้านอาหารจีนคุณหมิง/ยูนนานกระจายตลอดหัวมุมถนน นับเล่น ๆ มีมากกว่าร้านร้านส้มตำรวมกับร้านก๋วยเตี๋ยวเสียอีก เริ่มสงสัยแล้วว่า ผู้คนเกือบครึ่งคงจะเป็นชาวจีน หรือไม่ก็ชาวไทยเชื้อสายจีน

ที่แน่ใจคือ ช่องว่างระหว่างสิ่งที่ “เห็น”กับสิ่งที่ “รับรู้” ค่อย ๆ หดแคบลง อาจจะเป็นเพราะไม่ได้เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ แต่มีประสบการณ์ร่วมบางอย่างกับผู้คนที่นี่ในวินาทีตรงหน้ากลับ “ได้ยิน ได้มองเห็น และได้รับรู้” ถึงความต่างระหว่างสนามกอล์ฟ 18 หลุมกับร้านหอยทอด โดยมีแสงนีออนกั้นกลางระหว่างความหรูหรากับธรรมดาสามัญ หดแคบลงเมื่อแสงใกล้จะหมดวัน ผู้คนถ้าไม่นับสถานะทางเศรษฐกิจต่างออกมาใช้เวลาและพื้นที่เดียวกันเป็นปกติที่ไม่ปกติคือ ประสบการณ์ต่อโลกของ “เขา และ “เรา”    

เดินมาถึงกิโลเมตรที่ 8 ฉันก็พอสรุปได้ว่า ปีศาจกิโลเมตรที่ 5 ไม่มีอยู่จริง แต่ความจริงแท้กลับเป็น การเดินสู่ภายใน ตัดตอนทุกอย่างเหลือแค่อัตราเร่ง x ความทรงจำ ในหนังสือก็พูดถึงสมการนี้ซึ่งมาจากแนวคิดของ Milan Kundera นักเขียนชาวเช็กที่เขียนนิยายเรื่อง slowness “มีความเกี่ยวข้องกันบางอย่างระหว่างความช้ากับความทรงจำและระหว่างความเร็วกับการลืม” อ่านจบประโยคนั้นฉันเริ่มเห็นตัวเองอยู่ในฝีเท้าของ “ความช้า” เพราะความเข้มข้นของความทรงจำมักผันแปรตามความช้าเสมอ

ช่างตรงข้ามกับความสามารถในการลืมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามระดับของความเร็วในการเดิน

เวลาของ “การเดิน” จึงเหมือนได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์ของคนอื่นราวกับว่าเดินเพื่อเป็นตัวเอง ไม่เป็นอื่น  ปลดระวางโลกทั้งใบออกจากบ่า ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีแต่วินาทีตรงหน้าที่ก้าวเท้าออกไป

ถ้าเราเดินไกลมากพอ…

การเดินอาจมอบการดำรงอยู่บนโลกที่ไม่เคยรู้จัก แต่น่าเสียดายที่มันมีราคาของการเดินไกลที่เราต้องจ่าย หรือสำหรับบางคนอาจต้องใช้เวลา “นั่ง” ทำงานทั้งชีวิต

หนังสือ: Walking one step at a time  
นักเขียน: Erling Kagge
นักแปล: ธันยพร หงส์ทอง
สำนักพิมพ์: OMG Book

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี