ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ช่วงกลางปี 2564 ภาวะโรคระบาดรุนแรงมากขึ้น มีผู้คนติดสะสมเกิน 100,000 คน และมีผู้เสียชีวิตรายวันหลักสิบคน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรักษารายได้และพยุงเศรษฐกิจแย่ที่สุดในโลก แม้การระบาดรอบแรกจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่สูงมาก และการล็อกดาวน์ไม่ได้ยาวนานเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ความล้มเหลวในการรักษาระดับรายได้ของผู้คนทำให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำแผ่ขยายออก
การว่างงานที่ต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 การสูญเสียรายได้ในช่วงวิกฤติโรคระบาดกระทบกับภาคบริการที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยมาหลายปี แม้จะไม่ได้เป็นประเทศที่มีการระบาดสูงแต่กลับเป็นประเทศที่ดูแลชีวิตผู้คนได้ในระดับที่ไม่ดีนัก จนน่ากังวลว่าการระบาดในช่วงกลางปี 2564 จะส่งผลต่อทั้งมิติสุขภาพและการรักษารายได้ของผู้คน จนกระทั่งประเด็นสำคัญที่สุดที่ถูกถกเถียงคือการกระจายวัคซีน ผู้คนจำนวนมากยังตั้งข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพ การกระจายและความเท่าเทียม แม้เชื่อว่าจะเป็นขั้นตอนท้าย ๆ ในการสู้กับโรคระบาดระลอกนี้แต่บาดแผลความเหลื่อมล้ำก็ยังฝังอยู่ในทุกมิติจนแทบจะคาดเดาได้ว่า ไม่ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาในประเทศไทย
ทุกอย่างจะถูกไหลรินจากข้างบนจนเหลือเพียงหยดน้ำที่ไหลรินถึงพื้นดินที่แห้งผาก มากกว่าหนึ่งปีครึ่งของโรคระบาด มีบาดแผลหลายเรื่องที่ถูกเปิดซ้ำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้
เมื่อถึงจุดนี้ความเหลื่อมล้ำ สิ้นหวัง ความเป็นและความตายที่เลือกไม่ได้ดูใกล้ชิดพวกเรามากขึ้น ผู้เขียนอยากชวนทุกท่านย้อนดูซีรีส์เกาหลีร่วมสมัย ที่ได้เผยแพร่ถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ยาและความตายที่ดูแล้วน่าจะชวนให้คนไทยพอได้จินตนาการว่าเรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับอะไร มีแนวโน้มจะได้เจอกับอะไรและเราเรียนรู้อะไรจากซีรีส์เกาหลีเหล่านี้ นำสู่ข้อเสนอทางออกในอนาคตของไทยได้บ้าง
รัฐแทรกแซงความจริง จำกัดจินตนาการผู้คน
Rookie Historian Goo Hae-Ryung
กูแฮรยอง นารีจารึกโลก (2019)
แม้ตัวเอกของซีรีส์จะเป็นอาลักษณ์หญิงในราชสำนักเกาหลีโบราณ ซึ่งเป็นอาชีพสมมติเพราะไม่ปรากฏว่า มีอาลักษณ์หญิงในประวัติศาสตร์ ปมของเรื่องเริ่มต้นจาก ข้อกล่าวหาต่ออดีตกษัตริย์ที่คบค้ากับต่างชาติทรยศต่อประเทศและนำสู่การยึดอำนาจโดยขุนนางเพื่อแต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ จากนั้นหลายปีได้มีการเผยแพร่หนังสือที่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอันพูดถึง “เมืองในอุดมคติ ที่ไม่มีชนชั้น ฐานันดรศักดิ์ ไม่กีดกันด้วยเพศกำเนิด และเปิดรับวิทยาการสมัยใหม่เพื่อความก้าวหน้าของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์”
หนังสือนี้กลายเป็นหนังสือต้องห้าม และกลายเป็นสิ่งท้าทายอำนาจรัฐ ฝ่ายรัฐจึงเริ่มทำการเซนเซอร์หนังสือทุกเล่ม เริ่มต้นจากหนังสือที่พูดถึงแนวทางการรักษาพยาบาลที่ก้าวหน้าก็ถูกปิดกั้น ต่อมาก็ลามไปถึงหนังสือแนวรักหวานแหววที่เป็นที่นิยมในหมู่สตรีและคนรุ่นใหม่ก็ถูกห้ามถูกเผาไปด้วย เพราะเชื่อว่าขัดกับความมั่นคงเพราะทำให้สาวรับใช้กล้าหนีออกจากบ้านเจ้านายเพื่อตามหารักแท้ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สอบรับราชการเพราะอยากมีชีวิตที่มีความหมายกับคนที่รัก
รัฐนำหนังสือต่างๆไปเผาจนหมดสิ้น คำว่า “ความมั่นคง” ถูกตีความขยายมากขึ้นๆจนไร้ขอบเขต มีประโยคหนึ่งซึ่งตัวเองได้ตั้งคำถามว่า “ถ้ากษัตริย์รักในสิ่งที่ประชาชนเกลียดคือเหล่าขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และเกลียดหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่ปลอบประโลมจิตใจผู้คนหิวโหยซึ่งประชาชนรัก กษัตริย์จะสามารถปกครองประชาชนได้อย่างไร ?” ซีรีส์ได้พูดถึงบทบาทของตัวเอกที่ทำหน้าที่อาลักษณ์ในการพยายามที่จะบันทึกกิจการราชการของผู้มีอำนาจทุกอย่างอย่างครบถ้วน โดยเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด แม้เสนาอำมาตย์ หรือกษัตริย์จะมีอำนาจในปัจจุบัน แต่อีกร้อยปีข้างหน้าคนรุ่นหลังก็ยังสามารถตัดสินยุคสมัยจากความจริงที่บันทึกได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้เหล่าผู้มีอำนาจตั้งแต่กษัตริย์ถึงนายกอง จึงพยายามหาทางติดสินบนหรือกำจัดอาลักษณ์ที่คอยบันทึกความจริงในพงศาวดารอยู่ตลอดเวลา และเมื่อยามเกิดโรคระบาดขึ้น เหล่าชนชั้นนำก็ไม่วายในการพยายามแทรกแซงช่วงชิงคำอธิบายสาเหตุของโรคระบาด และปฏิเสธ “วัคซีน” เพราะเชื่อว่าเป็นอาวุธของชาติตะวันตกในการแทรกซึมประชาชน พร้อมพยายามทอดทิ้งประชาชนโดยการกักขังปิดเมือง
เมื่อข้อมูลจากของเหล่าอาลักษณ์ปรากฏชัดขึ้น ชนชั้นนำก็พยายามที่จะใส่ร้าย และปิดปากผู้พูดความจริง และบันทึกความสำเร็จของวัคซีน และความล้มเหลวในการบริหารของราชสำนักด้วยการประหารชีวิต กูแฮรยอนได้ประกาศต่อหน้ากษัตริย์ว่า
“ถึงท่านจะตัดคอเรา พู่กันของเราก็จะยังไม่หยุดเขียน ถึงเราตาย อาลักษณ์คนอื่นก็จะมาแทนที่เรา ต่อให้ท่านฆ่าอาลักษณ์อีกคน คนอื่นก็จะเข้ามาแทนที่ หรือต่อให้ท่านฆ่านักประวัติศาสตร์หมดแผ่นดิน เผากระดาษและพู่กันจนหมด ก็ยังหยุดเราไม่ได้ คำพูดจะถูกส่งต่อปากต่อปาก ครูถึงลูกศิษย์ คนแก่สู่เด็ก ประวัติศาสตร์จะถูกส่งต่อ นี่คือพลังแห่งความจริง”
จากซีรีส์นี้ก็ชวนให้เราขบคิดไม่ได้ว่า ถ้ารัฐพยายามจำกัดการเข้าถึงความจริงและปฏิเสธทุกความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ไม่เหลือทางเลือกให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะความยากจนและสิ้นหวังและเจ็บป่วย รัฐนั้นย่อมเสื่อมความชอบธรรมเหนือประชาชนในที่สุด
เป็นได้หรือไม่ ที่การรับการรักษา
ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องชนชั้นและฐานันดร ?
Deserving of the Name
คุณหมอสองภพ (2017)
ซีรีส์แนวแฟนตาซี เมื่อปี 2017 อ้างอิงหมอในสมัยราชสำนักโบราณ “ฮออิม” (มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์) โดยสร้างเรื่องแฟนตาซีให้สามารถเดินทางข้ามเวลาไปมาระหว่างยุคโชซอน และเกาหลีใต้ในปี 2017 ได้ เรื่องราวเริ่มต้นจากชีวิตของฮออิม ในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยเรื่องฐานันดร การแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและการรักษาโรค ขณะที่ราชสำนักเต็มไปด้วยหมอและยาที่พร้อม ผู้คนนอกกำแพงวังต้องต่อคิวยาวอย่างไร้กำหนด ผู้คนตายระหว่างการต่อแถว และนอกเมืองหลวงผู้คนแทบไม่เคยเห็นหน้าหมอเลยในชีวิต ประเด็นสำคัญเรื่องเริ่มที่การที่ตัวเองที่เป็นหมอมีฝีมือครั้งหนึ่งตัดสินใจรักษาคนไข้ที่เป็นคนรับใช้ โดยที่ขุนนางซึ่งเป็นเจ้านายไม่ได้รับอนุญาต คนรับใช้ถูกลงโทษถึงชีวิตและตัวเอกถูกลงโทษอย่างหนัก เมื่อเขาสามารถข้ามเวลามาในเกาหลีใต้ปี 2017 เขาเห็นวิทยาการที่ทันสมัย เห็นโรงพยาบาลมีทุกหนแห่ง มีหมอที่เป็นผู้หญิงเปิดกว้างที่ทุกคนสามารถมาเป็นหมอได้
เบื้องต้นเขาตัดสินใจจะเริ่มอาชีพ “หมอ” ที่ยุคปัจจุบันในที่ที่ไม่มีฐานันดร ไม่มีชนชั้น และเปิดกว้างรักษาใครก็ได้ แต่สิ่งที่เขาพบกลับไม่ได้ต่างไปจากยุคโชซอนมากนัก คนยากจนไร้บ้านก็ยังต้องตายข้างถนน คนรวยมีโรงพยาบาลวีไอพี ผู้มีอำนาจยอมจ่ายเงินมากมายเพื่อให้หมอไปรักษาส่วนตัว
“มันเหมือนกันทุกยุคทุกสมัยที่คนรวยได้รอดก่อน และคนจนได้ตายก่อน”
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในยุคปัจจุบันอธิบายเหตุผลแก่เขาว่า ทำไมคนรวยควรจะได้สิ่งที่ดีกว่า ทำไมควรจะได้รับการรักษาก่อน ทำไมสามารถเลือกหมอได้ว่า “ชนชั้นของหมอมันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณรักษาใคร ชื่อเสียงคุณจะมากขึ้นเมื่อคุณรักษาคนมีชื่อเสียง ยาจะเป็นที่พูดถึงถ้าคุณทำให้คนรวยเชื่อได้ว่ามันเป็นยาวิเศษ เมื่อคุณได้เงินเยอะ ๆ เราก็จะเอาไปใช้พัฒนาอาชีพของเราได้ มันไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร”
แต่แน่นอนที่สุดมันเสียหาย การที่คนรวยได้อะไรทุกอย่างก่อนเสมอ ไม่เคยทำให้ความเหลื่อมล้ำมันลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด โรงพยาบาลเอกชนตึกสูงขึ้นและแพงมากขึ้น หมอมากขึ้น โรงพยาบาลรัฐหมอกลับน้อยลง แถวยาวมากขึ้น และคนถูกปล่อยให้ตายบนท้องถนนเยอะขึ้น ประเด็นที่น่าคิดต่อถ้าประเทศไทยจัดลำดับชั้นของการรักษาพยาบาลไม่ว่าจะจากโรคระบาด หรือ การรักษาในภาวะปกติ สวัสดิการที่ดีก็ไม่ได้ไหลรินลงมาถึงคนข้างล่าง ความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลไม่ได้ทำให้วงการแพทย์เข้มแข็งมากขึ้น แต่กลับทำให้พัฒนาการทางการแพทย์ถดถอยและถูกวัดตีตราด้วยเงินในกระเป๋า อำนาจในมือของคนไข้
โรคระบาดอำนาจและการควบคุมทางการเมือง
ประชาชนเป็นเหยื่อเสมอ
Kingdom (2019)
ซีรีส์เรื่องสุดท้ายที่ขอยกมาเทียบเคียงเป็น ซีรีส์สยองขวัญแฟนตาซีย้อนยุค ในยุคโชซอนเกิดโรคระบาดปริศนาขึ้น ที่ทำให้ผู้คนที่ติดเชื้อมีอาการคล้ายผีดิบกลัวแสงแดด การระบาดของโรคนี้แพร่กระจายไปในวงกว้าง แม้แต่ชนชั้นสูงก็ติดโรคนี้ แต่ขุนนางอำมาตย์กลับใช้ประโยชน์จากโรคนี้ด้วยเหตุผลของทางการเมือง ผู้มีอำนาจไม่เคยคิดในการหาทางรักษาโรคนี้อย่างจริงจัง แต่อาศัยโรคนี้เป็นอาวุธในการทำลายฝ่ายตรงข้าม การสร้างข้อกล่าวหาเท็จ ขณะที่ประชาชนเริ่มล้มตายนอกกำแพงวัง ราชสำนักก็ยังหมกมุ่นอยู่กับการสืบทอดอำนาจในวินาทีสุดท้าย โดยอาศัยโรคระบาดนี้เป็นเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง
ชนชั้นนำอาจปรารถนาชีวิตที่เป็นอมตะและมั่งคั่งอยู่เสมอ แม้แต่โรคระบาดที่น่าสะพรึงกลัวพวกเขาก็ยังคิดว่ากำแพงสูงและป้อมปราการสามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่พวกเขาได้ แต่ในวันที่ประชาชนสูญเสียทุกอย่างแม้แต่ชีวิตและวิญญาณ ก็เป็นเรื่องน่าคิดว่าสังคมที่กำลังจะล่มสลายกำแพงสูงก็ไม่มีประโยชน์ในการป้องกันอีกต่อไป สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เทียบเคียงได้กับสังคมไทย ที่การระบาดระลอกสามผู้คนที่พอมีโอกาสก็สามารถที่จะกักตัวเองอยู่ที่บ้าน สามารถตรวจโควิดได้ทุกวัน สามารถซื้อประกันกรมธรรม์ละหลายพัน หรือแม้กระทั่งสั่งล็อบสเตอร์ (Lobster) มากินในห้องพักโรงพยาบาลได้ รัฐมนตรีผู้มีอำนาจติดโควิดก็เพียงแค่สั่งการจากที่พัก เหมือนเงินทองและอำนาจจะทำให้พวกเขาปลอดภัย แต่ในสังคมที่ใกล้ล่มสลาย เราควรลดกำแพง แล้วขยายโต๊ะกินข้าวเพื่อรองรับทุกคน ลดงบประมาณคุก ศาล ทหาร ตำรวจ เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการจึงจะสามารถเป็นทางออกได้
จากซีรีส์สามเรื่องที่ยกมาผู้เขียนเพียงต้องการที่จะย้ำว่า แม้ในวันสิ้นโลกเราเองก็ยังมีทางเลือกเสมอ ทางเลือกที่จะปล่อยให้ชนชั้นนำกระชับอำนาจและก่อกำแพงสูงหรือใช้มันเป็นจุดเปลี่ยน เพื่อการกระจายทรัพยากรที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน