ไม่ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาความขัดแย้งทางการเมือง จะนำพาประเทศไปในทิศทางไหน แต่ #ภาษีกู ที่ถูกหยิบยกมาเป็นข้อความสำคัญระหว่างการเคลื่อนไหว ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนในสังคม กลับมาให้ความสำคัญและสนใจการยื่นภาษีอย่างจริงจัง
“มึง ๆ เขายื่นภาษีกันยังไงวะ”
“มีเงินแค่นี้ต้องยื่นภาษีด้วยเหรอ”
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจ ทั้งผลักทั้งดันให้พวกเขาต้องรับบทฟรีแลนซ์กันเพิ่มขึ้นนั้นการ “ยื่นประเมินภาษี” จึงมีความหมายมากไปกว่าการเป็นบทเรียนหนึ่งของการโตเป็นผู้ใหญ่ จากการทำหน้าที่ของผู้มีรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เป็นหนึ่งในการลงทุนเพื่อหวังว่าจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
De/code ชวนไปพูดคุยกับ ถนอม เกตุเอม หรือ พรี่หนอมเจ้าของ “บล็อกภาษีข้างถนน” และแฟนเพจ taxbugnoms.co ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 5 แสนคน ถึงสิ่งที่ควรรู้และต้องระวังกับการยื่นภาษีของชาวฟรีแลนซ์ และหาคำตอบว่ายื่นภาษี=จ่ายภาษี ใช่หรือไม่
ห้องเรียนภาษีในโลกออนไลน์
“เดือนนึงคุณมีรายได้เท่าไหร่”
“…”
คำถามนี้อาจตอบได้ง่ายดายสำหรับใครหลายคน แต่อาจต้องใช้เวลาสักหน่อยสำหรับบรรดาชาวฟรีแลนซ์ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่มีภาระทางการเงิน แต่นี่เป็นสารตั้งต้นจะทำให้ทุกคนได้ทำหน้าที่ประชาชนที่สมบูรณ์ กับการ “ยื่นแบบภาษีประจำปี”
“ภาษีมันเหมือนขี่จักรยาน คือขี่เป็นแล้วมันจบ แล้วคุณจะไปขี่ท่ายาก คุณจะยกล้อ คุณจะขี่ปล่อยมือค่อยว่ากัน แต่ถ้าขี่เป็นมันคือเข้าใจแล้ว แต่ขอให้พ้นช่วงทำความเข้าใจมันเสียหน่อย”
พรี่หนอมเริ่มต้นบทสนทนา ด้วยการให้กำลังใจว่า แม้เรื่องภาษีอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว แต่เราสามารถเรียนรู้ และเข้าใจมันได้ อย่างที่ตั้งใจสื่อสารมาโดยตลอดผ่านช่องทางของเขา
จากข้าราชการในกรมสรรพากร ที่เริ่มต้นเขียนคอนเทนต์เพื่อพัฒนาความรู้ของตัวเอง และตอบคำถามคนรอบข้าง จึงได้ต่อยอดเป็นอาชีพเสริมในการเป็นวิทยากรให้ความรู้ และเมื่อรายได้รองนำหน้าอาชีพหลักและเริ่มเบียดบังเวลาทำงานประจำ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาผันตัวมาเดินเส้นทางนี้อย่างเต็มตัว
พรี่หนอมเล่าว่า ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจศึกษาเรื่องภาษีกันมากขึ้น อาจจะด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้ง่าย อีกทั้ง “อินการเมือง” ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ห้องเรียนภาษีในโลกออนไลน์เป็นที่นิยม
“เมื่อก่อนมันจะเป็นไม่เสียเถอะ หลบ ๆ เถอะ แต่เดี๋ยวนี้มันจะมีความรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันน่าจะต้องเสียภาษี หรือมันต้องมีอะไรเกิดขึ้น อินการเมืองด้วยเลยมีความรู้สึกว่าเสียดายเงินภาษี ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่ดี”
STEP 1 : เริ่มต้นวางแผนการเงิน
เมื่อขึ้นต้นเช่นนี้หลายคนที่ต้องการศึกษาเรื่องการจ่ายภาษีอาจหันหลังกลับ เพราะคิดว่าคงไม่ได้ความเสียแล้ว แต่ในความเป็นจริงพรี่หนอมยืนยันว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ด้วยการเงินครอบคลุมทุกสิ่งอย่าง ภาษีเป็นเพียงเศษเสี้ยวของทั้งหมดเท่านั้น
“เวลาเป็นฟรีแลนซ์โดยเฉพาะเด็ก ๆ เพราะว่ามันยังไม่มีภาระ มันจะไม่คิดมากเรื่องเงิน คือทำงานได้เงิน เอาเงินมาใช้จบ ไม่ต้องมารับผิดชอบใคร แต่สิ่งสำคัญถ้าจะเอาจุดเริ่มต้นให้ถูก คือเงินที่ได้มาในแต่ละเดือนเราได้เท่าไหร่ บางคนยังตอบไม่ได้เลย”
พรี่หนอมตั้งคำถามว่า ก่อนที่จะใช้จ่ายเราวางแผนการใช้จ่ายอย่างไร “ต้องรู้ก่อนว่าแต่ละเดือนเราใช้เท่าไหร่ กลับไปที่พื้นฐานว่าทุกวันนี้เราใช้เงินเดือนเท่าไหร่”
เหตุที่ต้องใส่เครื่องหมายคำถามให้กับเรื่องนี้ ก็เพราะในยามที่เราไม่ได้มีหลักประกันที่แน่นอนเรื่องรายได้ เงินสำรองเป็นสิ่งจำเป็นในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งควรจะมี 3-6 เดือนของเงินเดือนโดยเฉลี่ย
STEP 2 : เปิดบัญชีไว้รับเงินทุกอย่างที่เป็นรายได้
ปัญหาอย่างแรกเลยที่ทุกสิ้นปีหลายคนถึงกับกุมขมับ ก็เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นนับหนึ่งที่จุดไหน ด้วยรูปแบบการจ้างงานที่มีทั้งสัญญากระดาษ สัญญาปาก ไปจนถึงสัญญาใจ นั่นจึงทำให้ “หลักฐาน” ที่จำเป็นต้องรวบรวมในการยื่นภาษีของหลายคนจึงอยู่กันคนละทิศละทาง
“การเปิดบัญชีเฉพาะสำหรับรับรายได้” จึงเป็นวิธีหนึ่งที่พี่หนอมแนะนำ ว่าง่ายและสะดวก ไม่ต้องมานั่งกดเครื่องคิดเลขบวกลบคูณหารให้เมื่อยมือ เพราะเมื่อเราแยกบัญชีแล้ว เงินทุกอย่างที่เป็นรายได้ก็จะมียอดรวมกัน ไม่ว่าเงินก้อนนั้นจะถูกหักภาษีเอาไว้ล่วงหน้าหรือไม่ก็ตาม
แต่หากใครที่มีการจ้างงานในลักษณะสัญญาการจ้างทำของ หรือมีใบเสนอราคาในการจ้างงาน ก็ให้เก็บหลักฐานในส่วนนั้นไว้
อีกวิธีการหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้าม พรี่หนอมกล่าวว่า บันทึกรายรับรายจ่าย ที่บางคนทำเป็นกิจวัตร ก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานอย่างง่ายที่จะสามารถใช้ในการยื่นภาษีได้อีกด้วย
STEP 3 : ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ≠ ไม่ต้องยื่นภาษี?
“พอรู้สึกว่าไม่ต้องเสียก็เลยรู้สึกว่าไม่ต้องยื่น ถ้าพี่ตอบแบบซีเรียสในมุมกฎหมาย กฎหมายไม่ได้บอกไม่เสียไม่ต้องยื่นนะ กฎหมายบอกว่าถ้าอย่างเคสฟรีแลนซ์ ทั้งปีรายได้รวมกันเกิน 60,000 คุณต้องยื่น”
แต่จะต้องเสียภาษีหรือไม่นั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการคำนวณภาษี
“ยื่นมันเป็นหน้าที่อยู่แล้ว แต่จ่ายมันอยู่ที่ความสามารถในการหารายได้เราว่ามันเยอะแค่ไหน”
เล่าไปฟังเหมือนจะยุ่งยากจนต้องหันหน้าหนี แต่พรี่หนอมชี้วิธีประเมินตัวเองแบบง่าย ๆ ที่อาจไม่ได้เจาะลึกรายละเอียดปลีกย่อยทางกฎหมาย แต่ก็ใช้สำรวจตัวเองกันได้ง่าย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เงินได้ของชาวฟรีแลนซ์นั้นจะจัดอยู่ในประเภทเดียวกับมนุษย์เงินเดือนโดยทั่วไป
พรี่หนอมเกริ่นว่า เมื่อรวมรายได้ของเราทั้งปีได้แล้ว รัฐอนุญาตให้เราหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ทั้งหมด แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
“สมมติรายได้ทั้งปี 60,000 บาท เวลาคิดค่าใช้จ่าย มันให้เอา 50% ไปคูณ คูณแล้ว ก็จะได้ 30,000 ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่หักได้ก็คือ 30,000 บาท แต่ทันทีที่มีรายได้เกิน 200,000 บาท เอา 50% ของรายได้ไปคูณ มันจะได้เกิน 100,000 ซึ่งเราก็จะหักสูงสุดได้ 100,000 บาทเท่านั้น”
นอกจากนี้รัฐยังใจดีให้หักค่าลดหย่อนส่วนตัวไปได้อีก 60,000 บาท
เมื่อตัวเลขถูกพรั่งพรูออกมาตลอดการสนทนา เสียงหัวเราะของพรี่หนอมก็ปิดท้ายทันที เพราะขำขันว่าคนฟังคงจะมึนงงไปแล้ว เขาจึงปิดด้วยการสรุปสั้น ๆ ที่ต้องออกตัวว่าอาจจะผิดหลักข้อจำกัดกฎหมายปลีกย่อยว่า
“งั้นเอาแบบนี้ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ลดทั้งปีไม่เกิน 200,000 วิธีคำนวณภาษีจะเป็นแบบนี้ ก็คือนำรายได้ หักด้วย 100,000 และหักด้วย 60,000 ถ้าไม่ถึง 150,000 ไม่ต้องเสียภาษี”
พรี่หนอมทิ้งท้ายอีกว่า หากฟรีแลนซ์คนไหนมีเงินได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็อย่าลืมไปศึกษาภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ไม่เช่นนั้นคงได้มานั่งปวดหัวทีหลังแน่
STEP 4 : แผ่นกระดาษต่อชีวิต
“ไม่ว่าจะเสียหรือไม่เสีย คุณต้องยื่นอันนี้เป็นสิ่งที่กฎหมายบอก แต่ว่าคนทั่วไปก็จะบอกว่าถ้าเกิดคำนวณมาแล้วไม่เสียก็ไม่ต้องไปยื่น ไม่ต้องยุ่งกับมันละกัน”
นอกจากความเข้าใจผิดที่ว่าคำนวณภาษีแล้วไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ต้องจ่ายก็ไม่ต้องยื่นแล้ว อีกความเข้าใจผิดที่พี่หนอมเล่าว่าพบบ่อยไม่แพ้กัน คือ ฟรีแลนซ์โดยปกติเงินที่ได้รับมักจะถูกหักภาษีและนำส่งไว้ล่วงหน้า จึงคิดว่าตนเองได้จ่ายภาษีอย่างสมบูรณ์แล้ว
“ถูกหักไปแล้วเข้าใจว่าจบ ฉันเคลียร์ถูกต้องแล้ว หักตั้ง 3% ก็ถือว่าโอเค ฉันจ่ายภาษีแล้ว ซึ่งจริงๆ มันแค่การจ่ายล่วงหน้าแค่หักไปก่อน”
พรี่หนอมกล่าวว่า เมื่อคนเรามีความเข้าใจถูกต้องแล้วว่าทำงานมีรายได้ก็ต้องเสียภาษี นั่นหมายความว่า “ฉันถูกหักแปลว่าฉันจ่ายล่วงหน้า จ่ายล่วงหน้าแปลว่ามีสิทธิไปขอคืนได้ หรือมีสิทธิไปยื่นภาษีได้ ฉะนั้นเอกสารในการที่ถูกหักจำเป็นต้องเรียกจากคนจ่ายเงิน”
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ฟรีแลนซ์ทุกคนต้องเก็บหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ให้ดี เพราะหลายคนทำงานปีแรก ๆ ยังไม่เคยมีประสบการณ์การยื่นภาษี ก็มองหลักฐานชิ้นนี้ไม่ต่างกับเศษกระดาษแผ่นหนึ่ง
เงินก้อนนี้จะมากน้อยแค่ไหนกันนะ
พรี่หนอมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ในเด็กจบใหม่ที่เริ่มทำงาน หากทั้งปีมีรายได้รวม 300,000 บาท โดนหักภาษีไว้ล่วงหน้า 3% เท่ากับคนนั้นถูกหักไปแล้ว 9,000 บาท เมื่อสิ้นปีเด็กคนนี้ลองคำนวณภาษีของเขาเอง ปรากฏว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่า เขามีสิทธิที่จะขอภาษีที่ถูกหักไว้ล่วงหน้านี้คืนได้
“เงินนี้คือบางคน(ใช้จ่าย)ได้เป็นเดือน นี่คือประเด็นที่บางทีเราลืม แล้วคนกลุ่มนี้ถามว่าไม่ยื่นภาษีผิดไหม ผิด แต่เขาจะตรวจเราไหม ไม่ตรวจ มันเสียเวลา แล้วรัฐคุ้มจะตายได้ภาษีมาฟรี ๆ 9,000”
เช่นนี้แล้วฟรีแลนซ์หลายคนที่อาจมีรายได้ต่อเดือนสูงจนเข้าเกณฑ์จ่าย ก็อาจมองว่า ถูกแล้วที่พวกเขาจะไม่อยากเสียเวลากับเงินส่วนนี้ แต่พรี่หนอมชี้ว่า ภาษีถูกหักไปล่วงหน้านั้น ก็จะส่งผลให้การจ่ายภาษีในช่วงสิ้นปีลดลง ผนวกกับการที่หลายคนลดหย่อนด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างการซื้อประกันชีวิต เป็นต้น
STEP 5 : ขีดเส้นใต้สีแดงไว้ในใจ
เรื่องน่ากลัวอย่างหนึ่งของชาวฟรีแลนซ์ที่พรี่หนอมเตือนว่าควรจะรู้เท่าทันคือ การที่ผู้จ้างบางรายมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว แต่ด้วยการจ้างงานชิ้นนั้นไม่ได้ใหญ่โต เขาจึงไม่ได้ให้ความสำคัญในการมอบเอกสารให้ ฟรีแลนซ์เองก็อาจจะเข้าใจว่าเงินก้อนที่ได้รับเป็นเงินเต็มจำนวนที่ไม่ได้ถูกหักภาษีล่วงหน้า เนื่องจากมีการจ่ายเงินจำนวนตามที่ได้ตกลงกันไว้ นี่เป็นจุดหนึ่งที่อาจทำให้เสียผลประโยชน์ได้
“ได้มา 10,000 ไม่มีใครหัก ไม่มีใครรู้ ไม่ยื่นละกัน เงียบๆ ไว้ ความจริง 10,000 คือยอดที่เขาหักไปแล้ว และเขาก็ไปส่งสรรพากรแล้วแต่เขาไม่ได้บอกเรา เขามักง่ายคือเขาขี้เกียจให้ใบหัก”
พรี่หนอมแนะนำว่า วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดคือการพูดคุยตั้งแต่ต้น หากสามารถระบุเป็นลายลักษณ์อักษรได้จะเป็นการดี ว่าการจ้างงานเป็นเช่นไร มีการหักภาษีล่วงหน้าหรือไม่ มีเอกสารการรับเงินอย่างไร เพราะยิ่งชัดเจนมากเท่าไหร่ ท้ายที่สุดแล้วก็สะดวกต่อเราในอนาคต
“ด้วยจำนวนเงินมันไม่เยอะด้วย งานอาจจะชิ้นเล็ก ไว ๆ อาจจะหลักพันมันก็จะรู้สึกว่าเสียเวลา ต้องมาทำอะไรพวกนี้แต่ว่าถ้าฝึกตั้งแต่แรกได้ พอโตขึ้นหรือเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพ พวกนี้มันคือสิ่งที่เราต้องทำ”
อย่างไรก็ตามกว่าจะไปถึงผลลัพธ์ ที่ทุกคนจะสามารถยื่นประเมินภาษี จ่ายภาษี หรือได้คืนภาษีตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง คงต้องย้อนไปสมการตั้งต้นว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ ในขณะที่บางคนอาจผิดพลาดเพียงขั้นตอนการคำนวณ แต่ในขณะเดียวกันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่แม้แต่ระบุตัวแปรตั้งต้นที่ถูกต้องด้วย
ด้วยเหตุผลที่ว่า “สถานะการทำงาน” ยังคลุมเครือ ทั้งจากรูปแบบการจ้างงานที่ไม่ชัดเจน ว่าพวกเขาควรนิยามตนว่าเป็น “ลูกจ้าง” “แรงงานอิสระ” หรืออย่างที่แรงงานแพลตฟอร์มต้องประสบกับสถานะ “พาร์ทเนอร์” ทางธุรกิจ
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า การได้มาซึ่งระบบภาษีที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
แต่อย่างไรเสีย รู้ขนาดนี้แล้วลองแกล้ง ๆ หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมากดค้นหาการยื่นภาษีออนไลน์ดู ตอนนี้เขาขยายเวลาการยื่นภาษีออนไลน์ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนละนะ