ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
ล่วงเข้าเดือนเมษายน เป็นต้นมา ทุกวันเสาร์ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หากใครเดินทางผ่านไปบริเวณนั้น จะพบกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคนจำนวนหนึ่งยืนอยู่หน้าเรือนจำ พร้อมป้ายห้อยคอที่มีรูปคนหนุ่มสาวพร้อมข้อความ “ปล่อยลูกเรา” ในกิจกรรมที่มีชื่อว่า “ยืน หยุด ขัง”
พวกเธอถูกเรียกขานว่า “คณะราษฎรมัม” บางคนเป็นแม่บ้าน บางคนประกอบอาชีพทำมาค้าขาย บางคนทำงานประจำหาเลี้ยงครอบครัวเหมือนคนไทยทั่วไปจำนวนมาก ในจำนวนนี้ทั้งหมดไม่ใช่นักกิจกรรมทางการเมือง ไม่ได้เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองและไม่ได้รู้จักกันมาก่อน เหตุผลเดียวที่ทำให้ทุกคนมารวมตัวกัน คือ ชะตากรรมร่วมกันของลูก กลุ่มคนที่เป็นพลเมืองแม่เหล่านี้นัดกันออกมายืนตากแดดตากฝนที่หน้าเรือนจำ เพื่อสื่อสารให้สังคมรู้ว่าลูกของพวกเธอถูกคุมขังโดยไม่เป็นธรรม พวกเธอออกมายืนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เพื่อขอให้ศาลและผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงตามหลักกฎหมาย คืนสิทธิประกันตัวให้ลูกๆ ของพวกเธอระหว่างพิจารณาคดี ตราบใดที่การพิจารณาคดียังไม่เสร็จสิ้น พวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักกฎหมาย จึงควรได้สิทธิการประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีความเชื่อและอุดมการณ์อย่างไร
ความทุกข์ทรมานของลูกแปรเปลี่ยนแม่ที่เป็นผู้หญิงธรรมดาให้กลายเป็นนักสู้ ความไม่เป็นธรรมที่ลูกของตนต้องประสบผลักดันให้แม่ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรม อย่างที่หลายคนกล่าว ความรักของแม่ที่มีต่อลูกเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่เหนือพลังอื่นใด
เรื่องราวของ “ราษฎรมัม” ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวของกลุ่มแม่นักต่อสู้ที่คล้ายคลึงกันในอีกซีกโลกหนึ่ง เมื่อประมาณ 4 ทศวรรษก่อน เหตุเกิดที่อาร์เจนตินา ในยุคที่ประเทศลาตินอเมริกาแห่งนี้ตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการของบรรดานายพลที่เข้ามายึดอำนาจตั้งตนเป็นรัฐบาลโดยมิชอบ รัฐบาลทหารของอาร์เจนตินาได้ชื่อว่ามีความเหี้ยมโหดจนเป็นที่เลื่องลือ ประชาชนคนใดก็ตามที่คัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจะถูกปราบปรามอย่างทารุณโหดร้าย โดยไม่สนใจกฎหมายหรือเสียงประณามจากชาวโลก กล่าวได้ว่ารัฐบาลทำ “สงคราม” กับประชาชนของตนเอง มองประชาชนในชาติเป็นศัตรู และทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาความมั่นคงของระบอบอำนาจของตน โดยไม่แคร์คุณค่าในชีวิตของพลเมืองตนเอง
งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าในช่วง “สงครามสกปรก” (Dirty War) ที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาระหว่างปีค.ศ. 1976-1983 ซึ่งรัฐบาลเผด็จการทหารอาร์เจนตินาใช้วิธีการลักพาตัว หรือ “อุ้มหาย” พลเมืองของตัวเองเป็นเทคนิคในการกำจัดศัตรูทางการเมืองและสร้างความสะพรึงกลัวต่อสังคมอย่างเป็นระบบ มีการประเมินโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนว่าในช่วง 7 ปีนั้น มีชาวอาร์เจนตินา (ไม่เว้นทั้งเด็กและผู้หญิง) หายสาบสูญไปด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐถึง 30,000 คน เหตุที่การอุ้มหายเป็นวิธีที่รัฐบาลทหารนิยมใช้ก็เพราะว่ารัฐสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น และไม่ต้องมีคำอธิบายใด ๆ กับสังคม เพราะรัฐอ้างว่าพลเมืองที่หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยนั้นเกิดขึ้นจากฝีมือของ “มือที่สาม” หรือเป็นเพราะปัญหาส่วนตัว อย่างไรก็ตามการที่รัฐหนึ่ง ๆ เลือกใช้วิธีการรักษาอำนาจที่เป็นวิธีการนอกกฎหมายและผิดศีลธรรม ถึงขั้นปลิดชีวิตพลเมืองของตนเอง ก็สะท้อนถึงสภาวะที่รัฐนั้นขาดไร้ซึ่งความชอบธรรมและความนิยมจากประชาชน
คนที่ถูกอุ้มหายส่วนใหญ่เป็นคนในวัยหนุ่มสาวที่ถูกรัฐตั้งข้อสงสัยว่ามีพฤติกรรมและแนวคิดต่อต้านระบอบเผด็จการ ในขณะนั้น ไม่มีองค์กรใดกล้าออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการปกครองของนายพลแม้แต่น้อย เพราะทุกคนอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวอย่างถึงขีดสุด และจึงเลือกที่จะสยบยอมต่ออำนาจ ฉะนั้น จึงไม่มีองค์กรหรือประชาชนกลุ่มใดออกมาทวงความยุติธรรมให้คนที่สูญหาย ท่ามกลางความรุนแรงที่ป่าเถื่อน สังคมมีแต่ความเงียบงัน
ไม่มีใครคาดคิด (รวมถึงบรรดานายพลที่คุมประเทศ) ว่ากรงขังแห่งความเงียบนั้นจะถูกทำลายลงด้วยบรรดาหญิงวัยกลางคนที่เป็นแม่ของผู้สูญหาย
หนังสือเรื่อง พลังแห่งสันติวิธี เล่าจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่กลายเป็นตำนานโจษขานไปทั่วโลกนี้ว่า [1]
“ในตอนแรก กลุ่มแม่ของผู้หายสาบสูญรู้สึกเพียงว่าตนเองสูญเสียจนจิตใจด้านชา บางคนหัวใจสลายจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ… แต่เมื่อตระหนักว่าไม่มีใครอีกแล้วที่จะไขปริศนาลึกลับเกี่ยวกับลูกๆ ที่หายตัวไป พวกเธอจึงทิ้งความหดหู่ไว้ที่บ้านแล้วเดินออกไปสู่พื้นที่อันหนาวเหน็บและไร้ขื่อแปทางการเมืองของอาร์เจนตินา”
ในตอนเริ่มแรกของการเคลื่อนไหว มีคนเข้าร่วมเพียงแค่ 14 คน เพราะบรรดาครอบครัวอื่นๆ ที่มีลูกหลานถูกอุ้มหายก็ยังรู้สึกหวาดกลัวภยันตรายที่จะย่างกรายมาถึงตน หากออกไปตั้งคำถามในเรื่องนี้ ฉะนั้น การประท้วงครั้งแรกในเดือนเมษายนปีค.ศ. 1977 จึงถูกบันทึกไว้ว่า เป็นการประท้วง “ที่เก้ ๆ กัง ๆ เพราะมีแต่ผู้หญิงพื้น ๆ วัยกลางคนซึ่งไม่มีใครรู้จัก หนำซ้ำพวกเธอยังมีแต่ความวิตกกังวลเพราะไม่รู้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะเข้ามาบดขยี้หรือเพียงแต่ขับไล่พวกเธอไป วันนั้นเป็นช่วงบ่ายในฤดูใบไม้ร่วง… ผู้ประท้วงกลุ่มนี้เดินแถวตัดข้ามเส้นทางหลายสายของจัตุรัสสำคัญที่สุดในเมือง แล้วไปรวมตัวกันอยู่ใกล้อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการแตกหักกับอำนาจปกครองของสเปนในศตวรรษที่ 19”
พวกแม่ ๆ ทั้ง 14 คนที่เป็นหัวหอกเดินไปยังลานพลาซา เดอ เมโย ตรงใจกลางกรุงบัวโนสไอเรส เพื่อบอกเล่าถึงความสูญเสียและเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล “เราต่างคนต่างมากันเอง… เราสวมรองเท้าส้นเตี้ยกันทุกคนเผื่อว่าอาจต้องวิ่งหนีหากถูกกวาดจับ การเดินขบวนประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลในยุคนั้นเป็นเรื่องอันตรายมาก แต่ทุกคนก็จับมือกันแน่นเพื่อความปลอดภัยแบบเดียวกับพวกนักไต่เขาที่ปีนหน้าผาไปด้วยกันบนเชือกเพียงเส้นเดียว ในกรณีนี้ทุกคนเป็นแม่ของลูก ๆ ที่หายสาบสูญไปเหมือนกันนั่นเอง”
แม้ว่าจะมีจำนวนเพียงหยิบมือเดียว แต่พวกเธอก็นัดหมายกันว่าจะมาชุมนุมกันอย่างสม่ำเสมอจนกว่าจะได้คำตอบจากรัฐบาล กลุ่มแม่เหล่านี้ถูกเรียกขานว่า “กลุ่มแม่แห่งพลาซา เดอ เมโย” (Mothers of the Plaza de Mayo) ตามสถานที่ที่เป็นจุดนัดหมายของการชุมนุม เมื่อถึงปลายปี 1977 สมาชิกก็ขยายตัวจาก 14 คนเป็น 150 คน บรรดาแม่ ๆ ใช้ผ้าอ้อมสีขาวทำเป็นผ้าโพกศีรษะ (เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงสายสัมพันธ์ตั้งแต่แรกเกิดระหว่างมารดากับบุตร) โดยปักชื่อลูกของตัวเองไว้บนผ้า และปักข้อความที่เขียนว่า “กลับมาอย่างมีชีวิต”
แม้ว่าแม่ ๆ ทุกคนที่ออกมาเคลื่อนไหวจะอ่อนประสบการณ์ หรือกระทั่งไม่มีความสันทัดจัดเจนเลยในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่พวกเธอมีจิตวิญญาณของความเป็นแม่อย่างเต็มเปี่ยม และพวกเธอใช้สามัญสำนึกอย่างง่าย ๆ ว่าสิ่งที่ทำให้บรรดานายพลเพียงไม่กี่คนสามารถใช้อำนาจอย่างโหดร้ายปกครองเหนือพลเมืองหลายสิบล้านคนได้นั้น ไม่ใช่เพราะฝ่ายทหารมีกองกำลังเท่านั้น หากเป็นเพราะการนิ่งเงียบของประชาชนรวมทั้งครอบครัวของเหยื่อต่างหาก “สิ่งที่ทหารต้องการมากที่สุดคือความเงียบ” นั่นคือข้อสรุปของผู้หญิงนักต่อสู้เหล่านี้
พวกแม่ ๆ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เจอหน้าลูกอีกครั้ง หรือเลวร้ายที่สุด หากลูกของพวกเธอเสียชีวิตไปแล้ว แม่ ๆ ก็อยากรู้ว่าเสียชีวิตเมื่อไหร่ อย่างไร และต้องการได้ศพลูกลับคืนมาประกอบพิธีกรรม เมื่อรัฐมนตรีมหาดไทยบอกว่าไม่รู้ว่าใครจับตัวลูกของพวกเธอไป ทั้งยังบอกว่าลูกชายของพวกเธออาจหนีไปอยู่กับผู้หญิง ส่วนลูกสาวก็อาจหนีไปขายตัว ทำให้ความกลัวของแม่ๆ ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ “เราบอกเขา[รัฐมนตรีมหาดไทย]ไปหมดว่า เรารู้สึกอย่างไรและเราจะกลับมาใหม่ทุก ๆ สัปดาห์จนกว่าพวกเขาจะให้คำตอบเราได้ เราจะเดินขบวนไปที่จัตุรัสทุกวันพฤหัสบดีจนกว่าพวกเราจะหมดแรงล้มลง” (เน้นโดยผู้อ้าง)
ความจริงที่น่าสะเทือนใจคือ หลังจากที่แม่ ๆ ออกมาเคลื่อนไหว พวกเธอก็กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของการปราบปรามของนายพล เพราะการต่อสู้อย่างอาจหาญของกลุ่มแม่แห่งพลาซา เดอ เมโย กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทำให้ความจริงอันเลวร้ายของคณะรัฐประหารที่พยายามปกปิดไว้ถูกเปิดเผย บรรดานายพลจึงรู้สึกอับอายขายหน้าและโกรธ มองว่าพวกแม่นักสู้เหล่านี้คือภัยคุกคามความมั่นคง แม่บางคนหลังจากออกมาเคลื่อนไหวก็หายสาบสูญตามลูก ๆ ไปด้วย นอกจากนี้ ผู้นำรัฐบาลยังสั่งให้ตำรวจทุบตีแม่ ๆ ด้วยตะบองและสุนัขตำรวจ และจับกุมพวกเธอไปขังคุก
แต่ความป่าเถื่อนโหดร้ายจากรัฐก็ไม่ได้ทำให้คนเป็นแม่ท้อถอย พวกเธอยังคงต่อสู้อย่างกล้าหาญทั้งชุมนุม เดินขบวน เขียนจดหมายถึงองค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติ และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สื่อสารโดยตรงไปยังประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการกองทัพ และผู้นำรัฐบาลทหารว่า “ความทรมานที่โหดร้ายอย่างที่สุดสำหรับคนเป็นแม่ก็คือการไม่รู้แน่ชัดว่าลูก ๆ ของตนมีชะตากรรมอย่างไร เราขอให้ใช้กระบวนการทางกฎหมายตัดสินว่าพวกเขาบริสุทธิ์หรือมีความผิดจริง”
การต่อสู้ของ “กลุ่มแม่แห่งพลาซา เดอ เมโย” ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการทำให้ระบอบเผด็จการทหารของอาร์เจนตินาเสื่อมความชอบธรรมจนกระทั่งสิ้นสุดอำนาจไปในท้ายที่สุด มันเป็นการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก และถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างสง่างาม
การต่อสู้เพื่อความจริงและความยุติธรรมไม่เคยได้มาโดยง่าย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มันมีจุดเริ่มต้นจากความกล้าหาญและเสียสละของกลุ่มคนจำนวนน้อยเสมอ แต่นอกจากความกล้าหาญและเสียสละ บางครั้งการต่อสู้ก็ถูกขับเคลื่อนด้วยความรัก ไม่ว่าจะเป็นความรักของประชาชนที่อยากเห็นประเทศชาติดีงามและเป็นธรรมขึ้น หรือความรักของคนเป็นแม่ที่ไม่อาจทนนิ่งเฉยต่อความทุกข์ทรมานของคนเป็นลูกที่ถูกพรากอิสรภาพและลิดรอนสิทธิอย่างไม่เป็นธรรม
จาก “กลุ่มแม่แห่งพลาซา เดอ เมโย” ที่บัวโนสไอเรส ถึง “คณะราษฎรมัม” ที่กรุงเทพฯ แม้จะต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างกาลเวลา แต่มันคือเรื่องราวของการต่อสู้ด้วยหัวใจดวงเดียวกัน
อ้างอิง
ดรุณี แซ่ลิ่ว และ เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ (แปล), พลังแห่งสันติวิธี: การยุติปัญหาความขัดแย้งในรอบศตวรรษ (กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 2553), แปลจาก Peter Ackerman and Jack Duvall, A Force More Powerful: A Century of Nonviolent Conflict (New York: St. Martin’s Press, 2000).
[1] เรื่องราวและข้อความที่อ้างอิงมาที่จะเล่าต่อไปนี้เกี่ยวกับการต่อสู้ของกลุ่มแม่ในอาร์เจนตินานำมาจากหนังสือแปลเรื่อง พลังแห่งสันติวิธี: การยุติปัญหาความขัดแย้งในรอบศตวรรษ (กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 2553), น.455-472 แปลโดยดรุณี แซ่ลิ่ว และ เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์, บรรณาธิการโดย สดใส ขันติวรพงศ์, แปลจาก Peter Ackerman and Jack Duvall, A Force More Powerful: A Century of Nonviolent Conflict (New York: St. Martin’s Press, 2000).