ปัจเจกเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ (ไม่) เป็นธรรม - Decode
Reading Time: < 1 minute

ที่ใดมีทุน

รศ.ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

คำว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (creative economy) กลายเป็นคำยอดฮิตสำหรับผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการสารพัดสายในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยรักไทยได้ก่อตั้ง Thailand Creative & Design Center (TCDC) ขึ้นในปี 2547 เพื่อสนับสนุนความเข้าใจและเป็นแหล่งความรู้ให้แก่การสร้างผู้ประกอบการและการสร้างสรรค์ หลังจากนั้น 9 ปี คือ ปี 2556 TCDC สาขาเชียงใหม่ได้ถูกก่อตั้งขึ้น ด้วยมุมมองที่ว่า เชียงใหม่มีศักยภาพที่จะกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ (creative city) ที่จะเป็นขุมพลังขับดันการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยได้

ในหลายประเทศทั่วโลก เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ (creativity) กลายเป็นสูตรสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทุก ๆ การทำงาน ทุก ๆ ภาคการผลิตสามารถเติมคำว่าสร้างสรรค์ลงไปได้ และหากมีการสร้างสรรค์ก็น่าจะทำให้สินค้านั้น ๆ ดูมีมูลค่ามากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่นักกิจกรรมที่ต้องขับเคลื่อนทางการเมือง เพื่อความเป็นธรรม “อย่างสร้างสรรค์” ด้วย

แน่นอนว่า เมื่อการสร้างสรรค์กลายเป็นแบรนด์ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มันก็ย่อมจะมีสิ่งอื่น ๆ ที่เหลือจำนวนมากที่ไม่นับว่ามีการสร้างสรรค์ พูดง่าย ๆ ก็คือ หากมีสิ่งที่เรียกว่าการสร้างสรรค์แล้ว สิ่งอื่น ๆ ที่เหลือก็ย่อมจะไม่ใช่การสร้างสรรค์ และหากมันไม่สร้างสรรค์ มันก็ย่อมจะมีประโยชน์น้อยกว่าสิ่งที่มีการสร้างสรรค์ ในแง่นี้ การจะนิยามว่า อะไรคือการสร้างสรรค์ก็เป็นการขีดเส้นคั่นกับสิ่งที่ไม่ใช่ในตัวของมันเอง

คำถาม คือการสร้างสรรค์คืออะไร และจะนับใครบ้างเป็นนักสร้างสรรค์

ในหนังสือที่ชื่อว่า Against Creativity (2018) ผู้เขียน คือ Oli Mould ตั้งข้อสังเกตว่า นิยามของการสร้างสรรค์นั้นเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย แต่ไม่มียุคสมัยใดที่เคยยอมรับอย่างถึงที่สุดว่า “เราทุกคนเป็นผู้สร้าง” ในยุคของศาสนา พระผู้เป็นเจ้าคือผู้สร้างเพียงหนึ่งเดียว และสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมดเป็นสิ่งสร้างของพระองค์ ในยุคแสงสว่างทางปัญญา มนุษย์มีบทบาทเป็นผู้สร้างแทนพระเจ้า แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์ทุกคน แต่เป็นมนุษย์ผู้ชายผิวขาวที่มีสถานะทางชนชั้นอย่างพิเศษเท่านั้น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็เป็นคนเล็กกว่าหยิบมือเมื่อเทียบกับประชากรโลก

ภายใต้การขึ้นมาของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในช่วงทศวรรษ 1970 การสร้างสรรค์ผูกโยงกับความเป็นปัจเจกบุคคลอย่างสุดโต่ง ในฐานะที่ความสร้างสรรค์กลายมาเป็นคุณสมบัติส่วนบุคคลของปัจเจกแต่ละคน โดยตัดขาดออกจากสังคมโดยรวมที่คนนั้นอาศัยอยู่ เราจึงเห็นหนังสือที่เล่าถึงแง่คิดจากกูรูผู้ประสบความสำเร็จมากมาย ประหนึ่งว่า ความรู้ ความสำเร็จ และแง่คิดงอกออกมาจากตัวคน ๆ นั้นเพียงคนเดียว กระบวนการทำให้การสร้างสรรค์เป็นเรื่องปัจเจกจึงตอกย้ำรากคิดของการสร้างสรรค์ที่เน้นการกีดกันมากกว่าจะเปิดรับให้ทุกคนเป็นผู้สร้าง การตีเส้นและกีดกันคนอื่น ๆ ออกไปว่า ไม่สร้างสรรค์ ก็ทำให้ความสามารถในการสร้างสรรค์ไม่เกี่ยวพันกับคนอื่น ๆ สังคม และไปสนับสนุนความคิดที่ว่า คนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้สร้างก็ไม่ควรจะได้รับส่วนแบ่งอะไรจากงานที่เขาทำ เพราะมันไม่สร้างสรรค์

ภายใต้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เรามักจะถูกทำให้เชื่อว่า งานของเราจะมีคุณค่าและมูลค่ามากขึ้น หากมีการสร้างสรรค์ใส่ลงไป เช่นเดียวกับที่ชนชั้นแรงงานสามารถยกระดับตัวเองเป็นชนชั้นกลางได้หากพวกเขาเพิ่มทักษะ หรือคุณสมบัติของการเป็นนักสร้างสรรค์ลงไปในการทำงาน ปลายทางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือ เราทุกคนเป็นนักสร้างสรรค์

อย่างไรก็ดี ในสังคมทุนนิยมตอนปลาย คำขวัญที่ว่า “เราทุกคนเป็นนักสร้างสรรค์” แต่ก็อยู่บนเงื่อนไขที่เราสร้างอะไรบางอย่างที่ขายได้หรือต้องมีมูลค่าในตลาดเท่านั้น การนิยามว่าอะไรเป็นการสร้างสรรค์หรือใครเป็นนักสร้างสรรค์จึงเป็นการกีดกันหรือผลักไสคนส่วนใหญ่ออกตั้งแต่ต้น แม้แต่ในยุคสมัยที่บอกว่า “ใคร ๆ ก็สร้างสรรค์ได้” แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราทุกคนจะเป็นนักสร้างสรรค์  

ในแง่นี้ หัวใจของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทุกวันนี้ก็คือ การปกปิดมิติของความสัมพันธ์ทางอำนาจของการสร้างสรรค์ และไปเน้นที่ความพิเศษสูงส่ง หรืออัจฉริยภาพของผู้สร้างแบบเดี่ยว ๆ คำว่า “เดี่ยว ๆ” ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงแค่คน ๆ เดียว แต่อาจจะหมายรวมถึงบริษัทหรือบรรษัทเดียว สาเหตุที่การสร้างเป็นเรื่อง “เดี่ยว ๆ” เพราะมันเป็นตัวกำหนดว่า ผลผลิตของการสร้างสรรค์จะตกเป็นของใคร

ในแง่นี้ การสร้างสรรค์ในเศรษฐกิจทุนนิยมจึงผูกกับระบบกรรมสิทธิ์ หรือการอ้างความเป็นเจ้าของแบบส่วนบุคคลอยู่เสมอ

คำถามที่ตามมาก็คือ คนอื่น ๆ ที่ไม่ถูกนับว่าเป็น “นักสร้างสรรค์” นั้น พวกเขาสร้างอะไรบางอย่างหรือไม่ หรือว่าพวกเขาไม่ได้สร้างอะไรเลย

การยกย่องการสร้างสรรค์/นักสร้างสรรค์ที่พูดกันจนเกร่อในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือ การทำงานทางอุดมการณ์ที่สำคัญที่ปกปิดข้อเท็จจริงหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทุก ๆ การสร้างสรรค์/มูลค่านั้นเป็นกิจกรรมทางสังคม (social activity) ที่คนหลายคนมีส่วนร่วม ซึ่งนี่เป็นลักษณะพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่า “การผลิต” (production) ซึ่งเป็นกิจกรรมรวมหมู่ของผู้คนที่หลากหลายอยู่เสมอ

ทว่าภายใต้เศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น การแยก “การสร้างสรรค์” ออกจาก “การผลิต” ก็คือกลไกสำคัญที่จัดลำดับชั้นและแบ่งแยกแรงงานภายในสังคมหนึ่ง ๆ กลไกดังกล่าวนี้เองได้ทำหน้าที่ค้ำยันความเหลื่อมล้ำสารพัดแบบเอาไว้ และเป็นเครื่องมือในการปลอบประโลมความล้มเหลวผ่านการที่ผู้คนที่ล้มเหลวในระบบต้องหัดโทษตัวเองว่า สาเหตุของความล้มเหลวเกิดจากพวกเขาสร้างสรรค์ไม่พอ หรือไม่มีความคิดสร้างสรรค์ด้วย  

การลดทอนความสำคัญของ “การผลิต” และ “ผู้ผลิต” ก็คือ กระบวนการทำลายขบวนการแรงงานที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จากเดิมที่งานในภาคการผลิต (อุตสาหกรรม) นั้นชัดเจนว่าเกิดขึ้นในสถานที่ใดที่หนึ่งที่ต้องอาศัยแรงงานของผู้คนจำนวนมากร่วมกันทำการผลิต แต่การเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิตไปสู่ระบบหลังสายพานก็ทำให้การผลิตหรือผู้ผลิต รวมถึง “แรงงาน” กลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และถูกแทนที่ด้วยอัศวินอิสระ (freelancer) ที่การทำงานของพวกเขาแยกขาดออกจากคนอื่นและเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ขอเพียงพวกเขามีความสามารถ และจัดการเวลาได้

การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงเป็นผลจากกระบวนการของการทำลายความมั่นคงของการทำงานตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และเป็นกระบวนการหล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำที่พุ่งสูงขึ้นในทศวรรษหลังจากนั้น ลัทธิปัจเจกนิยม รูปแบบการทำงานแบบยืดหยุ่น รวมถึงการแพร่ขยายของบรรดาหนังสือ How to ก็คือกระบวนการเดียวกันอันนี้เอง ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธ “การสร้างสรรค์” แต่ปฏิเสธการผูกการสร้างสรรค์ไว้กับกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และความเป็นปัจเจกบุคคลแบบสุดโต่ง ตราบใดที่การสร้างสรรค์มีความหมายที่คับแคบ และผูกโยงกับคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ที่ถูกมองว่า “ไม่” สร้างสรรค์จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง นอกจากเป็นฐานมวลชนผู้ผลิต (แต่ไม่สร้างสรรค์) อันไพศาลให้แก่คนส่วนบน ๆ ที่บอกว่า ตัวเองสร้างสรรค์ (กว่าคนอื่น)