Anthropocene บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน เป็นหนังสือที่ถูกจัดพิมพ์ขึ้นในโอกาส 30 ปี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่รวมบทความเชิงวิชาการ โดยนักวิชาการหลากหลายศาสตร์ อย่าง โบราณคดี ภูมิศาสตร์ มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลายต่อคำว่า มนุษย์สมัย ที่เกิดจากการวิกฤตของโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาวะโลกร้อน
แอ๊น-เธฺร่อ-เพ่อ-ซีน
คำว่า “Anthropocene” ถูกเสนอโดย ยูจีน สเตอร์เมอร์ (Eugene F. Stoermer) กับ พอล ครุตเซน (Paul Crutzen) ในปี ค.ศ. 2000 ในจดหมายข่าว โปรแกรมศึกษาชีวภาค-ธรณีภาคนานาชาติ (IGBP) และต่อมาครุตเซนได้อธิบายให้กระชับขึ้นในวารสาร Nature 2002 ถึงการนิยามเพื่ออธิบายยุคใหม่ในประวัติศาสตร์โลกที่มนุษย์กลายเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และสภาพภูมิศาสตร์ของโลก
คำว่า Anthropocene ประกอบด้วยสองส่วน
“Anthropos” มาจากภาษากรีก แปลว่า “มนุษย์”
“Cene” เป็นคำที่ใช้ในทางธรณีวิทยาเพื่อระบุช่วงยุคทางประวัติศาสตร์
ในทางทฤษฎีนั้น Anthropocene ว่าด้วยผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทิ้งร่องรอยตรวจวัดได้ ทั้งในอากาศ น้ำ และดิน ทำให้เห็นว่า มนุษย์มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและนิเวศวิทยา จึงขอเสนอให้ในยุคปัจจุบันที่เราอาศัยใช้นิยามว่า มนุษยสมัย (Anthropocene) เพื่อเรียกสมัยทางธรณีวิทยา ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ขณะนี้จะยังดำเนินไปอีกนาน (หน้า 51) ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างการปล่อยก๊าซต่าง ๆ สู่ชั้นบรรยากาศและการเปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิทัศน์ของโลกอย่างการทำเหมือง การใช้ถ่านหิน และขุดเจาะน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ต้องทะลวงชั้นพื้นดินหินอันเป็นเครื่องเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ของโลก
โดยทางครุตเซนเสนอว่า Anthropocene มีการเริ่มต้นเมื่อมนุษย์เริ่มมีอิทธิพลต่อโลกอย่างมากนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเครื่องจักรไอน้ำที่ต้องใช้พลังงานถ่านหินและน้ำมันฟอสซิล
หลังการมีปรากฏขึ้นของคำว่า Anthropocene ได้รับความสนใจในหลากหลายแขนง เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยวิทยา ฯลฯ ตามที่ปรากฏภายในหนังสือ Anthropocene: บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน เล่มนี้ที่รวบรวมแนวความคิดจากนักคิด นักวิชาการหลากหลายแขนงทั้งต่างประเทศที่ถูกนำมาใช้เป็นแนวความคิด และการเชื่อมโยงกับสภาพสังคมไทยให้เห็นถึงปรากฏการณ์ ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การจัดการป่าไม้ในประเทศไทย การอนุรักษ์ธรรมชาติ ฯลฯ
ประเทศไทย และ Climate Change
ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น เช่น น้ำท่วมหนัก ภัยแล้ง และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนเกษตรกรรม การประมง และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ชายฝั่ง การสะสมความร้อนภายในชุมชนเมืองที่แออัด นอกจากนี้ยังมีการสูญเสียป่าฝนเขตร้อน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและการเก็บกักคาร์บอน ปัญหานี้เป็นหนึ่งในผลกระทบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ท่ามกลางอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนน่าวิตก เกิดการสร้างความร่วมมือ พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นสนธิสัญญานานาชาติที่กำหนดขึ้นเมื่อปี 1997 ที่ทำให้เกิดระบบการแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนหรือคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้น
โดยมีจุดประสงค์หลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่พัฒนาแล้ว พิธีสารนี้ได้สร้างกลไกการซื้อขายคาร์บอนขึ้นมาเพราะประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงตามที่กำหนดไว้ได้
และสนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2015 เพื่อร่วมกันรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายหลักคือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม สนธิสัญญานี้ยังส่งเสริมให้แต่ละประเทศจัดทำ Nationally Determined Contributions (NDCs) ซึ่งเป็นแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายที่แตกต่างกันตามศักยภาพและระดับการพัฒนา
ประเทศไทยมีแผนการรับมือที่สอดคล้อง (NDC Action Plan) ด้วยการตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) 40% ภายในปี 2030
คาร์บอนเครดิต คือสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) (ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มก๊าซเรือนกระจก) หรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยแต่ละเครดิตนั้นแสดงถึงปริมาณการลดหรือการดูดซับคาร์บอนที่เท่ากับ 1 ตัน กลไกนี้อนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเองและทำให้เกิดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและองค์กรต่าง ๆ ในการลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซ เช่น โครงการปลูกป่า หรือการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ประเทศที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซในประเทศของตนเองได้เพียงพอ สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตในหน่วยงานที่ต้องลดการปล่อยก๊าซตามกฎหมายควบคุมอย่างอุตสาหกรรม
คาร์บอนเครดิต และ ระบบทุนนิยม
มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนในแง่ของการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกของตลาดทุนนิยม ซึ่งเน้นการใช้กลไกตลาดเพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เช่น คาร์บอน ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในระบบทุนนิยม การซื้อขายคาร์บอนเครดิตช่วยให้บริษัทหรือประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าขีดจำกัดสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทหรือประเทศที่มีการลดการปล่อยก๊าซ โดยใช้กลไกการค้าขายเป็นตัวขับเคลื่อน สิ่งนี้ส่งผลให้เกิด ตลาดคาร์บอน ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลก
อย่างไรก็ตาม การนำกลไกตลาดเข้ามาจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นนี้มักถูกวิพากษ์ว่า เป็นการให้ความสำคัญกับผลกำไรในระยะสั้นมากกว่าการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน บางครั้งคาร์บอนเครดิตถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียง “การซื้อใบอนุญาตในการปล่อยมลพิษ” ที่ช่วยให้บริษัทขนาดใหญ่ยังคงสามารถดำเนินการปล่อยมลพิษได้ เพียงแค่ชดเชยผ่านการซื้อเครดิตจากโครงการที่อาจไม่ได้ผลหรือโปร่งใสเพียงพอ
เจสัน ดับเบิลยู มัวร์ (Jason W. Moore) เสนอแนวคิด “Capitalocene” เพื่อวิพากษ์และแทนที่แนวคิด “Anthropocene” ซึ่งมองว่าไม่ใช่มนุษย์ทั้งหมดที่เป็นปัจจัยหลักในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง แต่เป็นระบบทุนนิยมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่างหาก
หากเชื่อมโยงแนวคิด “Capitalocene” ของ มัวร์ กับสถานการณ์การพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย จะทำให้เห็นว่า ระบบทุนนิยมกำลังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่เคยถูกทำให้ไม่มีมูลค่าที่ขูดรีดอย่างเสรี เช่น ป่าไม้ กลับมามีมูลค่าผ่านกลไกการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตที่ผ่านระบบกรรมสิทธิ์จากเงินสนับสนุนในการปลูกป่าและการดูแล
โครงการเหล่านี้พยายามเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นแหล่งรายได้และสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับบริษัทใหญ่ของกลุ่มทุน ในตลาดการค้าคาร์บอน
ทว่าการทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซในระยะยาว แต่กลับเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตลาดและการขยายตัวของระบบทุนนิยม
โครงการคาร์บอนเครดิตทำให้ป่าไม้ที่เคยเป็นพื้นที่ของชุมชนพื้นเมืองกลายเป็น “สินทรัพย์” ในการสร้างคาร์บอนเครดิต
ชุมชนเหล่านี้อาจได้รับอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพชน แต่ต้องอยู่ในฐานะผู้ดูแลป่าเพียงเท่านั้น ซึ่งแรงงานและการดูแลของพวกเขากลับกลายเป็นการสนับสนุนกลไกตลาดที่กำหนดมูลค่าของป่าในรูปของคาร์บอนเครดิต แทนที่จะเป็นการยอมรับสิทธิในการอยู่อาศัยในพื้นที่อย่างแท้จริง
ดังนั้นระบบนี้จึงกลายเป็นการกดทับมากขึ้นผ่านการสร้างมูลค่าจากทรัพยากรที่พวกเขาต้องพึ่งพา ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของเหล่าชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตหากินอยู่กับผืนป่าได้อีกต่อไป ซึ่งนำไปสู่การทำให้พวกเขาต้องสูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
การใช้แนวความคิดของมัวร์มองสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้เห็นว่า มนุษย์ไม่ใช่ผู้ที่กำลังทำลายโลก อย่างตามคำนิยามของ Anthropocene แต่เป็นระบบทุนนิยมต่างหากที่กำลังทำลายและสูบทรัพยากรธรรมชาติจากโลกให้ถึงจุดวิกฤต
แต่สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนบทความชิ้นนี้อยากเน้นย้ำนอกจากการบอกว่าเรากำลังอยู่ยุคอะไรเพื่อระบุว่าเรากำลังเผชิญกับอะไรคือปัญหาของระบบกลไกตลาดเช่นคาร์บอนเครดิตที่อาจช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้น ที่ในระยะยาวอาจไม่เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง หากยังคงเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (ซึ่งไม่สร้างความยั่งยืน) ทั้งยังซ้ำเติมความไม่เป็นธรรมทางสังคมและการกดทับคนชายขอบที่ถูกบังคับให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้เพื่อรักษาทรัพยากรที่พวกเขาต้องพึ่งพามาแต่เดิม
สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศผ่านกลไกตลาดในระบบทุนนิยม อาจเป็นเพียงการตอบสนองต่อปัญหาชั่วคราว โดยไม่สามารถจัดการกับรากเหง้าของปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว ทั้งยังสร้างแรงกดดันให้กับกลุ่มคนที่พึ่งพาธรรมชาติในการดำรงชีวิตอย่างไม่ยุติธรรม
จุดยูเทิร์นของอุณหภูมิโลก
“วิกฤตโลกเดือดคือการก่อมลพิษของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของโลกใบนี้ แต่กลุ่มคนที่ต้องแบกรับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุดคือคนจน มีปัจจัยซับซ้อนที่ทำให้โลกเดือดมีความรุนแรง ตั้งแต่ผังเมือง นโยบายการจัดการเมืองที่ไม่มีคนจนอยู่ในนั้นด้วย “
ณัฐวุฒิ กรมภักดี ตัวแทนชุมชนริมรางเมืองขอนแก่น
หนึ่งในคำกล่าวเมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศได้จัดการชุมนุมบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) กรุงเทพฯ ภายใต้กิจกรรม “ยุติภาวะโลกเดือดที่ต้นเหตุ: System Change Not Climate Crisis” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการสนับสนุนการฟอกเขียวของอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษผ่านนโยบายคาร์บอนเครดิต
การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การที่หลายบริษัทใช้คาร์บอนเครดิตเป็นการ “ซื้อเวลา” เพื่อไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ๆ โดยการลงทุนในโครงการที่สร้างมูลค่าคาร์บอนเครดิต เช่น โครงการปลูกป่า ซึ่งบางครั้งขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาพื้นที่
ทั้งนี้ มีข้อกังวลว่าการดำเนินโครงการเหล่านี้อาจทำให้กลุ่มทุนสามารถใช้กลไกตลาดคาร์บอนเพื่อควบคุมที่ดินและทรัพยากรในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม ซึ่งทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่าต้องพึ่งพาระบบที่ถูกควบคุมโดยอุตสาหกรรมแทนที่จะได้รับสิทธิในการจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยต้องคำนึงถึงสิทธิและความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่คือชุมชนชนบทและกลุ่มชนพื้นเมือง ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทางเศรษฐกิจในสังคมเมืองที่ถูกบีบให้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงสุดขั้วอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ทั่วโลกมีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้คาร์บอนเครดิตว่าเป็นกลไกที่ช่วยให้บริษัทและประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถลดแรงกดดันในการลดการปล่อยก๊าซจริง ๆ โดยการชดเชยผ่านโครงการคาร์บอนเครดิตมากกว่าการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดหรือการลดกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม
จนเกิดเป็นการตั้งคำถามกับระบบทุนนิยม รากฐานของวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ระบบที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุดและการแสวงหากำไร ได้ปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติและกดขี่คนชายขอบให้เผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด การต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการลดคาร์บอน
แต่คือการหันมามองว่ามนุษย์ภายใต้อำนาจของทุนนิยมนั้นไม่ใช่จุดศูนย์กลางของโลก เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกคน
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี
หนังสือ: Anthropocene บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน
บรรณาธิการ: เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
สำนักพิมพ์: ศูนย์มามนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)