ความมั่นคงแบบองค์ลงของรัฐไทย - Decode
Reading Time: 3 minutes

เรื่องเล่า(ไม่)ต้องห้าม

ปิยวัฒน์ สีแตงสุก

ช่วงหลัง ๆ มานี้เราพบเจอรายการข่าวที่นำเสนอเรื่องราวของคนทรง/ร่างทรง หรือ “ผู้วิเศษ” ที่มีพลังเหนือปุถุชนทั่วไปได้ค่อนข้างบ่อย…

แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้เรียกเรตติ้งได้ดี หลังรายการจบก็ยังเป็นกระแสต่อเนื่องในโซเชียลมีเดีย มีโพสต์ที่ทั้งชื่นชมและวิจารณ์ รวมถึง “ผู้วิเศษ” บางคนกลายเป็น “มีม” ที่เอาไปล้อหยอกกับเรื่องอื่น ๆ ต่อได้อีก

ทั้งนี้ ไม่ว่ากระแสจะเป็นบวกหรือลบก็ตาม ตัวตนของพวกเขาก็เผยแพร่ออกไปได้กว้างไกลแล้ว

ข้อสังเกตจากปรากฏการณ์นี้ คือเรารู้ว่ามีคนที่เชื่อถือในพลังของ “ผู้วิเศษ” มากพอสมควร แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ในที่นี้

ผู้เขียนคิดว่า การที่มีคนหมู่มากเชื่อ “ผู้วิเศษ” อาจเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์” ในสังคมไทย ซึ่งวัฒนธรรมนี้แทรกซึมในสังคมแทบทุกมิติตั้งแต่อำนาจข้างบนจนถึงปุถุชนข้างล่าง

เมื่อคนหมู่มากเลือกที่จะเชื่อก็ส่อนัยได้ว่า วิธีการที่ “ผู้วิเศษ” และเครือข่ายของพวกเขาได้ใช้นั้นประสบความสำเร็จ(?)

หากมองให้ลึกลงไป การที่สังคมไทยมี “วัฒนธรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์” เป็นพื้นฐาน อาจเกื้อหนุนให้อำนาจความมั่นคงของรัฐไทยทำงานได้ดีขึ้น

เพราะอำนาจความมั่นคงของรัฐไทยไม่เคยดำรงอยู่ได้ด้วยการมีกำลังพลมหาศาลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยอำนาจทางวัฒนธรรม คอยบอกเล่า “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ที่ผสานเข้ากับ “ความศักดิ์สิทธิ์” ซ้ำไปซ้ำมา โดยมีเรื่องเล่าของ “วิญญาณบรรพชน” รวมอยู่ด้วย

ผู้เขียนขอเรียกสิ่งนี้ว่า “ความมั่นคงแบบองค์ลง”

เวลาพูดถึงคำว่า “องค์ลง” ก็จะนึกถึงคนที่มีอาการของขึ้น หรือคนทรง/ร่างทรงที่มีองค์เข้ามาประทับ เปลี่ยนสถานะจากคนสามัญเป็น “ผู้วิเศษ” มีคนเชื่อและนับหน้าถือตา บางคนแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้แบบหาตัวจับยาก จนกลายเป็นตำนานเล่าขานไม่รู้จบก็มี

“ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ฉบับที่เล่าโดยฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทย โดยเฉพาะคนของกองทัพที่มักจะแสดงบทบาทนี้เสมอ ก็เป็นเช่นนั้น

หากใครพอจำได้ ราว 5 ปีก่อน พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก เคยบรรยายพิเศษเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ซึ่งประวัติศาสตร์เสียดินแดน 14 ครั้ง ยังคงเป็นหนึ่งในไฮไลต์สุดคลาสสิกที่ถูกหยิบยกขึ้นมา

แต่จุดพีคอยู่ในช่วงที่เสียงเพลง “ถามคนไทย” ขับร้องโดยสันติ ลุนเผ่ ดังขึ้น ขณะกำลังฉายวิดีโอที่มีภาพอนุสาวรีย์ของกษัตริย์และฉากสงคราม ท่อนที่ร้องว่า “ไทยฆ่าไทยให้ชาติอื่นครอง วิญญาณปู่จะร้อง ไอ้ลูกหลานจัญไร”[1] น่าจะกระแทกกระทั้นคนเป็น “โรคชังชาติ” ตามคำของ พล.อ. อภิรัชต์ ได้เต็มหมัด

หรือเมื่อไม่นานมานี้ พล.ต. กรณ์พงศ์ แสงทอง หรือ “นักทอล์กลายพราง” ได้บรรยายประวัติศาสตร์ในงานแถลงยุทธศาสตร์ วปอ. ไฮไลต์อยู่ในช่วงที่ พล.ต. กรณ์พงศ์ได้ยกบทพูดของ “องค์ดำ” นัยว่าเพื่อสื่อสารถึงคนที่ไม่จงรักภักดีต่อชาติ

“กู (องค์ดำ) หวงชาติกูอยู่บนสวรรค์ มึงคิดอ่านไรอยู่ กูรู้ทัน คิดสร้างสรรค์ หรือคิดการณ์ผลาญแผ่นดิน ถ้ามึงรักภักดีพลีต่อชาติ มึงจะคลาดแคล้วภัยใด ๆ สิ้น ถ้ามึงชั่วเลวร้าย ขายชาติกิน มึงจะสิ้นชีพม้วยด้วยดาบกู”[2] – ส่วนหนึ่งของคำพูด พล.ต. กรณ์พงศ์ในวันนั้น

การที่ระดับนายพลของกองทัพออกมาพูดถึง “วิญญาณปู่” และ “องค์ดำ” สะท้อนว่า “วิญญาณของบรรพชน” จำเป็นและขาดไปเสียไม่ได้ในเรื่องเล่า “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ”

ประวัติศาสตร์แบบนี้จึงเป็นการตอกย้ำ “ความจริงสองชั้น”

ชั้นที่หนึ่ง ความจริงที่เชื่อว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่หยิบยกขึ้นมาพูดนั้นเคยเกิดขึ้นจริงในอดีต

ชั้นที่สอง ความจริงที่ว่า “วิญญาณบรรพชน” ยังคงคอยปกปักรักษาชาติอยู่ หากคนไทยที่ยังมีลมหายใจไม่ช่วยกันปกป้องชาติ อาจเกิดอาเพศขึ้น หรืออาจถูกลงโทษจาก “วิญญาณบรรพชน” เอาเสียได้

ผู้เล่าประวัติศาสตร์แบบนี้จึงต้องมีความหนักแน่น ต้องถ่ายทอดแต่ละฉากแต่ละเหตุการณ์ออกมาให้คนฟังเข้าใจง่ายและเห็นภาพได้ชัดที่สุด

ที่สำคัญต้องให้คนฟังรู้สึกว่า ทุกสิ่งที่เล่ามานั้นคือ “เรื่องจริง” เพื่อปลุกใจให้คนฟังรู้สึกฮึกเหิม และตอบสนองต่อเป้าหมายของการรักษาความมั่นคงที่วางเอาไว้

การรักษาความมั่นคงด้วยวิธีทำนองนี้ ใช่ว่าเพิ่งเกิดในชั่วห้าปีสิบปีเสียเมื่อไหร่

หากย้อนไปในช่วงสงครามเย็น (ราวทศวรรษ 2490-2520) ก็จะพบแล้วว่า ประวัติศาสตร์การกอบกู้ชาติของวีรบุรุษกลายเป็น “เครื่องมือสำคัญ” ที่รัฐไทยใช้สู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ใน “สนามรบทางวัฒนธรรม”

เวลาพูดถึง “สนามรบ” เราอาจคุ้นชินกับการที่ 2 ฝ่ายใช้กำลังอาวุธเข้าประหัตประหารกัน แต่ใน “สนามรบทางวัฒนธรรม” ทั้ง 2 ฝ่ายจะสู้กันด้วยการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง

รูปแบบการเผยแพร่อาจอยู่ในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ฯลฯ หรือสื่ออื่นที่ทันสมัยกว่านั้น เช่น ภาพยนตร์ วิทยุกระจายเสียง ฯลฯ

ขณะที่อนุสาวรีย์วีรบุรุษหลายท่านที่สร้างขึ้นในยุคนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กันในทางวัฒนธรรม ด้วยความใหญ่โตโอ่อ่าและตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่สาธารณะ สามารถสื่อสารออกมาในเชิงสัญลักษณ์แล้วคนเห็นภาพได้ชัดสุด

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การประกอบพิธีบูชาบวงสรวงอนุสาวรีย์ เมื่อมองในภาพรวมแล้วก็ไม่ต่างจากการทำพิธีกรรมทางศาสนา เพราะเชื่อว่าวีรบุรุษเหล่านั้นคือ “ดวงวิญญาณบรรพชน” อันศักดิ์สิทธิ์

เรื่องเล่าของพระนเรศวร หรือ “องค์ดำ” ที่ พล.ต. กรณ์พงศ์กล่าวถึง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้

ในบรรดา “วีรบุรุษแห่งชาติ” พระนเรศวรถือเป็นกษัตริย์ที่โดดเด่นมากที่สุดพระองค์หนึ่ง เรื่องเล่าของพระองค์มีน้ำหนักมากพอที่รัฐไทยจะใช้สู้กับ “ศัตรูแห่งชาติ” ในเวลานั้นอย่าง พคท. ได้

วีรกรรมของกษัตริย์นักรบพระองค์นี้ เช่น การประกาศอิสรภาพ กู้กรุงแตกครั้งแรกจากพม่า อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์กลายเป็น “สัญลักษณ์เชิงอำนาจ” ของกองทัพไทยมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490

เห็นได้จากวันที่พระนเรศวรทำยุทธหัตถีหรือต่อสู้บนหลังช้างจนมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาฝ่ายพม่า ได้ถูกใช้เป็น “วันกองทัพไทย” แม้เดิมทีจะเชื่อว่าเกิดขึ้นในวันที่ 25 มกราคม แต่ภายหลังมีการคำนวณวันใหม่เป็น 18 มกราคม กองทัพไทยก็เปลี่ยนวันกองทัพไทยตามนั้น

เรียกได้ว่า วันสำคัญของกองทัพไทยผันแปรไปตามความเชื่อ เพราะความเชื่อได้โยงสู่วีรกรรมครั้งสำคัญในอดีตที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นความจริง

ทุก “วันกองทัพไทย” ของทุกปีจึงต้องมีการประกอบพิธีบูชาบวงสรวงพระนเรศวร ซึ่งไม่ได้ทำแค่ในส่วนกลางหรือในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ในต่างจังหวัดหลายแห่งก็ทำพิธีด้วยเช่นกัน เช่น จังหวัดที่เคยอยู่ใน “พื้นที่สีแดง” ที่รัฐไทยสู้กับคอมมิวนิสต์อย่างดุเดือด อย่างเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก หนองบัวลำภู ฯลฯ

ขณะที่ พคท. รุกเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง แต่ฝ่ายรัฐไทยก็ไม่ยอม ต่างฝ่ายต่างต้องแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดกัน และการที่อนุสาวรีย์หรือรูปเคารพพระนเรศวรได้เข้าไปตั้งในพื้นที่เหล่านี้ ก็บ่งบอกความเข้มข้นของการขับเคี่ยวกันทางอุดมการณ์

ที่เป็นเช่นนี้ เพื่อให้คนต่างจังหวัดหรือคนที่อาศัยอยู่ใน “พื้นที่สีแดง” ได้รู้จักและเคารพศรัทธาวีรบุรุษจากส่วนกลาง มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะรู้จักแต่ “มาร์กซ์-เหมา-เลนิน” ผีร้ายในสายตารัฐไทย

“วิญญาณบรรพชน” ในเรื่องเล่าประวัติศาสตร์แห่งชาติ จึงจำเป็นยิ่งต่อรัฐไทย อาการ “องค์ลง” ก็เช่นเดียวกับการรักษาความมั่นคงด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติอาจทำให้คน “อิน” ได้มากกว่าการเล่าประวัติศาสตร์แบบทั่วไป

หากถามว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลแค่ไหน ทำสำเร็จไปกี่พื้นที่กี่จังหวัด หรือมีคนเชื่อประวัติศาสตร์รัฐกี่มากน้อย ก็อาจวัดออกมาในเชิงปริมาณได้ยาก แต่ที่แน่ ๆ วิธีนี้ฝ่ายความมั่นคงไทยใช้วิธีนี้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

แม้เป็นวิธีที่ดูเก่า แต่อาจได้ผลในความคิดของฝ่ายความมั่นคงไทย เพราะมีผู้ชม ผู้ตาม มีผู้เผยแพร่ต่อ ๆ กันไป

ทว่าเราอาจต้องตั้งคำถาม ว่าการเล่าประวัติศาสตร์แบบนี้เป็นผลดีต่อสังคมโดยรวมหรือไม่ อย่างไร

การที่มีประวัติศาสตร์ชุดใดชุดหนึ่งที่ “ศักดิ์สิทธิ์” จนล้นเกิน อาจไม่นำไปสู่ความเข้าใจคนเห็นต่างในสังคมไทย เผลอ ๆ รัฐไทยอาจมองคนเห็นต่างเหล่านี้เป็น “ศัตรูภายใน” ที่อันตรายต่อความมั่นคง

ทางออกที่มีการพูดกันเสมอมา คือประวัติศาสตร์ฉบับทางการต้องนำเสนอหลากหลายมุมมอง เปิดเผยให้ข้อถกเถียงที่มีอยู่ ไม่ใช่หลีกหนี

แต่นั่นจะทำได้ก็ต่อเมื่อวิธีคิดของรัฐไทยอยู่ในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่โลกยุคสงครามเย็น


อ่านเพิ่มเติม

ธงชัย วินิจจะกูล. โฉมหน้าราชาชาตินิยม: ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2559.
ธนาวิ โชติประดิษฐ. จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง: ศิลปะและศิลปินสมัยรัชกาลที่ 9. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2563.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. เสด็จพ่อ ร.5 วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย และประชาชนในรัฐนาฏกรรม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.
ปิยวัฒน์ สีแตงสุก. นเรศวรนิพนธ์: การเมือง อนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องแต่ง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.

อ้างอิง

[1] ชมเวอร์ชั่นเต็ม “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” โดย บิ๊กแดง พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์. https://www.youtube.com/watch?v=L4nkevF1P8g&t=826s
[2] จาก Facebook: Wassana Nanuam. https://www.facebook.com/watch/?v=1178013223303745