ผังเมืองกับสิทธิที่จะมีส่วนกำหนดเมือง  - Decode
Reading Time: 3 minutes

ชาวบ้านช่าวช่อง

รศ.ดร บุญเลิศ วิเศษปรีชา 

ผมเคยเขียนเรื่องผังเมืองครั้งหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว –ผังเมืองก็เรื่องของชาวบ้าน—ช่วงที่กรุงเทพมหานครเปิดรับฟังความเห็นร่างผังเมืองรวม เพื่ออธิบายว่า ทำไมคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยตื่นตัวกับผังเมืองซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศชี้นำอนาคตของเมือง คำอธิบายหลัก ๆ ของผมก็คือ ผังเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ชาวบ้านชาวช่องรู้สึกว่า เป็นเรื่องไกลตัว กว่าจะเห็นผลกระทบของผังเมืองก็สายเกินกว่าจะท้วงติงแก้ไข 

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า คนกรุงเทพฯ จะไม่สนใจเรื่องผังเมืองเลย เสียงวิพากษ์ว่า ผังเมืองใหม่ยกร่างกันในหมู่คนไม่กี่คน และเวลารับฟังความเห็นก็มีไม่กี่วัน แถมเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วย จนกรุงเทพมหานคร ต้องขยายเวลารับฟังความเห็นออกไปถึงสองครั้ง จากเดิมวันที่ 22 มกราคม ไปถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์แล้วก็ขยายไปอีก 6 เดือนจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 กระทั่งเดือนกันยายน คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. ก็รู้สึก “ปลื้ม” ที่การขยายเวลาทำให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็นถึง 37,163 คน มากกว่า การยกร่างผังเมืองครั้งที่ผ่านมารวมกันเสียอีก 

แต่หากดูตัวเลขผู้แสดงความเห็น 37,163 คน คิดเป็นร้อยละ 0.68 ของจำนวนประชากรที่เป็นทางการของกรุงเทพมหานคร 5.4 ล้านคน เท่านั้น จึงถือว่าน้อยมาก 

ไม่เพียงแต่เชิงปริมาณที่ว่าน้อย ในเชิงคุณภาพ เสียงสะท้อนจากผู้ที่ไปสังเกตเวทีตามสำนักงานเขตต่าง ๆ สะท้อนกับผมว่า ในหลายเขต ผู้ยกร่างผังเมือง ใช้เวลาไปมากกว่าครึ่งในการอธิบายว่า ผังที่ยกร่างมามีข้อดีอย่างไร ประชาชนที่เข้าร่วมถ้าไม่ได้ทำการบ้านมาก่อน ก็จะแสดงความเห็นได้น้อยและจบลงอย่างรวดเร็วภายในครึ่งวัน ยกเว้น บางเขตที่มีประชาชนเตรียมตัวมาแสดงความเห็นคัดค้าน เช่น ที่เขตวัฒนา จึงมีความเข้มข้น 

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจน ความเห็นที่สะท้อนไปนั้น ฝ่ายผู้ยกร่างผัง จะนำไปปรับมากน้อยแค่ไหน 

ภาพรวมของการยกร่างผังเมืองเช่นนื้ สะท้อนปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมในเชิงสาระสำคัญ เป็นเพียงการมีส่วนร่วมเชิงรูปแบบ ซึ่งมีรากฐานมาจากการไม่เห็นความสำคัญว่า คนเมืองทุกคนควรมีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของเมือง 

คนซอยปรีดี 26 ทวงสิทธิในการกำหนดเมือง 

สัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสไปพูดคุยกับพี่ ๆ ที่อาศัยในซอยปรีดีพนมยงค์ 26 (ซอยพัฒนเวศม์) บนถนนสุขุมวิท 71 เดิม เพราะเห็นรูปถ่ายที่ถูกแชร์ต่อมาอีกทีว่า คนในซอยนี้ขึ้นป้ายคัดค้านการขยายถนนในซอยจาก 6 เมตร เป็น 12 เมตร โดยชาวบ้านเพิ่งรับรู้ว่ามีแผนขยายถนนก่อนการเปิดให้รับฟังร่างผังเมืองที่สำนักงานเขตวัฒนาในวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ไม่กี่วัน และเท่าที่พี่ ๆ เขาสอบถามคนในซอยดูเหมือนจะมีเพียง 6 บ้านเท่านั้นที่ได้รับจดหมายจากสำนักงานเขตให้ไปแสดงความเห็น ทั้ง ๆ ที่ ในซอยมีบ้านเป็นร้อยหลัง ซึ่งก็สะท้อนความบกพร่องของกระบวนการให้ข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง 

คนในซอยปรีดี 26 ยังมีปฏิสัมพันธ์กัน แบบที่ผมเองก็คาดไม่ถึง เพราะเป็นชุมชนเมือง แต่ละบ้านเป็นบ้านเดี่ยวพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ตารางวา มีรั้วรอบขอบชิด ทำให้ผมคิดไปว่า คงจะต่างคนต่างอยู่ แต่ข้อเท็จจริงคือ คนที่มาอยู่ที่นี่รุ่นแรก ๆ ที่ปัจจุบันอายุ 60 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะรู้จักกัน หากไม่สนิทสนมแต่อย่างน้อยก็รู้หน้าค่าตากัน เพราะเคยเรียนที่โรงเรียนพระหฤทัยพัฒนเวศม์สมัยวัยเด็กมาด้วยกัน ดังนั้น เมื่อคนกลุ่มเล็ก ๆ สามสี่คน ทราบข่าวว่าในผังเมืองใหม่จะมีการขยายถนนจึงกระจายข่าวให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ด้วยการสื่อสารผ่านร้านทำผมและร้านขายของชำ 

แก๊ป คนรุ่นใหม่วัยไม่ถึง 30 ปี แต่ผูกพันกับที่นี่ตั้งแต่สมัยอากงมาซื้อบ้านอยู่บอกว่า ที่นี่มีร้านขายของชำ ขายเครื่องเขียนที่คนในซอยรู้จักกันดีตั้งแต่เขายังเป็นเด็กนักเรียน และยังไม่มีร้านสะดวกซื้อ รวมถึงที่ตั้งเป็นห้องแถวอยู่กลางซอย แม้ตอนนี้ร้านจะปรับปรุงเป็นร้านมินิมาร์ทเล็ก ๆ และมีตู้ซักอบรีดเสื้อผ้าให้บริการ แต่ยังเป็นจุดเชื่อมโยงของคนในซอย จึงเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการกระจายข่าวสาร และเจ้าของร้านก็ยินดีให้ตั้งกล่องรวบรวมแบบแสดงความเห็น เพื่อที่จะไปนำเสนอต่อสำนักงานเขตวัฒนา 

พี่เพชร ในวัยหลังเกษียณแต่ดูสุขภาพดีมาก เล่าให้ฟังว่า ตัวเองมาอยู่ที่ซอยพัฒนเวศม์ ตั้งแต่เด็ก โดยคุณพ่อซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่จัดสรรโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งแต่ยังไม่มีถนนรามคำแหง ก็น่าจะราว ๆ ก่อนปี 2506 พี่คนอื่น ๆ อยู่ในซอยพัฒนเวศม์ มาร่วม 40 ปีบ้าง 20 ปี บ้าง แต่สิ่งที่คนในซอยนี้มีเหมือนกันก็คือ ความผูกพันต่อสถานที่ ไม่ใช่แค่ต่อบ้านของตัวเอง แต่เป็นความรู้สึกรวม ๆ ต่อพื้นที่ในซอยนี้ที่เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่ ไม่ต้องการให้มีการขยายถนน ที่จะทำให้รถยนต์ ความแออัด และอันตรายเพิ่มมากขึ้น 

พี่เพชร สะท้อนความรู้สึกต่อโครงการตัดถนนว่า “พี่คิดว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นเขตที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่ ตามสีของผังเมืองก็เป็นเขตที่อยู่อาศัย เมื่อเป็นเขตที่อยู่อาศัย ก็ไม่ควรขยายถนนในซอย เพราะรถจะมากขึ้น อันตรายก็จะมากขึ้นฝุ่นควันมากขึ้น ความน่าอยู่ก็จะน้อยลง” 

พี่ป๊อบ อาศัยอยู่ในซอยพัฒนเวศม์เช่นกัน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การขยายถนน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรดูจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก เพราะเป็นแค่ขยายทางลัด (แบบคดเคี้ยว) จากถนนสุขุมวิท 71 ไปออกถนนพัฒนาการ ซึ่งก็มีรถหนาแน่นอยู่แล้ว ไม่ได้ช่วยระบายรถจากจุดที่หนาแน่นไปสู่จุดที่ถนนไหลลื่น อาจจะช่วยบรรเทาการจราจรที่แยกคลองตันได้บ้าง “แต่ถามว่า มันคุ้มมั้ยกับการทำให้ย่านที่อยู่อาศัย ต้องมาเจอกับรถวิ่งผ่านมากขึ้น หรือ รถอาจจะมาติดในซอยมากขึ้นแทน ผมว่าไม่คุ้ม” 

เมื่อผมถามว่า คนที่เขาออกแบบ เขาอาจจะคิดว่า เมื่อมีการขยายถนน บ้านที่มีพื้นที่ติดถนนก็อาจเสียพื้นที่เล็กน้อยซึ่งก็ได้ค่าเวนคืนตามความเหมาะสม แต่ที่ดินส่วนอื่น ๆ ก็มีราคาแพงขึ้นไม่ดีหรือ คำตอบที่ผมได้รับคือ 

“ตึกสูง ๆ อะไรอย่างนี้…ไม่เอา แลกกับความน่าอยู่ มันไม่คุ้ม” 

“เป็นโซนที่อยู่อาศัย เดินเล่นได้ จูงหมามาได้ น่าอยู่ สบาย ๆ ของเรา” 

“มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้อยู่แล้วมีความสุข ราคาขึ้นไม่มีประโยชน์อะไร” 

คำตอบที่ตรงกันของหลายคนข้างต้น ก็คือ ไม่ได้สนใจที่ดินที่จะมีราคาแพงขึ้น เพราะคุณค่าไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่การมีที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่ ๆ แล้ว ตรงกันข้ามหากขยายถนน มีอาคารสูงขึ้นแบบย่านทองหล่อเอกมัยจะทำให้ไม่น่าอยู่ 

สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตเมือง 

เสียงคัดค้านของชาวปรีดี 26 ต่อร่างผังเมือง สะท้อนให้เห็นปัญหารากฐานของการพัฒนาเมือง คือ ชาวเมืองส่วนใหญ่ขาดสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (the right to the city) เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) นักทฤษฎีเมืองแนววิพากษ์ (critical urban theory) ซึ่งรื้อฟื้นแนวคิดนี้มาจาก อองรี เลอแฟรบ (Henry Lefebvre) ปรัชญาแนวมาร์กซิส์มชาวฝรั่งเศส ชี้ว่า the right to the city เป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เมืองแบบทุนนิยม เมืองเพื่อค้ากำไร ดังที่เป็นอยู่ 

ระยะหลัง แนวคิด the right to the city กลายเป็นแนวคิดยอดนิยม ที่ถูกเอาไปใช้อย่างกว้างขวาง แต่ ก็ถูกลดทอนความหมายลง ให้เหลือแค่ว่า หมายถึงการมีส่วนร่วมในเชิงกระบวนการรับฟังความคิดเห็น มากกว่าที่จะมีส่วนร่วมในระดับการเสนอทิศทางใหม่ของเมือง ทั้ง ๆ ที่ ความหมายของคำนี้ในความตั้งใจของเลอแฟรบ และ ฮาร์วีย์ นั้นลึกซึ้งกว่า แค่การร่วมแสดงความคิดเห็นเท่านั้น 

ประโยคสำคัญของ เดวิด ฮาร์วีย์ ที่มักจะถูกโควตกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือ “the right to the city ไปไกลกว่าเสรีภาพของปัจเจกในการเข้าถึงทรัพยากรเมือง แต่เป็นสิทธิที่จะเปลี่ยนตัวเราเอง ด้วยการเปลี่ยนเมือง” i ประโยคนี้มีความสำคัญในแง่ที่ว่า มนุษย์เรานั้นเปลี่ยนโลกให้สอดคล้องกับความปรารถนาของเราเสมอ แต่เมืองกลับเป็นพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่เหมือนถูกสาปให้อยู่ เพราะเมืองที่เป็นอยู่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราไปทุกที เราจึงควรสร้างสรรค์เมืองที่สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ 

การที่คนในซอยปรีดีบอกว่า พอใจแล้วกับการมีที่อยู่อาศัย มีเพื่อนบ้าน ละแวกบ้านที่น่าอยู่ ไม่สนใจราคาที่ดินที่อาจจะแพงขึ้นจากการขยายถนน สะท้อนการให้คุณค่าต่อพื้นที่เมืองต่างกับภาคธุรกิจที่มองว่า ที่ดินที่ย่านพระโขนงมีราคาสูงเกินกว่าจะปลูกบ้านเดี่ยวอยู่อาศัย ควรนำไปสร้างอาคารสูง หนาแน่นมากทำกำไรได้มากขึ้น คือเป็นการมองคุณค่าของพื้นที่เมืองในเชิงแลกเปลี่ยน (Exchange value) ว่า สามารถทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่ชาวชุมชนไม่ได้สนใจตรงนั้น แต่ให้คุณค่าในด้านการใช้ประโยชน์ (use value) คือ เป็นที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่ ไม่ได้มุ่งจะเปลี่ยนที่ดินเป็นเงิน ซึ่งก็เป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งของแนวคิด the right to the city ii

หรือพูดให้เข้าใจง่าย ขณะที่ภาคธุรกิจคิดถึงเมืองในเชิงมูลค่า คนธรรมดาคิดถึงเมืองในด้านคุณค่า 

การส่งเสียงของคนในซอยปรีดี 26 จึงมีสาระที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องการขยายหรือไม่ขยายถนน แต่คือการสะท้อนว่า ชีวิตเมืองที่พึงปรารถนาเป็นอย่างไรที่ไม่ใช่คิดแต่เชิงธุรกิจ 

เป็นการเสนอทางเลือกให้กับวิสัยทัศน์ของเมือง เพราะไม่ใช่ทุกคนอยากเห็นเมืองหนาแน่นเต็มไปด้วยคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า แผ่ขยายไปไม่สิ้นสุด หรือการสร้างถนนเพื่อรถยนต์ ซึ่งไม่รู้ว่าวันไหนจะเพียงพอ เพราะระบบขนส่งมวลชนที่ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และราคาเข้าถึงได้ไม่เคยถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจัง 

หลังจากที่ชาวซอยปรีดี 26 ส่งเสียงคัดค้านการขยายถนน ในร่างผังเมืองแล้ว คำตอบที่ชาวชุมชนได้รับจากเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร เป็นในลักษณะว่า ไม่ต้องกังวล เพราะการขยายถนนไม่เกิดขึ้นง่าย เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณที่จะใช้ในการเวนคืน 

คำตอบทำนองนี้ ไม่ได้น่าพอใจสำหรับคนในซอย เพราะหากผังเมืองยังขีดเส้นไว้ในแผนว่าจะมีการขยายถนน คนในซอยก็ต้องระแวงอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าวันไหน กทม. มีงบมาเวนคืนเพื่อขยายถนน 

ประเด็นจึงไม่ควรอยู่ที่ว่า กทม.มีงบหรือไม่ แต่ควรอยู่ที่การต้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ส่งเสียงตั้งคำถามว่า การขยายเมือง เพิ่มความหนาแน่น ส่งเสริมรถยนต์ ทำลายความเป็นชุมชนในย่านที่อยู่อาศัยเป็นทิศทางที่ควรส่งเสริมหรือไม่ 

และคน กทม. มีสิทธิแค่ไหนที่จะมีส่วนร่วมกำหนดเมือง ที่ไม่ใช่ถูกคณะยกร่างผังเมืองชี้นำปิดกั้นวิสัยทัศน์แบบที่เป็นอยู่

i Harvey, David. (2003). The right to the city. International journal of urban and regional research 27(4): 939. 

ii สาหรับผู้ที่จะทำความเข้าใจแนวคิด สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (the right to the city) ผมเขียนบทความทำความเข้าใจแนวคิดนี้ และข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้องเอาไว้ สามารถอ่านได้ใน บุญเลิศ วิเศษปรีชา. (2562). สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง The Right to the City. CMU Journal of Law and Social Sciences, 12(2), 85-122. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/CMUJLSS/article/view/213280/159342