ไฟอีสานและความขำขื่น - Decode
Reading Time: 2 minutes

ทำไมกรุงเทพฯ มันมีถนนดีกว่าบ้านเรา

ทำไม เราไม่เสียภาษีเหรอ

ทำไมโรงเรียนดี ๆ ห้องสมุดดี ๆ

โรงหนังดี ๆ ร้านหนังสือดี ๆ

ทำไมไปกองอยู่ตรงนั้นหมด

หรือเขาไม่ได้มองว่าเราก็เป็นคน

ที่ต้องการสิ่งนั้นเหมือนกัน

เริ่มต้นจากความเรียงหลังปกรวมเรื่องสั้นตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อขยายความ ขำขื่น หนึ่งในคำที่อธิบายถึงคนอีสานบ้านเฮาได้ดีที่สุดคำหนึ่ง

แม้โคราชบ้านเกิดของเราจะเป็นเพียงประตูสู่อีสาน แต่จากประสบการณ์ล่องอีสานในหลายจังหวัด ทายทักผู้คนที่ชอกช้ำในจากนโยบายการพัฒนาของรัฐมานานหลายปี คนอีสานบ้านเฮามัก(ชอบ)ความสนุกสนานครื้นเครง และจัดว่ามีเกณฑ์ความอดทนในระดับสูง แต่เมื่อถึงจุดขีดสุดความเหลืออดก็ทำให้คนอีสานลุกสู้จนสุดทางเช่นกัน ทั้งหัวหงอกหัวดำไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ คนบ้านเฮาสู้ไปร้องเพลงไปด้วย

อย่างแม่หญิงวังสะพุง จ.เลย ผู้พิทักษ์ภูผาป่าไม้ ยามออกรบกับทุนและรัฐก็จัดทัพเคลื่อนขบวน จับไมค์ประกาศประท้วงสุดเสียง ถูกขู่ด้วยกระบอง ปืน คดีความมูลค่าหลายสิบล้าน ก็บ่ยั่น แต่ยามว่างเว้นจากช่วงออกรบพวกเธอก็ร้องรำทำเพลงด้วยความสนุกสนาน คล้ายกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงกำลังซ่อนน้ำตาไว้ข้างใจและตะโกนบอกโลกว่า ฉันไม่ยอมแพ้

🎶 ตื่อ ตื้อ ตือ ตื้อ ตื้อ ตื้อ ตืออออ ก็เพราะเฮาฮักบ้านเจ้าของ เฮาจึงบ่เอาเหมืองทอง เหมืองคำบ่สู้คำข้าว ปลานาน้ำ นั้นเคยเป็นของเฮา ที่เฮาปกป้องบ้านเฮา ก็เพราะเฮาฮักบ้านเจ้าของ

ช่างบังเอิญเกินบรรยาย ในช่วงเวลาร้องรำทำเพลงของแม่หญิงเมืองเลยกับวาระเตรียมลงมือฟื้นฟูภูเขาที่ถูกทำร้ายจากน้ำมือบริษัทเอกชนที่เข้ามาสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ เราก็ได้พบกับชายวัยกลางคนที่ร่วมร้องเพลงดีดกีตาร์บนเวที เขาเป็นนักแต่งเพลง นักดนตรี เป็นอาจารย์ที่แต่งเพลงยืนข้างการต่อสู้ นอกจากความคุ้นเคยกับแม่หญิงวังสะพุง หน้าของเขาคุ้น คุ้นมาก หน้าเหมือนคนบนปกหนังสือตะวันออกเฉียงเหนือ รวมเล่มเรื่องสั้นผลงานของ ธีร์ อันมัย

ทั่วอีสานเต็มไปด้วยดวงไฟเล็กใหญ่ ใต้เงาการพัฒนาจากยุคอุตสาหกรรมที่ทำให้การเกษตรเป็นเรื่องถูกทิ้งให้ชาวนาชาวไร่ดิ้นรนกับวังวนหนี้ ยุคก่อนหน้านี้คนรุ่นใหม่ชาวอีสานที่เข้าถึงการศึกษาแบบจำกัดจำเขี่ยเพราะโรงเรียน ร้านหนังสือ โรงหนังดี ๆ ยังมีไม่มาก จึงเดินทางออกมาสู้งานในเมืองใหญ่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการอพยพย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาโอกาสครั้งใหญ่ ทิ้งไร่นาระบบเกษตรไว้ในความคิดถึง

เรื่องสั้นจากเล่มในตอนครอบครัวที่มีความสุขที่สุดในโลกที่ถูกเขียนถึง จึงเป็นความจริงเสียยิ่งกว่าจริง เด็กน้อยรอพ่อกลับบ้าน จากวันเป็นดือน จากขวบเป็นสองขวบ ความห่างไกลส่งผลต่อจิตใจ การโยกย้ายของแรงงานอีสานทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้เต็มไปหมด การศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ประเทศเราไม่เคยมีนโยบายพัฒนาบนฐานทรัพยากร นั่นทำให้ความเหลื่อมล้ำอาหารชั้นเลิศของการเมืองประชานิยมวนกลับมาซ้ำ ๆ

อาจไม่มีใครรู้ไฟดวงเล็ก ๆ จากเด็กผู้ถูกกระทำกำลังก่อตัวและไม่ใช่แค่บ้านสองบ้าน

 

บางเรื่องเล่าก็จริงเสียจนไม่อาจกลั้นน้ำตา ประโยคบนปกเล่มทำให้เราหยิบเล่มนี้ขึ้นมาในคอลัมน์ PlayRead สัปดาห์นี้ พอดีกับที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าแจกเงิน 10,000 บาทโดยแบ่งเป็นเฟส ๆ ผีประชานิยมถูกปลุกอีกครั้ง ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ช่วงปี 2549 2553 2557 2563 รัฐประหารสองครั้งที่ฝังรากเผด็จการจนยากจะถอน

แต่ถึงกระนั้นคนบ้านเฮา ก็ยังมีความเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตย รวมถึงการเลือกตั้งสิบวิในคูหา ความทรงจำเดือนเมษา เรื่องสั้นที่เล่าจากตัวละครแม่ป้าและพ่อลุงสะท้อนเรื่องนี้จากดินแดนที่ราบสูง

2 เมษายน 2006 แม่ป้าไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเสร็จ หลังจัดแจงปลาแดก ผักกระโดน หมากม่วงและกระสอบข้าวไว้ที่ลานบ้าน หวังขนขึ้นรถหลานชายเพื่อไปฝากไปเยี่ยมลูก ๆ ที่ทำงานในกรุงเทพ และใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้วก่อนหน้านี้

หนึ่งชั่วโมงต่อจากนั้น พ่อลุงพบแม่ป้าสิ้นใจในห้องอาบน้ำ ที่ราวไม้ไผ่ในห้องน้ำ มีซิ่นผืนใหม่ และเสื้อลายดอกไม้พาดไว้ แกจะใส่ไปอวดอีนางกับบักนาย ว่าแม่ใส่แล้วสวยขนาดไหม

Page 137-137

ตราบสิ้นลมหายใจของแม่ป้า ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ  ที่ขยายความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำยังคงไม่ตาย ไม่แน่ว่าอีนางกับบักนาย ยังคงร่อนเร่ทำงานไกลบ้าน ไฟถูกจุดสุ่มขยายสู่คนรุ่นต่อรุ่น

ไม่มีคำร้องทุกข์

แทนคนที่ถูกยิงถูกฆ่า

ไม่มีใครเขียนฎีการ้องทุกข์แทนเขาเลย

เขาถูกยิงทำไม

เขาถูกฆ่าทำไม

แม้แต่คนที่ถูกจับ

ถูกทำให้เป็นเหยื่อการเมือง

โดยที่เขาไม่ได้กระทำผิด

ในเส้นทางที่เราต่างต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของประชาชน มีคนบริสุทธิ์เสียชีวิต ถูกจับดำเนินคดีและต้องลี้ภัย หนักหน่วงในช่วงปี 2549 ถึงการชุมชนปี 2553

เกิดคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังมีมวลชนรวมกลุ่มชุมนุมในหลายพื้นที่ทั่วอีสาน ชายสูงวัยถูกจับโดยยังไม่มีหลักฐานระบุความผิดที่ชัดเจน เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาและถูกคุมขัง ความป่วยไข้จากอาการเส้นเลือดในสมองตีบและอัมพาตมาเยือนขณะถูกขัง

แต่ถึงกระนั้นชายวัย 60 ปี ก็ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เขาถูกคุมขังต่อแม้พบว่าป่วยจนภายหลังอาการหนักขึ้น ศาลจึงให้สิทธิประกันตัวแต่ต้องวางเงินประกัน 7 แสนบาท ชายผู้ถูกกล่าวหากลับมาบำบัดพักฟื้นที่บ้าน พักฟื้นรอความบริสุทธิ์ที่เขาถูกพรากไป ไม่มีความยุติธรรมแม้คำตัดสินสิ้นสุดจบลงที่ความบริสุทธิ์

คำพิพากษาสิ้นสุดลงท่ามกลางเสียงอื้ออึงของบรรดาญาติมิตรนับร้อยที่มารอฟังคำตัดสิน ผู้ต้องหาทั้งหมดลุกขึ้นแสดงความเคารพศาล ยกเว้นชายชราผู้ถูกทำให้แขนขาและตาพิการด้วยคำวินิจฉัยของหมอ และข้อพิเคราะห์ของศาลก่อนหน้านี้ เขาเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกยกฟ้องเพราะไม่มีความผิดใดใดตามข้อกล่าวหา

นาง! เสียงแหบของเค้าเรียกหาเมียซึ่งบัดนี้นั่งนิ่งน้ำตาไหลพรากอยู่เคียงข้าง ถามทนายให้หน่อยสิ เราจะฟ้องกลับได้ไหมจะเอาพวกผู้พิพากษา อัยการ หมอกับตำรวจพวกนี้เข้าคุกแม่งให้หมด 

Page 105

โถ ๆ สังคมไทย กระบวนการยุติธรรมไทย อะไรกันหนอ แต่ก็เกินสิบปีมาแล้วปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมไทยก้าวไปมาก ดูอย่างกรณีคุณทักษิณ ชินวัตร น่าจะตอบได้ดีก้าวหน้าหรือก้าวหลัง เชื่อว่าเป็นสิทธิของผู้อ่านที่จะตอบ

หนักหนาสำหรับประชาชน แต่ยังมีบทสนทนาของการสู้กลับ แม้ในยามที่เจอกับอำนาจเหนือประชาชน  

“ทั้งที่มีความอยุติธรรมเต็มแผ่นดิน แต่ทำไมคนอีสานส่วนใหญ่เป็นมิตร ยิ้ม แล้วก็หัวเราะง่าย ?” 

คำตอบตามทัศนะของลูกอีสานอย่างเรา คือคนอีสานขำขื่นแต่จริงใจ

สำหรับเราในยุคนี้ ประชาชน ไม่เฉพาะอีสานกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน

PlayRead: ตะวันออกเฉียงเหนือ
ผู้เขียน: ธีร์ อันมัย
บรรณาธิการ: วรพจน์ พันธุ์พงศ์
สำนักพิมพ์: บางลำพู พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กรกฎาคม 2558

ยามเช้าในหน้าฝนเดือนกันยายน 2567 ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ แพทองธาร ชินวัตร

“มันยังมีหลายเรื่องที่คนอีสานใช้ความขมขื่นเป็นเครื่องหยอกล้อ เพื่อกลบเกลื่อนความเศร้า”

ธีร์ อันมัย หรือวันนี้คืออาจารย์ธีระพล อันมัย คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกกับเราว่า ความขมขื่น ยังเป็นภาพอธิบายคนอีสานในเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพียงแต่วันนี้คนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแลกเปลี่ยนว่า นอกจากคำว่า ขมขื่น ยังมีการใช้วาทกรรมอื่น อย่างคำว่า คือลาวแท้, คือบ้านนอกแถสู มาพูดกันด้วย สองคำนี้ดูเหมือนลดทอนความเชื่อมั่นในตนเอง ดูเหมือนคำดูหยามหมิ่น แต่มันเป็นพลังงานลบที่เขย่าต่อมความขำขันด้วย

สำหรับเราแล้ว คนอีสานคือคนบ่ย่าน อำนาจใหญ่แค่ไหนก็บ่หยั่น สู้ได้สู้ ความขำขันทำให้ความตึงเครียดคลายลง อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่กรามขยับ หลังจากนั้นก็สู้ต่อ พักเบรกจากเรื่องยากเรื่องใหญ่แล้วไปต่อ

เรื่องการเมืองสำหรับคนอีสานแล้วยังต้องต่อสู้เข้มข้น เพียงแต่เปลี่ยนรูป มันไม่ได้ต่อสู้เหมือนในยุคชุมนุมเรียกร้องแบบสมัชชาคนจน หรือยุคคนเสื้อแดง แต่วันนี้คนอีสานต่อสู้เชิงประเด็นโดยมีเส้นเรื่องเดียวกันไว้เบื้องหลัง (ประชาธิปไตยที่ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตตัวเอง)

ขณะเดียวกันอีสาน ก็เป็นพื้นที่ชี้ขาดเก้าอี้รัฐบาลเพราะภาคอีสานมีจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตมากเป็น 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ จากการศึกษาของอาจารย์ธีร์ ชาวอีสานยังใช้ (หวังและเชื่อมั่น) กลไกการเลือกตั้งเพื่อเคลื่อนประชาธิปไตย

อาจารย์ย้ำว่าที่ผ่านมาคนอีสานปฏิเสธการรัฐประหารมาตลอด ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเลือกถูกหรือผิด คนอีสานเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นจุดตั้งต้นของการเมืองเคารพประชาธิปไตย

ด้านหนึ่งคนอีสานอาจถูกมองว่า เป็นคนเชื่อคนง่ายถูกซื้อเสียงง่าย แต่อาจารย์ธีร์แย้งว่างานศึกษาของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนให้เราต้องเข้าใจใหม่  

“อ.ปริญญา วิจัยมาแล้วว่าเงินไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจของคนอีสาน แต่คนอีสานเลือกด้วยเจตจำนงความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน แต่การเลือกแบบคนอีสานอาจจะไม่ถูกจริตคนชนชั้นกลางในเมืองเท่านั้น”

แต่ความเห็นต่างก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ ?

สำหรับเราในยุคนี้ ประชาชนไม่เฉพาะอีสานกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน

ดวงไฟของผู้ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเหนือรัฐธรรมนูญกระจายทั่ว

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี