ถนนสาย 'สหพันธรัฐเมียนมา' ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“สหพันธรัฐคือการแบ่งปันอำนาจ”

Ying Lao

“ผลจากการปฏิวัติสูงสุด นี่เป็นครั้งแรกที่สามารถพูดถึงสหพันธรัฐได้อย่างเปิดเผย” 

ออง (นามสมมติ)

ส่วนหนึ่งจากวงเสวนา สหพันธรัฐในเมียนมาหลังจากการรัฐประหาร ที่ถูกจัดขึ้นในงาน Burma/Myanmar Studies 2024 : Assemblages of The Future rethinking communities after the state ณ อาคาร Universe มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 2-4 สิงหาคม 2567 เป็นงานวิชาการเกี่ยวกับศาสตร์การศึกษาประเทศเมียนมาครั้งใหญ่ ที่จัดขึ้นในทุก ๆ ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูล ประวัติศาสตร์ สังคม ผู้คนในพื้นที่เมียนมา ไม่ให้จางหายไป 

บริบทเมียนมา 

สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุดในโลก โดยประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการมากถึง 135 กลุ่ม กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่ละกลุ่มมีวัฒนธรรม ภาษา และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ความหลากหลายทางชาติพันธุ์นี้เองนำไปสู่การแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์และการจัดการปกครองในรูปแบบที่ต่างกันออกไปในเมียนมา ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 รัฐ และ 7 ภาค โดยรัฐส่วนใหญ่จะมีประชากรที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ขณะที่ภาคมักมีประชากรที่เป็นชาวเมียนมา (Burman) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก

กลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สำคัญในประเทศเมียนมาประกอบด้วยกลุ่มชาวฉาน (Shan), คะฉิ่น (Kachin), กะเหรี่ยง (Karen), ยะไข่ (Rakhine), มอญ (Mon), กะยา (Kayah) และชิน (Chin) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ อีกหลายกลุ่ม เช่น โรฮิงญา, ปะโอ, อาเคา, และนาคา ที่ไม่ได้มีเขตรัฐชัดเจนแต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมียนมาภายใต้การปกครองแบบสาธารณรัฐที่มีการรวมอำนาจไว้ที่รัฐบาลศูนย์กลางนั้นนำมาซึ่งความขัดแย้งและการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและการปกครองตนเอง กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า Ethnic Armed Organizations (EAOs) เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา กองกำลังเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสู้รบที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ

ในปัจจุบัน นับตั้งแต่การก่อรัฐประหาร โดยนายพล มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2021 ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลัก ๆ มากกว่า 25 กลุ่มที่มีกองกำลังติดอาวุธและมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับรัฐบาล กลุ่มสำคัญเหล่านี้ได้แก่ กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA), กองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army – KIA), กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army – KNLA), กองทัพอาระกัน (Arakan Army – AA), และกองทัพปลดปล่อยตะอาง (Ta’ang National Liberation Army – TNLA) เป็นต้น 

กองกำลังเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการรักษาและปกป้องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของพวกเขา และในบางกรณีก็ได้รับการสนับสนุนจากประชากรท้องถิ่นในการต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา และการนับจำนวนกองกำลังอาจไม่แน่นอน และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากมีกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น และมีกลุ่มที่แตกแยกหรือรวมตัวกันใหม่อยู่ตลอดเวลา

สหพันธรัฐ ความหวังใหม่ของเมียนมา (?) 

แม้นับเป็นระยะเวลา 76 ปีที่ประเทศเมียนมาได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2491 แต่ความพยายามในการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยในเมียนมานั้นกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างราบรื่น การรัฐประหารเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 14 ปีแรกเพื่อรวบรวมก่อตั้งสหภาพพม่า (Union of Burma) ในปี พ.ศ. 2505 และประเทศจมดิ่งสู่วังวนของอำนาจกองกำลังทหารที่เข้ามาพัวพันและคอยควบคุมการเลือกตั้งยาวนานจนถึง พ.ศ. 2554 ที่ออง ซาน ซู จี และ พรรค National League for Democracy – NLD มีบทบาทมากขึ้นในการเมืองเมียนมา จนชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2558 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2564 ก่อนจะถูกรัฐประหารที่เป็นชนวนให้สถานการณ์ในประเทศเมียนมานั้นคุกรุ่นและรุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากการได้รับเอกราชและเกิดการรัฐประหารด้วยเวลาอันรวดเร็ว ประเทศเมียนมา ได้ใช้รูปแบบการปกครองแบบ สาธารณรัฐ (Republic) ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองแบบรัฐเดี่ยว โดยผู้นำของสาธารณรัฐมักจะเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงหรือผ่านสภาผู้แทนราษฎร ในสาธารณรัฐ อำนาจการปกครองส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลส่วนกลาง ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเรื่องการบริหารและนโยบายของประเทศ 

ด้วยอำนาจที่กระจุกอยู่ส่วนกลางและส่วนมากนั้นผู้นำชาติและผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองมักเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาทำให้เกิดการสร้างชาติเมียนมานิยม (Burmanization) คือการทำให้ทุกคนกลายเป็นคนเมียนมาที่มีวัฒนธรรมร่วมกันและมีเพียงเมียนมาหนึ่งเดียว ก่อให้เกิดการปราบปราม กดขี่และใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เพื่อลบอัตลักษณ์อื่นที่ไม่ใช่เมียนมา และถือเป็นเรื่องเข้มข้นขึ้นที่เกิดขึ้นในยุคสมัยเผด็จการทหารเนวินในปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา

เกิดการสู้รบภายในเมียนมามาอย่างยาวนานถึง 70 ปี  พรากสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตด้วยตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา

ภายใต้ประวัติศาสตร์การสร้างประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐสหภาพเมียนมานั้นเต็มไปประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดจากการโดนกดขี่ของชนกลุ่มน้อย นี่จึงเป็นเหตุผลให้ รูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งในทางออกให้กับเมียนมาที่เผชิญปัญหากับรัฐเผด็จการมาอย่างยาวนาน 

สหพันธรัฐ (Federalism) เป็นรูปแบบการปกครองที่มีการกระจายอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น (รัฐหรือเขตการปกครอง) ในสหพันธรัฐ รัฐหรือเขตการปกครองแต่ละแห่งมีอำนาจในการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ในพื้นที่ของตนเอง เช่น การศึกษา สาธารณสุข หรือการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ขณะที่รัฐบาลกลางมีอำนาจในการจัดการเรื่องระดับชาติ เช่น การป้องกันประเทศ นโยบายต่างประเทศ และการเงิน 

สหพันธรัฐมักจะมีรัฐธรรมนูญที่กำหนดขอบเขตอำนาจของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นอย่างชัดเจน ทำให้แต่ละรัฐหรือเขตการปกครองมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการภายใน แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเดียวกัน

ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและบริบทความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมียนมาที่มีมากถึง 135 กลุ่ม ที่มีเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมและภาษา ที่ทำให้นักวิชาการ นักการเมือง และภาคประชาชนหลายเสียงมองเห็นว่า สหพันธรัฐ คือรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศเมียนมามากที่สุด

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมา การพูดถึง สหพันธรัฐ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่มากนัก 

มีการพูดถึงสหพันธรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญถึงสามครั้งด้วยกันในประวัติศาสตร์เมียนมา ครั้งแรกคือในปี พ.ศ. 2491 นับตั้งแต่การได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ การรวมตัวเกิดขึ้นโดยการนำของ นายพลออง ซาน รัฐธรรมนูญนี้เป็นสหพันธรัฐในทางทฤษฎีซึ่งมุ่งเน้นให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการปกครองตนเองภายใต้การรวมตัวกันหนึ่งประเทศและเป็นที่มาของชื่อ สหภาพเมียนมา (Union of Burma) แต่ก็ต้องชะงักลงไปจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2505 โดยนายพลเนวิน 

ก่อนจะเกิดการนำแนวความคิดสหพันธรัฐมาเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองอีกครั้งในปี พ.ศ. 2514 ที่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 รัฐชาติพันธุ์ และ 7 ภูมิภาคในเมียนมาแต่รัฐธรรมนูญชุดนี้เกิดขึ้นในยุคการปกครองโดยทหารโดยเน้นการปกครองแบบรวมศูนย์ที่ไม่ได้ให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองแก่กลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง

และเอ่ยถึงอีกครั้งในปี 2540 ที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญในปี 2514 ถูกร่างขึ้นภายใต้การปกครองของทหารเพียงแต่มีการเพิ่มเขตการปกครองตนเอง (Self-Administered Zones) และ “เขตการปกครองตนเองพิเศษ” (Self-Administered Division) โดยยังคงมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจส่วนกลาง

โดยมีการร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานในภาคประชาชนในปี พ.ศ. 2540 โดย FCDDC Federal Constitution Drafting and Coordinating Committee แต่ไม่เคยถูกนำมาใช้จริงจากสถานการณ์ความซับซ้อนทางการเมืองของเมียนมาในขณะนั้น 

กระทั่งในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 หลังจากการรัฐประหาร โดยนายพล มิน อ่อง หล่าย คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ได้เผยแพร่กฎบัตรสหพันธรัฐประชาธิปไตยของรัฐบาลกลาง (Federal Democracy Charter) ซึ่งร่างขึ้นและอนุมัติโดยกองกําลังประชาธิปไตยของรัฐบาลกลางซึ่งประกอบด้วยทั้งชาติพันธุ์เมียนมาและชนกลุ่มน้อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติการปกครองแบบเผด็จการ การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ทั้งหมดเพื่อการสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตยของรัฐบาลกลาง อันเป็นรัฐบาลของประชาชนที่มีชื่อว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงา เกิดขึ้น 

‘สหพันธรัฐเมียนมาความหวัง VS ความกลัว

“สหพันธรัฐคือการแบ่งปันอำนาจ”

Ying Lao จาก Salween Institute for Public Policy หนึ่งในผู้เสวนากล่าวเริ่มต้นด้วยประโยคที่แสนสั้น แต่กลับสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารูปแบบการปกครองแบบรัฐเดี่ยวนั้นไม่สามารถให้ประชาชนได้ คือ อำนาจ ที่สามารถแบ่งและกระจายตัว

“เมื่อก่อน การพูดถึงประเทศมักเป็นเรื่องของรัฐบาลกลางที่กลุ่มชาติพันธุ์บะม่าหรือเมียนมามีส่วนร่วมเท่านั้น ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับภูมิภาคของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ แต่หลังจากการรัฐประหาร สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป ภูมิภาคของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เริ่มมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพเมียนมา (Union of Burma) ซึ่งนี่ก็สอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองที่ผู้นำชาติและผู้นำชาติพันธุ์อื่น ๆ เคยเสนอไว้ นั่นคือ ประชาชนควรมีรัฐที่เป็นของตัวเอง

Ying Lao ชี้ให้เห็นถึงหนึ่งในจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ชนชั้นนำทางการเมืองของพม่า กลุ่มคนทางการเมืองที่อ้างว่าตนเป็นตัวแทนของประชาชนเหล่านั้น ล้วนบทบาทสำคัญในการตัดสินใจนโยบาย พวกเขาเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการปรับเปลี่ยนท่าทีเกี่ยวกับสหพันธรัฐหลังการรัฐประหาร 

ชนชั้นนำเหล่านี้เริ่มพูดถึงสหพันธรัฐอย่างเปิดเผยและเสียงดังเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าจะยังไม่แน่ชัดว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามหลักการสหพันธรัฐได้จริงหรือไม่ แต่การพูดถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวางเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมียนมา

“หัวใจสำคัญของสหพันธรัฐคือการแบ่งปันอำนาจ การสร้างโครงสร้างการปกครองที่มีความผสมผสานระหว่างอำนาจอธิปไตยระดับชาติและระดับท้องถิ่น แม้ชนกลุ่มน้อยในเมียนมาจะต่อสู้เพื่อสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองมากว่า 70 ปี แต่ในปัจจุบันเราพบว่าความท้าทายที่มาพร้อมกับการได้รับสิทธินั้นยิ่งใหญ่กว่าที่เคยคาดคิดไว้มาก”

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญสำหรับ Ying Lao เกี่ยวกับสหพันธรัฐเมียนมาคือ ความพร้อมในสิทธิการปกครองตนเอง 

เพราะเมื่อได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง จะด้วยการรับผิดชอบในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ภายในชุมชน ตั้งแต่การจัดหาอาหารและที่พักอาศัย ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยและการให้บริการสาธารณะ 

และนี่คือสิ่งที่ชนชาติพันธุ์ต้องเผชิญเมื่อได้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง Ying Lao กล่าวเสริมว่าคำพูดของเธอไม่ได้หมายความว่าตลอด 70 ปี ในการต่อสู้การปลดแอกของกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นสูญเปล่า 

แต่ความเสี่ยงจากความไม่พร้อมในการปกครองตนเองก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงทางอาหาร การมีชีวิตรอด

“เราพบว่าเรายังไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการกิจการภายในของเราเอง นี่เป็นความจริงที่หลายคนอาจจะไม่อยากยอมรับ แต่เมื่อเรามองดูปัญหานี้อย่างลึกซึ้ง เราจะเห็นว่ามันเกิดจากการมุ่งเน้นในการจำกัดอำนาจของศูนย์กลางมากเกินไป”

ข้อท้าทายเมื่อได้สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของกลุ่มชาติพันธ์ของ Ying Lao นั้นเกิดจากการถกเถียงเรื่องสหพันธรัฐในอดีตที่มักจะมุ่งเน้นไปที่การจำกัดอำนาจของศูนย์กลาง เพราะศูนย์กลางมักจะเป็นฝ่ายที่กดขี่ และควบคุมประชาชนชนกลุ่มน้อย ทำให้ความไม่ไว้วางใจ และความกลัวต่อศูนย์กลางเกิดขึ้นตลอดเวลา กลายมาเป็นการกีดกันและปฏิเสธความช่วยเหลือ และความร่วมมือกับรัฐบาลกลาง 

“การสนทนาของเราจึงมักจะถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวว่าจะเกิดการกดขี่อีกครั้ง มากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลเพื่อให้แน่ใจว่า อำนาจจะถูกแบ่งปันอย่างเป็นธรรม”

“ข้อเสนอของฉันคือเราควรเริ่มฝึกฝนตนเองให้คิดว่า “ศูนย์กลาง” ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ “พวกเรา” ทุกคน ศูนย์กลางนั้นจะเป็นตัวแทนของเราทุกคน หากเราสามารถสร้างสหพันธรัฐที่แท้จริงขึ้นมาได้ เราจะมีโครงสร้างการตรวจสอบและถ่วงดุลที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความกลัว และเพิ่มความมั่นใจในการแบ่งปันอำนาจอย่างเท่าเทียมกัน”

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ การมุ่งเน้นที่การจัดการภายในของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“เราต้องสร้างโครงสร้างที่สามารถรองรับการแบ่งปันอำนาจอย่างยั่งยืน และต้องมองไปข้างหน้าด้วยความหวัง ไม่ใช่ความกลัว

นี่คือบทเรียนที่สำคัญจากการต่อสู้ของเรา และเป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการต่อไปเพื่ออนาคตของเมียนมาในฐานะสหพันธรัฐที่แท้จริง”

ข้อเสนอของ Ying Lao ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าหากไม่มีหน่วยย่อยสหพันธรัฐที่แข็งแกร่งจะไม่สามารถสร้างสหพันธรัฐที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเตรียมพร้อมในการรับมือกับความท้าทายที่มาพร้อมกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

“ความท้าทายที่ฉันอยากจะกล่าวถึงคือมันยากมากที่จะนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ มาสู่ข้อตกลง” 

เอกะ (นามสมมติ)

“เรามีหน่วยงานมากมาย เรามีองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างในรัฐกะเหรี่ยง ก่อนการรัฐประหารนั้นมี 6 กลุ่ม แต่หลังจากการรัฐประหารเรามีองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 5 กลุ่ม และยังมี PDF เพิ่มเติมในแต่ละภูมิภาคหรือชาติพันธุ์ที่ต่างกันมากมายที่กำลังมีส่วนร่วมในความพยายามปฏิวัติ ดังนั้นมันจึงยากมากที่จะทำให้เกิดข้อตกลงในสิ่งที่ทุก ๆ คนต้องการ”

เอกะ (นามสมมติ) ได้แบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานสหพันธรัฐในรัฐกะเหรี่ยง ภูมิหลังการทำงานของเธอนั้นเกี่ยวข้องกับการทำงานทางการแพทย์และให้บริการสาธารณะในรัฐกะเหรี่ยง ว่าการทำงานที่ยากที่สุดคือการสร้างจุดร่วมที่มีเอกภาพและยังคงสิทธิและเสรีภาพของทุกคนไว้ 

รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการแบ่งกลุ่มกองกำลังและแบ่งจังหวัดอยู่หลายครั้ง นั่นทำให้เอกะ มองว่านี่คือความท้าทายเมื่อต้องหาค่าตรงกลางจากความต้องการของคนหลายกลุ่ม

สหพันธรัฐนับว่าเป็นเรื่องที่พูดถึงง่าย แต่ปฏิบัติยากเสมอในประวัติศาสตร์การปกครองด้วยระบอบเช่นนี้ 

บทเรียนของแต่ละประเทศที่ปกครองด้วยสหพันธรัฐ ไม่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศใดประเทศหนึ่งได้เสมอไป 

เพราะทุกประเทศทุกพื้นที่ มีบริบทและเรื่องราว ความต้องการของประชาชนผู้ถูกปกครอง 

“แต่สุดท้ายนี้อยากให้เรามองที่โอกาสต่าง ๆ เราสามารถกล่าวได้ว่า 90% ของพื้นที่ของเราถูกควบคุม และนี่เป็นหนึ่งในโอกาสที่เราสามารถนำประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐมาใช้ และสถาบันการปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีผู้นำจากระดับรากหญ้า ดังนั้นนี่เป็นโอกาสที่ดี”  

เยาวชน บุคคลสำคัญภาคพื้นสมรภูมิ 

“หลังการรัฐประหาร การชุมนุมประท้วงครั้งแรกในย่างกุ้ง ครั้งแรกที่เยาวชนออกมาเดินบนถนน มีสองคำขวัญที่โดดเด่น หนึ่งคือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008

สอง เราต้องการประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ นั่นคือเสียงที่ชัดเจนมาก” 

“แต่เยาวชนไม่เคยมีโอกาสอยู่ในห้องที่จะพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตที่ต้องการ”

ออง (นามสมติ) เยาวชนผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนสหพันธ์รัฐในบ้านเกิด กล่าวขึ้นท่ามกลางผู้เข้าร่วมวงเสวนาท่านอื่นที่ชี้ประเด็นไปยังตัวละครหลักอย่าง นักการเมือง และผู้นำกองกำลังในเขตรัฐชาติพันธุ์  

เมื่อพูดถึง “สหพันธรัฐ” ในบริบทของเมียนมา ภาพจำที่หลายคนมักนึกถึงคือกลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ ที่พยายามต่อสู้ เพื่อสิทธิและการปกครองตนเอง 

ในการอภิปรายข้อเสนอของออง เธอชี้ให้เห็นว่า อีกหนึ่งตัวละครผู้ขับเคลื่อนสหพันธรัฐในเมียนมาที่ไม่ควรละเลย

คือบทบาทของ “เยาวชน” 

และในการต่อสู้ครั้งนี้ พวกเขาคือเสียงที่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐอย่างเข้มแข็ง 

หลังจากการรัฐประหารในปี 2021 การปฏิวัติสูงสุดเกิดขึ้น และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชาวเมียนมา พูดถึงสหพันธรัฐอย่างเปิดเผย การพูดถึงสหพันธรัฐในเมียนมานั้นเคยเป็นเรื่องต้องห้าม และเป็นเรื่องที่ถูกมองว่ามีเพียงคนกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้นที่พูดถึง 

หากใครก็ตามที่สนับสนุนสหพันธรัฐอาจถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ถูกจับกุม หรือปราบปราม 

แต่สำหรับเยาวชนทั่วเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นคนพม่า ชาวชาติพันธุ์ พวกเขาต่างมองว่า สหพันธรัฐคืออนาคต และพวกเขาพร้อมที่จะเสียสละทุกอย่างเพื่อไปถึงจุดนั้น

เสียงของเยาวชนดังก้องในท้องถนน พวกเขายืนหยัดเรียกร้องเสรีภาพ แม้จะเผชิญกับความทุกข์ทรมาน ความรุนแรง และการปราบปรามทางการเมือง 

เยาวชนไม่ได้เป็นแค่ผู้นำการประท้วงบนท้องถนนเท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญในหน่วยงานทางการเมืองและกองกำลังติดอาวุธ ตัวเลขประมาณ 65,000 คนที่เข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาลทหารในปัจจุบัน ประมาณ 70%  พวกเขาคือเยาวชน หนุ่มสาวเหล่านี้เสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องเสรีภาพและอนาคตของตนเองที่แนวหน้า 

พวกเขาไม่ใช่เพียงนักเคลื่อนไหวหรือผู้เข้าร่วมการชุมนุม 

แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสหพันธรัฐผ่านการต่อสู้ในทุกมิติ 

ตั้งแต่การเมือง การสู้รบ ไปจนถึงการให้บริการสาธารณะ

ในสมรภูมิเมียนมาที่ดุเดือดและคุกรุ่น ผู้คนในสังคมมีทางเลือกเพียงไม่กี่ทาง เช่น การจับอาวุธสู้ หรือการหนีเอาชีวิตรอด พร้อมทั้งสถานการณ์ที่สถาบันหลักทางสังคมได้ล่มสลายลง อย่างระบบการศึกษา สาธารณสุขและการแพทย์ ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงระบบการสื่อสารเฝ้าระวัง 

โดยเยาวชนล้วนเป็นกำลังหลักในการทำงานเพื่อช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้ง พวกเขาจัดตั้งองค์กรที่ให้บริการในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษาเกี่ยวกับวิธีการป้องกันตัวจากการโจมตีทางอากาศ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การฝึกอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเมือง  

“เราสามารถเห็นบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมที่นำโดยเยาวชนในการให้บริการสาธารณะ และหากไม่มีการให้บริการสาธารณะและหากไม่มีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง สหพันธรัฐ ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งได้”

“จุดสุดท้ายที่ฉันจะพูดถึงเกี่ยวกับเยาวชนคือ อย่างน้อยในรัฐหนึ่งจะมีองค์กรที่นำโดยเยาวชนเสมอ เพื่อศึกษาเรื่องสหพันธรัฐ, การศึกษาเรื่องพลเมือง, การฝึกอบรมในประเด็นประชาธิปไตย และ การทำงานสื่อสาร ทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นจากองค์กรที่นำโดยเยาวชน”

แม้จะไม่มีโอกาสได้นั่งอยู่ในห้องเจรจาทางการเมือง หรือมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องอนาคตของประเทศ เยาวชนยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองและคนรุ่นหลัง สหพันธรัฐที่พวกเขาต้องการไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างการปกครองใหม่ แต่เป็นการสร้างสังคมที่ทุกเสียงมีความหมาย เป็นสหพันธรัฐที่ยอมรับความหลากหลายและเคารพสิทธิของทุกคน

“เมื่อเรามองไปข้างหน้า เราต้องรับรู้ถึงบทบาทของเยาวชนในกระบวนการนี้ พวกเขาไม่ใช่เพียงผู้นำการต่อสู้ แต่พวกเขาคืออนาคตของประเทศ ความหวังของเมียนมาจะยังคงอยู่ตราบใดที่เยาวชนยังคงมุ่งมั่นและยืนหยัดในความฝันของพวกเขา ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐที่แท้จริงและยั่งยืน”

“หากไม่มีความเข้าใจใน 60% ของประชากรของประเทศเราที่มีความหวังต่อระบบในอนาคตที่พวกเขาต้องการ เราจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐที่ยั่งยืนได้ เราจะไม่สามารถสร้างระบบที่คงอยู่ได้ และนั่นหมายถึงอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไปที่กำลังจะมาถึง”

ในปัจจุบัน กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์บุกยึดเมืองได้มากกว่า 79 เมืองทั่วประเทศ และมีการยุติการปะทะระหว่างกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยปะทะกันในอดีต เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองในการก้าวผ่านยุคเผด็จการทหารและเพื่อให้ได้ใช้รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาลเงา  

แม้ในท้ายที่สุด วงเสวนาสหพันธรัฐในเมียนมาหลังการรัฐประหารนั้น จะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า สหพันธรัฐแบบเมียนมานั้นเป็นอย่างไร แต่นับว่าเป็นบรรยากาศการพูดคุยที่ทำให้เห็นถึงความหวังของผู้เข้าร่วม และเกิดการแลกเปลี่ยนแนวความคิดของคำว่าความเป็นไปได้ การปรากฏกายของหลากหลายตัวละครใหม่ในมิติทางการเมืองเมียนมา แม้หลายคนจะมองว่าเป็นความโกลาหลที่จะทำให้การเกิดสหพันธรัฐนั้นยากขึ้นไปกว่าเดิม