สุรา เครื่องดื่มสีเทา (ไม่ใช่ดำสนิท) - Decode
Reading Time: 2 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

ในตอนที่แล้ว ผมพยายามหักล้างอคติ (prejudice) หรือ ภาพประทับตราตายตัว (stereotype) เกี่ยวกับการดื่มเหล้าของคนจน ด้วยการฉายให้เห็นภาพว่า ระดับการดื่มและเหตุผลของการดื่มมีความหลากหลาย คนจนไม่ได้ดื่มหนักกันทุกคน ดื่มแบบมีเพดานพอประมาณก็มี 

ถ้าคนจนยังมีระดับการดื่มหลากหลาย ผมคิดว่า คนชนชั้นอื่น ก็มีวิถีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลากหลายเช่นกัน ไม่ใช่ดื่มเมาแล้วทะเลาะวิวาท หรือเมาแล้วขับกันทุกคน

เมื่อคนดื่มสุรา มีวิถีและระดับการดื่มหลากหลายเช่นนี้ เราจึงไม่ควรมองการดื่มสุราว่า เป็นปีศาจร้ายไปเสียทั้งหมด 

จากเครื่องดื่มชุมชนกลายเป็น “ปีศาจ”

ก่อนอื่น ผมขออนุญาตย้อนความว่า แต่ไหนแต่ไรมา เครื่องดื่มที่ได้จากการหมักธัญพืชและผลไม้ แล้วได้เอทิลแอลกอฮอล์ที่ดื่มแล้วทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มนั้น เป็นส่วนหนึ่งของหลาย ๆ สังคม และไม่ได้ถูกมองว่า เป็นปีศาจร้าย  

ในแวดวงแอลกอฮอล์ศึกษา (Alcohol studies) นักวิชาการจากหลายสาขาวิชามักเน้นด้านที่เป็นโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่นักมานุษยวิทยามีมุมมองที่แตกต่างออกไป เพราะนักมานุษยวิทยาไปศึกษาสังคมวัฒนธรรมทั่วโลก นับแต่ช่วงการขยายตัวของอาณานิคมยุโรปก็พบว่า สังคมชนพื้นเมืองแทบจะทุกภูมิภาคของโลก ต่างมีภูมิปัญญาในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยกเว้นบางส่วนของแถบแปซิฟิกและทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งระบบสังคมหลาย ๆ แห่ง สังคมไทยเราเองก็มีสุราพื้นบ้านเรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น สาโท อุ กระแช่หรือน้ำตาลเมา จนถึงเหล้ากลั่นที่ขึ้นชื่อแถบจังหวัดแพร่และน่าน 

เหตุที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแพร่หลายเพราะมันทำหน้าที่ช่วยยึดเหนี่ยวสังคม ขณะเดียวกันก็มีกลไกทางวัฒนธรรมกำกับการดื่มไม่ให้ส่งผลร้าย เดิมสุราพื้นบ้าน จะหมักเพื่อดื่มเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ เช่น ช่วงที่พืชผลการเกษตรเหลือมากมาย งานฉลองประเพณีสำคัญในรอบปี การหมักตามธรรมชาติทำให้สุราพื้นบ้านไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ปีหนึ่งจึงหมักและดื่มกันไม่กี่ครั้ง ในหลายสังคม มักใช้สุราเป็นเครื่องเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ เทพเทวา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งผู้ประกอบพิธีกรรม ก็ดื่มเหล้าด้วย เพราะอาการมึนเมาคล้ายกับการตกอยู่ในภวังค์แสดงถึงการสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ 

กล่าวได้ว่า ในอดีต การผลิตและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกกำกับด้วยกลไกของชุมชนและพิธีกรรม 

กระทั่งการเปลี่ยนแปลงในด้านการผลิต การค้นพบว่าการเติมฮอปส์ (hops) ทำให้เบียร์สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่บูด และการกลั่นเหล้าหมักให้เป็นสุรากลั่นก็ยิ่งเก็บไว้ได้นาน ทำให้การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ผลิตเพื่อดื่มในชุมชนเท่านั้น แต่เป็นสินค้าเพื่อขายและกระจายในพื้นที่ไกล ๆ ปริมาณการผลิตจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้งการดื่มก็ไม่ได้ดื่มเฉพาะในบริบทชุมชนตามวาระโอกาสแต่ดื่มกันได้ทุกวัน กระทั่งทุกวันนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นธุรกิจสำคัญในระบอบทุนนิยมที่มีมูลค่าทั่วโลกถึง 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023   

อีกด้านหนึ่ง การขยายตัวของระบอบอาณานิคมและทุนนิยม ทำให้กลไกทางวัฒนธรรมที่สามารถกำกับการดื่มก็อ่อนแอลง มากกว่านั้น ชุมชนดั้งเดิมที่ถูกรุกรานสูญเสียทรัพยากร ชุมชนล่มสลายกลายเป็นแรงงานรับจ้าง ก็หันไปหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีขายแพร่หลาย ทำให้เกิดการดื่มเหล้าหนักนอกบริบทชุมชนและพิธีกรรม ส่งผลเสียอื่น ๆ ในบริบทเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า สุราไม่ได้ทำให้ชุมชนล่มสลาย แต่เพราะชุมชนล่มสลายคนจึงหันไปดื่มสุรา

นอกจากนี้ สุรายังเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เจ้าอาณานิคมใช้ในการมอมเมาคนในอาณานิคม รวมถึงทาสและกรรมกร ทำให้ชาวคริสเตียนที่เคร่งศาสนาในสหรัฐอเมริกา มองแอลกอฮอล์เป็นที่มาของความชั่วร้าย ประกอบกับนายทุนอุตสาหกรรมเห็นว่า การดื่มสุราทำให้คนงานขาดวินัยและทำลายประสิทธิภาพการผลิต (โดยไม่ได้ตระหนักว่าระบอบทุนนิยมนั่นเองที่ทำให้สุราแพร่หลาย) จึงเกิดการเคลื่อนไหวเพื่องดสุรา (temperance movement) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และประสบความสำเร็จถึงขั้นในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1920-1933 มีบทบัญญัติห้ามการผลิต นำเข้า ขนส่งและจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมา อย่างไรก็ตาม การห้ามเด็ดขาดกลับเกิดผลเสียที่ไม่ได้คาดคิดตามมาคือ การลักลอบผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน มีแพทย์ที่ละเมิดจรรยาบรรณด้วยการออกใบสั่งแพทย์ให้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เพราะแอลกอฮอล์ยังคงได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้เพื่อการรักษา 

ท้ายที่สุด สหรัฐอเมริกายกเลิกการห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 1933 และสหรัฐอเมริกากลายเป็นสังคมที่มีการดื่มแบบกระหายมากขึ้น (dryer pattern) คือ ดื่มไม่บ่อยแต่เมื่อดื่มก็จะดื่มหนัก เพราะเป็นผลมาจากอัดอั้นในช่วงห้ามดื่ม เมื่อกลับมาดื่มจึงดื่มหนัก 

ที่สหรัฐอเมริกาจึงสรุปบทเรียนว่า การตั้งเป้าให้งดดื่มเด็ดขาด เป็นเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับโลกทางสังคมที่ผู้คนยังดื่ม ดังนั้น แนวโน้มของการกำกับการดื่มสุรา จึงมุ่งไปที่ควบคุมอันตรายจากการดื่ม (harm reduction) มากกว่าการให้เลิกเด็ดขาด แม้แต่โครงการของสมาคมนิรนามของผู้ดื่มสุรา (Alcoholics Anonymous – AA.) ในสหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมายให้คนเลิกดื่มอย่างถาวร ก็ยังไม่มีสถิติชี้ว่า ได้ผลดีกว่าโครงการที่เน้นกำกับการดื่มให้อยู่ในระดับเล็กน้อยหรือระดับที่ “เหมาะสม” (moderate) ส่วนใหญ่ของผู้เข้าร่วมโครงการกับสมาคมนิรนามถอนตัวออกจากโครงการ และยังคงมีชีวิตสลับกันระหว่างช่วงเวลาของการดื่มและช่วงเวลาของการงดดื่ม 

มองสุราเป็นสีเทาไม่ใช่สีดำสนิท 

ในงานวิจัยที่ผมเพิ่งทำเสร็จไป ผมได้คุยกับผู้ทำโครงการคนต้นแบบที่ชุมชนแห่งหนึ่งก็พบเสียงสะท้อนทำนองเดียวกันว่า การให้เลิกเด็ดขาดนั้นไม่ง่าย ประธานคณะกรรมการโครงการในชุมชนแห่งหนึ่งเล่าว่า เดิมทีชุมชนเข้าใจว่า คนต้นแบบไม่จำเป็นต้องเลิกเด็ดขาดก็ได้ เพราะคิดว่า จากคนที่ดื่มหนักแล้วสามารถลดเหลือดื่มน้อย หรือนาน ๆ ครั้ง ก็คิดว่าดีขึ้นมากแล้ว แต่เมื่อไปสัมมนาแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ๆ จึงพบว่า คนต้นแบบของชุมชนอื่นหมายถึงเลิกเด็ดขาดไม่ใช่แค่ลด ชุมชนจึงต้องปรับเป้าหมายให้เหมือนชุมชนอื่นและก็พบว่าไม่ง่าย จากการสรุปการดำเนินโครงการคนต้นแบบปี 2566-2567 ที่ชุมชนแห่งนี้เริ่มต้นจากผู้เข้าร่วมตอนเริ่มโครงการทั้งหมด 10 คน มีเพียง 2 คนที่เลิกเด็ดขาด อีก 6 คนลดแต่ยังไม่เลิก ส่วน 2 คน ออกจากโครงการก่อน 

หากพิจารณาว่า มีคนเลิกเด็ดขาดแค่ 20% คน ก็จะมองว่า ได้ผลน้อยมาก แต่หากมองให้ครอบคลุมว่า ทำให้คนที่เคยดื่มหนักสามารถลดการดื่มลงมาได้ เราจะเห็นผลสำเร็จของโครงการมากขึ้น 

ทำนองเดียวกัน มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์หลายคนรวมถึงคนในครอบครัว ที่ตระหนักว่า ตัวเองดื่มมากเกินไป และกระทบกับเศรษฐกิจของครอบครัว แต่เป้าหมายของพวกเขาก็คือ “ลดไม่ใช่เลิก” เช่น ภรรยาของพี่แดง พี่ชัย และหนุ่มซึ่งห่วงใยสามี แต่เมื่อถามความคาดหวังว่าจะให้ลดหรือเลิก ภรรยาของทั้งสามตอบไปทางเดียวกันว่า เข้าใจความรู้สึกของคนที่ดื่ม จึงไม่ได้ขอให้งดดื่มเด็ดขาดแต่ขอเพียงให้ลดปริมาณการดื่มลง 

พี่แดงบอกว่า คำแนะนำให้ลดเหมาะกว่าให้เลิกเด็ดขาด คิดว่าตัวเองยังคงดื่มอยู่ “แนะนำให้เรากินแบบรับผิดชอบ เท่านี้ผมพอละ เรามีลิมิต ถ้าเรารู้ลิมิตก็จบเลย” หมายถึงไม่มีปัญหา ตัวพี่แดงมีความตั้งใจว่า “การนั่งรวมกลุ่มกินทุกวันต้องลดลง ถ้ามากิน เป็นครั้งคราว ก็โอเค รับได้ ถ้ากินแล้ว มีงานให้เราทำก็ดี” 

พี่เยาว์ ภรรยาพี่ดำ บอกในทางเดียวกันว่า ไม่คาดหวังถึงระดับเลิกเด็ดขาดแต่ขอให้มีเพดานการดื่มจำกัด “ถ้าเราให้เขาเลิกมันคาดหวังสูง หนูอยากให้เบาลง หนูอยากให้อาจารย์แนะนำว่าจะลดได้ยังไง หนูไม่ได้ห่วงอะไรเลย ห่วงสุขภาพของเขา หนูก็ไม่ได้ให้แฟนหนูเลิก แค่ให้แกมีลิมิตหน่อย… ก็แค่กินวันละ 2 เป๊ก หนูรับได้ คนเคยกินจะให้เลิกเด็ดขาดก็ลำบาก อาจารย์ต้องมาเรียนรู้ลึกจริง ๆ” 

เมื่อผมนำประเด็นว่า เป้าหมายของการทำงานลดละเลิกว่าควรเลิกเด็ดขาดหรือดื่มให้ลดน้อยลง ผู้นำชุมชนที่ทำโครงการลดละเลิก สะท้อนความเห็นว่า หากใครสามารถเลิกเด็ดขาดได้ก็น่ายกย่องมากเรียกว่า “คนสมบูรณ์แบบ” ไปเลย แต่คนที่ลดจากดื่มมากมาเหลือดื่มครั้งคราวนาน ๆ ครั้ง ก็น่าจะเรียกได้ว่า “คนต้นแบบ” ได้ 

ข้อเสนอหลักการของผม เราควรมองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสีเทา คือไม่ดำสนิทเป็นปีศาจ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้มีแต่ด้านลบเท่านั้น แต่มีด้านที่เป็นหน้าที่ทางสังคมด้วย และผู้ดื่มหลายคนก็มองเห็นด้านบวกการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลำพังการสื่อสารที่พูดแต่โทษของสุรา จึงทำให้ผู้ดื่มไม่รับสาร ขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกว่าสุรามีสีขาวบริสุทธิ์จนไม่เห็นอันตรายของการดื่ม เพราะการดื่มหนักที่ส่งผลเสียต่อร่างกายและคนรอบข้างก็มีจริง จากฐานคิดดังกล่าว ทิศทางของการสื่อสารรณรงค์ควรมุ่งเป้าไปที่การลดอันตรายจากการดื่ม มากกว่าให้เลิกเด็ดขาด 

ข้อเสนอรูปธรรมก็คือ ควรเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงเป้าหมายของการกำกับการดื่มเพื่อลดอันตรายในสายตาของผู้ดื่ม ครอบครัว และชุมชนว่า เป็นอย่างไร และเป้าหมายควรมีได้หลายระดับ เช่น คนที่เคยดื่มทุกวันชวนให้ลดเหลือสัปดาห์ละครั้ง คนที่เคยดื่มสัปดาห์ละครั้งควรลดให้เหลือเดือนละครั้ง คนที่ดื่มเดือนละครั้ง ซึ่งถือว่าเริ่มดื่มน้อย สามารถรณรงค์ให้ดื่มนาน ๆ ครั้ง หรืองดดื่มในที่สุด ไม่ใช่การตีตรา กีดกัน ขีดเส้น ขาว ดำ ทางศีลธรรมว่า คนดีต้องงดดื่มเท่านั้น

การเชิญชวนให้เริ่มจากลดน่าจะส่งผลโดยภาพรวมมากกว่า เพราะมีลักษณะผนวกรวม (inclusive) ให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการลดอันตรายจากการดื่มได้ ต่างจากการรณรงค์เลิกดื่ม มีลักษณะกีดกัน (exclude) เพราะคนที่คิดว่า เป็นเป้าหมายที่สูงเกินไป ก็จะผละออกไม่ร่วมเลย

ท้ายที่สุด ที่ผมหยิบยกประเด็น เลิกหรือลด มาอภิปราย ไม่ใช่เพราะสนับสนุนให้คนดื่ม ผมตระหนักว่า ทุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กำไรจากเม็ดเงินของคนจน การคุยเรื่องสุราจึงไม่อาจมองแค่คนดื่ม แต่ต้องพิจารณาทุนใหญ่ที่ได้ประโยชน์มหาศาลจากการจำหน่ายสุราด้วย