ชาวบ้าน ชาวช่อง
รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา
ก่อนอื่นต้องขออภัยที่คอลัมน์ “ชาวบ้านชาวช่อง” หายหน้าไปจาก Decode.plus ไปร่วมสองเดือน เพราะผมยุ่งอยู่กับการปิดเล่มงานวิจัย “วัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนจนเมือง” หลังจากส่งงานนี้แล้ว จึงขอแบ่งปันประเด็นที่ได้จากงานวิจัย เพื่อทำความเข้าใจว่า คนจนเขาดื่มกันอย่างไร ทำไมจึงดื่ม ความเข้าใจนี้น่าจะช่วยลดทอนอคติภาพจำที่มีต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนจน
อันที่จริงผมเองไม่อยากจะหยิบประเด็น “จน เครียด กินเหล้า” มาขยี้ซ้ำ เพราะงานวิจัยผมไม่ได้เริ่มต้นจากประเด็นนั้น อีกทั้งผมมีโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่ สสส. และ เจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ชี้แจงว่า สสส. รับฟังเสียงสะท้อนและได้นำความคิดเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุงในการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไปแล้ว
แต่เวลาที่คนรอบข้างถามผมว่า ช่วงนี้ทำอะไรอยู่ แล้วผมตอบว่า กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับการดื่มเหล้าของคนจนเมือง คนที่ผมคุยด้วยก็พูดถึงวลีฮิต “จน เครียด กินเหล้า” ขึ้นมาทันที บ้างคล้อยตามโฆษณาที่สื่อในทำนองว่า ว่า คนจนเครียดก็ไปกินเหล้า ยิ่งกินยิ่งจน จึงตกอยู่ในวัฏจักรความยากจน โดยตอบว่า จนแล้วยังกินเหล้าอีก บ้างเห็นแย้ง โดยบอกว่า ถ้างานวิจัยช่วยหักล้าง “จน เครียด กินเหล้า” ได้ก็จะดี แสดงให้เห็นว่า โฆษณา “จน เครียด กินเหล้า” ซึ่งเผยแพร่ในช่วงปี 2550 แต่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนไม่น้อย จึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นนี้ไม่ได้
หลังจากไปสัมภาษณ์พูดคุยกับคนที่ดื่มเหล้าซึ่งเป็นคนในชุมชนแออัดหรือคนทำงานโรงงานรวม 69 คน และญาติของคนที่ดื่มหนักอีก 3 คน ข้อค้นพบพื้นฐานของผมก็คือ การดื่มเหล้าของคนจนเมือง มีความหลากหลาย ไม่ใช่ดื่มหนักหัวราน้ำกันทุกคน
ภาพที่เห็นไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
เพื่อข้ามพ้นอคติภาพจำตายตัว ผมขอให้ภาพการดื่มของคนจน โดยแบ่งการดื่มเป็นสามแบบหลัก การแบ่งกลุ่มเช่นนี้ เพื่อให้เห็นความต่างของระดับการดื่ม ที่ไม่ใช่ดื่มหนักกันทุกคน แต่ในชีวิตจริง ย่อมมีเฉดการดื่มหลากหลายมากกว่า กลุ่มแรกคือ คนที่ดื่มแทบทุกวันแต่ไม่ได้ดื่มมากเช่น ลุงจัน อาชีพเข็นรถขายไอศกรีม หลังจากขายไอศกรีมเสร็จ ประมาณหนึ่งทุ่ม ลุงจันก็เดินกลับห้องเช่า ผ่านหน้าร้านขายของชำแล้วแวะกินเหล้าขาว 1-2 เป๊ก เมื่อเห็นผมนั่งอยู่ที่หน้าร้าน ลุงจันหันมาบอกผมว่า “ผมกินของผมอย่างนี้ทุกวัน แค่นี้แหละอาจารย์ เป๊กสองเป๊กแล้วผมก็ขึ้นนอนแล้ว ผมไม่ได้ยุ่งวุ่นวายกับใคร”
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ พี่ช้าง อาชีพขายกาแฟเย็นตั้งแต่เช้ามืดจนถึงบ่าย หลังหกโมงเย็นก็จะนั่งดื่มเบียร์ วันละ 3 – 4 กระป๋อง ผมเคยนั่งกับพี่ช้าง พอใกล้สองทุ่ม พี่ช้างก็บอกกับผมว่า “อาจารย์จะนั่งต่อก็นั่งไปนะ สองทุ่มผมขอชิ่งไปนอนก่อนนะ สองทุ่มแล้วผมต้องเข้านอนเพราะพรุ่งนี้ผมต้องตื่นตีสาม” เรื่องของพี่ช้างทำให้ผมตระหนักว่า หากผมไม่ได้นั่งกับแก แค่เดินผ่านวงสุราริมทางรถไฟ ผมเองก็อาจเผลอไผลคิดไปว่า วงเหล้าแบบนี้กินกันไม่เมาไม่เลิก ดื่มกันไม่มีเพดาน ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่ใช่
กลุ่มที่สองคือดื่มวันหยุดเสาร์อาทิตย์ วันธรรมดาแทบไม่กินเลย ที่ชุมชนกระทุ่มเดี่ยว ผมรู้จักชุมชนนี้ดีเพราะเคยช่วยชุมชนตอนถูกไล่รื้อจากย่านถนนพระรามเก้าเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เย็นวันเสาร์ผมไปชุมชนนัดกับพี่ ๆ ที่ไม่เจอกันนาน แล้วก็เจอกับพี่เพชรนั่งกิน “เหล้าเสือ” เหล้าสีเข้มดีกรีแรงมีกลิ่นยาดองสมุนไพร ใครเห็นพี่เพชร นั่งกินเหล้าเสือบ่ายวันเสาร์ คงต้องนึกว่าพี่เพชรเป็นขี้เมา เพราะรูปร่างที่ผอม แถมกินเหล้าเสือ ซึ่งก็ดูเกรดต่ำกว่าเบียร์หรือเหล้าสี ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงแล้วพี่เพชรมีอาชีพขับรถบรรทุก 6 ล้อ ขนส่งน้ำมัน และไม่ใช่ขี้เมา วันธรรมดาจะไม่ดื่มเลย เพราะขับรถบรรทุกน้ำมันต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ พี่เพชรย้ำเสียงหนักแน่นว่า “ดื่มไม่ได้เด็ดขาด” บริษัทมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ก่อนเข้างานด้วย รถน้ำมันต้องปลอดภัย ดังนั้นจะกินเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์เท่านั้น พี่เพชรบอกว่า “กินเหล้ากันเซ็ง” เป็นกิจกรรมยามว่างในวันหยุด เพราะไม่ได้ออกไปนั่งดูมวยหรือไปดูตีไก่ท้ายซอยกับคนอื่น หากแต่นั่งดื่มเงียบ ๆ กับน้าเผชิญ อดีตคนขับแท็กซี่ที่ตอนนี้ขายของชำอยู่บ้าน และพี่แขก ช่างเฟอร์นิเจอร์ฝีมือดี ที่วันธรรมดางานชุกจนไม่มีเวลาดื่ม
กลุ่มที่สาม คือคนที่ดื่มทุกวันและดื่มหนัก ไม่เมาไม่เลิก ข้อที่น่าสนใจก็คือ เมื่อผมทำวิจัยไประยะหนึ่งและพบว่า ผมไม่ค่อยได้สัมภาษณ์คนดื่มหนัก เลยถามหาในชุมชนว่า ใครดื่มหนัก ประธานชุมชนซอยหมอเหล็งบอกผมว่า เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะคนที่ดื่มหนักตายไปแล้ว ทำให้ผมนึกถึงอีกชุมชนหนึ่งที่ผมรู้จักพี่ซึ่งคนในชุมชนเรียกว่า “ลำยอง” เพราะเป็นผู้หญิงกินเหล้าขาวตอนเย็นเมาแทบทุกวัน ครั้นโทรศัพท์ไปถามก็ทราบว่า พี่ลำยอง ตายไปแล้ว แสดงให้เห็นว่า คนที่ดื่มหนักแบบดื่มทั้งวันมีไม่มากและสุขภาพจะทรุดโทรมอย่างเร็ว คนทั่วไปจึงไม่ดื่มระดับนี้ ส่วนที่ดื่มหนักทุกเย็นไม่ถึงกับกินทั้งวันก็มีเหมือนกัน โดยมากจะกินเหล้าขาว เพราะราคาถูกกว่าเหล้าสีและเบียร์ กินในปริมาณมากกว่าขวดเล็ก (ขวดละ 70 บาท)
ทำไมยังดื่มท่ามกลางโฆษณาและรณรงค์ให้เลิกดื่ม
ข้อที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางโฆษณาผลเสียของการดื่มและการรณรงค์ให้เลิกดื่ม แต่ทำไมคนยังดื่มกันอยู่ ข้อค้นพบของผมก็คือ คนที่ดื่มมีการให้เหตุผลรองรับการดื่มของตัวเอง ขณะที่ฝ่ายรณรงค์เลิกเหล้าพูดถึงผลเสียมากมาย แต่คนดื่มมองอีกมุมหนึ่งว่า ดื่มเหล้าก็มีด้านบวก ไม่ใช่ดื่มเพราะเครียดแบบในโฆษณา
เหตุผลหลักอันหนึ่งที่คนดื่มเหล้ากันก็เพราะความสุข (hedonism) จากการร่วมวงสุรา พี่เอ หญิงวัยห้าสิบกลาง ๆ ที่ลูกสาวสองคนเรียนจบหมดแล้ว เป็นคนแนะนำผมให้ไปสัมผัสวงดื่มในชุมชนริมทางรถไฟ ย้ำกับผมหลายครั้งว่า “เรากินเหล้าเพราะเรามีความสุข อย่าให้เหล้ากินเรา ใครมากินเหล้าแล้วมานั่งเครียดร้องในวงเหล้า มึงไปเหอะ ไปแก้ไขปัญหามึงให้จบก่อนแล้วค่อยมากิน… เอกินเหล้าแล้วสนุก เพราะอะไร ถ้าใครเอาเรื่องเคร่งเครียดมาพูด เอาปัญหามาลง ไม่ถูก เพราะคนเขาช่วยเราไม่ได้หรอก เอาปัญหาไว้ที่บ้านมึง” สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้กินเหล้าเพราะความเครียด และรู้ดีว่า ถ้ามีปัญหาในชีวิตต้องไปหาทางแก้ไขทางอื่น ไม่ใช่ด้วยการดื่มเหล้า
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลของการดื่มที่ไม่ต่างจากชนชั้นกลาง คือดื่มเพื่อผ่อนคลายหลังเลิกงาน คนงานช่างเชื่อมเหล็กบอกว่า ทำงานเหนื่อยเครียดเพราะต้องประกอบชิ้นส่วนให้เข้าตามองศาที่ถูกออกแบบมา ดังนั้นหลังเลิกงาน จึงจิบเบียร์ผ่อนคลายนิดหน่อย คนที่มีรายได้น้อยหน่อยก็ดื่มเหล้าขาว พี่สว่าง เดิมเคยปั่นซาเล้งหาและรับซื้อของเก่า ปัจจุบันสามารถตั้งตัวมีร้านรับซื้อของเก่า ย้อนความว่า “จะไปว่าคนกินเหล้าขาวก็ไม่ได้นะ เมื่อก่อนผมก็กิน สมัยผมขับซาเล้งหาของเก่า หาเงินวันนึงได้ไม่เท่าไหร่หรอก ก็ต้องกินเหล้าขาว ชีวิตมันเครียด มันเหนื่อย ขับผ่านหน้าร้านขายของชำ สักเป๊ก ให้สมองมันแล่น กินแล้วก็คิดว่าจะไปเส้นไหนดี ดังนั้นคนจะกินสักเป๊ก พอได้มีแรงไปทำงานต่อ ก็ให้เขากินไปเถอะ” แม้พี่สว่างจะบอกว่ากินเหล้าเพราะเหนื่อยเครียด แต่ก็ไม่ได้กินแล้วจมกับวงเหล้า แต่กินเพื่อสมองแล่น เท้ามีแรงปั่นซาเล้งต่อ และตอนนี้ก็ตั้งตัวได้
บางคนดื่มสุรา เพื่อสร้างและกระชับเครือข่าย เช่น รู้จักกันในการประชุมหรือทำกิจกรรมชุมชนแต่ไม่สนิทก็ชวนกันดื่มเพื่อให้รู้จักกันมากขึ้น ไม่ต่างจากชนชั้นกลางที่ใช้การดื่มเพื่อสร้างเครือข่าย หลายบริษัทถึงกับมีงบรับรองเลี้ยงลูกค้า ซึ่งรวมถึงการสังสรรค์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
ถ้าชนชั้นกลางดื่มเพราะเหตุผลเหล่านี้ได้ คนจนก็ไม่ควรถูกตำหนิ หากดื่มด้วยเหตุผลเดียวกัน
นอกจากเหตุผลเชิงบวกแล้ว คนในชุมชนที่ดื่มสุรา ยังมีเทคนิคที่ทำให้การดื่มเหล้าเป็นกลาง (neutralization) คือ การบอกตัวเองว่าการดื่มไม่ได้ส่งผลเลวร้ายนัก เช่น “กินเหล้าแต่อย่าให้เหล้ากินเรา” หมายถึง กินเหล้าแต่มีลิมิต ไม่เมามายและไม่เสียงานเสียการ ค่าใช้จ่ายในการกินเหล้าไม่ได้มากเมื่อเทียบกับรายจ่าย โดยเลือกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมกับรายได้ของตัวเอง ส่วนใหญ่กินที่บ้าน ค่าใช้จ่ายถูกกว่ากินที่ร้านและไม่มีปัญหาเมาแล้วขับด้วย อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมได้จากการถอดรหัสบทสนทนาในวงที่ดื่มหนักในวันเสาร์คือ การบอกตัวเองว่า “กินเหล้ายังดีกว่าเล่นยา” ดังนั้นกินเหล้าแม้จะเมาสักหน่อยก็ไม่เลวร้ายเท่ากับเสพยา
อีกเหตุผลหนึ่งที่พบในคนที่ดื่มหนัก ซึ่งงานวิจัยก่อนหน้านี้เคยมีคำอธิบายมาแล้ว คือ คนที่ใช้สุราเป็นเครื่องมือในการรับมือกับปัญหาชีวิต โดยเฉพาะปัญหาครอบครัว เพราะไม่เห็นทางออกอื่น
ชนชั้น โอกาส และ ระดับการดื่ม
ที่เขียนมาทั้งหมด ผมไม่ได้ต้องการจะบอกว่า การดื่มของคนจนเมืองมีเหตุผลเหมือนกับชนชั้นกลางทุกประการ เพราะเงื่อนไขทางชนชั้น อาชีพการงานที่ต่างกันย่อมก็มีผลต่อการดื่มที่ต่างกัน เช่น อาชีพที่ใช้ร่างกายหนักอย่างงานก่อสร้าง หรือช่างเชื่อมที่ปวดตา แล้วต้องอาศัยการดื่มเหล้าเพื่อช่วยให้นอนหลับ เป็นเงื่อนไขการทำงานของคนจนที่นำไปสู่การดื่มซึ่งต่างจากพนักงานออฟฟิศ
ในประการสำคัญ ผมพบว่า คนที่มองเห็นโอกาสในชีวิตของตัวเองที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ หรืออย่างน้อยพึงพอใจกับการอาชีพการงานของตัวเอง มีแนวโน้มจะเป็นผู้ที่สามารถกำกับตัวเองว่า ไม่ดื่มหนัก ไม่ให้กระทบกับสุขภาพและชีวิตการงานของตัวเอง คนกลุ่มนี้แม้จะบอกว่าดื่มสุราเพราะมีความสุข แต่สุราเป็นเพียงความสุขด้านหนึ่งของชีวิต ยังมีด้านอื่นที่พวกเขาเห็นคุณค่าและต้องรักษา อย่างน้อยต้องรักษาอาชีพการงานของตัวเองที่สามารถสร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจของตัวเอง จึงไม่ดื่มในระดับที่ส่งผลเสียต่อการงานและรายได้ของตัวเอง
ในทางกลับกัน ผู้ที่มีความพึงพอใจในชีวิตน้อยหรือเห็นโอกาสในชีวิตที่จะก้าวหน้าน้อย มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนดื่มหนัก เพราะการดื่มสุรากลายเป็นสิ่งเดียวหรือไม่กี่สิ่งในชีวิตที่สร้างความสุขความพึงพอใจในชีวิต ส่วนด้านอื่น ๆ ของชีวิตให้ความสุขกับชีวิตน้อย
ถ้าจะหาทางให้พวกเขาดื่มน้อยลง ต้องมีข้อเสนอที่ทำให้ชีวิตเขาได้มีทางเลือกในการเข้าถึงความสุขได้นอกจากการดื่ม ซึ่งรวมถึงโอกาสในทางเศรษฐกิจสังคม ไม่ใช่พูดซ้ำว่า งดเหล้า ๆ แค่นั้น เพราะไม่ได้ผล