วรรณาคดี - โชกโชน กล้าแกร่ง แพรวพราว - Decode
Reading Time: 2 minutes

โชกโชน กล้าแกร่ง แพรวพราว

คือคำนิยาม ที่ผมให้กับ วรรณาคดี อัตชีวประวัติ ของ วรรณา ทรรปนานนท์ โดย ศรีดาวเรือง

โชกโชน – หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวชีวิต ของ ศรีดาวเรือง ที่ก่อนหน้านี้ ก็พอจะทราบภูมิหลังกัน ในฐานะกรรมกรนักเขียน บ้าง นักเขียนป.4 บ้าง เพราะศรีดาวเรืองเคยเปิดเผยประวัติตนเองมาแล้วว่า จบเพียง ป.4 เคยทำงานโรงงาน ทำงานเป็นแม่บ้าน มาก่อน ผมเองเคยมีโอกาสคุยส่วนตัวกับพี่ศรีดาวเรือง เคยถามว่า พี่ทำงานโรงงานนานมั้ย แล้วเอาเวลาที่ไหนอ่านหนังสือ พี่ศรีดาวเรือง อมยิ้มแล้วตอบว่า ไม่นานเท่าไหร่ ที่ทำงานนานกว่า คือ เป็นแม่บ้าน ตามบ้านคน แล้วก็ใข้เวลาว่างอ่านนิยาย ในนิตยสารที่บ้านเขารับ

ผมได้ฟังแล้ว ก็นึกว่า ชีวิตก็คงไม่ยากไม่หนักมาก

ครั้นพอได้อ่าน เรื่องราวที่พี่ศรีดาวเรือง เปิดเปลือยชีวิตตัวเองให้เห็นแล้ว ผมพบว่า เป็นคนละเรื่องเหมือนนั่งคนละม้วนจากที่ตัวเองเคยเข้าใจ เพราะเรื่องราวในวรรณาคดี เผยให้เห็นประสบการณ์ที่หนักหน่วงมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก ที่ต้องช่วยแม่ ช่วยยายทำขนม แล้วเดินเร่ขายที่สถานีรถไฟ พร้อมการงานสารพัด กับครอบครัวที่ต้องปากกัดตีนถีบ

เรื่องราวที่กระแทกความรู้สึกผมมากที่สุดก็คือ ผมไม่เคยเข้าใจว่า การเป็นแม่บ้าน เป็นคนใช้ คนรับใช้ หรือกุลี นั้นเป็นอย่างไร ครอบครัวผมเป็นแค่ครอบครัวระดับล่าง แม้จะไม่ถึงกับจน แต่ก้ไม่อาจเรียกได้ว่า ครอบครัวชนชั้นกลาง บ้านผมไม่เคยมีคนใช้ ผมไม่เคยรู้ว่า ประสบการณ์การถูกละเมิดความเป็นมนุษย์ การถูกดูถูกดูแคลน นั้นเป็นอย่างไร

ผมเคยนึกว่า คำว่า เป็นอีกาแล้วริจะเป็นหงส์ เป็นแค่ประโยคในนิยายน้ำเน่า แต่ไม่เคยนึกว่า ในชีวิตจริงจะมีคนพูดเช่นนั้น อ่านฉากที่ เด็กหญิงจากบ้านนอกคนหนึ่งถูกกระทำแล้ว ทำให้จุกและโกรธพร้อม ๆ กัน

กล้าแกร่ง- วรรณาคดี เผยให้เห็นความกล้าแกร่ง ของวรรณา การถูกกระทำ ถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะความไร้เดียงสา ทำให้ วรรณา กล้าแกร่ง การเผชิญหน้าและเอาตัวรอดจากคนเถื่อนในเครื่องแบบ สะท้อนว่า วรรณาไม่ได้ไร้เดียงสา อีกแล้ว ที่สำคัญ การตัดสินใจสองครั้งที่ก้าวออกจากบ้าน ที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงการเป็นบ้านที่อบอุ่นของวรรณา คือ ความกล้าแกร่ง ที่ต้องคารวะ เป็นการยืนหยัดสิทธิของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยไม่ต้องบอกว่า ตัวเองเป็นเฟมินิสต์

แพรวพราว– พูดก็พูดเถอะ ในฐานะคนที่เคยคลุกคลีกับคนไร้บ้าน มาไม่น้อย ผมได้ฟังเรื่องราวชีวิตของคนไร้บ้าน ที่ก็หนักหน่วงไม่น้อยกว่า วรรณา เช่น คนที่เกิดมาแล้วไม่เคยเห็นหน้า พ่อและแม่ ถูกใส่ตะกร้าทิ้งไว้ข้างถนน

แต่ความแตกต่างของวรรณาคดี กับเรื่องราวของคนไร้บ้านที่ผมได้ฟังคือ คนไร้บ้าน ไม่อาจเล่าเรื่องให้เราเห็นภาพและรู้สึกร่วมได้เท่ากับวรรณาคดี เพราะวรรณา อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก จากนิยาย นิตยสาร ที่พ่อซื้อ การอ่านนิยายให้ยาย และแม่ฟัง ทำให้วรรณา ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่นั้น และไม่เคยละทิ้งการอ่าน แต่หาโอกาสอ่านอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่ งานรับใช้ในบ้าน นั้นหนักหนา อยู่แล้ว

ด้วยเหตุมีพื้นการอ่านนี่เอง ทำให้ ศรีดาวเรือง สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของวรรณาได้อย่างมีชั้นเชิง แพรวพราว วรรณาคดี จึงไม่ใช่หนังสืออัตชีวประวัติ ที่เห็นทั่วไป แต่เป็นเรื่องราว มีประกอบเป็นวรรณกรรมอย่างลงตัว ผมทึ่งในการจบประโยค ของแต่ละเรื่องอย่างมีน้ำหนัก เหมือนโดนหมุดฮุคเข้าจุดโฟกัสของความรู้สึก ที่มีทั้ง จุก โกรธ บางครั้งก็ร่วมสะใจ ไปกับวรรณา

ท้ายที่สุด เดือนนี้เป็นเดือนไพรด์ หรือ pride month ของชาวเฟมินิสต์ และ LGBTQ+ ผมเองมีความรู้เกี่ยวกับ เฟมินิสต์ แค่หางอึ่ง แต่ประเด็นหนึ่งที่ผมทราบว่า เป็นข้อถกเถียงสำคัญคือ ชาวเฟมินิสต์ เถียงกันว่า ประสบการณ์ของการถูกกดขี่ ของ white feminist หรือ เฟมินิสต์ผิวขาว ต่างจาก เฟมินิสต์ ผิวสี ทำนองเดียวกัน ประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกกดขี่ ในประเทศโลกที่สาม หรือประเทศฝ่ายใต้ ย่อมต่างจากผู้หญิงในประเทศพัฒนาแล้ว หรือ ประเทศฝ่ายเหนือ ไม่ควรให้ความสนใจของเฟมินิสต์ผิวขาว มีฐานะ มากเสียจนปิดกั้นเรื่องราวของผู้หญิงชนชั้นล่างในโลกที่สาม

ประสบการณ์ของวรรณาในวรรณาคดีมีความสำคัญก็ตรงนี้ เป็นการบอกเล่าประสบการณ์การถูกกดขี่ ของผู้หญิงในประเทศโลกที่สาม และเป็นผู้หญิงที่เป็นชนชั้นล่าง ที่ถูกกดขี่ในหลายสนาม ย่อมต่างจาก ความรู้สึกถูกเอาเปรียบ ของคนมีฐานะมีการศึกษา แต่ เป็นเรื่องราวที่สังคมเรายังรับรู้น้อย เมื่อเทียบกับประสบการณ์อันหนักหน่วงที่คนจำนวนมากกำลังแบกอยู่

เมื่ออ่าน วรรณาคดี จบ และมองในเชิงวิชาการเสียหน่อย ผมเข้าใจมากขึ้น ว่า ทำไม งานของศรีดาวเรือง จึงถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศ หลายภาษา ก็เพราะเป็นประสบการณ์ที่ประเทศตะวันตก เขาไม่เคยประสบ แถมยังเขียนโดยคนที่ผ่านประสบการณ์ตรงอีกด้วย ด้วยคุณค่าเช่นนี้ ผมเชื่อว่า วรรณาคดี จะเป็นหนังสืออีกเล่ม ที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ขอแสดงความนับถือ พี่ศรีดาวเรือง อีกครั้ง

Playread: วรรณาคดี: อัตชีวประวัติของวรรณา ทรรปนานนท์
ผู้เขียน: ศรีดาวเรือง
สำนักพิมพ์: อ่าน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี